สิริพรรณ นกสวน สวัสดี: อ่าน กกต. อ่านพรรคการเมือง อ่านประเทศไทยหลังเลือกตั้ง

24 มีนาคม 2562 คือวันเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย หลังการปิดหีบในเวลา 17.00 น. ของวันเดียวกัน ทุกหน่วยเลือกตั้งเริ่มนับคะแนนเพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนกระทั่งกลางดึก กกต. ได้ออกมาประกาศหยุดนับคะแนนที่ 94 เปอร์เซ็นต์ พร้อมระบุยอดรวมผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 35,409,952 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,035,392 คน และจะเริ่มนับคะแนนใหม่อีกครั้งในเช้าวันรุ่งขึ้น

25 มีนาคม 2562 ประเทศไทยตื่นขึ้นมาพบกับผลคะแนน 95 เปอร์เซ็นต์ โดย พันตำรวจเอกจรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. และ ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. แถลงเหตุผลว่า ระเบียบ กกต. กำหนดให้ประกาศคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้ไม่เกิน 95 เปอร์เซ็นต์ ขณะนั้น พรรคเพื่อไทยได้ว่าที่ สส.เขตเป็นอันดับ 1 คือ 137 ที่นั่ง และ สส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 0 ที่นั่ง ขณะที่พรรคอันดับ 2 พลังประชารัฐได้ว่าที่ สส.เขต จำนวน 97 ที่นั่ง และ สส.บัญชีรายชื่อ จำนวน 21 ที่นั่ง

27 มีนาคม 2562 ท่ามกลางความพร่ามัวของผลการนับคะแนนการเลือกตั้ง พรรคการเมือง 6 พรรค รวมตัวกันในนาม ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ นำโดยเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ได้ลงสัตยาบันร่วมจัดตั้งรัฐบาล ประกาศตัวไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. และเสนอข้อเรียกร้องต่อ กกต. ให้เปิดเผยคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ต่อสาธารณะ

28 มีนาคม 2562 ด้วยกระแสกดดันที่ถาโถมทุกทิศทาง กกต. จึงประกาศผลคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขที่ออกมาในช่วงเวลาที่ไม่มีใครคาดคิดส่งผลให้ตารางอันดับคะแนนพลิกใหม่อีกครั้ง พร้อมกับกระแสความไม่พอใจการทำงานของ กกต. ที่ปะทุขึ้น

ท่ามกลางความสงสัยที่มีต่อรูปแบบการนับคะแนนและการคำนวณจำนวน สส.พึงมี ผ่านสมการและสูตรที่ยากต่อการทำความเข้าใจ และความคลางแคลงใจต่อการทำหน้าที่ของ กกต. บัตรเสีย บัตรเสริม บัตรเขย่ง และบัตรที่ไม่สามารถนับคะแนนได้จากนิวซีแลนด์ ประชาชนเริ่มตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและร่วมกันลงชื่อรณรงค์ให้ถอดถอน กกต. ผ่านเว็บไซต์ change.org ใช้เวลาเพียง 4 วัน มีผู้ร่วมลงชื่อทะลุ 800,000 รายชื่อ

เช่นเดียวกับคนจำนวนมากที่คลางแคลงใจ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประหลาดใจกับผลเลือกตั้งและการทำงานของ กกต. ไม่ต่างจากคนอื่นๆ

ไม่ว่าการนับคะแนนจะมีความ ‘error’ จริงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน ทว่าด้วยกติกาที่ถูกออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง รวมถึงบริบทแวดล้อมขั้วการเมืองหลายประการ ก็ทำให้พรรคพลังประชารัฐ และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือความได้เปรียบอย่างไม่อาจปฏิเสธ

มองไปข้างหน้า ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งหนนี้จะไม่นำไปสู่ทางออก และไม่อาจให้ความหวังใดๆ ได้ แต่สำหรับ รศ.ดร.สิริพรรณ มองว่าอย่างน้อยก็ยังพอจะเห็นแง่บวกของการเลือกตั้งครั้งนี้อยู่บ้าง

“ผลลัพธ์ตอนนี้ทำให้เห็นว่า อย่างน้อยก็มีเสียงประมาณ 10 กว่าล้านเสียงที่ออกมาบอกว่าตนเองต้องการอะไร เเละถึงจะไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่ใช่ความพ่ายเเพ้ แต่เป็นชัยชนะก้าวแรกที่เราได้เปิดพื้นที่การต่อสู้ในระบบรัฐสภา เเละจะทำให้รัฐบาลชุดต่อไปต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายค้านที่เข้มเเข็ง นี่จะเป็นเกมที่สนุกมาก”

 

 

ทำไม กกต. ต้องรอประกาศผลคะแนนเลือกตั้งในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 แทนที่จะประกาศผลทันทีที่นับคะแนนเสร็จเหมือนการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา และเหตุผลอะไรที่ กกต. เปลี่ยนใจมาประกาศคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันที่ 28 มีนาคมแทน

พูดให้ชัดๆ คือ วันที่ 9 พฤษภาคม เป็นวันประกาศรับรอง สส. อย่างเป็นทางการ แต่เหตุที่ กกต. ยังไม่ประกาศทันที ต้องไปดูแต่ละเขตว่ามีข้อร้องเรียนอะไรบ้าง มีใครมาร้องเรียนภายหลังหรือไม่ กกต. จึงต้องยืดระยะเวลาออกไป เพื่อจะได้มีเวลาพิสูจน์หลักฐานก่อนจะรับรอง

รัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วมา กกต. จะมีเวลาตรงนี้ 30 วันในการรับรองผลเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้เวลา 60 วัน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 24 พฤษภาคม แต่จะไปขัดกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ที่ระบุว่าต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน นั่นก็คือวันที่ 9 พฤษภาคม แล้วถ้าจะประกาศให้เร็วขึ้นกว่านี้ก็ติดพระราชพิธีสำคัญของประเทศ ฉะนั้น วันที่ 9 พฤษภาคม จึงเป็นจังหวะที่เหมาะที่สุด

แต่อันที่จริงแล้วไม่จำเป็นต้องรอผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 พฤษภาคมก็ได้ เพราะ กกต. สามารถประกาศคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้ ซึ่งตอนนี้ กกต. ก็ได้ทำแล้ว เพราะประชาชนรวมตัวกันเรียกร้อง เป็นแรงกดดันให้ กกต. ขยับมาประกาศผลเมื่อวันที่ 28 มีนาคม

การลงสัตยาบันของ 6 พรรคการเมือง มีผลทำให้ กกต. เปลี่ยนท่าทีด้วยไหม

คิดว่าใช่ส่วนหนึ่ง การรวมกันของ 6 พรรค ก็คือการช่วงชิงจังหวะทางการเมือง เพื่อที่จะบอกว่าฝั่งนี้รวมกันได้เกินครึ่งแล้ว เพราะรู้อยู่ว่าถ้าผลคะแนนออกมาครบเมื่อไหร่ จำนวนที่นั่งอาจจะเปลี่ยนอีกก็ได้ และ กกต. ก็ยังมีอาวุธอีกอย่างคือ ใบเหลือง ใบแดง ดังนั้นการออกมาบอกสังคม ณ วันที่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นว่าพรรคการเมืองกลุ่มนี้ได้เสียงเกินครึ่ง เพราะรู้อยู่ว่าอีกฝั่งหนึ่งก็จะออกมากล่าวอ้างด้วยประเด็นที่ตรงข้ามกัน ว่ามีเสียง popular vote มากกว่า หรือมีความชอบธรรมมากกว่า นั่นคือภาพของการช่วงชิงจังหวะทางการเมือง

อีกจังหวะหนึ่งของ กกต. ที่ออกมาประกาศผลวันที่ 28 มีนาคม ก็เพื่อให้ฝั่งที่ไม่เอา คสช. หรือทั้ง 6 พรรคสะดุดขาตัวเองล้ม จากเดิมที่ได้เกินครึ่ง หรือ 255 เสียง พอประกาศคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ ผลที่ออกมาจึงเป็นอีกแบบหนึ่ง

