เพียงชั่วระยะเวลา 1 เดือน หลังจากอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของบริษัท Twitter อย่างเต็มตัว ความบ้าระห่ำที่เคยเป็นจุดขายของเขาได้สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ต่อ Twitter จนสาธารณชนทั่วโลกต้องตกตะลึง ทั้งการไล่พนักงานจำนวนกว่า 4,000 คนออก การปรับรูปแบบการยืนยันตัวตน (blue checkmark) การประกาศว่าอาจจะให้โดนัล ทรัมป์ (Donald Trump) กลับมาใช้ Twitter ได้อีกครั้ง ไปจนถึงการโทรศัพท์ไปทะเลาะวิวาทกับเครือข่ายผู้บริหารของบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกาที่ทยอยปรับลดสัดส่วนการซื้อโฆษณาจาก Twitter เพราะไม่พอใจที่บริษัทคู่ค้าทำให้รายได้ของ Twitter ลดลงมากกว่า 4,000,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยหากสถานการณ์ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น Twitter อาจเข้าสู่การล้มละลายภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี จากการไม่สามารถชำระหนี้มูลค่ากว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากประเด็นที่เกิดขึ้นภายใน Twitter แล้ว สิ่งที่ถูกกล่าวถึงมากไม่แพ้กันตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา คือ พรรค Democrat อาจมีแผนจะผลักดันให้สำนักงานสอบสวนกลาง (Federal Bureau of Investigation: FBI) และคณะกรรมาธิการการลงทุนจากต่างประเทศของรัฐสภา ทำการสืบสวนถึงความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างอีลอน มัสก์ กับรัฐบาลจีน จากความกังวลและข้อสมมุติฐานที่ว่า อีลอน มัสก์ อาจตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ Twitter ในฐานะตัวแทนหรือภายใต้การชี้แนะของรัฐบาลจีนที่มีเป้าหมายในการจะใช้อำนาจของโซเชียลมีเดียเพื่อควบคุม แทรกแซงการเลือกตั้ง และกำหนดทิศทางความคิดเห็นทางการเมืองของประชาชนสหรัฐอเมริกาผ่านการปรับกลไกอัลกอริธึมของ Twitter ไปในรูปแบบที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลจีน (subversion)
ความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ประมาณช่วงปี 2012-2013 ที่บริษัท Tesla พยายามส่งรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) รุ่น Model S Sedan เข้าไปทำตลาดในจีน โดยคาดหวังให้มีการเติบโตเป็นตลาด EVs อันดับ 1 นอกสหรัฐอเมริกา และเริ่มใกล้ชิดมากขึ้นหลังอีลอน มัสก์ แสดงวิสัยทัศน์ว่าจะปลุกปั้นยอดขายรถ EVs ในตลาดจีนให้ได้มากกว่า 200,000 คัน/ปี ภายในไม่เกินปี 2020 ทำให้เขาต้องเดินทางไปเยือนจีนเพื่อเจรจาขอจัดตั้งโรงงานผลิตรถ EVs กับนายกเทศมนตรีเมืองเซี่ยงไฮ้ และตัวแทนรัฐบาลจีนอยู่หลายครั้ง แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว ภาคเอกชนโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกากำลังมีความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมการถ่ายทอดข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property sharing) ที่เกิดขึ้นในจีนผ่านกติกาการบังคับให้บริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในจีนต้องร่วมทุนและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทท้องถิ่น ทำให้การเจรจาของ Tesla ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะไม่ต้องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ และระบบรถ EVs ให้แก่จีน
