ข่าวการหายตัวไปของ เยล หนึ่งในการ์ดราษฎร ซึ่งถูกพาตัวไปข้ามคืนโดยไม่ทราบที่หมายเป็นเวลา 14 ชั่วโมง (ข้อมูลวันที่ 17 ม.ค. 64 พบว่ามีการ์ดอีก 1 คนถูกพาตัวหายไป 2 วันก่อนจะพบว่าอยู่ที่ สภ.บางแก้ว) ดูจะสร้างความกังวลต่อแนวโน้มสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลตลอดปี 2563
หลังจากได้รับการปล่อยตัวในย่านบางปู สมุทรปราการ เยลเดินทางเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.สมุทรปราการทันที โดยเล่าบรรยากาศการควบคุมตัวไว้ว่า คนร้ายที่อุ้มเขาเป็นผู้ชายที่มีจำนวนมากกว่า 4 คน ลักษณะคล้ายคลึงกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ โดยใช้รถตู้เข้าอุ้มตัวเขาจากหน้าปากซอยทางเข้าบ้าน ก่อนที่จะนำถุงผ้าออกมาคลุมศีรษะเขา ยึดโทรศัพท์ส่วนตัว และนำไปแชทสื่อสารโดยพลการ ทั้งนี้มีการเปิดเผยว่ามีการบังคับให้เซ็นเอกสาร และข่มขู่ว่าห้ามให้เขาไปร่วมชุมนุมทางการเมือง
ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไม่ควรก้มหน้ารับว่าเป็นเรื่องปกติ
เป็นที่ทราบกันว่าการกระทำที่อุกอาจเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคหลังการรัฐประหาร 2557 รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตลอด 6 ปี ที่ผ่านมา เผยให้เห็นแล้วว่า มีการใช้วิธีบังคับบุคคลไปสอบปากคำโดยพลการ หลายกรณีมีการเปิดเผยสถานที่ในภายหลัง เช่น กรณี ธเนตร อนันตวงษ์ หรือ ฐนกร จำเลยที่เพิ่งได้รับการยกฟ้องจากการถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ยังมีอีกหลายกรณีที่ยังเป็นปริศนาในการถูกบังคับพาตัวไป เช่น กรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นกับ จ่านิว-สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกพาตัวออกไปจากย่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต่อหน้าคนจำนวนมาก ตัวอย่างข้างต้นยังนับว่าเป็นส่วนหนึ่งจากอีกหลายเหตุการณ์ และยังไม่รวมการหายตัวของผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่ถูกทำร้ายและฆ่าทิ้งในประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้นราวใบไม้ร่วง ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา
เหตุการณ์สะเทือนขวัญเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมที่มีสติ จะต้องออกมาตรวจสอบและจับตา อาการของความรุนแรงที่ไม่จบสิ้นนี้ ซึ่งเกือบทุกกรณีมีหลักฐานเกี่ยวโยงว่าความรุนแรงอาจจะเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่รัฐ
แบบแผนการใช้อำนาจที่ก้าวร้าว เริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนการรัฐประหารจะมาถึงอย่างเป็นทางการ และดำเนินอย่างรุนแรงในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความพยายามในการกระชับอำนาจ วิธีการหนึ่งคือ มีการนำเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจไปควบคุมตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านรัฐประหาร หลายกรณีมีการใช้ถุงคลุมหัวคล้ายกับกรณีเยล ก่อนจะพาไปเค้นคำให้การในค่ายทหาร และบังคับให้ลงชื่อในบันทึกคำให้การ ก่อนจะมีการส่งฟ้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีในศาลทหาร
แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการโอนคดีความมั่นคงทั้งหมดกลับมาที่ศาลพลเรือนแล้ว แต่ยังพบว่ายังคงมีหลายคดีความที่โจทก์นำบันทึกคำให้การ (ในสถานที่ที่ไม่เปิดเผยหรือเปิดเผยภายหลัง) มาใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องคดีต่อจำเลยที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
ไม่น่าเชื่อว่าในยุคสมัยนี้เรายังต้องมาตอบคำถามว่า “เหตุใดจึงต้องยืนยันว่าปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องที่ผิด” ดังนั้นรายงานชิ้นนี้จึงต้องการชี้ให้เห็นว่าวิธีการดังกล่าวมีแบบแผนอย่างไร และยืนยันว่ามรดกบาปนี้ ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพราะไม่มีผู้ใช้อำนาจเถื่อนได้รับโทษอย่างเหมาะสม
การบังคับสูญหาย เกิดขึ้นกลางวันแสกๆ ในวันที่ผู้คนตาสว่าง
ในหนังสือชื่อ In Plain Sight: Impunity and Human Rights in Thailand เขียนโดยไทเรล ฮาเบอร์คอร์น นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เเมดิสัน ที่ศึกษาประวัติศาสตร์การลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย เสนอไว้ในบทที่ 6 ว่า
การบังคับให้สูญหายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในประวัติศาสตร์สังคมไทย และสืบต่อเนื่องจนมีลักษณะคล้ายแบบแผนปฏิบัติที่ผู้มีอำนาจคุ้นเคย อย่างไรก็ตามความรุนแรงนี้ต่างก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือ อาการเพิกเฉยของผู้คนทั่วไปในสังคมต่อความรุนแรงที่อยู่ตรงหน้า แม้กระทั่งเวลากลางวัน