ความได้เปรียบในการชิงออกมาประกาศตัวของ 6 พรรคการเมืองคืออะไร

อย่างที่บอกว่านั่นคือการช่วงชิงจังหวะทางการเมือง ถ้าไม่ทำแบบนี้ คะแนนก็จะถูกทอนออกไป ไม่ได้ถูกนำมามัดรวมกัน แม้ว่าในทางยุทธศาสตร์อาจจะไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ว่าอย่างน้อย จุดหนึ่งที่ยืนยันได้คือคะแนนเสียงเกินครึ่ง ประการต่อมาคือ เป็นยุทธศาสตร์กดดันพรรคที่เคยแสดงจุดยืนว่าไม่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ เพื่อให้มาเข้าร่วมสัตยาบันด้วย ทั้งภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์

แม้ยุทธศาสตร์นี้จะไม่สำเร็จ เพราะภูมิใจไทยไม่เข้าร่วม แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นในบรรยากาศของการลงสัตยาบันก็คือ การแสดงมารยาทและสปิริตของพรรคการเมือง อย่างที่คุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธุ์) บอกว่าไม่จำเป็นที่ตัวเองจะเอาตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่คุณธนาธร (จึงรุ่งรืองกิจ) ก็ยังให้เกียรติคุณหญิงสุดารัตน์ได้เป็นนายกฯ อยู่ นี่เป็นมารยาททางการเมืองที่อย่างน้อยพรรคฝั่งไม่เอา คสช. ได้ปักหมุดให้สังคมได้เห็น

เหมือนดอกไม้ที่บานท่ามกลางสมรภูมิรบ แม้ว่าจะร่วงโรยในเร็ววัน แต่ก็ได้ความฉ่ำใจให้กับผู้สนับสนุนของฝั่งนี้ ถ้าเขาไม่ทำแบบนี้ เราก็อาจไม่เห็นแม้แต่ดอกไม้

ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ต่อให้ภูมิใจไทยมา ยังไงก็ไม่ถึง 376 ที่นั่ง และสิ่งที่อนาคตใหม่พยายามทำมาตลอดคือ การเชิญชวนให้ทุกพรรคมาร่วมกันปิดสวิทช์ สว. ซึ่งจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยมาเข้าร่วม และถึงแม้จะรู้อยู่แล้วว่าประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วม แต่ยังไงก็ต้องทำ เพราะนี่คือยุทธศาสตร์ที่ไม่ได้แข่งขันกับนักการเมืองเพียงสองฝั่ง แต่เป็นยุทธศาสตร์เพื่อกดดัน กกต. ที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองสำหรับเกมนี้ด้วย

แม้ กกต. จะยอมประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการแล้วก็ตาม แต่ตัวเลขที่ กกต. ประกาศกลับพบจุดที่น่าสงสัยจำนวนมาก?

ใช่ ยิ่งถ้ารอปล่อยคะแนนออกมาวันที่ 9 พฤษภาคม ยิ่งจะทำให้ประชาชนตกใจกว่านี้อีก เพราะจะไม่มีใครมีเวลาเตรียมตัวเลย การที่ กกต. ยอมประกาศออกมาตอนนี้เชื่อว่าเป็นเพราะแรงกดดันของสังคม อย่างตอนแรกที่มีปัญหาเรื่องการออกแบบบัตรเลือกตั้งที่จะมีแค่หมายเลขผู้สมัคร ไม่มีโลโก้พรรค ถ้าประเมินดูแล้วก็ไม่ใช่ว่า กกต. ไม่ฟังประชาชนเลยนะ เขาก็ฟังพอสมควร

แต่สิ่งที่ กกต. ทำได้ไม่ดีคือ ไม่สามารถตอบคำถามหรือข้อสงสัยของประชาชนได้สักเท่าไหร่ เช่น บัตรที่เกินมาก่อนหน้านี้ ทำไมผู้ใช้สิทธิถึงเพิ่มขึ้นมาเป็น 74 เปอร์เซ็นต์ (จากเดิม 65.96 เปอร์เซ็นต์) หรือวิธีการคำนวณคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ จะปัดเศษทศนิยมอย่างไร จะเพิ่มหรือลดโควตาถึงลำดับที่เท่าไร เรื่องเหล่านี้ กกต. ตอบไม่ได้เลย

อาวุธลับของ กกต. อย่างใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง ต้องแจกก่อนประกาศผลวันที่ 9 พฤษภาคม ใช่ไหม

ใช่ และหลังจากวันที่ 9 พฤษภาคม ก็ยังสามารถแจกได้อีกระลอกหนึ่ง แต่ กกต. ก็คงอยากให้สถานการณ์นิ่งก่อน เพื่อที่จะมี สส. ในสภา 95 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็คือ 475 คน เพื่อที่จะเปิดสภาได้ก่อน แต่หลังจากนั้น กกต. ยังมีอำนาจเต็มที่จะให้ใบเหลือง ใบแดง ได้ทั้งปี

ในแง่ประชาชนทั่วไปสามารถเคลื่อนไหวอย่างไรได้บ้าง กรณีที่มีข้อสงสัยต่อการทำงานของ กกต. และผลคะแนนที่สับสน จะสามารถเรียกร้องให้นับคะแนนใหม่ได้ไหม

ก็คงต้องเข้าชื่อกัน ที่จริงแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ให้อำนาจไว้ แต่ถ้าเราประเมินว่าพลังกดดันจากสังคมสามารถส่งผลต่อการตัดสินใจของ กกต. ประชาชนก็ลองเข้าชื่อกันได้ แต่ กกต. ก็อาจจะอธิบายว่าทำไม่ได้ เพราะไปขัดกับระเบียบของ กกต. ที่ให้ประกาศนับคะแนนวันเดียวอย่างต่อเนื่อง หรือไม่เช่นนั้นแล้วประชาชนอาจต้องไปกดดันศาลปกครอง

หมายความว่าสามารถยื่นเรื่องไปยังศาลปกครอง เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบการทำงานของ กกต. ได้?

ใช่ เพื่อให้ศาลคุ้มครองสิทธิของประชาชน ถ้ามองในแง่นี้ก็คือเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิประชาชน หรืออาจยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน อย่างเช่นกรณีตรวจสอบพลเอกประยุทธ์ว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ คือยื่นสองช่องทางก็ได้ แต่ดูแล้วคงไม่ได้ผลอะไร เพราะไม่มีช่องทางในรัฐธรรมนูญที่จะทำอะไรได้เลย

กรณีการลงชื่อในเว็บไซต์ change.org จะมีผลทางกฎหมายบ้างไหม

จริงๆ แล้ว รัฐธรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ได้เปิดช่องสำหรับประชาชนในการถอดถอนองค์กรอิสระ การถอดถอนสามารถทำได้โดย ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เอาหลักฐานไปยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วศาลฎีกาจะเป็นคนตั้งกรรมการสอบสวน ต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ที่ได้ให้อำนาจประชาชนลงชื่อ 40,000 กับ 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอถอดถอนได้

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนว่าประชาชนอัดอั้นตันใจขนาดไหน จึงพยายามที่จะหาช่องทางมีส่วนร่วม แม้ว่าจะไม่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็พยายามทำและหาแนวทางที่เป็นไปได้ เพื่อแสดงออกถึงข้อเรียกร้องไปถึงองค์กรทางการเมืองเพื่อให้เข้ามาปกป้องสิทธิของประชาชน

ถ้าจะให้มีการถอดถอนองค์กรอิสระ ศาลฎีกาต้องเป็นคนถอดถอนทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วถ้าจะเรียกร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ คิดว่าคงไม่ง่ายเหมือนกัน

โดยมาตรฐานสากล ถ้าเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นประชาชนจะเรียกร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ และมีการนับคะแนนใหม่เลยทันที เราพูดเฉพาะเรื่องมาตรฐานการจัดการเลือกตั้งที่มีข้อกังขา เราไม่ได้พูดถึงว่า รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายของไทยเปิดช่องไว้หรือเปล่า เพราะเราทราบดีว่ามันไม่ได้เปิดช่องไว้ ไม่ใช่เราโง่ไม่รู้กฎหมายนะ เรารู้ดีว่ากฎหมายไม่ได้เขียนไว้ เพียงแต่ไม่มีช่องทางอื่น เราเลยขอใช้มาตรฐานที่เป็นสากล

ถ้ามองภาพรวมของ กกต. การจัดการเลือกตั้งรอบนี้ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานสากลทั่วไปไหม

