Education kills me: นักเรียนตายเพราะถูกทำให้เชื่อง นักเรียนเป็นจะว่ายทวนน้ำ

ตุลาคมปีที่แล้ว มีศพเด็กนักเรียนห้ารายนอนระเนระนาดอยู่บนพื้นหน้าหอศิลป์

บ้างเสียชีวิตจากบาดทะยัก เพราะถูกครูกล้อนผม บ้างสะดุดกระโปรงนักเรียนตาย เพราะโดนเลาะปลายกระโปรงลงมาให้ยาวคลุมถึงข้อเท้า

ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม แผ่นกระดาษแต่ละใบที่วางอยู่หน้าศพ สรุปได้เป็นใจความเดียวกันว่า ‘การศึกษา’ คือสิ่งที่ฆ่าพวกเขา

ผู้ใหญ่บางคนหัวเราะเยาะให้กับงานครั้งนั้น มองว่าเป็นเพียงการตีโพยตีพายเกินจริงของเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่มีน้ำอดน้ำทน ในขณะเดียวกัน เด็กนักเรียนคนอื่นๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในโลกออนไลน์ก็ออกมาแชร์สาเหตุการตายของตัวเองจากกฎที่ฆ่าพวกเขาผ่านการละเมิดสิทธิ จนแฮชแท็ก #การศึกษาฆ่าฉัน พุ่งทะยานขึ้นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์

ผ่านมาประมาณสี่เดือน สมรภูมิระหว่างเด็กนักเรียนกับกฎระเบียบก็กลับมายึดครองพื้นที่หน้าหอศิลปฯ อีกหน

มีเลือดเหมือนเดิม มีคนตายเหมือนเดิม เพิ่มเติมที่หนนี้มีการเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ว่าภายใต้ระบบเดียวกันก็ยังมีนักเรียนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ตาย ผ่านการจำลองโรงเรียนขึ้นมา 7 โรงเรียน

เราเดินผ่านแต่ละโรงเรียนด้วยความรู้สึกคุ้นเคยและขมขื่น

โรงเรียนทรัพย์สะพัด มีเด็กสะพายเป้ใหม่เอี่ยมเป็นผู้รอดชีวิต ส่วนเด็กจนๆ ที่ไม่มีเงินซื้อกระเป๋าถูกระเบียบต้องก้มหน้ารับชะตากรรม โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกลี้ยงเกลา เชิดชูเด็กผู้หญิงไม่แต่งหน้าว่าดีงามเรียบร้อย แต่ตีตราเด็กที่ทารองพื้นทาลิปสติกว่าแก่แดด โรงเรียนพื้นขาววิทยา บอกกับเราว่าแม้แต่สีพื้นถุงเท้า ก็เป็นเหตุผลให้ตัดสินชีวิตนักเรียนได้แล้ว

โรงเรียนสุดท้ายคือโรงเรียนสตรีคลุมเข่า ที่มีเด็กผู้หญิงใส่กระโปรงยาวอยู่ในสภาพสะอาดสะอ้าน ส่วนเด็กที่ใส่กระโปรงสั้นกลับเต็มไปด้วยแผลเหวอะหวะ นั่งก้มหน้าก้มตาด้วยความอับอายอยู่บนพื้น

เอิง-พิมพ์มาดา แก้วกสิ คือเด็กคนนั้น เรียนชั้นมัธยมปีที่ 5 และเป็นเด็กคนเดียวกับที่ส่งรอยยิ้มผ่านเครื่องสำอาง ใส่กางเกงขาสั้นแบบที่กฎระเบียบโรงเรียนไม่ยอมรับ มานั่งคุยกับเราในฐานะนักแสดงคนหนึ่งของงาน และเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนของนักเรียน ซึ่งเป็นผู้จัดงานนี้

