“เพราะเศรษฐกิจไทยยังแย่เหมือนเดิม ผมเลยจำเป็นต้องพูดแต่เรื่องเดิมๆ”
ประโยคดังกล่าวเป็นของ รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บนเวทีเสวนาวิชาการ ‘8 ปีที่ 8 เปื้อน: พินิจประเทศไทยในสภาวะไม่ปกติ’ ณ ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ในหัวข้อ ‘ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แรงงาน คนจนเมือง เกษตรกร’
วงเสวนาว่าด้วยความยากจนและความเหลื่อมล้ำนี้ รวมทีมนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์หลายคนมาพูดคุยในโจทย์สำคัญคือ ฉายภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจากการบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และร่วมกันหาคำตอบว่า สุดท้ายแล้วเราจะหลุดพ้นจากสภาพความเหลื่อมล้ำนี้ได้อย่างไร
ทางออกจากกับดักความเหลื่อมล้ำและกับดักรายได้ปานกลาง
อภิชาต สถิตนิรามัย เริ่มด้วยการฉายภาพการเติบโตอย่างเชื่องช้าของเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ ASEAN ด้วยกัน ทั้งที่เศรษฐกิจเพื่อนบ้านก็อยู่ในช่วงขาลงจากการระบาดของโควิด-19 เช่นกัน แต่เศรษฐกิจไทยกลับเติบโตเฉลี่ยปีละไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าเพื่อน ทำให้ประเทศไทยถูกขนานนามว่า คนป่วยแห่งเอเชีย (Sick man of Asia) ซึ่งเคยเป็นฉายาของประเทศจีนช่วงปลายศตวรรษ 19 จนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และของประเทศมาเลเซียในช่วงไม่กี่ทศวรรษก่อน
สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้รายได้ของประชากรไทยเติบโตช้าตามไปด้วย จนตามไม่ทันความจำเป็นของสังคม ซึ่งเดินหน้าสู่สังคมสูงวัย (aging society) เรียบร้อยแล้ว เมื่อจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลงเรื่อยๆ ในขณะที่คนแก่เพิ่มมากขึ้น แต่กลับมีรายได้ต่ำ อภิชาตเห็นว่าจะก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘สังคมที่แก่ก่อนรวย’
เมื่อคนแก่มีรายได้ต่ำ ไม่เพียงพอจะเลี้ยงดูตัวเอง และขาดความมั่นคงในชีวิตในหลายด้าน สังคมแก่ก่อนรวยจึงเรียกร้องสวัสดิการสังคมในหลายมิติเพื่อให้ประชากรเหล่านั้นมีชีวิตที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้าสู่สังคมสูงวัยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่รัฐบาลไทยกลับใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมเพียง 3.7 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งนับว่าต่ำกว่าประเทศ ASEAN ด้วยกันมาก
อภิชาตชี้ว่า งบประมาณสวัสดิการสังคมที่ต่ำเป็นผลสืบเนื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้า หากสภาพการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ในอนาคต รัฐจะแบกรับสวัสดิการสังคมที่มีอยู่เดิมไม่ไหว อาทิ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ดังนั้น อภิชาตเห็นว่า ทางออกเดียวที่จะแก้ปัญหาได้คือ การทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
อภิชาตเห็นว่า สาเหตุที่ทำให้เราไม่สามารถเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปมากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ได้ ทั้งที่มีศักยภาพสูง เป็นเพราะยังขาดการแข่งขันที่เป็นธรรมระหว่างทุนใหญ่และทุนเล็ก เมื่อไม่มีการแข่งขันก็จะไม่เกิดนวัตกรรม และการเติบโตก็เป็นไปได้ยาก สุดท้าย ประเทศไทยจึงติด ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ อย่างยาวนานกว่า 30 ปี
