Interns Beware: การฝึกงานดีจริงหรือ?

ภาพประกอบ: Shhhh

ต้นเดือนสิงหาคม ถือเป็นช่วงเปิดเทอมของมหาวิทยาลัย นักศึกษาหลายคนอาจเพิ่งผ่านพ้นช่วงฝึกงานมาได้ไม่นาน หลายคนอาทิตย์นี้อาจเป็นอาทิตย์สุดท้าย – น้องๆ ไฟแรงที่ WAY ก็เช่นกัน

ตั้งสมมุติฐานว่า การฝึกงานส่วนใหญ่เป็นแบบไม่ได้รับค่าจ้างที่กินเวลาประมาณ 3-6 เดือนเป็นอย่างต่ำ เท่ากับว่า ตลอดช่วงระยะเวลานั้น นักศึกษาต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น และหากต้องไปฝึกงานต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายก็จะผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ตั้งแต่ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่ากินและจิปาถะ

แต่เคยสงสัยกันหรือเปล่าว่า ตั้งแต่เมื่อไรกันที่การฝึกงานกลายเป็นสิ่งที่นักศึกษาทุกคนต้องทำ และการฝึกงานแบบไม่ได้รับค่าแรงแลกกับประสบการณ์แทน จะช่วย ‘เพิ่มโอกาส’ ในการจ้างงานเมื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานได้จริงหรือ

ที่น่าสนใจกว่าคือ การฝึกงานดูเหมือนจะเป็นขนบธรรมเนียมของเหล่านักศึกษาทั่วโลกที่ต้องทำ ทุกคนต้อง ‘เสาะหาประสบการณ์’ ตามความเชื่อแบบที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามาจากไหน

แม้แต่นายจ้างจากบริษัทชั้นนำส่วนใหญ่ยังยอมรับว่า หากใน CV ของผู้สมัครงานตรงช่องประสบการณ์ไม่มีการขีดเขียนอะไรเลย ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ หรือยากมาก…ที่เขาหรือเธอจะได้เข้ามารับหน้าที่พนักงานและเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท

สถาบันนโยบายศึกษาแห่งสหราชอาณาจักร (Institute for Public Policy Research: IPPR) รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบัน ประกาศโฆษณาตำแหน่งนักศึกษาฝึกงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่จำนวนประกาศรับสมัครว่าจ้างเด็กจบใหม่ทำงานกลับลดลงอย่างน่าใจหาย นอกจากนั้น ประกาศรับสมัครนักศึกษาฝึกงานในแต่ละปีมี 11,000 ตำแหน่ง แต่เอาเข้าจริง จำนวนนักศึกษาที่ต้องการเข้ารับการฝึกงานมีสูงถึง 70,000 คน – แล้วเขาหรือเธอที่ไม่ได้รับโอกาส ‘มีประสบการณ์’ จะมีอนาคตแบบไหน

แต่…ใช่ว่าตำแหน่งฝึกงานดังกล่าวจะช่วยให้นักศึกษาได้ประสบการณ์อย่างที่พวกเขาต้องการจริงๆ เพราะแท้จริงแล้วมีเรื่องลึกตื้นหนาบางกว่าที่คิด โลกที่แท้จริงช่างโหดร้าย การฝึกงานไม่ใช่เครื่องการันตีการมีงานทำ มากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายในบริษัทนั้นเองที่มีเงื่อนไขในการทำงานที่ซับซ้อน การเมืองของบริษัทที่ยากเกินกว่าจะพูด ไปจนถึงการแข่งขันห้ำหั่นระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง

ส่วนในกรณีที่รู้สึกว่า นอกจากการฝึกงานจะไม่ได้เพิ่มโอกาสแล้ว การฝึกงานยังไม่ได้ให้ประสบการณ์อะไรเลย เช่น อดีตนักศึกษาฝึกงานแบบไม่ได้รับค่าแรงที่เคยทำงานในบริษัท IT แห่งหนึ่งในลอนดอนและแมนเชสเตอร์กล่าวกับ The Guardian ว่า การฝึกงานดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาเลยสักนิดและรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง

“สิ่งที่พวกเราได้มันไม่ต่างอะไรจากการอ่านหนังสือเองในห้องสมุด ทุกคนต่างก็คาดหวังว่าจะได้รับประสบการณ์ที่นอกเหนือกว่านั้น”

