รวยระดับหลายร้อยล้าน…ให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงออก แตะอะไรก็กลายเป็นกระแส – อีลอน มัสก์ (Elon Musk) คือหนึ่งในบุคคลแห่งปีที่นานๆ ทีจะมีบนโลก
ทว่าทรัพย์สินมหาศาลของเขาหลายส่วนมาจากน้ำพักน้ำแรงของคนทำงานภายในบริษัท Tesla, Space X และบรรษัทลูกอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก จึงนำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า บริษัทของเขานั้นปฏิบัติกับแรงงานของตนเองอย่างไรบ้างตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ในปลายปี 2020 บริษัท Tesla ระบุว่ามีพนักงานประจำทั่วโลกทั้งสิ้นถึง 70,000 คน และเมื่อขยับเข้าสู่ปี 2021 ก็มีพนักงานประจำเพิ่มขึ้นเป็น 99,290 คน โดยพนักงานประจำเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของจำนวนตำแหน่งงานทั้งหมด ที่ยังไม่ได้รวมถึงพนักงานในสัญญาจ้างรูปแบบอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีจำนวนพนักงานทั่วโลกหลักแสนตำแหน่ง แต่พนักงานบริษัท Tesla ก็ยังไม่ได้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งขึ้นมาเหมือนบริษัทใหญ่อื่นๆ เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทกล่าวว่าตนเองให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างมาก และยังไม่เคยพบการประท้วงขนาดใหญ่ในหมู่แรงงาน ซึ่งสวนทางกับข่าวจำนวนมากที่เริ่มทยอยรั่วไหลออกมาจากเบื้องหลังประตูโรงงาน Tesla ว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของมหาเศรษฐีระดับโลกแห่งนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทและแรงงานไม่แตกต่างไปจากบริษัทของมหาเศรษฐีอื่นๆ ทั่วโลก
แรงงานถูกเหยียดหยามเพราะสีผิว
เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2022 สำนักข่าว Los Angeles Times รายงานว่า มีพนักงานอย่างต่ำจำนวน 3 คน ถูกไล่ออกจากบริษัทเพราะปัญหาด้านสีผิว โดยพวกเขาให้สัมภาษณ์ว่าถูกเจ้านายใช้คำเหยียดหยามเชื้อชาติ อย่าง ‘ไอ้มืด’ (N-Word) หรือ ‘ไอ้ลิง’ (Monkeys) ในโรงงาน Tesla ประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จนทำให้ต้องรายงานกรณีดังกล่าวไปยังบริษัท ทว่าหลังจากการรายงานเหล่านั้นพวกเขากลับถูกบริษัทไล่ออก เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการฟ้องร้องขึ้นในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
การฟ้องร้องในครั้งนี้ ผู้ยื่นฟ้องทั้ง 3 ระบุว่าคำแสลงที่ใช้ดูถูกเหยีดหยามเชื้อชาติมีทั้งในรูปแบบของภาษาอังกฤษและภาษาสเปน โดยยังกล่าวหาต่อไปว่า บริษัทจงใจแบ่งแยกให้แรงงานผิวสีมีเวลาและสถานที่ทำงานไม่ตรงกัน จงใจมอบภาระงานที่หนักที่สุดของโรงงาน รวมไปถึงปฏิเสธการเลื่อนตำแหน่งใดๆ ให้แรงงานผิวสีอย่างมีนัยสำคัญ ปัญหาสำคัญคือ เรื่องราวเหล่านี้หากถูกรายงานไปยังบริษัทก็จะถูกเพิกเฉย หรือไม่ก็ตามมาด้วยการไล่ออกจากงาน