คิดว่าประชาชนน่าจะได้ตัดสินกันไปแล้วว่ามันไม่ผ่าน ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมตอนนี้ กกต. ถึงได้เป็น ‘ตำบลกระสุนตก’ เราไม่ต้องให้นักวิชาการตัดสินก็ได้ แค่เสียงจากประชาชนทั้งสองฝั่งก็พอแล้ว เพราะหลายกรณี กกต. ไม่สามารถอธิบายเหตุผลหรือชี้แจงข้อผิดพลาดอะไรได้เลย

คำถามใหญ่คือ ใครจะตรวจสอบอำนาจของ กกต. ถ้าให้ประชาชนไปยื่น ป.ป.ช. ก็จะมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นช่องทางที่พอทำได้ ส่วนช่องทางอื่นก็เป็นเพียงข้อเรียกร้อง เป็นมาตรการกดดัน

ยกตัวอย่างเรื่องผลคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่ตอนแรกเขาตั้งใจไม่ประกาศผลด้วยซ้ำ การที่เขาออกมาประกาศภายหลังก็เพราะมีแรงกดดัน ไม่ว่าจะมาจากพรรค ประชาชน หรือกระแสโซเชียลมีเดีย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ผลมาตลอด ตั้งแต่การออกแบบการเลือกตั้งที่ตอนแรกจะไม่ให้ใส่โลโก้พรรค มีแต่หมายเลขผู้สมัคร พอคนเรียกร้องเยอะ เขาก็ถอย

ถ้าจำเป็นต้องนับคะแนนใหม่ หรือเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ กกต. ไม่สามารถประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการได้ในวันที่ 9 พฤษภาคม ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ

กกต. ต้องรับผิดชอบ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตีความ เพราะอีกมาตราหนึ่ง (มาตรา 127) ระบุไว้ว่า กกต. มีเวลา 60 วัน ซึ่งจะไปตกวันที่ 24 พฤษภาคม หมายความว่ารัฐธรรมนูญสองมาตรานี้ขัดแย้งกันเอง ดังนั้นถ้าจะตีความว่า กกต. ไม่ผิด สามารถยื้อไปได้ถึง 24 พฤษภาคม ก็ได้เหมือนกัน อยู่ที่ว่ามีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญไหม และศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร

ความหมายที่ว่า ถ้าเราเรียกร้องให้มีการนับคะแนนใหม่แล้วอาจจะยืดเยื้อ แต่พูดจริงๆ ถ้า กกต. ยินยอมนับคะแนนใหม่ สมมุตินับวันที่ 1 เมษายน วันที่ 2 เมษายนก็เสร็จแล้ว ไม่ต้องถึงวันที่ 24 พฤษภาคมก็ได้ ถ้าจะแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่ก็คิดว่าคงไม่ทำ

แสดงว่า กกต. ก็มีกฎหมายหรือกลไกที่ปกป้องตัวเองพอสมควร?

ใช่ กกต. เขียนกฎหมายที่พูดถึงการจัดการเลือกตั้งและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนธันวาคม 2561 และดูเหมือนจะยึดสิ่งที่ตัวเองเขียนมากกว่ายึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ เลยดูเหมือนว่าระเบียบของ กกต. กลายเป็นเครื่องกีดขวางไม่ให้ กกต. วินิจฉัยอะไรที่เป็นคุณกับการเลือกตั้ง อย่างเช่น กรณีบัตรนิวซีแลนด์

โดยปกติกฎหมายจัดการเลือกตั้งต้องไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายใหญ่กว่าอยู่แล้ว ทำไม กกต. ถึงมีท่าทีดังที่เห็น

กฎหมายที่ กกต. เขียนขึ้นมานั้น เป็นเพียงระเบียบการจัดการเลือกตั้ง ถึงได้บอกว่า ถ้าประชาชนจะลองใช้สิทธิดูก็น่าสนใจ แต่ใครจะเป็นคนวินิจฉัยนี่ก็ต้องดู เพราะไม่แน่ใจว่าจะไปเข้าช่องไหนเหมือนกัน เพราะเป็นระเบียบของ กกต. เอง

คะแนน popular vote ที่พลังประชารัฐนำมาใช้อ้างความชอบธรรม จริงๆ แล้วหลักการของ popular vote ตามหลักสากลต้องเป็นอย่างไร

popular vote ก็คือการช่วงชิงจังหวะทางการเมือง แต่ถ้าถามถึงกติกาว่าพรรคใดมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล มีเกณฑ์อยู่ 3 ข้อ หนึ่งคือ กติกา สองคือ ธรรมเนียมปฏิบัติ และสามคือ มารยาททางการเมือง

ถ้าเราคำนึงถึงกติกา ว่าเราปกครองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการเมืองในระบอบรัฐสภา มีการเลือกตัวแทนเข้าไปเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีอีกที นั่นก็ชัดเจนแล้วว่าเราไม่ได้เลือกประธานาธิบดีโดยตรง ดังนั้น คะแนน popular vote จึงไม่ควรถูกนำมานับในกรณีนี้

บางคนอาจจะมองว่า ถ้าเป็นระบบประธานาธิบดี อิสราเอลก็เคยเลือกประธานาธิบดีโดยตรง อเมริกาก็ใช้ระบบประธานาธิบดี เขาก็เคารพกติกา แม้ popular vote จะสำคัญ แต่ถ้ามันน้อยกว่าเสียงของคณะเลือกตั้งอย่าง electral vote เขาก็จะใช้กติกาที่ตกลงกันมา (อเมริกาใช้ระบบนี้มา 200 ปี) จะเห็นว่า ฮิลลารี คลินตัน ชนะ โดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยคะแนน popular vote กว่า 3 ล้านเสียง แต่เธอก็ยอมรับกติกา เพราะกติกาบอกไว้ชัดเจนอยู่แล้ว

ของเราก็ชัดเจนมาก เพราะที่ผ่านมาเราเลือก สส. เข้าไปในสภา แล้วสภาก็ไปเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อ ถ้าเรามองในแง่ธรรมเนียมปฏิบัติของไทยก็เป็นแบบนี้เสมอ จำได้ว่า คุณชวน หลีกภัย ที่แพ้ให้กับพรรคความหวังใหม่ไม่กี่คะแนน ก็ยอมให้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จัดตั้งรัฐบาล

พอพูดถึงมารยาททางการเมือง เรื่องนี้สำคัญมากที่สุด เพราะมันเป็น constitutional convention อย่างอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ในปี 2010 กอร์ดอน บราวน์ เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน พอมีการเลือกตั้ง มีคอนเซอร์เวทีฟ เลเบอร์ และลิเบอรัลเดโมแครต 3 พรรค ไม่มีใครได้คะแนนเกินครึ่งเลย ตามธรรมเนียมเขาจะให้พรรคที่เป็นรัฐบาลขณะนั้นจัดตั้งก่อน ด้วยมารยาททางการเมือง คะแนน สส. ของเขาน้อยกว่า เขาก็ให้คอนเซอร์เวทีฟซึ่งไปรวมกับลิเบอรัลเดโมแครตจัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่ใช่รัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะเขารวมกันแล้วเสียงเขาเกินครึ่ง เป็นเสียงข้างมาก นี่คือความหมายของมารยาททางการเมือง

ถ้ามองมารยาททางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐและพันธมิตร จริงๆ แล้วเขาได้เปรียบ ถ้าดูโอกาสทางการเมืองเขามีมากกว่าอยู่แล้ว เพราะมี สว. 250 ที่ดูเหมือนจะสนับสนุนเขา โดยมารยาทเขาควรจะปล่อยให้ฝั่งที่ไม่สนับสนุน คสช. จัดตั้งไปเถอะ เพราะอย่างไรเสีย การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก็ต้องเกิดขึ้นก่อน ถึงแม้อีกฝั่งจะรวมกันได้เกิน 250 ก็เลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ โอกาสและจังหวะก็จะกลับมาเป็นของฝั่งพลังประชารัฐเอง เพราะฝั่งประชารัฐต้องการแค่ 126

ในประเทศไทยถ้ามีมารยาททางการเมือง ก็จะดูเป็นสุภาพบุรุษทางการเมืองมากกว่าที่จะมาทะเลาะกันกับเรื่องหยุมหยิม ที่ทำให้ดูเหมือนไม่เคารพกติกา ไม่เคารพธรรมเนียมปฏิบัติ และไร้มารยาททางการเมือง

หมายความว่า การเลือกนายกฯ สำคัญกว่าการจัดตั้งรัฐบาล?