IPPR รายงานต่อว่า ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ตลาดว่าจ้างนักศึกษาจบใหม่แบบถาวรลดลง 5 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะตำแหน่งจ้างแรงงานทักษะระดับสูงที่ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องแทบทุกปี และคาดการณ์ว่าปัจจุบันเหลือเพียง 56 เปอร์เซ็นต์

แต่เอาเถอะ เพื่อเพิ่มโอกาสและความมั่นใจว่าตนจะมีงานทำ จึงส่งผลให้การฝึกงานเป็นสิ่งที่นักศึกษาหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากนักศึกษามีพื้นฐานที่พร้อม มีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลมากกว่า การฝึกงานก็ดูจะไม่ใช่เรื่องหนักหนาหรือมีปัญหาอะไร

ตัวอย่างชัดๆ คือ ประเทศไทย ที่มีการแก้ปัญหาทำให้การฝึกงานเป็น ‘ระเบียบ’ หรือรายวิชาที่ต้อง ‘ผ่าน’

แต่สำหรับเด็กอีกกลุ่มล่ะ อาจไม่ใช่อย่างนั้น

ตัวอย่างในต่างประเทศ เหล่าผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษมองว่า การฝึกงานเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และโอกาสในการตามล่าอาชีพในฝัน เป็นเรื่องของนักศึกษาที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่พร้อมเท่านั้นถึงจะทำได้ กล่าวคือ การฝึกงานเป็นการรั้งให้การเลื่อนชั้นทางสังคม (social mobility) ยากขึ้น แทนที่จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนให้สังคมทำงานได้ดีขึ้น

เหตุผลที่ตำแหน่งนักศึกษาฝึกงานมีมากกว่าตำแหน่งว่าจ้างนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงาน ส่วนหนึ่งมาจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ที่มีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐอเมริกาแล้วค่อยๆ ลุกลามไปทั่วโลก บริษัทจำนวนมากจึงเลือกที่จะลดต้นทุน และหันมารับสมัครนักศึกษาฝึกงานเพิ่มขึ้นแทน

เราไม่อาจกล่าวได้ว่า การฝึกงานเป็นสิ่งที่นักศึกษาเข้าถึงกันได้ทุกคน มันเป็นเรื่องยากมาก สำหรับกลุ่มที่มีคอนเนคชั่น มีข้อมูลในการเข้าถึง มีสถานะทางการเงินที่พร้อม การฝึกงานก็เป็นเรื่องง่ายดายและเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงอาชีพในฝันได้เพิ่มมากขึ้น แต่กลับกัน การฝึกงานยิ่งทำให้การเลื่อนชั้นทางสังคมยากขึ้น ทั้งมหาวิทยาลัย รัฐบาลและบริษัทต่างๆ ควรทำอะไรสักอย่างรวมกันเพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะให้การฝึกงานเป็นสิ่งที่ไม่ใช่เด็กกลุ่มเดียวสามารถเข้าถึงได้

รายงานดังกล่าวยังอธิบายต่อว่า ตำแหน่งงานในสำนักพิมพ์ สื่อต่างๆ และวงการศิลปะ เป็นงานที่นักศึกษาชาวอังกฤษจำนวนมากให้ความสนใจอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นงานที่นักศึกษาที่ไม่มีความพร้อมทางการเงินไม่สามารถเข้าถึงได้ เมื่อพ่อแม่ไม่พร้อมที่จะสนับสนุนทางการเงินเพื่อเติมเต็มฝันและประสบการณ์ให้พวกเขา หลายครั้งจึงต้องยอมทิ้งโอกาสนั้นไป

“การฝึกงานไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มันยังเป็นการล็อคไม่ให้นักศึกษาบางกลุ่มเข้าถึงโอกาสเหล่านั้น เพราะพวกเขาไม่สามารถที่จะทำงานให้ฟรีๆ ได้ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว การฝึกงานจึงเป็นเรื่องเลวร้ายต่อเด็ก ต่อธุรกิจ ต่อเศรษฐกิจและเป็นเครื่องกีดขวางการเลื่อนชั้นทางสังคม เราควรยุติการฝึกงานแบบไม่จ่ายค่าแรงและทำให้การฝึกงานเป็นสิ่งที่นักศึกษาเข้าถึงได้อย่างแท้จริง” อลัน มิลเบิร์น (Alan Milburn) หัวหน้าคณะกรรมาธิการการเลื่อนชั้นทางสังคม (Social Mobility Commission) กล่าวทิ้งท้าย


อ้างอิงข้อมูลจาก: theguardian.com
theguardian.com/society
theguardian.com/education

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า