จนกระทั่งช่วงปี 2017-2018 ที่รัฐบาลทรัมป์เข้ามาเปิดฉากกดดันรัฐบาลจีนในประเด็นดังกล่าวรุนแรงขึ้น จนนำไปสู่สงครามการค้าที่สหรัฐอเมริกาเริ่มชักชวนให้เครือข่ายประเทศพันธมิตรของตนเริ่มต้นตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าจีน เพื่อกดดันให้จีนเปลี่ยนรูปแบบจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ รัฐบาลสี จิ้นผิง (Xi Jinping) จึงตั้งใจที่จะใช้กรณีของบริษัท Tesla เป็นสัญญาณที่บ่งบอกประชาคมโลกว่า จีนพร้อมจะผ่อนคลายข้อบังคับกรณีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ท้องถิ่นลง โดยจะอนุญาตให้ Tesla สามารถเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถและแบตเตอรี่ EVs ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (Gigafactory) ในเซี่ยงไฮ้ได้โดยไม่ถูกบังคับให้ร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นของจีน ในปี 2020 ยอดขาย Tesla ในจีนจึงทะยานขึ้นมาสู่ 135,000 คัน คิดเป็นร้อยละ 30 จากกว่า 500,000 คันที่ขายได้ทั่วโลก
กรณีของ Tesla นี้ รัฐบาลจีนไม่เพียงยอมผ่อนคลายมาตรการทางการค้าที่มีอยู่เดิมให้โอนอ่อนลง แต่ยังอำนวยความสะดวกให้ Tesla สามารถเช่าที่ดินขนาด 860,000 ตารางเมตร ในเซี่ยงไฮ้ เป็นเวลา 50 ปีได้ พร้อมกับจัดการให้ธนาคาร China Construction Bank (CCB), Agricultural Bank of China (AgBank), Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) และ Shanghai Pudong Development Bank (SPDB) อนุมัติเงินกู้มูลค่ามากกว่า 1,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ Tesla นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังสั่งให้มีมาตรการลดหย่อนกำแพงภาษีแก่ Tesla เป็นกรณีพิเศษลงจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 15 แทน พร้อมสนับสนุนเงินทุนให้อีกมากกว่า 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนอีลอน มัสก์ ถึงกับออกมากล่าวว่า “I really think China is the future…” (ผมเชื่อว่าประเทศจีนคืออนาคต)
แน่นอนว่าสิทธิพิเศษและการดูแลอำนวยความสะดวกในระดับนี้ ไม่ใช่สิ่งที่บริษัทเอกชนจากสหรัฐอเมริกาจะได้รับจากรัฐบาลจีนง่ายๆ หากทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีความคุ้นเคยกันมาก่อน ดังจะเห็นได้จากการที่อีลอน มัสก์ มักจะนัดพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อย่างอดีตนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) อดีตรองนายกรัฐมนตรี หวาง หยาง (Wang Yang) และอดีตนายกเทศมนตรีเซี่ยงไฮ้อย่าง หยิง หยง (Ying Yong) เพื่อหารือถึงโอกาสในการลงทุนที่จีน และเจรจาขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่น ไปจนถึงการเชื้อเชิญ ฉิน กัง (Qin Gang) เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐอเมริกาไปทานข้าว เยี่ยมชมโรงงาน Gigafactory และขับรถ Tesla Mode S Plaid เล่นกันอย่างสนิทสนมในแคลิฟอร์เนียเมื่อช่วงต้นปี 2022
สิ่งเหล่านี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่า อีลอน มัสก์ มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างแน่นแฟ้นในระดับที่สามารถเข้าถึงผู้บริหารระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์หลายคนได้โดยตรง ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการเดินทางเยือนจีนแบบไม่เป็นทางการ หรือที่เรียกว่า ‘secret business trips’ อีกหลายๆ ครั้งในช่วงระหว่างปี 2014-2018 ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์อีก ไม่มีใครทราบได้แน่ชัดว่า การที่อีลอน มัสก์ ได้รับสิทธิพิเศษสำหรับโรงงาน Gigafactory ในเซี่ยงไฮ้จากรัฐบาลจีนนั้น ต้องแลกมาด้วยข้อตกลงลับที่มีส่วนเกี่ยวโยงถึงความสัมพันธ์ทางการเมือง-การทูตระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอย่างไรบ้าง เพราะจีนไม่มีทางปล่อยให้นักธุรกิจจากประเทศคู่แข่งเป็นฝ่ายได้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวอย่างแน่นอน