“มันเป็นเรื่องราวที่ต่อจากครั้งที่แล้ว” เธอเริ่มอธิบาย เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงมีงานการศึกษาฆ่าฉันเป็นครั้งที่สอง “ที่มีศพเด็กตายเพราะสะดุดกระโปรงยาว เราก็เอาตรงนั้นมาเล่าต่อเป็นโรงเรียนสตรีคลุมเข่า แล้วเพิ่มกฎอื่นๆ ที่ละเมิดสิทธิเด็กเหมือนกันเข้ามา เล่าด้วยการเปรียบเทียบว่าเด็กมีศักยภาพเท่ากัน แต่ได้รับการปฏิบัติไม่เหมือนกันเพราะกฎระเบียบ ทั้งที่จริงๆ มันไม่เกี่ยวเลย”

อีกเหตุผลหนึ่งคือเรื่องของฟีดแบ็คจากงานครั้งแรก ที่เอิงเห็นว่า ทำให้นักเรียนคนอื่นๆ ที่โดนละเมิดสิทธิออกมาแชร์ประสบการณ์กันมากขึ้นผ่านแฮชแท็กในทวิตเตอร์ “มันจะมีคนที่ suffer อยู่ แต่ไม่กล้าพูด จนงานของเราออกไปพูด กับคนที่ไม่รู้ว่าเรื่องพวกนี้มันไม่ปกติ แต่งานนี้ทำให้พวกเขาตื่นขึ้นมา”

ฟีดแบ็คที่เราเห็นจากงานในครั้งนี้ก็ไม่ต่างจากครั้งที่แล้วนัก เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่มีการจัดแสดง ภาพเด็กนักเรียนที่ถูกแต่งแต้มด้วยเมคอัพสีเลือดไม่เพียงเรียกความสนใจจากคนที่เดินผ่านไปผ่านมาหน้าหอศิลปฯ เท่านั้น แต่ยังเรียกความสนใจจากโลกทวิตเตอร์ได้ดีด้วย แฮชแท็ก #การศึกษาฆ่าฉัน กลับมาคึกคักและดุเดือดเหมือนเดิม เยาวชนส่งเสียงดังขึ้นเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกัน เรากลับมองไม่เห็นปฏิกิริยาจากผู้ใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่นัก

เอิงยอมรับว่าการส่งสารนี้ไปถึงผู้ใหญ่เป็นเรื่องยาก แต่ฟีดแบ็คที่ออกมาเช่นนี้ก็ถือว่างานประสบความสำเร็จแล้วเหมือนกัน “พวกเราคุยกันว่าอยากให้งานมันอิมแพคกับกลุ่มนักเรียนก่อน ให้เขาตระหนักถึงสิทธิของเขาก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่เขาควรจะได้ อะไรคือสิ่งที่เขากำลังเจอแล้วมันไม่ถูกต้อง เพราะว่าบางอย่างในการศึกษาที่มันไม่ถูก มันทำกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ จนพอใครออกมาพูด มันก็จะกลายเป็นมีคนมาบอกว่าทำไมคนอื่นทนได้ แต่เราทนไม่ได้”

นั่นน่าจะกลายเป็นประโยคยอดฮิตไปแล้ว สำหรับคนในระบบใดๆ ก็ตามที่หวงแหนความดีงามของมันจนไม่อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงเบียดบังให้ความทุกข์ทรมานของคนอื่นในระบบเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ เราคุยกับเอิงว่าเคยเห็นคอมเมนต์แนวๆ นี้ในโพสต์ของเพจเหมือนกัน เธอยิ้ม ก่อนจะบอกว่า “เจออย่างนั้นก็ต้องปล่อยผ่านแหละ รอให้คนอื่นๆ ที่ผ่านมาเห็นอธิบายเขาดีกว่า เราไม่ได้ไปตอบโต้อะไร”

“คือมันเป็นงานเชิงสัญลักษณ์ ที่ถูกทำให้เกินจริงเพราะจะเสียดสีสังคม แต่ผู้ใหญ่ก็จะมองว่าหัวรุนแรง ยิ่งถ้าเขาไม่อินกับศิลปะเท่าไหร่ก็คงแบบ อะไรวะ คือมันยากที่จะสื่อให้ผู้ใหญ่เข้าใจ เลยเอาเป็นว่างานนี้เราพูดกับเด็กก่อนแล้วกัน”

