หลักประกันสุขภาพกับคำสำคัญที่หายไป

elections-1496436_960_720

 

หลังจากเพจกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย เผยแพร่รายงานในชื่อ ‘ตอบข่าวลือและประเด็นบิดเบือนเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องสิทธิประชาชน การศึกษา การรักษาพยาบาล เบี้ยยังชีพคนชรา ฯลฯ’ เพื่อชี้แจงว่า คำสำคัญที่หายไป เช่น ‘สิทธิเสมอกัน’ ‘การได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและเหมาะสม’ นั้น ไม่มีผลให้ประชาชนได้รับสิทธิ์ที่ลดน้อยลง ดังการตีความของกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาชน

แสงศิริ ตรีมรรคา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ตอบโต้ผ่าน waymagazine ว่าคำชี้แจงของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ได้ตอบคำถามเลยว่า กรธ. ใช้เหตุผลใดตัดคำที่สมควรเป็นหลักการออกจากร่างรัฐธรรมนูญ

คำสำคัญที่ถูกตัดออกไปนั้น จะส่งผลให้กระบวนการต่อสู้เรื่องสิทธิสาธารณสุขกว่า 14 ปี กลับไปสู่จุดเริ่มต้นเดิม เปลี่ยนจากหลักการของรัฐที่มีหน้าที่รับรองสิทธิ์ของทุกคนอย่างเสมอหน้า กลายเป็นรัฐมีหน้าที่ดูแลเฉพาะคนยากไร้แทน

“ปัญหาของการตัดคำสำคัญ เช่น สิทธิเสมอหน้า หรือระบุว่าให้รับสิทธิ์เฉพาะผู้ยากไร้ เอาเฉพาะความหมายของผู้ยากไร้ มันหมายถึงระบบสุขภาพจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมคือการร่วมจ่ายเมื่อป่วย ผู้ที่ไม่มีสตางค์ แต่ไม่เข้าข่ายเป็นผู้ยากไร้ ยังไงก็ต้องหามาจ่ายให้ได้ แต่การต่อสู้ในหลักประกันสุขภาพ มันเดินมาไกลกว่าการที่รัฐมีหน้าที่สงเคราะห์คนจนแล้ว แต่มันคือการประกันว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณจะได้รับการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียม” แสงศิริอธิบายถึงแนวคิดเบื้องหลังคำสำคัญ

“ประเด็นคือเราไม่รู้และไม่เคยได้รับการชี้แจงเลยว่า การตัดคำออกไปมีเหตุมาจากอะไร และจะนำไปสู่การตีความอะไรได้บ้าง เช่น ม. 258 หมวดปฏิรูป เขียนไว้แบบไม่ชัดเจน เช่นบอกว่าจะจัดบริการการระบบสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมันตีความได้หลายอย่าง เช่นดียิ่งขึ้นต้องใช้เงินเพิ่ม หมายความอาจต้องกลับใช้ระบบร่วมจ่ายเมื่อป่วย ทำให้ขึ้นกับว่าใครจะหยิบมาใช้ตีความ ด้วยความที่มันเขียนไว้ไม่ชัดเจน สุดท้าย กรธ.ไปอ้างความเสมอภาคจาก ม.4 ไปขนาดนั้นเลย ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องเชื่อมโยง ซับซ้อน และยากแก่การตีความ หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน และมีผลให้ใช้จริง มันอาจหมายถึงการต้องกลับไปใช้ระบบเดิม คือรัฐสงเคราะห์เฉพาะแก่ผู้ยากไร้เท่านั้น ”

นี่คือปัญหาในร่างรัฐธรรมนูญอีกหนึ่งกรณีที่ยังเป็นความคลุมเครือ ในขณะที่การลงประชามติกำลังเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า


หมวด 1 บททั่วไป
มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ – บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามที่กฎหมายบัญญัติ – บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
มาตรา 55 รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย
รัฐต้องพัฒนาบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ
มาตรา 258
ซ. ด้านอื่น ๆ
4. ปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการ และการเข้าถึงบริการที่มีคุรภาพและสะดวกทัดเทียมกัน
5. ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม

 

logo sponsor

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า