ทำความรู้จัก ‘วันนอร์’ นักการเมืองชาวมุสลิมคนแรกที่เคยนั่งตำแหน่งประธานสภาฯ

วันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือที่ใครหลายคนเรียกกันจนชินปากว่า ‘วันนอร์’ ถือเป็นนักการเมืองเก๋าเกมคนหนึ่งที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน กับบทบาทสำคัญในหลายตำแหน่ง อาทิ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือแม้กระทั่งเคยดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร มาแล้วในปี พ.ศ. 2539

วันนอร์ เกิดและเติบโตที่จังหวัดยะลา ก่อนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีคณะครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับทุนการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท คณะครุศาสตรบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากกระทรวงมหาดไทย

หลังจากเรียนจบได้ไม่นาน วันนอร์ในวัยเพียง 20 ปี ได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนอัตตรกียะห์ อิสลามมียะห์ จังหวัดนราธิวาส ก่อนย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยครูสงขลา หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาในปัจจุบัน ต่อมาได้เป็นอาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากนั้นในปี พ.ศ. 2521 ได้รับตำแหน่งรองอธิการบดี วิทยาลัยครูสงขลา

เส้นทางการเมืองของวันนอร์เริ่มต้นในตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดยะลา จากพรรคกิจสังคม และยังเป็นหนึ่งในแกนนำและผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มวาดะห์’ กลุ่มนักการเมืองมุสลิมที่เคยทรงอิทธิพลในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เคยลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนย้ายไปร่วมก่อตั้งพรรคประชาชน และพรรคความหวังใหม่ โดยมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรค

ต่อมาวันนอร์เข้าเป็น ส.ส. สังกัดพรรคไทยรักไทย จากการยุบรวมพรรความหวังใหม่เข้ากับพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2545 และได้รับตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

หลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 พรรคไทยรักไทยถูกฟ้องร้องใน ‘คดียุบพรรค’ ซึ่งตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิทางการเมืองกับกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ส่งผลให้วันนอร์ที่เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยต้องเว้นว่างทางการเมือง

จนกระทั่งในปี 2555 วันนอร์ได้ย้ายมาสังกัดพรรคเพื่อไทย จนถึงปี 2561 ก่อนจะออกมาตั้งพรรคประชาชาติในเวลาต่อมา

ทว่าอีกหนึ่งบทบาทที่น่าสนใจในเส้นทางการเมืองของวันนอร์ คือการได้มีโอกาสดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาฯ ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งถือเป็นนักการเมืองชาวมุสลิมคนแรกที่ได้นั่งในตำแหน่งนี้

Author

กนกวรรณ เชียงตันติ์
ผู้ถูกเลือกให้ปวดหลัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า