แม้จะศรัทธาในเสียงของเด็กอยู่ประมาณหนึ่ง แต่เอิงก็เชื่อว่าถ้าจะทำให้อะไรสักอย่างในสังคมเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ทั้งสองฝ่ายจะต้องรับรู้เท่าๆ กัน อีกงานหนึ่งที่กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไททำนอกจากเคลื่อนไหวเพื่อกระตุุ้นเด็กในระบบแล้ว ก็คือการยื่นหนังสือให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบกฎระเบียบที่ละเมิดสิทธิเด็ก อย่างเช่นตอนนี้ที่ทางกลุ่มกับ เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล นักกิจกรรมซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม กำลังวางแผนรวบรวมคนไปฟ้องศาลปกครองให้ตีความกฎระเบียบเรื่องทรงผมใหม่

ทั้งหมดนี้แปลว่าสิ่งที่กลุ่มพยายามตั้งคำถามและท้าทายคือ ‘กฎระเบียบ’ ในโรงเรียน แล้วเอิงเห็นว่าเรื่องนี้คือปัญหาใหญ่ที่สุดของระบบการศึกษาไทยหรือเปล่า

เธอไม่ได้ตอบว่าปัญหาใหญ่คือกฎระเบียบ แต่เป็น ‘ความเชื่อง’ ของคนในระบบต่างหาก

“ความ conservative ของคนนั่นแหละ คือปัญหาที่ใหญ่ที่สุด” เธอบอก “คือไม่ต้อง progressive จ๋าก็ได้ แต่ผู้ใหญ่บางคนก็ไม่ตระหนัก เด็กบางคนก็ไม่ตระหนัก พอจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไร เขาก็จะคิดว่าที่เป็นอยู่มันก็โอเคนี่หว่า”

ในมุมนักเรียนก็จะคิดว่าฉันไม่ได้เสียประโยชน์อะไร ทนๆ ไปเดี๋ยวมันก็จบ ส่วนอาจารย์ก็จะเป็นแบบ ฉันก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร นักเรียนก็เชื่อฟังฉัน มันตลกนะ ที่ทุกคนคิดว่าไม่เป็นไร โดยไม่ได้มองเห็นความ suffer ของคนอื่น

หากพูดถึงบุคลากรในระบบอย่างครูแล้ว จากเพลงพระคุณที่สามที่เราเคยซาบซึ้งไปกับมัน กลายเป็นว่านับวันยิ่งเห็นเรื่องราวทั้งตัวอักษรทั้งคลิปวิดีโอ ที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าระบบบิดๆ เบี้ยวๆ นี้ขับเคลื่อนไปด้วยฟันเฟืองอย่างครูเป็นส่วนสำคัญ เอิงพูดว่า “ครูที่แย่กว่าครูที่ลงโทษเราด้วยความรุนแรงก็คือครูที่พยายามบอกให้เราชิน คนอื่นก็ทำได้ มันเป็นปัญหาจริงๆ นะคำพูดนี้ สุดท้ายเด็กก็จะรู้สึกชิน แล้วก็ทำตัวเชื่องๆ อยู่ในระบบโดยไม่ตั้งคำถาม”

“แต่ก็มีครูที่พยายามทำให้ตรงนี้มันดีขึ้นเหมือนกันนะ เขาจะไม่พยายามบังคับให้เราไหลไปตามกฎ คือไม่ได้สนับสนุนให้แหกขนาดนั้น แต่อันไหนที่เขาเองก็รู้สึกว่าไม่ make sense เขาก็จะพูดว่าเออ ใช้วิจารณญาณนะ ตัดสินเอาเองแล้วกันว่าจะทำไม่ทำ แต่ส่วนตัวครูว่ามันก็ปัญญาอ่อนนะ (หัวเราะ) เขาก็จะซัพพอร์ตเราหน่อย”