ไม่ได้บอกว่าสำคัญกว่า แต่บอกว่าตามรัฐธรรมนูญจะต้องมีการเลือกนายกฯ ก่อนการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้บอกว่ากติกานี้เป็นธรรมหรือเปล่านะ เพราะถ้าเรายึดกติกา แล้วเราลงเล่นในสนามนี้ ถึงกติกาจะไม่เป็นธรรม เราก็ไม่สามารถตะโกนบอกว่ามันไม่เป็นธรรม เพราะเราลงเล่นไปแล้ว เราก็ต้องเคารพ

กติกาก็คือไม่ได้ให้จัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ให้เลือกนายกรัฐมนตรีก่อน นายกรัฐมนตรีอาจจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ได้ แล้วค่อยไปโน้มน้าวพรรคร่วมมาทีหลัง พอถึงจุดนั้นก็จะทำให้ได้เสียงครึ่งหนึ่งของรัฐสภา คำถามคือ ครึ่งหนึ่งของรัฐสภามันพอหรือเปล่า อย่างเช่น 270 ที่นั่ง เพื่อให้รัฐบาลอยู่ได้อย่างมั่นคง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไหร่

ถ้าหากมีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย จะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศอย่างไรบ้าง

คำถามใหญ่คือว่า เสียงข้างน้อยจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือเปล่า อีกกติกาตามรัฐธรรมนูญคือ คุณอาจจะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งอาจจะเป็น พลเอกประยุทธ์ แล้วยังสามารถชะลอการจัดตั้งรัฐบาลไปเรื่อยๆ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่าจะต้องจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จภายในเวลาเท่าไหร่ ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ ก็อาจจะได้รับการโหวตในสองสภา และจะยังเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป พร้อมกับมีมาตรา 44 จากการเป็นหัวหน้า คสช. วิธีนี้ดูเหมือนจะดีกว่าการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ครม. ก็เป็นชุดปัจจุบันนี้ อยู่กันไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องจัดตั้งรัฐบาล

ในรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้ระบุว่าให้เลือกนายกฯ ภายในระยะเวลาเท่าใดด้วย?

ถูกต้อง ในทางปฏิบัติเขาก็ต้องมาซาวด์เสียงกัน อาจจะตั้งเป้าไว้ว่า 270 ถ้าไม่ถึงอาจจะไม่เลือกนายกฯ ก็จะชะลอไปแบบนี้ พลเอกประยุทธ์ก็จะเป็นนายกฯ พร้อมมาตรา 44 ยาวๆ ไปถึงเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เพราะในการต่อสู้นี้เป็นไปได้สูงว่า พรรคภูมิใจไทยจะไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ แต่ประชาธิปัตย์เสียงจะแตก และถึงแม้ไม่มีประชาธิปัตย์ ประกอบกับวันข้างหน้าก็อาจมีการแจกใบเหลือง ใบแดง ซึ่งก็จะทำให้พลังประชารัฐได้เกินเสียงข้างมากมาหน่อยหนึ่ง แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากที่มีเสถียรภาพได้ ฉะนั้น ถ้าประชาธิปัตย์ไม่เข้าร่วม การต่อรองก็จะสูงมาก

น่าสนใจว่าหลังความพ่ายแพ้ พรรคประชาธิปัตย์จะมีที่อยู่ที่ยืนทางการเมืองหลังจากนี้อย่างไร

การเลือกตั้งครั้งนี้สำหรับประชาธิปัตย์แปลกมาก ประชาธิปัตย์จริงๆ แล้วเป็นตัวแปรหลักก็ว่าได้ ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญมรสุมหลายทิศทาง อาจเพราะว่าประชาธิปัตย์เป็นตัวแปรหลักจึงต้องเผชิญปัญหาหลายเด้ง ตั้งแต่การเลือกตั้ง การหาจุดยืนในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งถ้าเราประเมิน เราจะเห็นความไม่เห็นพ้องต้องกันภายในพรรคสูงมาก คุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) คุณถาวร (เสนเนียม) คุณกรณ์ (จาติกวณิช) นี่ก็เห็นขัดกัน

ขณะที่คนรุ่นใหม่ คุณไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ) คุณณัฐ (บรรทัดฐาน) คนรุ่นใหม่ภายในพรรคก็ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน มีข้อสังเกตว่ากลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ อาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้เป็น สส. หรือเปล่า แต่เชื่อว่าจริงๆ แล้ว จะมี สส. ที่ชนะในพรรค อาจจะไม่โหวตตามมติพรรค เป็นไปได้สูง อันนี้เป็นความผิดปกติของพรรค เพราะปกติเขาจะโหวตตามมติพรรคกัน

คุณอภิสิทธิ์ได้เคยประกาศจุดยืนในฐานะหัวหน้าพรรค แต่ตอนนี้คุณอภิสิทธิ์ก็ได้ลาออกไปแล้ว หัวหน้าพรรคคนใหม่จะคุมมติพรรคได้หรือเปล่า และมติพรรคจะออกมาในลักษณะไหน เอาเข้าจริงๆ ถ้าวิเคราะห์พรรคนี้ ฐานเสียงของประชาธิปัตย์ที่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมกับพลังประชารัฐได้โหวตให้พลังประชารัฐไปแล้ว เทประชาธิปัตย์ไปแล้ว ส่วนคนที่ยังเลือกประชาธิปัตย์เพราะว่ายังเห็นด้วยกับจุดยืนของคุณอภิสิทธิ์หรือเปล่า เพราะว่าฐานเสียงพลังประชารัฐที่ชนะมากๆ มาจากประชาธิปัตย์ที่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของคุณอภิสิทธิ์ ส่วนหนึ่งนะ ถ้าวิเคราะห์ลึกๆ ก็มีเหตุผลเยอะมาก ไม่ใช่เหตุผลเดียว

คำถามคือ ฐานของประชาธิปัตย์ที่ยังอยู่กับประชาธิปัตย์ เป็นฐานที่มีมุมมองอย่างไรต่อประชาธิปัตย์กันแน่ กลุ่มที่ยังอยู่อาจจะเป็นกลุ่มที่ไม่อยากเห็นประชาธิปัตย์ไปร่วมกับพลังประชารัฐก็ได้ หรือแม้แต่อนาคตในทางการเมืองของประชาธิปัตย์เอง ถ้าไปร่วมกับพลังประชารัฐก็จะถูกกลืน

ดังนั้น ประชาธิปัตย์จะต้องทบทวนจุดยืนของตัวเอง ประชาธิปัตย์อาจจะขอเป็นฝ่ายค้าน ไม่ร่วมกับใครเลย หรือถ้าถึงจุดหนึ่ง ประชาธิปัตย์อาจจะร่วมโหวตเพื่อให้การเมืองเดินหน้าได้ แต่จะเป็นฝ่ายค้าน ถ้าจะกระโดดเข้าไปร่วมจับมือกับฝั่งใดฝั่งหนึ่งอาจจะไม่ใช่จุดที่ฐานเสียงประชาธิปัตย์อยากเห็นแน่ๆ อันนี้คือความละเอียดอ่อนของประชาธิปัตย์ จากที่ประเมินคือหายไป 7 ล้านเสียง และเป็นคนที่อยากเข้าไปร่วมกับพลังประชารัฐ ซึ่งเขาไปแล้ว

ถ้าประชาธิปัตย์ไปอยู่กับพลังประชารัฐ อาจจะถูกกลืนถึงขั้นสูญเสียความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ไปเลยไหม

ส่วนตัวมองว่า วันข้างหน้าพรรคจำนวนมากคงมีขนาดเล็กลง รวมทั้งเพื่อไทยด้วย ประชาธิปัตย์เองก็จะเล็กลงแน่ๆ ถ้าประชาธิปัตย์ไม่มีจุดยืนที่รักษาสมดุลและอนาคตทางการเมืองได้ เชื่อว่าคนในพรรคบางส่วนอาจจะออกมา ส่วนเรื่องศักดิ์ศรี ในทางการเมืองถือว่าไม่เป็นไร พรรคทุกพรรคย่อมมีขึ้นมีลง ถ้าหากใช้จุดนี้ในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ก็อาจจะเป็นเรื่องดีในการสร้างฐานเสียงมวลชนใหม่ขึ้นมา

