เมื่อการศึกษากลายเป็นการแสดงความรุ่มรวยแบบใหม่ของพ่อแม่ชนชั้นกลางชาวจีน

ทุกวันนี้กระเป๋าแบรนด์หรู หรือรถยนต์นำเข้าจากยุโรป ไม่ใช่สัญลักษณ์แสดงความร่ำรวยของชาวจีนแผ่นดินใหญ่อีกต่อไป โดยเฉพาะพ่อแม่ชนชั้นกลางชาวจีน ในเวลานี้ สิ่งที่บ่งบอกถึงสถานะทางการเงินได้ดีที่สุดคือ การลงทุนในการศึกษาระดับสูงเพื่อลูกๆ ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นคอร์สเรียนภาษาช่วงซัมเมอร์ที่ต่างประเทศ หรือโรงเรียนเอกชนราคาแพง

กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในสังคมโลกออนไลน์จีนไม่นานมานี้ เมื่อคุณแม่คนหนึ่งได้ตั้งกระทู้ใน ‘WeChat Moments’ ว่า “เงินเดือน 30,000 หยวน (หรือเลขกลมๆ อยู่ที่ 150,000 บาท) ไม่เพียงพอสำหรับช่วงวันหยุดหน้าร้อนของลูกฉันอีกต่อไป”

โดยเนื้อหาในกระทู้ดังกล่าวบอกเล่าความยากลำบากในการหาเงินเพื่อนำไปลงทุนกับการศึกษาของลูกสาวเธอ เธอเล่าอย่างละเอียดว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อคอร์สเรียนช่วงซัมเมอร์ของลูกสาวทั้งหมดอยู่ที่ 35,000 หยวน (ราว 180,000 บาท) โดยแบ่งออกเป็นคอร์สเรียนภาษาที่สหรัฐ 10 วัน 20,000 หยวน (ราว 100,000) และคอร์สย่อยๆ อีกรวมแล้วอยู่ที่ 10,000 หยวน

ทันทีที่กระทู้ดังกล่าวถูกโพสต์ได้ไม่นาน เน็ตติเซนจีนก็ออกมาแสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก เช่น

การที่คุณจ่ายเงินมากกว่าคนอื่นเพื่อให้ลูกตัวเองเรียนคอร์สแพงๆ จะทำให้ลูกคุณ ‘ดีกว่า’ คนอื่นเหรอ?

คุณคิดว่าลูกคุณจะมีความสุขไหมกับสิ่งที่คุณทำอยู่?

เป็นต้น

สอดคล้องกับคุณแม่อีกคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับเจ้าของกระทู้ แม้เธอจะเสียคอร์สเรียนพิเศษช่วงซัมเมอร์ลูกน้อยกว่าคือ 20,000 หยวน

“ฉันยอมลงทุนเพื่อการศึกษาของลูกฉันมากกว่าไปซื้อของแบรนด์เนม เพราะว่าผลตอบแทนที่จะได้รับกลับมามันมหาศาลกว่ากระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อหนึ่งอยู่แล้ว” เธอกล่าว

จากรายงานเรื่องค่าใช้จ่ายทางการศึกษาทั่วโลกของธนาคาร HSBC เมื่อเดือนมิถุนายนชี้ให้เห็นว่า พ่อแม่ชาวจีนส่วนใหญ่กว่า 93 เปอร์เซ็นต์ส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนชั้นดี โดยเฉพาะในประเทศชั้นนำทางการศึกษา เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร

พอล สวิแนนด์ (Paul Swinand) รองประธานบริษัท Four Hills Advisors ที่ให้คำปรึกษากับแบรนด์สินค้าหรูหราซึ่งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์มุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายใหม่คือ ‘ชนชั้นกลางชาวจีน’ แสดงความคิดเห็นต่อปรากฏการณ์ใหม่ว่า

“ความคิดที่ว่าสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะทางสังคมกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว”

อย่างไรก็ตามการลงทุนทางการศึกษาให้กับลูกๆ เพื่อยกระดับสถานะทางสังคมนั้นไม่ใช่ปัญหาของกลุ่มชนชั้นล่าง เนื่องจากพวกเขาไม่มีกำลังจ่ายมากพอ ส่วนชนชั้นสูงนั้นก็อยู่ในสถานะสูงกว่ามาตั้งนานแล้ว

หยู ซิ่วหลาน (Yu Xiulan) ศาสตราจารย์สาขาการศึกษาของมหาวิทยาลัยนานกิง (Nanjing University) วิเคราะห์ไว้ว่า การยกระดับทางสถานะเป็นเรื่องของเหล่า ‘ชนชั้นกลาง’ เนื่องจากพวกเขาอยู่ ‘ระหว่างช่องว่าง’ ตรงนั้น และต่างมีความกังวลใจว่าจะรักษาสถานะของตัวเองเอาไว้ หรือเลื่อนไปอีกขั้นได้หรือไม่ ฉะนั้นการลงเม็ดเงินเพื่อการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมและให้ความรู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยว่าจะไม่ก้าวพลาดตกลงในชั้นที่ต่ำไปกว่าเดิม

แม้เทรนด์ใหม่นี้จะส่งผลให้สินค้าแบรนด์เนมที่ยึดกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นชนชั้นกลางชาวจีน ต้องออกหากลยุทธ์เพื่อรับมือกับพวกเขาใหม่ แต่พอลก็มองว่า คงไม่ใช่เรื่องยากอะไรอยู่แล้วสำหรับการโน้มน้าวกลุ่มคนดังกล่าวให้หันมาซบอกสินค้าแบรนด์เนมเหมือนเคย

เพราะในจีน อะไรก็เกิดขึ้นได้


อ้างอิงข้อมูลจาก:
scmp.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า