ลิงเก็บมะพร้าว: สายสัมพันธ์หรือการทารุณกรรมสัตว์

สัปดาห์ที่ผ่านมา องค์กรพีตา (PETA) หรือ องค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม ได้ออกมาเรียกร้องให้ต่อต้านกะทิแปรรูปที่ส่งออกจากไทย ซึ่งองค์กรดังกล่าวมองว่าเกษตรกรไทยใช้ลิงเก็บลูกมะพร้าวเป็นการทารุณกรรมต่อสัตว์

วันที่ 5 กรกฎาคม 2563 สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในอังกฤษได้ยุติการขายน้ำมะพร้าวและน้ำมันมะพร้าวที่ส่งมาจากประเทศไทย หลังจากพบรายงานว่าผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทยมีการใช้ลิงกังเก็บมะพร้าว ทั้งนี้ PETA ระบุว่าลิงกังเหล่านี้ถูกพาตัวออกมาจากป่าเพื่อฝึกเก็บมะพร้าว โดยมีบริษัทไทย 8 แห่งที่บังคับใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวถึง 1,000 ลูกต่อวัน ในขณะที่แรงงานคนสามารถเก็บได้วันละ 80 ลูกเท่านั้น

สำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตที่มาออกมาให้คำมั่นว่าจะหยุดขายสินค้าในห้างของตัวเอง ได้แก่ เวทโทรส, โอคาโด, โค-ออป และบู๊ทส์ โดยประกาศว่า ในฐานะผู้ค้าปลีกที่มีจริยธรรม เราไม่อนุญาตให้มีการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวมาเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ของเรา ขณะที่ แคร์รี ไซมอนด์ส คู่หมั้นนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ ยินดีที่ห้างค้าปลีกอย่างน้อย 4 แห่ง ประกาศยุติการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่มาจากแรงงานลิง และเรียกร้องให้ผู้จำหน่ายรายอื่นดำเนินรอยตาม

ชาวสวนมะพร้าวจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีออกมาชี้แจงต่อเรื่องนี้ว่า การใช้ลิงเก็บมะพร้าวอยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวสวนมากว่า 100 ปี และวิชาการฝึกลิงเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ

“พวกเรามารวมตัวกันหลังจากเลิกงานครับ แล้วก็มาฝึกลิงช่วง 5 โมงถึง 6 โมงเย็น” ชาวสวนอีกรายหนึ่งในบ้านบางหมาก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร กล่าว และเสริมว่า “ช่วงกลางวัน เราไปทำงานรับจ้างกันครับ ส่วนตอนเย็นเราค่อยมาฝึกลิง ซึ่งใช้เวลาแค่ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน”

ข้อถกเถียงนี้ชวนให้เรากลับมาพิจารณาถึงวิถีการผลิตที่เกี่ยวแน่นกันระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นกับคุณค่าในทางสากลอีกครั้ง ว่าทางออกของเราควรจะเดินไปในทิศทางใด

photo: Robert D. Raio

จากลิงขโมยสู่แรงงานลิง

กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับลิงในประเทศไทยมีมาอย่างช้านานแล้ว นับตั้งแต่ความสัมพันธ์ในฐานะเจ้าของพืชผล (คน) กับผู้ทำลายพืชผลหรือขโมย (ลิง) แบบในอดีต มาสู่ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของพืชผลกับแรงงานเก็บพืชผลในปัจจุบัน และสำคัญอย่างยิ่งยวดมากขึ้นเมื่อเกษตรกรไทยผันตัวเข้าสู่ระบบการค้าโลก

ในปี 2555 ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตมะพร้าวอันดับ 6 ของโลก รองจากประเทศอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, อินเดีย, บราซิล และ ศรีลังกา จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการค้าที่สัมพันธ์กับกระแสคุณค่าในทางสังคมด้วยในเวลาเดียวกัน ดังนั้นเรื่องนี้นอกจากจะเกี่ยวพันกับภูมิประเทศและสภาพอากาศแล้ว การใช้แรงงานลิงยังสัมพันธ์กับมิติทางวัฒนธรรมด้วย