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังติดกับดักความเหลื่อมล้ำอีกด้วย กลุ่มคนรวยที่สุดซึ่งเป็นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากร กลับถือครองทรัพย์สินกว่า 77 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาระดับความมั่งคั่งเฉลี่ยจะพบว่า กลุ่มคน 1 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่บนสุดมีความมั่งคั่งเฉลี่ย 33 ล้านบาทต่อคน ซึ่งมากกว่าความมั่งคั่งเฉลี่ยของกลุ่มคนจน 20 เปอร์เซ็นต์แรกถึง 2,500 เท่า อภิชาตชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำของไทยมีอัตราเติบโตสูงกว่ารัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเสียอีก
สาเหตุสำคัญของความเหลื่อมล้ำล้วนบ่งชี้ไปยังการทำธุรกิจผูกขาด ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้นายทุน แต่เอาเปรียบแรงงานและเกษตรกรอย่างรุนแรง นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ค่าแรงโดยรวมในไทยแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย และแม้จะเพิ่มขึ้น ก็น้อยกว่าอัตราเติบโตของ GDP ด้วยซ้ำ
สาเหตุประการสำคัญคือ ขบวนการแรงงานถูกทำให้อ่อนแอ และอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานที่ถูกทำให้ลดลงจากกฎหมายแรงงานที่ล้าหลังและเอียงข้างนายทุนของประเทศไทย ในขณะเดียวกันกลับเลือกปิดตา ไม่กำกับควบคุมธุรกิจขนาดใหญ่ที่แทบจะกินส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศมากกว่าครึ่ง จนไม่เหลือพื้นที่ให้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กเติบโต เช่น การควบรวมของค่ายโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่ที่ผ่านมา หรืออุตสาหกรรมเบียร์
อภิชาตเสนอว่า ทางออกของปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้คือ ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำในการเพิ่มรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ โดยต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และต้องปฏิรูปรัฐไทยให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นผ่านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นและการปฏิรูประบบราชการ
“ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่คือเงื่อนไขจำเป็นในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ และทำให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ระบบทุนนิยมขี้เกียจและการควบคุมแรงงานผ่านค่าแรงขั้นต่ำ
ดร.เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (Just Economy and Labor Institute) ยกบทความ Lineages of the Authoritarian State in Thailand: Military Dictatorship, Lazy Capitalism and the Cold War Past as Post-Cold War Prologue ของ จิม กลาสแมน (Jim Glassman) มหาวิทยาลัย British Columbia ที่เปรียบเทียบระหว่างขบวนการแรงงานในเกาหลีและขบวนการแรงงานในไทย
ในขณะที่แรงงานเกาหลีมีความเข้มแข็ง จนทุนและรัฐบาลพยายามปรับตัว แต่แรงงานไทยกลับอ่อนแอ และไร้สิทธิไร้เสียงในการต่อรองกับนายทุนและรัฐ ซึ่งใช้นโยบายกดค่าแรงเรื่อยมา กลาสแมนจึงเรียกสภาพเช่นนี้ว่าเป็น Lazy Capitalism หรือ ทุนนิยมแบบขี้เกียจ ซึ่งปล่อยให้ทุนทำงานอย่างเสรี ขูดรีดแรงงานได้อย่างอิสระ จนทำให้ภาคแรงงานอ่อนแอ โดยเฉพาะระบอบประยุทธ์ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา
เกรียงศักดิ์ชวนย้อนมองนโยบาย ‘ค่าแรง 300 บาท’ ในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของการสร้างค่าแรงมาตรฐานแบบเดียวกันทั่วประเทศ จากแต่ก่อนที่ค่าแรงในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์เปลี่ยนการกำหนดค่าแรงจากระบบไตรภาคีที่แรงงานเสียเปรียบ มาเป็นระบบการต่อรองทางการเมือง ซึ่งเปิดให้แต่ละพรรคการเมืองได้แข่งขันกันเสนอนโยบายค่าแรงขั้นต่ำในช่วงหาเสียง และทำให้แรงงานเห็นพลังทางการเมืองของตนมากขึ้น
แต่การเปลี่ยนระบบกำหนดค่าแรงไม่เป็นที่ชอบใจของระบอบประยุทธ์นัก เพราะทำให้เสียอำนาจในการควบคุมแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ ในปี 2559 จึงมีการดึงการควบคุมค่าแรงกลับสู่มือระบบราชการเพื่อให้สามารถควบคุมได้ง่าย นับตั้งแต่ 2559-2565 มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพียง 6 ครั้ง แต่ละครั้งก็ขึ้นเพียงแค่ 10-20 บาท เกรียงศักดิ์เห็นว่า การขึ้นค่าแรงเช่นนี้แทบไม่ทำให้แรงงานลืมตาอ้าปากได้เลย เพราะเงินเฟ้อยังเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าแรงอยู่ดี
นัยสำคัญของการเปลี่ยนระบบกำหนดค่าแรงไม่ใช่เพื่อเอื้อประโยชน์แก่แรงงาน หากแต่เป็นการลดพลังของพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ให้เสนอขายนโยบายแก่แรงงานได้โดยตรง เพราะไม่ว่าจะหาเสียงยังไง อำนาจในการขึ้นค่าแรงก็อยู่ในมือของระบบไตรภาคีเป็นหลัก
การจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างรุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนในสมัย คสช. ทำให้มีแรงงานข้ามชาติย้ายไปทำงานประเทศอื่นๆ เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ เกรียงศักดิ์ยังชี้ว่า เมื่อพูดถึงขบวนการแรงงานในไทย เราไม่สามารถเหมารวมว่าเป็นตัวแทนของแรงงานทั้งหมดได้ เพราะแรงงานที่จัดตั้งสหภาพได้มีเพียงแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นจำนวนน้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด ส่วนแรงงานอื่นๆ ในภาคเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการกลับไม่สามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานได้
เมื่อแรงงานจำนวนมากไม่สามารถรวมตัวเพื่อเรียกร้องใดๆ สุดท้ายแล้วพวกเขาจึงต้องฝากความหวังไว้กับระบบสวัสดิการของรัฐ ซึ่งก็เปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอน และขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่ขึ้นมามีอำนาจ เพราะฉะนั้น เกรียงศักดิ์จึงเห็นว่า หากต้องการให้ประเทศไทยหลุดจากระบบทุนนิยมขี้เกียจ ต้องเพิ่มกลไกและอำนาจในการต่อรองของแรงงาน และเพิ่มหนทางในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองของแรงงานให้มากขึ้น
ความยากจนเมือง: ความเปราะบางและการเบียดขับ
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนมองปัญหาที่ซับซ้อนของคนจนเมือง ซึ่งต่างจากคนจนในชนบท เพราะขณะที่คนยากจนในชนบทยังสามารถเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ได้บ้าง แต่ชีวิตของคนจนเมืองล้วนแขวนอยู่กับเงินเท่านั้น