ผู้ยื่นฟ้องคนหนึ่งอย่าง โมนิกา แชทแมน (Monica Chatman) ยกตัวอย่างการเลือกปฏิบัติที่เธอประสบมาให้ Los Angeles Times ฟังว่า เธอถูกจ้างให้ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ โดยมีชั่วโมงทำงานถึง 12 ชั่วโมงต่อวัน แม้รายได้ของเธอจะดี โดยมีรายได้ต่อชั่วโมงอยู่ที่ 19.50 เหรียญสหรัฐ แต่ในบางสัปดาห์คือการทำงานหนักแบบไม่มีวันหยุดเลยติดต่อกัน ประกอบกับเมื่อมีการเปลี่ยนสายการทำงานจนทำให้เธอต้องทำงานแทนพนักงานชายอีก 4 คน ที่ถูกย้ายออกไป ความเหนื่อยล้าของเธอกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อพบว่าผู้บริหารผิวขาวของเธอไม่ได้คิดจะรับฟังปัญหา แต่กลับกล่าวว่า “ถ้าอยากรักษางานเอาไว้ ก็ทำต่อไปสิ”
ในส่วนของข้อกล่าวหาของแชทแมน ก่อนหน้าที่จะเกิดการฟ้องร้องก็ได้ส่งเรื่องตรงไปยัง โรส แซนสัน (Rose Sanson) เจ้าหน้าที่แผนกทรัพยากรบุคคลของบริษัท ทั้งเรื่องภาระงานที่ไม่เป็นธรรม การนำคนผิวสีไปทำงานในบริเวณที่เลวร้ายที่สุดของโรงงาน ไปจนถึงวัฒนธรรมการพูดจาเหยียดเชื้อชาติในโรงงาน เรื่องราวเหล่านี้ต่างไม่ได้รับคำตอบ แม้สำนักข่าว Los Angeles Times จะพยายามติดต่อไปยังแซนสัน ก็ไม่ได้รับคำชี้แจงในกรณีดังกล่าว
ดูเหมือนว่าความจริงของเรื่องราวไม่เป็นธรรมที่กำลังเกิดขึ้นในโรงงาน Tesla ประจำรัฐแคลิฟอร์เนียก็ยังคงเป็นปริศนาต่อไป และยังไม่รวมถึงโรงงาน Tesla อีกหลายแห่งทั่วโลกที่อาจจะประสบปัญหาเดียวกัน แต่ยังไม่ได้รับการเปิดเผย
ในพื้นที่โรงงานยังไม่ปลอดภัยมากพอสำหรับแรงงานหญิง
นอกเหนือไปจากประเด็นด้านเชื้อชาติ บริษัท Tesla เองก็กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเพิกเฉยต่อรายงานการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นในบริษัทของตนเช่นเดียวกัน โดยข้อวิพากษ์วิจารณ์นี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข่าวบนสำนักข่าว The Washington Post เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2021 ที่ผ่านมา ระบุว่าพนักงานหญิง เจสสิกา บาร์ราซา (Jessica Barraza) ถูกล่วงละเมิดทางเพศในโรงงานบริษัท Tesla ที่รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นประจำ
ในระดับแรก เธอกล่าวว่าการคุกคามจะเป็นไปในลักษณะการคุกคามด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสม ก่อนที่จะถูกลวนลามทางร่างกายในเวลาต่อมาโดยเพื่อนพนักงานชาย ระยะเวลา 3 ปีที่ถูกคุกคาม ทำให้เธอรู้สึกว่าบริษัทจงใจก่อให้เกิดการสร้างบรรยากาศการทำงานที่อันตรายและไม่ปลอดภัยให้แก่พนักงานหญิง โดยเฉพาะเมื่อเรื่องนี้ถูกรายงานไปยังฝ่ายทรัพยากรบุคคลในเดือนตุลาคม 2021 แต่บริษัทไม่ได้ตอบกลับใดๆ
อีกกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น พนักงานหญิง เอลิซา บลิคแมน (Alisa Blickman) ประจำบริษัท Tesla ในเมืองฟรีมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ระบุว่าเธอเองก็ได้ประสบกับวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ปลอดภัยและถูกลวนลามเช่นเดียวกัน โดยเธอระบุว่าผู้ชายในโรงงานจะใช้ระบบตัวเลขในการจัดลำดับผู้หญิงที่มีเสน่ห์ที่สุด ประหนึ่งว่าพวกเธอเป็นแค่ก้อนเนื้อที่มีให้เลือกดู (You really feel like a piece of meat in there)