เรื่องน่าเศร้าก็คือ ทุกวันนี้ เอิงมองเห็นว่าครูดีๆ เป็นเพียงส่วนน้อยในระบบเท่านั้น ด้วยความที่อยู่ในโรงเรียนรัฐบาล เธอก็จะเห็นครูอาวุโสที่เป็นอนุรักษนิยมจ๋ามีเสียงดังมากกว่าครูหัวสมัยใหม่ที่คอยสนับสนุนเด็ก และสุดท้ายแล้ว ครูส่วนน้อยพวกนั้นก็ยังไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงระบบใหญ่ได้อยู่ดี

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เอิงเห็นด้วยว่าเด็กรุ่นนี้กล้าตั้งคำถาม กล้าท้าทายความบิดเบี้ยวในระบบมากขึ้น นั่นตอกย้ำถึงอิทธิพลของเสียงเล็กๆ ในหมู่นักเรียนที่ออกมาพูด ออกมาแสดงความสงสัย จนคนอื่นๆ ตระหนักและออกมาร่วมส่งเสียงท้าทายด้วยกันจนมันเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

แต่เราคิดว่ามันก็ควรมีตรงกลางด้วยเหมือนกันนะ เช่นเวลามีเหตุการณ์ครูตีเด็ก มันไม่ควรจะมีการด่าสาดเสียเทเสียแบบ ครูแม่งหวังร้าย แม่งกะจะตีให้ตาย มันควรจะเป็นตรงกลางมากกว่า ครูเขาก็อาจจะทำตามความเชื่อที่เขาเชื่อต่อๆ กันมา แล้วมันก็เป็นความเชื่อที่ควรปรับ แต่ไม่ควรไปมองว่าเขาร้ายจัด แล้วไปโจมตีเขาแรงๆ เบอร์สุดเลย มันไม่ได้ มันต้องมีความเข้าอกเข้าใจกันทั้งสองฝ่าย

นอกจากปัญหาเรื่องระบบการศึกษาแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่เอิงสนใจเป็นพิเศษก็คือเรื่องสิทธิสตรี ซึ่งเราก็เห็นว่านั่นเป็นหัวข้อย่อยในระบบการศึกษาเหมือนกัน

เพราะสนใจเป็นพิเศษนั่นแหละ เมื่อพูดถึงกฎระเบียบของนักเรียนหญิง เอิงก็กระตือรือร้น เริ่มแบ่งปันความคิดด้วยตาเป็นประกายยิ่งกว่าเดิม

“เคยเห็นในโรงเรียนเหมือนกัน ที่มีคนไม่ใส่เสื้อซับในไปสอบ แล้วครูก็มาดีดสายเสื้อในเด็ก ทั้งที่เขาบอกให้เราปฏิบัติตามกฎดีๆ ก็ได้ เขาไม่ควรมาแตะต้องหรือยุ่งกับร่างกายเราขนาดนั้น”

ไม่ว่าจะเป็นการห้ามใส่กระโปรงสั้นหรือต้องใส่เสื้อซับใน คำหนึ่งที่มักถูกใช้เป็นเหตุผลของกฎเหล่านั้นก็คือ ‘กาลเทศะ’ และ ‘มารยาท’ ที่จะต้องไม่เปิดเผยเนื้อหนังของตัวเอง “มันก็ต้องย้อนกลับไปถามว่าแล้วมันทำไมล่ะ? มันเป็นสิทธิในร่างกายเราทั้งนั้น เรื่องทรงผม หรือแต่งหน้าด้วย ทำไมนักเรียนถึงไม่มีสิทธิจะมั่นใจในตัวเองเวลามาโรงเรียน หรือเขาคิดว่าเราอยู่ตรงนี้มีหน้าที่แค่เรียนอย่างเดียว อย่าเพิ่งมั่นใจเลย โตก่อน แล้วค่อยมั่นใจ…งง”

