เงื่อนปมในมาตรา 85 และมาตรา 268 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำลังนำไปสู่ข้อถกเถียงเรื่องกรอบระยะเวลาในการจัดเลือกตั้งที่ต้องอาศัยการตีความ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ควรนำมาพิจารณาว่า ควรหรือไม่ควร ‘เลื่อน’ การเลือกตั้ง
เนื่องจากบทบัญญัติในมาตรา 85 ระบุว่า “คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง”
ขณะที่มาตรา 268 บัญญัติว่า “ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญตามมาตรา 267 (1) (2) (3) และ (4) มีผลใช้บังคับแล้ว”
เกิดเป็นคำถามว่า การเลือกตั้งที่นับจากวันเข้าคูหากาคะแนน ไปจนถึงวันประกาศรับรองผลอีกไม่เกิน 60 วันนั้น นับรวมอยู่ในกรอบ 150 วัน ด้วยหรือไม่
ถ้าใช่ นั่นหมายความว่า ‘เส้นตาย’ วันสุดท้ายที่จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งอย่างช้าที่สุดคือ วันที่ 10 มีนาคม 2562 เว้นแต่เพียง กกต. มั่นใจว่าจะสามารถประกาศรับรองผลได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ก็ยังพอมีโอกาสเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้อีกเล็กน้อย
ทว่าหากตีความแบบศรีธนญชัยว่า การประกาศรับรองผลเลือกตั้งภายใน 60 วัน ไม่เกี่ยวข้องกับกรอบเวลาในการจัดเลือกตั้ง 150 วัน ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการยื้อเวลาเลือกตั้งให้ไกลออกไปจนสุดขอบวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 แต่นั่นก็สุ่มเสี่ยงเกินไปที่จะทำให้การจัดเลือกตั้งทั้งหมดกลายเป็น ‘โมฆะ’
เว้นแต่เพียงว่า…นี่เป็นความจงใจที่จะทำให้เกิดโมฆะ
อีกเงื่อนปมที่ควรพิจารณาคือ หากมีการจัดการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จะทับซ้อนกับงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจริงหรือ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีหมายกำหนดการงานพระราชพิธีอย่างเป็นทางการ จึงไม่อาจระบุในรายละเอียดที่แน่ชัด
คงเหลืออยู่เพียงเงื่อนปมเดียวเท่านั้นที่จะคลี่คลายทางออกได้ในขณะนี้คือ การประกาศพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีข้อบัญญัติชัดเจนว่า หากเมื่อใดที่มีการประกาศแล้ว กกต. ต้องรับดำเนินการกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน เปรียบเสมือนการ ‘คิกออฟ’ เปิดฤดูกาลเลือกตั้งครั้งใหม่อย่างเป็นทางการ หลังจากประเทศไทยตกอยู่ใต้รัฐบาลรัฐประหารมานานเกินทน