กลับมาที่คำรายงานหลักของบาร์ราซาที่ให้สัมภาษณ์เอาไว้กับ The Washington Post ความเลวร้ายที่สุดคือการที่เธอระบุว่า นอกจากจะไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมจากฝ่ายบุคคลของบริษัทแล้ว แต่พนักงานฝ่ายบุคคลกลับบอกเธอว่า “บางทีคุณอาจจะไม่ควรใส่เสื้อเชิ้ตที่ดึงดูดความสนใจของพวกเขามาที่หน้าอกของคุณ” แม้ว่าบาร์ราซาจะใส่เสื้อเชิ้ตที่บริษัท Tesla จัดหามาให้ตลอดระยะการทำงาน 3 ปีที่ผ่านมาก็ตาม
จากเรื่องราวเหล่านี้จึงทำให้เห็นว่า บรรยากาศการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร โดยเฉพาะใน Tesla รัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังประสบปัญหาขนาดหนัก ความรู้สึกไม่ปลอดภัยไปจนถึงการถูกคุกคามในสถานที่ทำงานที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสม ในขณะเดียวกันฝ่ายบุคคลที่ควรจะดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของพนักงานทุกคน กลับกลายเป็นผู้ที่ซ้ำเติมพนักงานของตนเองอย่างไม่เป็นธรรม
ชั่วโมงทำงานหฤโหด สวัสดิภาพชีวิตแรงงานขาดหาย
ย้อนกลับไปในช่วงปี 2014-2017 สำนักข่าว The Gurdian ระบุว่ามีการโทรเรียกรถพยาบาลมาเพื่อรับตัวลูกจ้างของบริษัท Tesla ในแคลิฟอร์เนียร์มากกว่า 100 ครั้ง โดยส่วนมากมาจากอาการปวดหัว เจ็บหน้าอก เป็นลม และปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ในขณะที่อีกหลายร้อยกรณีมาจากอาการบาดเจ็บอื่นๆ
สภาพการทำงานที่ย่ำแย่แบบนี้ไม่ได้หายไปตามกาลเวลา แต่หากมองสถานการณ์ในปัจจุบันที่แรงงานในโรงงานจำนวนมากต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินใจเลือกที่ยากลำบาก ระหว่างการทำงานเพื่อรักษางานเอาไว้ กับการจัดการตนเองในวิกฤติไวรัสโควิด-19 ในปี 2022 ก็จะพบว่า แรงงานของ Tesla ในเซี่ยงไฮ้แทบจะไม่ได้กลับบ้าน แต่ต้องทำงานอย่างหนักหน่วงในโรงงาน กิน นอน และตื่นมาทำงานต่อโดยไม่ได้ออกไปไหนเลยประหนึ่งโรงงานนรก
การทำงานยังถูกกวดขันให้ต้องทำมากขึ้น เพื่อทดแทนจำนวนการผลิตรถ Tesla ที่เว้นช่วงไปจากการปิดโรงงานก่อนหน้านั้นตามมาตรการป้องกันการระบาดของโรค โดยแรงงานปัจจุบันจะต้องทำงานถึง 12 ชั่วโมงต่อวันเป็นอย่างต่ำ ถึง 6 วันต่อสัปดาห์ เพื่อปิดยอดการผลิตรถ Tesla ให้ได้ถึง 40,000 คัน
สำนักข่าว Bloomberg ระบุเอาไว้ในวันที่ 18 เมษายน 2022 ว่าพนักงานเหล่านี้ต้องนอนในถุงนอนบนพื้นตามจุดที่บริษัทจัดหาที่ไว้ให้ ได้รับอาหาร 3 มื้อ และเงิน 400 หยวนต่อวัน ระบบนี้ถูกเรียกว่าระบบ ‘Closed-loop’
สภาพการทำงานที่ต่อเนื่องเช่นนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานใดเพิ่มเติมว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตของพนักงานที่นั่นอย่างไร และเป็นเรื่องสำคัญที่ยังคงน่าติดตาม
สภาพคนงานบอบช้ำ แต่การรวมกลุ่มเพื่อปกป้องสิทธิยังทำได้ยาก
จากทั้งหมดที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าแรงงานของบริษัท Tesla ต่างต้องเจอกับสภาพปัญหาที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ปี 2014 ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเชื้อชาติ บรรยากาศของการคุกคามทางเพศ ชั่วโมงการทำงานที่หนักหน่วง ไปจนถึงการถูกกักตัวให้ทำแต่งานอยู่ในโรงงาน ไม่ได้ออกไปเห็นเดือนเห็นตะวัน