เราสังเกตว่ากฎของผู้หญิงหลายอย่าง เวลามีคนไม่ทำตาม มันจะกลายเป็นโดน slut-shame (การด่าประจาน ว่าผู้หญิงคนนั้นๆ มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม) ว่าเฮ้ย ใส่มาโชว์ ใส่มายั่วผู้ชาย ผู้ชายบางกลุ่มก็มองว่าผู้หญิงที่ไม่ทำตามกฎต้องการเรียกร้องความสนใจจากเพศตัวเอง ผู้หญิงด้วยกันเองยังมองอย่างนั้นเลย แล้วโรงเรียนก็ไม่เคยบอกว่ามันเป็นเรื่องผิด ในการตีตราคนอื่นว่าเธอเป็นคนอย่างนี้ เธอทำอย่างนี้เพราะเธอต้องการอย่างนี้ พอคนพวกนั้นเรียนจบออกไป เขาก็จะอยู่กับ mindset นั้นต่อ เพราะไม่มีใครไปบอกว่ามันผิด

“ดังนั้นเราคิดว่าถ้ามันไม่ใช่กฎตายตัว แต่เป็นแบบ ใครจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ มันก็จะไม่มีปัญหาแบบนี้ แต่พอมีกฎตายตัวว่าต้องทำนะ คนก็จะคิดว่าคนที่ไม่ทำตามกฎจะต้องมีเหตุผลอะไรสักอย่างที่ไม่ดี ทั้งๆ ที่เราก็แค่ไม่อยากทำ แล้วเราก็ไม่ได้อะไรกับการใส่กระโปรงยาวด้วย แต่มันไม่ใช่เรื่องที่ควรบังคับกัน”

ทั้งตระหนักถึงปัญหา ทั้งทำกิจกรรมเพื่อพยายามทำให้ปัญหาเกิดการแก้ไข เอิงยอมรับว่าก่อนมาเรียนมัธยมปลายที่กรุงเทพฯ เธอก็เป็นนักเรียนคนหนึ่งในโรงเรียนต่างจังหวัดที่ไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิตัวเองเลยเหมือนกัน

เธอเล่าแบบติดตลกให้เราฟังว่า ตอนอยู่มัธยมต้น เธอเคยแต่งหน้าจัดๆ เข้าโรงเรียนแล้วโดนครูไล่จนต้องวิ่งหนี แต่เธอก็ไม่ได้คิดมากอะไร แค่มองเป็นเรื่องมันๆ ในวัยเด็กเท่านั้น

เพราะระบบก็ไม่ได้ทำให้เราตระหนักถึงเรื่องนี้?

เธอตอบว่าใช่

“บางครั้งเราคิดว่าถ้าเรายังอยู่ต่างจังหวัด เราก็คงไม่ได้มานั่งคิดเรื่องสิทธิของตัวเองอย่างนี้ ทุกวันนี้เวลาคุยกับเพื่อนที่ต่างจังหวัด เขาก็ยังอยู่ของเขาเหมือนเดิม เราไม่สามารถพูดเรื่องนี้กับเขาได้เลย มันกลายเป็นว่าคุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะเขาไม่ได้คิดอะไรขนาดนั้น อย่างมีครั้งหนึ่งที่เพจของกลุ่มเคยลงเรื่องค่ายลูกเสือของโรงเรียนในจังหวัดเรา แล้วแฟนเพื่อนเราอยู่ที่โรงเรียนนั้น เขาก็ไม่พอใจ

เรารู้สึกว่า Loyalty ของเด็กในโรงเรียนต่างจังหวัดจะมีมากกว่าเด็กในโรงเรียนกรุงเทพฯ คือเด็กจะรักโรงเรียนมากกว่า เขามองโรงเรียนเป็นสถาบันที่สูงส่ง ต้องเทิดทูน เพราะเท่าที่เรารีเสิร์ชมาในแฮชแท็ก เวลามีคนออกมาบ่นเกี่ยวกับเรื่องในโรงเรียนต่างจังหวัด ก็จะมีคนมาว่าแบบ ไม่รักโรงเรียนหรอ ทำไมต้องทำให้โรงเรียนเสียชื่อเสียง ไปจนถึงล่าแม่มดกันเลยก็มี

นอกจากความเหลื่อมล้ำในการตระหนักถึงปัญหาแล้ว การมาเรียนโรงเรียนรัฐ (ชื่อดัง) ที่กรุงเทพฯ ยังทำให้เอิงเห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่จะเข้าถึงโอกาสต่างๆ ในการเรียนรู้ด้วย