ที่ผ่านมาปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคนไปเลือกพลังประชารัฐหมด แต่อยู่ที่ความไม่ชัดเจนในเรื่องจุดยืนของพรรค ความไม่สามารถส่งมอบนโยบายให้ปรากฏเป็นจริงได้ สส. จำนวนมากคิดว่าตัวเองเป็นเสาไฟฟ้า โดยเฉพาะในภาคใต้ และไม่ยอมทำงานพื้นที่ให้มากพอ ฉะนั้น ปัญหาไม่ได้มีแค่สาเหตุจากพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น ต้องวิเคราะห์ในหลายๆ ปัจจัย หรืออนาคตใหม่ที่มาชนะประชาธิปัตย์ในหลายพื้นที่ เราจะอธิบายด้วยอะไรล่ะ

ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ถ้า สส. ทำงาน พื้นที่ก็จะชนะอยู่ แต่ที่ผ่านมาทั้งยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับพลวัตของสังคมที่เปลี่ยนไป

กลุ่ม New Dem ของประชาธิปัตย์ ก็ไม่ได้ออกมาชัดเหมือนข้อเสนอของอนาคตใหม่ ดังนั้นยุทธศาสตร์ที่ไม่ชัดเจนและคลุมเครือน่าจะเป็นปัญหาหลัก มากกว่าสาเหตุของการเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐเสียอีก

ตอนนี้ใครคือผู้ที่มีอิทธิพลในพรรคประชาธิปัตย์

ยังคิดว่าเป็น คุณชวน (หลีกภัย) ในการเลือกตั้งที่ผ่านมานะคะ ยังคิดว่าเป็นคุณชวนที่มีความอาวุโสอยู่ แต่ครั้งต่อไปไม่แน่ใจ หลายคนก็เล็งๆ ไปที่คุณกรณ์

คนจำนวนหนึ่งหันไปหาพรรคพลังประชารัฐ แทนที่จะลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์อย่างที่แล้วมา อาจารย์มองว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มไหน

ถ้าให้ประเมินเบื้องต้น คร่าวๆ คิดว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้มีความกลัว 2 อย่างที่ดำรงอยู่คู่กัน คือความกลัวทักษิณ (ชินวัตร) ของฝั่งเสื้อเหลืองเดิม กับอีกฝั่งคือความกลัวประยุทธ์ หรือการไม่เอาประยุทธ์ของฝั่งเสื้อแดง

ในแง่ของความกลัวคุณทักษิณ คนกลุ่มนี้มองว่าประชาธิปัตย์ไม่แข็งแรงพอที่จะเป็นตัวแทนของเขาได้ ในขณะที่พลังประชารัฐอาจจะมีจุดอ่อนบางอย่าง คนก็ยอมมองข้ามจุดอ่อน แล้วก็มองไปหาพรรคที่พอจะมาเป็นเกราะคุ้มกันผีทักษิณให้ตัวเองได้ ซึ่งประชาธิปัตย์ในเวลาที่ผ่านมา ไม่สามารถเป็นยันต์กันทักษิณให้พวกเขาได้ ยิ่งพอคุณอภิสิทธิ์ประกาศไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จุดนี้น่าจะเป็นสาเหตุหลักของคะแนนที่หายไป

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงเป็นภาพสะท้อนของความกลัวคุณทักษิณ และการไม่เอาพลเอกประยุทธ์ นโยบายหรือพื้นที่ยังคงเป็นเรื่องรอง เลยกลายเป็นเรื่องคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคที่เป็นปัจจัยสำคัญ

คุณธนาธรพูดว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของสีเสื้อแล้ว แต่เป็นเรื่องของการเอาหรือไม่เอาเผด็จการ คิดว่าตอนนี้สังคมเคลื่อนไปในทางนั้นหรือยัง

คิดว่ารอยแยกของสีเสื้อเพียงแค่ขยับ แต่ไม่ได้หายไป ฝั่งหนึ่งของสีเสื้อ ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เอาคุณทักษิณ และอีกฝั่งหนึ่งของสีเสื้อก็ยังเป็นสีแดงอยู่ คือมันปรับโฉม แต่ไม่ได้หายไปอย่างสิ้นเชิง และยังมีรอยแยกใหม่ปรากฏขึ้นมา ไม่ใช่เหลือง-แดงแบบเดิม แต่เป็นรอยแยกของความต้องการการเปลี่ยนแปลง จากสถานภาพเดิมที่อยู่ภายใต้อำนาจนิยม โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ ถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็ต้องบอกว่า เห็นด้วยว่ารอยแยกมันขยับไป แต่ยังมีควันจางๆ อยู่ในการตัดสินใจของคนอยู่

ถ้ามองไปที่คะแนน กล่องคะแนนไม่ได้หายไปไหน ถ้าเอาคะแนนพลังประชารัฐกับประชาธิปัตย์มารวมกัน 8 ล้าน กับ 3 ล้าน ก็ 11 ล้าน ซึ่งก็แทบจะเป็นคะแนนเดิมของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งที่แล้ว และทางฝั่งเพื่อไทย อนาคตใหม่ กับพรรคย่อยๆ ในกลุ่ม พอบวกกันแล้วก็คือคะแนนเดิมของเพื่อไทย ฉะนั้น กล่องคะแนนไม่ได้หายไหน ไม่ได้ทำให้เหลือง-แดงหายไป เพียงแค่ขยับไปนิดหนึ่ง แล้วก็เกิดกลุ่มใหม่ภายใต้เพื่อไทย ทั้งยุทธศาสตร์ของพรรคเองและกลุ่มใหม่ที่เกิดจากรอยแยกของอนาคตใหม่ที่เกิดขึ้น

คนที่เลือกอนาคตใหม่มีหลากหลายมาก ทั้งเคยเป็นและไม่เคยเป็นเพื่อไทย บางส่วนเอามาจากประชาธิปัตย์ กลุ่มที่ใหญ่มากน่าจะประมาณ 4 ล้านจากคนรุ่นใหม่ ที่ไม่เคยเลือกเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ กลุ่มนี้นี่แหละที่เป็นรอยแยกที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ว่า กลุ่มนี้ก็ไม่เอาทั้งเพื่อไทยและประชาธิปัตย์แน่ๆ เหลือง-แดง จึงไม่ได้หายไปอย่างสิ้นเชิง แต่ยังมีควันอยู่ และมันอาจจะกลับมาในอนาคตก็ได้

การใช้คำว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ กับ ‘ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ’ จะกลายเป็นวาทกรรมของความขัดแย้งใหม่ไหม

ส่วนตัวนะ การเมืองคือการช่วงชิงยุทธศาสตร์ คุณอยากเรียกก็เรียก ถ้าคุณอยากเรียกตัวเองว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยบ้างก็เรียกไปสิ มันไม่ใช่คำที่ใครจะมีสิทธิผูกขาดได้ และไม่ได้เป็น hate speech ที่ว่าฝ่ายไหนใช้แล้วก็ใช้ตลอด

แม้แต่คำว่า ‘เผด็จการ’ สำหรับบางคนยังถือว่าเป็นแง่บวกด้วยซ้ำ บางคนเขาชอบระบอบที่มันเด็ดขาด อย่างสิงคโปร์เป็นประเทศอำนาจนิยม คนไทยจำนวนมากก็อยากเป็นเหมือนสิงคโปร์ เหมือนจีน ก็รู้ทั้งรู้

ดังนั้นความหมายของคำว่าเผด็จการ ตัวเรานี่แหละที่ไปให้คุณค่าเอง ซึ่งคุณค่าที่เราให้ อาจจะไม่เหมือนกับฝั่งตรงข้ามให้ก็ได้

คนไทยจำนวนมากไม่ชอบประชาธิปไตยนะคะ ดังนั้นฝั่งที่เรียกตัวเองว่าประชาธิปไตย อาจจะเป็นฝั่งที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบก็ได้ นี่คือการแข่งขัน คือการช่วงชิงความได้เปรียบทางวาทกรรม

เราพูดได้ไหมว่า คะแนนของพลังประชารัฐ ก็คือการยอมรับความชอบธรรมของเผด็จการในสังคมไทย