ย้อนกลับไป 1 ปีก่อนหน้านี้ คณะกรรมการความสัมพันธ์แรงงานแห่งชาติ (The National Labor Relations Board) แห่งสหรัฐฯ ระบุว่าบริษัท Telsa ละเมิดกฎหมายแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยการพยายามสกัดกั้นไม่ให้แรงงานสามารถจัดการรวมหมู่เป็นองค์กรหรือเกิดการพูดคุยกันเพื่อเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการทำงานได้
นอกจากนั้น มัสก์ยังเคยทวีตข่มขู่พนักงานที่พยายามจะตั้งสหภาพแรงงาน Tesla บนแพลตฟอร์มทวีตเตอร์อีกด้วย โดยระบุว่าการพยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานของพวกเขาอาจจะนำมาซึ่งการสูญเสียสิทธิในการเป็นผู้ถือหุ้นของ Tesla ไป
แน่นอนว่าการออกมาพูดของมัสก์เช่นนี้ กลายเป็นจุดที่ทำให้คณะกรรมการความสัมพันธ์แรงงานแห่งชาตินำมาใช้กล่าวหาการกระทำของมัสก์ว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายแรงงานของสหรัฐฯ ระบุว่า บริษัทสามารถพูดถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นหากมีการสร้างสหภาพแรงงานได้ แต่บริษัทไม่มีอำนาจในการหยุดยั้งความพยายามดังกล่าวของพนักงาน
การกระทำของ Tesla ในลักษณะนี้ส่งผลให้อดีตพนักงานที่ถูกไล่ออกจำนวนมากพยายามจะรวมกลุ่มกันผลักดันการแก้ไขสภาพเงื่อนไขการทำงานให้เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งก็นำมาสู่การเดินขบวนประท้วงของพนักงานกลุ่มนี้มาแล้วเมื่อเดือนตุลาคมปี 2017 และยังคงมีการพยายามผลักดันในประเด็นดังกล่าวเรื่อยมา
ดูเหมือนว่าเส้นทางการสร้างความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีมัสก์ยังคงเต็มไปด้วยคำถามที่สังคมต้องการคำตอบอีกเป็นจำนวนมาก ตราบใดที่ความเป็นอยู่ของพนักงานในบริษัท Tesla ยังไม่ได้รับการปรับปรุง หรือข้อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาร้ายแรงจำนวนมากยังถูกบริษัททำประหนึ่งว่าไม่ได้เกิดขึ้น ก็คงยากที่จะพูดได้ว่า มัสก์คือบุคคลแห่งปีที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง หรือบริษัท Tesla คือบริษัทแห่งอนาคตที่น่าร่วมงานด้วย เพราะอนาคตที่สดใสของสังคมคงไม่ใช่อนาคตที่สร้างขึ้นมาจากการละเลยหรือเอาเปรียบแรงงานเป็นแน่
Workers of the world, unite!
อ้างอิง:
- Tesla Growing Steadily: More Than 100,000 Employees Worldwide
- Black Tesla employees describe a culture of racism: ‘I was at my breaking point’
- A Tesla factory worker alleges sexual harassment is rampant in a rare lawsuit. Now other women are stepping forward
- Tesla factory workers reveal pain, injury and stress: ‘Everything feels like the future but us’
- Tesla Shanghai to Enter “Closed-Loop” System With Workers Sleeping in Factory
- Elon Musk illegally ‘threatened’ to retaliate against workers and Tesla repeatedly violated labor laws, NLRB says
- Tesla pro-union leaders march into the company’s Fremont factory demanding some fired workers be rehired