กรณีการบังคับให้สูญหายของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ไทเรลนำมาวิเคราะห์ให้เห็นประวัติศาสตร์ของความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เธอเข้าไปสำรวจคำให้การของพยานเหตุการณ์ในการหายตัวเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547
ก่อนจะพบว่ามีบุคคล 5 คน พยายามบังคับทนายสมชายให้ขึ้นรถ ทั้งที่ทนายสมชายร้องขัดขืน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นข้างถนนที่มีคนเดินพลุกพล่าน ในคำให้การพบว่ามีพยานเข้าให้การในชั้นศาลถึง 7 คน เกือบทุกคนพบความผิดปกติแต่ก็พบอีกเช่นกันว่าไม่มีใครเข้าไปช่วยเหลือ มีเพียง 1 คน ที่โทร 191 เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ
และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบทนายสมชายอีกจนกระทั่งวันนี้ กรณีเช่นนี้ไทเรลตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ‘แม้ว่าจะมีพยานถึง 7 คน ที่เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา แต่ไม่มีใครรุดเข้าไปช่วยเหลือคนที่ถูกกระทำอยู่ … นี่เป็นเครื่องเตือนใจว่าแม้เราจะอยู่ในที่สาธารณะก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะช่วยให้เรารอดพ้นจากการเป็นเหยื่อความรุนแรง’
ไทเรลตั้งข้อสังเกตต่อไว้ด้วยว่า ‘ถ้าหากชาย 5 คนที่ทำร้ายทนายสมชายสวมเครื่องแบบสีน้ำตาลหรือสีเขียว ผู้เขียนคาดเดาว่า โอกาสที่คนที่อยู่ในเหตุการณ์จะเข้าไปช่วยก็ยิ่งน้อยลง’
การจดจำด้วยการบันทึกคือเครื่องมือในการต่อสู้กับอำนาจลอยนวลพ้นผิด
อย่างไรก็ตาม วิธีการในการสืบค้นการบังคับให้สูญหายผ่านเอกสารของรัฐ คำให้การ คำพิพากษา บันทึกการจับกุม ฯลฯ ที่ไทเรลใช้ในการค้นคว้าก็ประสบกับอุปสรรคมากขึ้นโดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2557 ในตอนจบของบทที่ 6 เรื่อง Disappearance and the jurisprudence of impunity ไทเรลเล่าไว้ว่า มีการตั้งคำถามถึงกองทัพและองค์กรตำรวจในประเทศไทยเช่นกัน แต่การเข้าถึงเอกสารความมั่นคงของรัฐไทยถูกจำกัดการเข้าถึงมากกว่าในอินโดนีเซีย นอกจากนี้ระบอบอำนาจนิยมที่เติบโตภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหารหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ทำให้การค้นคว้าและการวิเคราะห์การอุ้มหายในประเทศไทยมีความยากลำบากขึ้น
ทางออกต่อข้อจำกัดดังกล่าวคือ แม้ว่าจะมีเอกสารของรัฐหลายอย่างที่สูญหายไปจริง แต่เรายังคงสามารถวิเคราะห์และมองเห็นการเขียนประวัติศาสตร์ต่อต้านการลอยนวลพ้นผิดได้ โดยวิธีการหนึ่งที่จะสามารถวิเคราะห์ คือการรวบรวมรายชื่อผู้สูญหายและผู้ที่คาดว่าจะถูกทำให้สูญหาย เพื่อทำให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่า ยังมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกบ้าง และวิธีต่อสู้กับประวัติศาสตร์ทางการที่รัฐเป็นผู้เล่าฝ่ายเดียว ก็คือการเขียนถึงการบังคับสูญหาย และความรุนแรงโดยรัฐด้วยวิธีอื่นๆ รวมถึงการเขียนถึงว่ารัฐลอยนวลไปจากความผิดเหล่านี้ได้อย่างไร
ในที่นี้รวมไปถึงการเขียนว่าประชาชนจะถูกรัฐใช้ความรุนแรงได้อย่างไรบ้าง อันนับเป็นวิธีการเขียนประวัติศาสตร์แบบใหม่ ดังที่ เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส (Craig J. Reynolds) นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย เรียกการเขียนประวัติศาสตร์แบบนี้ว่าเป็น
“การปฏิเสธอดีต (repudiate the past) เป็นการประกาศจุดเริ่มต้นของเส้นทางประวัติศาสตร์ยุคใหม่ ซึ่งประวัติศาสตร์ใหม่เหล่านั้นจะทำให้ผู้ทนทุกข์จากการลอยนวลพ้นผิดของรัฐ ไม่ถูกมองข้ามอีกต่อไป”
หากเรานำข้อคิดจากไทเรลมามองกรณี ‘เยล’ และเพื่อน เราจะพบว่าองค์ประกอบของเหตุการณ์อัปยศข้างต้น ดูจะครบถ้วนขาดเพียงแต่การทิ้งร่องรอยอย่างเปิดเผยของชายที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กอ.รมน. ซึ่งแชทตอบกับเพื่อนของเยลโดยไม่ยินดียินร้ายว่าอาจจะมีการ ‘อุ้มหาย’ ในครั้งต่อไป
เหตุการณ์นี้ตอกย้ำให้เราเห็นว่า ประวัติศาสตร์แห่งความรุนแรงและการพ้นผิดของรัฐไทยจะต้องยุติกันเสียที ข้อเรียกร้องของคนหนุ่มสาวในประเด็นการอุ้มหายเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในตัวเองอยู่แล้วว่า การกลับมาทบทวน ปัญหาการกักขังบุคคลที่ถูกตีตราว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเราต้องการเดินหน้าไปสู่สังคมที่มีอารยะ ยกเว้นว่าใครไม่ต้องการให้บ้านเมืองไปถึงจุดนั้น