“พอเราอยู่ในโรงเรียนที่มีอะไรซัพพอร์ตเยอะ ทั้งเล่นละคร ร้องเพลง ทำกิจกรรม ไปประกวดระดับประเทศ มันมีอะไรที่ทำให้เราสามารถไปไกลได้มากกว่าการนั่งเรียนในห้องเรียน ในขณะที่ตอนเรียนต่างจังหวัด มันไม่ได้มีอะไรให้ทำเยอะขนาดนั้น อย่างมากก็แค่ร้องเพลง ประกวดเต้น แต่พอเป็นโรงเรียนในกรุงเทพฯ มันมีโอกาสในการเข้าถึงการแข่งขันนู่นนี่ เช่นโอลิมปิกปรัชญา ที่ต่างจังหวัดเราก็มีเพื่อนชอบอะไรแบบนี้ แต่เขาคงไม่มีโอกาสได้ทำ ถ้าเขาไม่ได้อยู่ตรงนี้ ทั้งๆ ที่โอกาสในการมีส่วนร่วมน่าจะกระจายออกไปมากกว่า เพราะมันไม่ได้มีแค่เด็กกรุงเทพฯ ที่สนใจ”

พูดถึงปัญหามาเยอะแล้ว คำถามสุดท้ายคือ อยากเห็นระบบการศึกษาไทยเป็นแบบไหน

เอิงหยุดคิดไปสักพัก ก่อนจะตอบด้วยความหนักแน่น

“การศึกษาควรเป็นอะไรที่ให้เด็กได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบ ไปในทางที่ตัวเองชอบ ช่วยเด็กหาในสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ ไม่ใช่จับวิชาเรียนยัดๆ มาแล้วก็คิดว่าเออ คุณก็ต้องชอบสักวิชานั่นแหละ โรงเรียนควรส่งเสริมให้เด็กรู้ว่าตัวเองชอบอะไรมากกว่าที่จะบอกให้เรียนๆ ไปเหอะ เดี๋ยวก็รู้เอง มันควรจะทำให้เด็กรู้ตัวตั้งแต่ก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ โดยที่เด็กไม่ต้องมานั่งคิดตอนใกล้จะต้องยื่นอยู่แล้วว่าจะยื่นคณะไหนดี”

เมื่อหลายปีที่แล้ว เราก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่ต้องตกอยู่ในสภาพนั้น เพราะไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรจริงๆ เหมือนกัน

หลังจากจบบทสนทนา เอิงบอกลาเราด้วยรอยยิ้มเดียวกับที่แทรกอยู่ตลอดการพูดคุย

ทั้งเครื่องสำอางบนใบหน้า ทั้งกางเกงสั้นเต่อ จนมองเห็นรอยสักบนต้นขา เมื่อประกอบกับรอยยิ้มนั้นแล้ว พวกมันต่างกำลังบอกเราว่า ตอนนี้โลกกำลังอนุญาตให้นางสาวพิมพ์มาดามีสิทธิที่จะมั่นใจและมีความสุขกับอะไรก็ตามที่เธอเลือกให้มาอยู่บนเนื้อตัวของเธอได้เต็มที่

คงจะดีเหมือนกัน ถ้าเธอและนักเรียนคนอื่นๆ ได้รับสิทธินั้นในรั้วโรงเรียนของตัวเอง

อันตา จิตตาศิรินุวัตร
ผมสองสี ไม่มีเฟซบุ๊ก สนใจหลายอย่าง เขียนงานได้ทุกรูปแบบ และถอดเทปได้เร็วพอๆ กับรถเมล์สาย 8 ในตำนาน

พิศิษฐ์ บัวศิริ
เรียนจิตรกรรม แต่ดันชอบถ่ายรูปด้วย ทำงานมาสารพัด กราฟิก วาดรูป ถ่ายรูป อะไรก็ได้ที่ใช้ศิลปะเป็นส่วนประกอบ ติดเกมตั้งแต่เด็กยันแก่ รักการฟังเพลงเมทัล แต่พักหลังดันเป็นโอตะ BNK48

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า