ถ้าพูดแบบนี้ คนที่เลือกพลังประชารัฐส่วนหนึ่งก็อาจจะปฏิเสธ เหตุผลที่เขาเลือก เขาก็เลือกผ่านกระบวนการประชาธิปไตย เขาเลือกเพราะเหตุผลของความสงบและการจัดระเบียบของสังคมมากกว่า ถามว่าจะมีคนที่ยอมรับไหม ก็มี แต่ส่วนน้อย

ฝั่งเพื่อไทยกับอนาคตใหม่ก็มีความขัดแย้งกันพอสมควร มีทั้งด่าทอกันระหว่างแฟนคลับของทั้งสองพรรค ว่าอีกฝ่ายเป็นเหตุให้มีการตัดคะแนนของตน อาจารย์มองปรากฏการณ์นี้อย่างไร

เราคิดว่าในการแข่งขันทุกสนาม ทุกคนอยากชนะ แล้วก็ใช้ทุกยุทธวิธีเพื่อให้ได้ชัยชนะมา ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้เป็นสาระ อนาคตใหม่ด่าเพื่อไทย เพื่อไทยก็ด่าอนาคตใหม่ เราก็อ่านขำๆ ไม่ได้คิดอะไร

แต่สิ่งที่ควรจะคิดในเชิงยุทธศาสตร์ ในฐานะที่เป็นพรรคในบล็อคเดียวกันก็คือ เรื่องของการตัดคะแนน นี่เป็นเหตุผลใหญ่เลยนะที่ทำให้พลังประชารัฐชนะในกรุงเทพฯ ถ้ามาดูคะแนน อนาคตใหม่ได้  popular vote ในกรุงเทพฯ มากกว่าพลังประชารัฐ มากกว่าเพื่อไทย แต่เนื่องจากในหลายพื้นที่เป็นการแข่งขันระหว่างเพื่อไทยและอนาคตใหม่ พลังประชารัฐก็เลยกลายเป็น ‘ตาอยู่’ ไป

การเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้ามองเรื่องการตัดคะแนนและความเป็น ‘ตาอยู่’ ของพลังประชารัฐ การโหวตแบบ sincere vote หรือ strategic vote ควรใช้วิธีใด

ประเด็นคือ มันไม่มีการจัดการเชิงยุทธศาสตร์เลย เป็นการโหวตตามยุทธศาสตร์แบบปัจเจกชน คนก็โหวตแบบสะเปะสะปะตามที่ตัวเองคิดว่ามันเป็นยุทธศาสตร์ ถามว่าเราจะสามารถจัดการการโหวตยุทธศาสตร์อย่างเป็นทางการได้ไหม ซึ่งก็คือภาพของเพื่อไทยกับไทยรักษาชาติ ใช้การส่ง สส. สลับเขตกัน แต่ผลก็ออกมาอย่างที่เห็น มันไม่ง่ายเลยที่จะจัดการการโหวตแบบยุทธศาสตร์

ถ้าเราหันมามองเรื่องนี้กับการเลือกตั้งซ่อมที่กำลังจะเกิดขึ้น ตรงนี้คือสิ่งที่จะทำได้ เขตที่เพื่อไทยถูกใบแดง ก็ส่งเฉพาะอนาคตใหม่ อย่าส่งพรรคในบล็อคเดียวกันมาแข่ง ไม่อย่างนั้นพลังประชารัฐก็จะได้คะแนนไป แต่ตอนที่มีการเลือกตั้งใหญ่มันเป็นภาพของต่างคนต่างแข่งกัน อย่าลืมว่าการแข่งระหว่างคนก็มีด้วย คุณลงสมัคร คุณก็อยากชนะ

ในแง่หนึ่ง การบริหารการโหวตแบบยุทธศาสตร์เป็นเรื่องยาก ก็เลยต้องปล่อยให้โหวตกันเอง กติกาการเลือกตั้งครั้งนี้ก็บังคับให้เราโหวตแบบกลยุทธ์อยู่แล้ว เช่น เราอยากได้ ชัชชาติ (สิทธิพันธุ์) เราก็โหวต แม้ว่าเราจะรู้อยู่แล้วว่าอาจจะไม่ได้ก็ตาม เราทุกคนเป็น strategic voter อยู่แล้วในการเลือกตั้งที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นกรุณาอย่าตำหนิอะไรกัน ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นแบบนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร ถ้าเพื่อไทยบอกว่าอนาคตใหม่มาส่งแย่ง อนาคตใหม่ก็ถาม อ้าว ทำไมเพื่อไทยมาแย่งด้วยล่ะ เอาเข้าจริง อนาคตใหม่เองก็ได้ประโยชน์จากการที่ไทยรักษาชาติถูกยุบด้วย ถ้าไทยรักษาชาติไม่ถูกยุบ อนาคตใหม่ก็อาจจะไม่ได้มากขนาดนี้ แล้วถ้าเพื่อไทยส่ง 350 เขตจริงๆ อนาคตใหม่ก็อาจจะไม่ได้ขนาดนี้ด้วย

สำหรับเพื่อไทยที่ได้คะแนนน้อยลง สาเหตุเป็นเพราะคุณวางยุทธศาสตร์ผิด ต่อจากนี้ระหว่างพรรคที่เป็นบล็อคเดียวกัน เป็นพันธมิตรกันแล้ว มานั่งวางยุทธศาสตร์ร่วมกันก็ได้

ในอนาคต โอกาสที่พรรคอนาคตใหม่กับพรรคเพื่อไทยจะร่วมงานกัน มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

ร่วมได้ ในอนาคตโน่นเลยนะ เราจะเห็นว่าพรรคอนาคตใหม่ตั้งเงื่อนไขมากมายในการจะเข้าร่วม ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของจุดยืน แต่การจะเข้าร่วมกันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ต้องเป็นร่วมกันอยู่แล้ว ถ้าดูจากประสบการณ์ต่างประเทศ เขาไม่ได้เอาจุดยืนของตัวเองมาตั้งแบบแข็งกร้าว แต่ต้องมีการบูรณาการกัน ถ้าคุณจะเอาแต่จุดยืนอย่างเดียว มันก็เกิดไม่ได้

ยกตัวอย่างในเยอรมนี อังกฤษ พรรคร่วมรัฐบาลเขาเห็นต่างกันเลย แต่วิธีที่เขาใช้คือการหาจุดร่วมและจุดต่าง แล้วค่อยดูว่าทำตรงไหนร่วมกันได้บ้าง เอาง่ายๆ นโยบายการปฏิรูปกองทัพของ คุณเสรีพิศุทธ์ (เตมียเวส) กับคุณธนาธร ก็น่าจะเห็นไม่เหมือนกัน แต่ถ้าจะผ่าน พ.ร.บ.ปฏิรูปกองทัพจริงๆ ก็ต้องเอาความคิดมาประสานกัน ไม่ใช่ยืนแข็งกร้าวโดยพรรคใดพรรคหนึ่ง

โดยส่วนตัวมองว่า หลังจากนี้พลเอกประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีสูงมาก ถ้าไม่เป็นช่องนี้ก็จะเป็นช่องของมาตรา 272 คือเป็นการปลดล็อคโดยนายกฯ คนนอก แล้วถ้าพูดถึงฝั่งที่ไม่เอา คสช. มีโอกาสได้เป็นฝ่ายค้านสูง สิ่งที่ทำได้คือ ให้ฝ่ายค้านเสนอพระราชบัญญัติบางอย่าง และผ่านด้วยฝ่ายค้านได้ รวมถึงจัดลำดับความสำคัญในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า

ถ้าจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงปริ่มน้ำ จะอยู่รอดถึงปีหรือเปล่า

เรายังไม่เห็นตัวเลข ต้องบอกว่าถ้าเขารวมได้ถึง 270 โอกาสที่จะอยู่ถึงอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งหน้ามีสูง แต่ถ้ารวมได้ไม่ถึง โอกาสที่จะไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลเลยก็มีสูง อาจจะไปเลือกอ็อพชั่นมาตรา 272 ให้มีนายกฯ คนนอกไปเลย เพราะไม่อย่างนั้นจะมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพในการทำงาน

ใครจะทำหน้าที่เลือกนายกฯ คนนอก

สส. และ สว. ร่วมกันเลือก ใช้เสียง 500 จาก 750 ชื่อนี้จะถูกโยนลงมา ภาพนี้จะไม่เกิดถ้าฝั่งพลังประชารัฐดึงคะแนนเสียงได้เกิน 270 ที่นั่ง รวมกับ สว. แต่ถ้าสมมุติประชาธิปัตย์ไม่มา หรือมาไม่ครบ 270 จะเหลือ 220 หรือรวมกับพรรคเล็กๆ ที่เราเห็นว่าได้พรรคละ 1 ที่นั่งกัน