สมมุติฐานหนึ่งที่พอจะมีความเป็นไปได้และมีน้ำหนักมากที่สุดในขณะนี้ คือ รัฐบาลจีนอาจขอให้อีลอน มัสก์ แสดงบทบาทเป็นตัวแทนภาคธุรกิจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในสหรัฐอเมริกา (agent of Chinese influence) ที่มีหน้าที่เผยแพร่หรือกระทำการใดก็ตามที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์แก่รัฐบาลจีน โดยหลักฐานที่สนับสนุนข้อสมมุติฐานดังกล่าวนี้ คือ ตั้งแต่ที่อีลอน มัสก์ ไปตั้งโรงงานผลิตรถ EVs ในเซี่ยงไฮ้ก็มักมีพฤติกรรมและความคิดเห็นที่เอนเอียงไปทางจีนตลอดเวลา อาทิ การทวีตข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลไต้หวันยอมรวมประเทศกับจีน แล้วให้รัฐบาลจีนจัดตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษไต้หวัน หรืออย่างกรณีเมื่อตอนต้นปี 2022 ที่รัฐบาลโจ ไบเดน (Joe Biden) นำประเด็นสิทธิมนุษยชนในซินเจียงออกมาวิจารณ์และกดดันรัฐบาลจีน แต่ในอีกด้านหนึ่ง อีลอน มัสก์ กลับประกาศเปิดศูนย์จำหน่าย Tesla ในซินเจียงโดยไม่สนใจข้อพิพาทที่สหรัฐอเมริกามีต่อจีนเลย
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณช่วงปี 2020-2021 รัฐบาลจีนสั่งให้ Tesla นำรถยนต์รุ่น Model Y กลับไปแก้ไขระบบการรักษาความปลอดภัย และประกาศห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบาลขับ Tesla เข้าเขตค่ายทหาร หรือสถานที่ราชการ อีลอน มัสก์ ยอมประนีประนอมด้วยการย้ายฐานข้อมูลของกล้องนิรภัยในตัวรถ Tesla ไปเก็บไว้ในคลังข้อมูลภายในจีนเท่านั้น แต่เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นของแคลิฟอร์เนียประกาศขอความร่วมมือจาก Tesla ในลักษณะเดียวกัน อีลอน มัสก์ กลับวิจารณ์รัฐบาลแคลิฟอร์เนียว่ามีแนวคิดคล้ายเผด็จการทหาร (Fascism) ท่าทีของอีลอน มัสก์ สร้างความไม่พอใจให้แก่พรรค Democrat เป็นอย่างมาก
ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะมาจากทัศนคติหรือวิสัยทัศน์ทางธุรกิจของอีลอน มัสก์ แต่เห็นได้ชัดว่าจากการเปิดช่องทางพิเศษเพื่อให้ชายคนดังกล่าวสามารถก้าวขึ้นมาเป็นชายที่มีความมั่งคั่งสูงที่สุดในโลกได้สำเร็จ จะนับเป็นเหมือนบุญคุณครั้งใหญ่ (big favor) ที่ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีอิทธิพลและอำนาจต่อรองเหนือกว่าเขามาก
ช่วงไวรัส COVID-19 ระบาดอย่างรุนแรงในเซี่ยงไฮ้ก่อนหน้านี้ รัฐบาลท้องถิ่นของจีนสามารถสั่งปิดโรงงาน Tesla ได้ทันทีโดยที่อีลอน มัสก์ ไม่สามารถประท้วงหรือขัดขืนได้เลย และหากแม้ในอนาคต อีลอน มัสก์ จะเปลี่ยนท่าทีแล้ววางแผนย้ายฐานการผลิตไปในประเทศที่เป็นมิตรต่อสหรัฐอเมริกามากกว่านี้ (friend-shoring) แต่ในท้ายที่สุด ด้วยธรรมชาติของอุตสาหกรรมการผลิตรถ EVs ยังต้องขับเคลื่อนควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ซึ่งพึ่งพาแร่ลิเธียม นิกเกิล และโคบอลท์ เป็นวัตถุดิบในการผลิต Tesla จะไม่มีวันหนีจากรัฐบาลจีนได้ เพราะห่วงโซ่อุปทานของแร่กลุ่มดังกล่าว ส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกา) ได้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของจีนแล้ว