หนังสือเรื่อง The Macaque Connection: Cooperation and Conflict between Humans and Macaques เขียนโดย Sindhu Radhakrishna, Michael A. Huffman และ Anindya Sinha ตีพิมพ์เมื่อปี 2012 หน้า 115-121 อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า วัดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ จะมีทั้งผู้คนท้องถิ่นและลิงอาศัยร่วมกัน โดยลิงจะถูกบรรยายให้ผูกเข้ากับตำนานท้องถิ่นหรือความเชื่อทางศาสนาเพื่อให้คนรู้สึกเต็มใจอยู่ร่วมกับลิง อย่างไรก็ตาม อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งเสนอว่า นอกจากการที่ลิงกลายมาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมแล้ว ยังพบอีกว่าคนใช้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากลิงด้วย ส่งผลให้ลิงมีโอกาสได้รับอาหารและได้รับการปกป้องดูแลจากคนมากขึ้น

จากข้อมูลของหนังสือเล่มเดียวกันพบว่า ที่เกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย มีชุมชนอย่างน้อย 63 แห่ง ที่มีลิงอาศัยอยู่ (ข้อมูลปี 2005) ซึ่งมากกว่า 2 ใน 3 จะเป็นย่านวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ใช้ลิงในการดึงดูดผู้คนให้มาเยี่ยมเยือน และลิงจะได้อาหารเป็นการตอบแทน

สำหรับลิงกังที่เป็นสายพันธุ์เหมาะสมแก่การนำไปฝึกฝนเพื่อใช้เก็บมะพร้าวนั้น จะมีแนวโน้มอยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ดีกว่าลิงสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมาคนทั่วไปจะมักมองว่ามันเป็นสายพันธุ์รุกราน (weed species หมายถึง สายพันธุ์ใหม่ที่เข้ามาอยู่ จากนั้นจึงขยายประชากรมากจนล้นเกินและรบกวนสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่เดิม) อย่างไรก็ตาม การทำให้ลิงกลายเป็นสินค้าที่ถูกนับเป็นปัจจัย ทำให้ลิงอยู่รอดในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

มาสู่ประเทศไทยของเรา ในปัจจุบันเป็นผู้ผลิตมะพร้าวอันดับที่ 9 ของโลกโดยมีพื้นที่เพาะปลูกทั้งสิ้น 1.2 ล้านไร่ สามารถผลิตมะพร้าวได้ประมาณ 8.95 แสนตัน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดชายทะเลรอบอ่าวไทย ได้แก่ สมุทรสาคร, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ชลบุรี และฉะเชิงเทรา แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่มีการส่งออกมะพร้าวประมาณ 38,928 ตัน โดยประเทศที่มีการนําเข้ามะพร้าวมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา เนื่องจากปัจจุบันส่วนแบ่งการตลาดจะกระจายไปยังจีนและอินเดีย

ลิงนั้นไร้เดียงสา ถ้าเราตีเขา มันก็จะเป็นบาป

ในปี 2015 สำนักข่าว INDEPENDENT ของอังกฤษเคยรายงานบทสัมภาษณ์ สมพร แซ่โค้ว ที่ฝึกสอนให้ลิงปีนต้นไม้และเก็บลูกมะพร้าว จนกระทั่งเปิดเป็นโรงเรียนสอนลิงแห่งแรกของไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 พบว่าลิงกังตัวผู้ที่ผ่านการฝึกฝนจากเขาสามารถเก็บมะพร้าวได้ถึงวันละ 1,600 ลูกต่อวัน เปรียบได้กับแรงงานคนถึง 80 คน ขณะที่ลิงตัวเมียอาจจะเก็บได้วันละ 600 ลูก ท่ามกลางข้อกังวลจากนักวิจัยต่างประเทศที่มองว่าลิงเหล่านั้นต้องถูกพรากออกจากฝูงและถูกล่ามตลอดไป ซึ่งแน่นอนว่าครูฝึกลิง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าว่า “เป็นเรื่องยากที่จะมองหาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าวไทย ที่ไม่ใช้ลิง”