อนรรฆอธิบายเพิ่มเติมว่า ความยากจนในที่นี้หมายถึง ความอัตคัดขัดสนในชีวิต อย่างแรก การไม่มีเงินและขาดอิสรภาพในชีวิต อย่างที่สองคือ การขาดโอกาสในชีวิต และอย่างที่สามคือ การขาดทรัพยากร พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิดการทำให้ความยากจนกลายเป็นปัญหาในเมือง (urbanization of poverty) เพราะปัจจุบัน สัดส่วนคนจนในชนบทลดลง สวนทางกับคนจนเมืองที่เพิ่มสูงขึ้น
อนรรฆนำเสนอข้อมูลจากการสำรวจความยากจนในเมืองต่างๆ ได้แก่ เชียงใหม่ สงขลา-หาดใหญ่ และขอนแก่น พบว่า ความยากจนไม่ได้กระจุกอยู่แค่ในพื้นที่เดิมๆ อย่างสลัม หากแต่กระจายตัวทั่วทั้งเขตเมือง ตัวอย่างเช่นประเด็นเรื่องที่อยู่อาศัย ครัวเรือนยากจนจำนวนมากครอบครองที่อยู่อาศัยแบบไม่มีการผ่อนชำระมากที่สุด รองลงมาคือการเช่าตรง การอยู่ระหว่างผ่อนชำระ และการเช่าซื้อตามลำดับ
แม้คนยากจนเหล่านี้จะมีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ แต่กลับไม่สามารถขยับขยายเพิ่มเติมได้เมื่อสมาชิกในครอบครัวเพิ่มขึ้นหรือเติบโตขึ้น เช่น ผู้มีบ้านเป็นทาวน์เฮาส์หรือแฟลต จะเผชิญปัญหาเชิงพื้นที่เมื่อลูกหลานโตขึ้น อนรรฆย้ำว่า แม้จะมีกรรมสิทธิ์ แต่ก็ใช่ว่าคนจนเมืองเหล่านี้จะมีฐานะดี และแม้จะมีการอยู่อาศัยแบบเช่าในสัดส่วนสูง แต่เมื่อพรรคการเมืองหรือรัฐบาลออกนโยบายเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ก็มักมุ่งเน้นการครอบครองกรรมสิทธิ์ แต่ไม่เน้นที่อยู่อาศัยแบบเช่า
ครัวเรือนของคนจนเมืองประกอบอาชีพรับจ้างมากที่สุด รองลงมาคือ ค้าขาย พนักงานประจำ และแรงงานภาคบริการ ซึ่งงานรับจ้างเหล่านี้น่าเป็นห่วง เพราะขาดความมั่นคง และเป็นการจ้างงานรายวัน ทั้งนี้ อนรรฆชี้ว่า คนจนเมืองจะเลือกอาชีพรับจ้างมากกว่าค้าขาย เพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่า และไม่ต้องแบกรับต้นทุนราคาสินค้า ขณะเดียวกันกลุ่มคนค้าขายก็มักจะขายอะไรคล้ายๆ กัน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะขายของไม่ได้
จากนั้นอนรรฆชวนมองว่า เมื่อความยากจนคือความเปราะบาง ความยากจนในเขตเมืองที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อความเปราะบางในหลายมิติ มิติแรก การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อแรงงานภาคบริการอย่างรุนแรง การไม่มีอุปกรณ์ดิจิทัลหรือความรู้ดิจิทัลอาจทำให้แรงงานเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม รัฐไทยกลับไม่เคยมองว่า อุปกรณ์ดิจิทัลคือโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐต้องสนับสนุนและลงทุน หากแต่คือสินค้าเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น เมื่อแรงงานในเศรษฐกิจแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น แม้จะมีรายได้สูง แต่ความมั่นคงต่ำ และมีการแข่งขันของแต่ละแพลตฟอร์มอย่างดุเดือด แรงงานจึงถูกกดค่าแรงและเพิ่มจำนวนงานอย่างถึงที่สุด พร้อมๆ กับที่ไม่สามารถรวมกลุ่มสหภาพแรงงานนอกระบบได้ มิหนำซ้ำ ภาครัฐก็ไม่เคยเข้ามาควบคุมดูแลเรื่องนี้
อนรรฆเห็นว่า ไม่เพียงเฉพาะการรวมกลุ่มของแรงงานที่อ่อนพลังลง แต่พลังของชุมชนก็อ่อนแรง เพราะแต่ละชุมชนต่างสูญเสียพื้นที่ของตัวเอง และกระจายตัวออกไปยังหนแห่งอื่น จากปรากฏการณ์การทำให้พื้นที่สาธารณะกลายเป็นของเอกชน (privatization of common space) และการพัฒนาเมืองที่ทิ้งคนจนไว้ข้างหลัง ซึ่งไล่รื้อที่อยู่และที่ทำงานของคนจนเมืองจำนวนมาก