ถ้าหากว่าเสียงในสภาของพรรคพลังประชารัฐมีไม่มากพอ เชื่อว่าเขาจะยังไม่ตั้งรัฐบาล ก็จะชะลอไปเรื่อยๆ ถ้าชะลอไปถึงจุดหนึ่งก็จะมีคำถามว่า เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร นโยบายจะเป็นแบบไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าฝั่งเพื่อไทยได้เกิน 251 ก็จะเกิดประเด็นว่า ทำไมเสียงข้างมากถึงตั้งรัฐบาลไม่ได้ สส. 500 คน กับ สว. 250 ก็อาจจะต้องคุยกัน จะทำอย่างไรถ้าตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็จะถกชื่อกัน เลือกคนที่ไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ คนที่เข้ามาอาจจะไม่มีภาพของ คสช. ถ้าเป็นแบบนี้เพื่อไทยอาจจะยอมได้ แต่อนาคตใหม่ก็คงไม่ร่วม

ดังนั้น มาตรา 272 จะไม่ได้ออกมาในลักษณะของ ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ เพราะรัฐบาลแห่งชาติเป็นรัฐบาลที่ไม่มีพรรคฝ่ายค้าน เชื่อได้เลยว่าพรรคอนาคตใหม่จะไม่ร่วม เพราะทางพรรคได้ประกาศจุดยืนว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นก็จะเป็นรัฐบาลที่หลายคนอยากเห็น มีเพื่อไทยรวมกับพลังประชารัฐ นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากทั้งคู่ แต่ก็ไม่ใช่ คุณอนุทิน (ชาญวีรกูล) แน่นอน

ความแตกต่างของรัฐบาลแห่งชาติกับเงื่อนไขอื่นๆ คือ การเข้ามาเพื่อจัดการภารกิจสั้นๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4-5 เดือนมีการเลือกตั้งใหม่ก็ปลดล็อคได้ แต่กว่าจะถึงจุดนั้นจะต้องมีวิกฤติบางอย่าง ซึ่งอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ ถ้าพรรคพลังประชารัฐรวมกันได้มากพอถึง 270

หน้าตาของ สว. ต้องรอถึงวันที่ 9 พฤษภาคมก่อนใช่ไหม เราถึงจะได้เห็นรายชื่อทั้งหมด

ตามรัฐธรรมนูญคือทูลเกล้าฯ 3 วัน หลังประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ถ้าสมมุติว่า กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งวันที่ 9 พฤษภา ก็จะทูลเกล้าฯ รายชื่อ สว. วันที่ 12 พฤษภา ทำไมถึงเป็นวันที่ 12 อาจารย์ปริญญา (เทวานฤมิตรกุล) บอกว่า สว. ต้องมาทีหลัง เพราะว่าถ้ามีการทูลเกล้าฯ เเต่งตั้ง สว. ก่อน เเล้วผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะหรืออะไรก็เเล้วเเต่ มันก็เท่ากับว่ามี สว. คู่กับ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) มี 2 สภาคู่กันโดยที่ไม่มีสภาผู้เเทนราษฎร สนช. เองก็ยังอยู่ แล้วยังมี สว. ขึ้นมาอีก มันก็จะขี่กัน ดังนั้นก็เลยต้องมั่นใจว่าจะมีสภาผู้เเทนราษฎรก่อน เพื่อที่จะดำเนินการทำให้ สว. เกิดขึ้นได้ เพื่อในที่สุดเเล้วก็จะไม่มี สนช. มาซ้อนกัน

ประชาชนจะมีโอกาสได้เห็นรายชื่อ สว. ก่อนจะถึงวันแต่งตั้งไหม

อยู่ที่ว่าสื่อจะนำมาให้เราเห็นได้หรือเปล่า เเต่เราก็จะไม่รู้อยู่ดีว่าชื่อที่เห็นกับชื่อที่ประกาศลงมาเป็นชื่อเดียวกันไหม เอาง่ายๆ ว่าชื่อที่เป็นทางการจริงๆ ก็คือ 3 วันหลังประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยส่วนตัวมองว่า สาเหตุที่เขาให้ประกาศรายชื่อทีหลังก็เพราะว่าถ้าเราเห็นชื่อ สว. ก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ ก็อาจมีการเเอบไปจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคทั้ง 2 ขั้ว กับ สว.

ดังนั้นการไม่ให้เห็นชื่อ สว. เขาเรียกว่าการตัดเเข้งตัดขา หรือป้องกันไม่ให้เกิดการฮั้วหรือการจับขั้วเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะไม่อย่างนั้นตอนนี้ก็อาจจะมีการใต้โต๊ะกันไปแล้วถ้ามีการประกาศรายชื่อ สว. ออกมา

แสดงว่าอาจารย์คาดการณ์ว่า สว. 250 ก็อาจจะไม่ใช่กลุ่มก้อนที่เข้มเเข็ง อาจจะมีเสียงเเตกได้เหมือนกัน?

ถ้าดูจาก สนช. เสียงเเตกน้อยมาก ถามว่ามีเเตกไหม มี อย่างเช่น คุณทิชา ณ นคร ตอนหลังก็ออกไป ใช่ไหมคะ มีใครที่เเตกกันอีกไหม น้อย เพราะว่าถ้าพูดถึง ต่อให้เราใช้เงิน 3,000 ล้าน เลือกว่าที่ สว. มา 200 คน เเต่ในกลุ่มนี้ก็ถูกหยิบมาเเค่ 40 คน คนหยิบก็คือ คสช.

ดังนั้น กระบวนการเลือกขั้นสุดท้ายก็คือ คสช. เขาต้องมั่นใจว่าเขาจะคุมได้ แล้วถ้าให้ดูไม่เป็นไปแนวทางเดียวกันหมด ก็อาจจะมี สว. บางคนเเยกออกมาให้ดูเหมือนมีศักดิ์ศรี ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นพรรค สว. 250 คน ก็เป็นไปได้ เพราะว่าเขาไม่จำเป็นต้องได้ทั้ง 250 คน เขาต้องการ สว. จริงๆ อีกแค่ประมาณ 150 คนก็ได้เเล้ว เพราะถ้า สว.โหวตเหมือนกันหมด 250 คน สังคมก็คงจะตั้งคำถามเหมือนกัน

ตอนนี้สังคมก็ตั้งคำถามไม่น้อยในเรื่องความไม่ชอบธรรมของ สว.แต่งตั้ง ทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

อยู่ที่ว่าเขาจะเล่นเกมนี้อย่างไร เเต่ก็ไม่ได้มีความหมายนะ ตราบใดที่ผลลัพธ์ตามธงที่เขาตั้งเอาไว้ไม่ได้เปลี่ยนไป ทุกวันนี้เขาก็เล่นเกมไม่ได้สนใจอะไรอยู่เเล้ว เพราะว่าค่อนข้างมั่นใจว่าคุมได้หมด คำถามที่ตอบไม่ได้ในกล่องดำนี่คือ เขาคุมได้หมดจริงหรือเปล่า หรือว่ามีใครที่จะมีอำนาจตรงนี้ เพราะเราก็รู้ว่าคะแนนในต่างจังหวัด พลังประชารัฐยิงแบบกระสุนดินปืนครบหมด กลไกอำนาจรัฐ ทหาร อะไรอย่างนี้ เเต่ถ้าตามที่ออกมาก็คือ พลังประชารัฐจะได้ใบแดงแค่ 2 ใบ เเล้วเราจะพูดอะไรได้ไหม เราก็พูดไปเเล้ว เเต่เขาฟังไหม คือไม่มีคำตอบมากไปกว่านี้

ตอนนี้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการสามารถทำอะไรได้บ้างนอกจากร่วมลงชื่อเพื่อสร้างแรงกดดันในโลกโซเชียล และการเกิดขึ้นของโซเชียล จะทำให้การเมืองบนท้องถนนหายไปหรือไม่

ความจริงวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมา เขาให้โอกาสกับเราแล้วในการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สิ่งที่เราต้องตระหนักก็คือว่า เราทำเต็มที่ที่สุดแล้ว ต้องยอมรับว่าสังคมยังมีคนอย่างน้อย 8 ล้าน ที่มีความเห็นไม่เหมือนเรา ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยอาจจะมากกว่า แต่ก็ยังมีคนที่เห็นชอบกับระบบ คสช. อยู่ มันปฏิเสธไม่ได้ สิ่งที่ทั้งสองฝั่งต้องทำความเข้าใจกันมากขึ้นคือ ถ้าสังคมยังยื้อกันอยู่ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร

ภายใต้มาตรา 44 การเมืองท้องถนนมันเกิดไม่ได้อยู่แล้วแหละ ไม่ได้โทษโซเชียลมีเดียนะ ว่ามีส่วนที่ทำให้การเมืองบนท้องถนนมันหายไป ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่ประชาชนได้เรียนรู้แล้วว่า ต้นทุนของการเมืองบนท้องถนนมันสูง

ที่สุดแล้วเราต้องยอมรับการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ผ่านไปก่อนอย่างนั้นใช่ไหม

ในภาพกว้างก็เป็นเเบบนั้น เเต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดตั้งคำถามกับ กกต. เเละการเลือกตั้ง โดยภาพรวมถึงเเม้ว่าจะมีข้อพิรุธ มีข้อกังขาอยู่เยอะ เเต่คิดว่าไม่ควรจะเป็นเหตุผลของการปฏิเสธการเลือกตั้งครั้งนี้ หรือการเลือกตั้งที่จะมีในอนาคต ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับผลการเลือกตั้ง ครั้งหน้าคุณก็ต้องสื่อสารทางการเมืองใหม่ สื่อสารกับคนรอบข้างใหม่ เพราะถึงอย่างไรการเลือกตั้งก็เป็นเครื่องมือที่จะยุติความขัดเเย้งอย่างสันติที่สุด พูดแบบหล่อๆ (หัวเราะ)

ความขัดแย้งจะยุติอย่างไร ในเมื่อยังมีการแบ่งขั้วทางการเมืองหนักขนาดนี้

ครั้งหน้าก็เลือกตั้งใหม่

อาจจะไม่ต้องรอถึงเลือกตั้งครั้งหน้า เอาเเค่ว่าถ้าตั้งรัฐบาลได้ เราก็ยังมีโอกาสได้ตรวจสอบกันในระบบรัฐสภาใช่ไหม

ถูกต้อง นั่นเป็นสิ่งที่กำลังจะพูดว่า ถึงเเม้หลายคนอาจจะกังขาผลการเลือกตั้ง เเต่อย่างน้อยสิ่งที่ดีที่สุดก็คือว่า หนึ่ง-อย่างน้อยก็มีเสียงประมาณ 10 กว่าล้านเสียงที่ออกมาบอกว่าตนเองต้องการอะไร เเละถึงจะไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่ใช่ความพ่ายเเพ้ แต่เป็นชัยชนะก้าวแรกที่เราได้เปิดพื้นที่การต่อสู้ในระบบรัฐสภา เเละจะทำให้รัฐบาลชุดต่อไปต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายค้านที่เข้มเเข็ง นี่จะเป็นเกมที่สนุกมาก เเล้วเราก็จะได้ปลดล็อคมาตรา 44 ด้วย อันนี้เราต้องมองโลกสวย เพราะไม่อย่างนั้นเราอาจจะประสาทกิน (หัวเราะ)

อาจารย์มองว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นใช่ไหม

มีโอกาสเกิดขึ้นเร็วกว่า 4 ปี เพราะว่าฝ่ายค้านจะเเข็งเเรงมาก ถึงเเม้ว่าดาวสภาของเพื่อไทยจะหายไป แต่ก็จะเป็นการผลัดใบของนักการเมืองรุ่นใหญ่ เพราะว่าดาวสภาฝ่ายประชาธิปัตย์ก็หายไปด้วย เราจะมี สส. หน้าใหม่เต็มสภาหมดเลย ทั้งอนาคตใหม่เเละพลังประชารัฐ พลังประชารัฐนี่ก็หน้าใหม่เยอะนะ เป็น สก. สข. เป็นนักการเมืองท้องถิ่น อันนี้ก็เป็นโฉมใหม่ของการเมือง ซึ่งมองในเเง่หนึ่งก็อาจจะดีกว่าที่เคยเป็นในบางประเด็นก็ได้

เเต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนขึ้นก็คือ โซเชียลมีเดียเป็นช่องให้เกิดการตรวจสอบ ทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ต้องซื่อสัตย์และรับผิดชอบกับประชาชนมากขึ้นเเน่ๆ เพราะมันจะถูกแฉได้อย่างรวดเร็วเเล้วข้อมูลก็จะกระจายเป็นวงกว้าง ถ้ามองเเบบนี้ก็คือ เป็นการเปิดศักราชใหม่ของการมีรัฐบาลที่จะถูกตรวจสอบโดยที่ 5 ปีที่ผ่านมาตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย เพราะมีมาตรา 44 แต่หลังจากนี้รัฐบาลไม่มีมาตรา 44 เเล้ว ก็ต้องถูกฝ่ายค้านที่เข้มเเข็งตรวจสอบ อย่างน้อยก็คือเป็นก้าวเเรก

สุดท้ายแล้ว ความฝันทั้งหมดอาจจะถูกทำลายลง โดยมีคนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะไหม

ประเด็นเลือกตั้งเป็นโมฆะก็น่าคิดเหมือนกัน เเต่ตอนนี้พอมาทบทวนเเล้ว คนที่จะโมฆะเลือกตั้งได้ก็คงเป็นรัฐบาลปัจจุบัน เชื่อว่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่มีโอกาสน้อยมาก เพราะถ้าเขาโมฆะเลือกตั้ง ความไม่พอใจของประชาชนจะมีสูงมาก และคะแนนเสียงจะไม่ออกมาเเบบนี้เเล้ว แม้ข้อกังขาในการจัดการเลือกตั้งเเละการใช้กลไกอำนาจรัฐของฝั่งรัฐบาลจะมีสูง แต่ถ้าโมฆะเลือกตั้งและมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ มีโอกาสที่ผลการเลือกตั้งจะพลิกไปจากนี้ ซึ่งเขาอาจจะไม่อยากเห็น

เอาเข้าจริงเเล้ว หลังจากนี้ทุกช่องเป็นไปได้หมดเลยนะ คือ หนึ่ง-พลเอกประยุทธ์เป็นรัฐบาล เสียงข้างน้อย สอง-พลเอกประยุทธ์เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ สาม-มีนายกฯ คนนอก ส่วนเรื่องเพื่อไทยกับพรรคพันธมิตรจะเป็นรัฐบาล ไม่น่าเกิดได้ เพราะเดิมพันของฝั่งนี้มันสูงเกินกว่าที่จะยอมให้ทางเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล เขาทำมาตั้งขนาดนี้เเล้ว มันต้องไม่เสียของ ส่วนเราจะได้ของเสียหรือได้ของดี มันก็อยู่ที่เราที่จะต้องผลักดันให้การตรวจสอบเข้มข้นที่สุด นั่นเป็นสิ่งเดียวที่เราจะได้จากการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นของดีอย่างเดียวที่เราจะได้มา ส่วนของเสีย ใครอยากจะรับก็รับไป

Author

รุ่งรวิน แสงสิงห์
อดีตนักศึกษาการเมือง ดื้อดึง อวดดีและจอมขบถ ผู้หลงรักในการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เธอปรารถนาที่จะแสดงออกให้ชัดเจนที่สุดโดยเฉพาะบนตัวอักษรที่ออกมาจากมือของเธอ

Author

อาทิตย์ เคนมี
ดำรงชีวิตเวียนว่ายในวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร สื่อออนไลน์ ปัจจุบันเป็น ‘บรรณาธิการสิ่งพิมพ์พิเศษ’

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Photographer

เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
นักเทคนิคการแพทย์ ช่างภาพ เจ้าของแบรนด์กระเป๋า Soul goods และนักเดินทาง ทั้งหมดรวมอยู่ในตัวของคนๆเดียวที่ดำเนินชีวิตด้วย passion และ inspiration รับงานถ่ายภาพหลากหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ นอกจากนี้ยังสามารถถ่ายคนให้น่ากินเหมือนอาหารได้อีกด้วย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า