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา สวัสดิการของประชาชนไทยเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างมาก จากเดิมที่เคยมีลักษณะถ้วนหน้า (universal) ก็เปลี่ยนเป็นมุ่งเน้นช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม (targeting) มากขึ้น แต่การจัดสวัสดิการรูปแบบใหม่นี้กลับไม่มีประสิทธิภาพ จนส่งผลต่อคนที่ควรเป็นกลุ่มเป้าหมายจริงๆ แต่กลับเข้าไม่ถึงสวัสดิการนั้น เช่น บัตรสวัสดิการคนจน แต่คนที่จนจริงๆ ไม่ได้รับ
อนรรฆคาดการณ์ว่า ในอนาคตข้างหน้าจะมีคนจนใหม่ที่อยู่นอกเครือข่ายความสัมพันธ์เดิมเกิดขึ้น คือ ‘คนจนหลุดระบบ’ ซึ่งเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ อยู่นอกเครือข่ายทางสังคม และ ‘คนจนที่จนไม่รู้ตัว’ เช่น คนจนที่อยู่ตัวคนเดียว รู้ตัวอีกทีตอนแก่ ก็ขาดรายได้และไม่สามารถพึ่งพิงตัวเองได้
เศรษฐกิจที่กีดกันคนรากหญ้าในชนบท แต่เอื้อนายทุนใหญ่
รองศาสตราจารย์ ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นเรื่องการกีดกันทางเศรษฐกิจ นโยบายทางเศรษฐกิจที่ไม่สนใจชนบทเท่าไรนัก และการกีดกันผู้คนออกจากระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนระดับล่าง แต่เน้นเอื้อประโยชน์ให้คนรวย สามชายเห็นว่า ทุกครั้งที่มีการรัฐประหารแล้วทหารเข้ามาบริหารประเทศ กระบวนการทางเศรษฐกิจมักดำเนินไปในทำนองนี้
สามชายอธิบายเรื่องการกีดกันทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ การจัดสรรงบประมาณ และการแยกปัจจัยการผลิตออกจากชนบท
สามชายเห็นว่า งบประมาณบางส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดทุกปี โดยเฉพาะงบที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งแท้จริงแล้วกิจการในพระองค์เหล่านั้นซ้อนทับกับกิจการของทหาร ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สำคัญของสถาบันฯ แต่ทหารก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นตลอดทุกปีอยู่แล้ว สามชายจึงพยายามชี้ให้เห็นการจัดสรรงบประมาณอย่างไม่เหมาะสม ตัวอย่างเช่นงบกระทรวงกลาโหมที่ได้รับมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข แม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
ซ้ำร้ายไปกว่านั้น มีความพยายามที่จะตัดงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข หรืองบประมาณด้านสุขภาพอื่นๆ อยู่เสมอ ทั้งที่ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในชนบทสามารถแก้ไขและบรรเทาได้ด้วยการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งสามชายมองว่า เป็นการช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายที่ประชาชนต้องแบกรับ
ประเด็นต่อมาคือ การแยกปัจจัยการผลิตออกจากชนบท ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา มีการกำหนดแผนแม่บทในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งประเทศภายใน 10 ปี นำมาสู่ยุทธการ ‘ทวงคืนผืนป่า’ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) แต่การจัดการผู้บุกรุกผืนป่า ไม่ใช่อะไรนอกจากการแยกคนออกจากที่ดินทำกิน หรือแยกคนออกจากปัจจัยการผลิต ซึ่งคนชนบทเหล่านี้แทบไม่เคยได้รับเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเลยแม้แต่น้อย กอ.รมน. มองในมุมของความมั่นคงเป็นหลักเท่านั้น ไม่ได้มองถึงวิถีชีวิตของคนที่สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ มิหนำซ้ำ มีการออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อเอาพื้นที่ของชาวบ้านและชุมชนมาเป็นของรัฐ ซึ่งจะเอาไปให้นายทุนต่อไป