สมพรมักจะบอกกับลิงที่เขาฝึกว่า “ทำเร็วๆ ลูก ถ้าเสร็จจะได้กลับบ้านได้” เขาให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “ลิงนั้นไร้เดียงสา ถ้าเราตีเขา มันก็จะเป็นบาป

“ลิงชอบปีน ไม่กลัวความสูง ไม่บ่น ไม่เรียกร้องค่าแรง และไม่ทุจริต พวกมันไม่ต้องการประกันสังคมและประกันอุบัติเหตุ ดังนั้นลิงจึงเป็น ‘เครื่องจักรมีชีวิต’ ที่มีคุณค่ามากสำหรับชาวสวนมะพร้าว”

นี่อาจจะเป็นทัศนคติที่ทำให้หน่วยงานด้านสัตว์ของสหรัฐ ติดต่อบริษัทมะพร้าวหลายสิบแห่งเพื่อทดสอบการปฏิบัติต่อลิงของชาวสวนมะพร้าว ซึ่งในบางภูมิภาคของโลก ลิงจะถูกฝึกอย่างหนัก และมักจะได้รับการลงโทษเพื่อให้สามารถไปเก็บผลผลิตได้ โดยลิงจะเชื่องเฉพาะกับคนเลี้ยงลิงเท่านั้น

ในขณะที่พ่อแม่ของสมพรเป็นชาวสวนมะพร้าว สมพรก็มีประสบการณ์การใช้ลิงเพื่อเก็บมะพร้าว ลิงเหล่านี้มักถูกเจ้าของทำร้ายเมื่อมันไม่ทำตามที่คาดหวังไว้ (เช่น เมื่อมันปลิดมะพร้าวลงจากต้นไม่หมด) จึงทำให้สมพรมีความคิดที่จะสอนลิงในทางที่ดีขึ้น พระอาจารย์ของสมพรสนับสนุนให้เขาสอนลิงในเชิงบวก โดยไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรง จนกระทั่งโรงเรียนของสมพรโด่งดังในระดับท้องถิ่น และเป็นโรงเรียนสอนลิงที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของประเทศไทย

เช่นเดียวกับที่เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับมะพร้าวและมีการใช้ลิงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวในด้านอื่นๆ อาทิ การท่องเที่ยวเพื่อดูลิงเก็บมะพร้าว และลิงยังถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ในสินค้าต่างๆ เช่น เกษตรกรจะนำมะพร้าวแห้งทั้งลูกมาแกะสลักเป็นรูปลิงนั่งกอดกะลามะพร้าว หรือมีการทำกระปุกออมสินรูปลิง

ถึงกระนั้น เรายังไม่เห็นรายงานฉบับสมบูรณ์ของ PETA ที่อ้างถึงการทารุณกรรมสัตว์ แต่จากการพิจารณารายงานหลายฉบับตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ลิงที่ถูกเลี้ยงให้ใช้แรงงานไม่ได้รับอนุญาตให้กินมะพร้าวที่ลิงเก็บมาได้ โดยจะถูกล่ามโซ่และถูกตี ฉะนั้นแม้จะเป็นความจริงที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างลิงกับคนมีหลากหลายมิติ แต่ก็มีบางพื้นที่แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรตระหนักถึงคุณค่าในสิทธิสัตว์ด้วย อย่างเกษตรกรในมาเลเซียฝึกฝนลิงโดยคำนึงถึงความสุขของลิง หรือโรงเรียนสอนลิงแห่งแรกของไทยก็ได้มีการปรับการฝึกฝนลิงให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ถึงที่สุดแล้วข้อคิดจากการเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างคนกับลิงในไทยและอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตือนเราว่า วิธีการแก้ปัญหาการแบนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าวจากต่างประเทศ ไม่อาจใช้วิธีการตอบโต้ด้วยแนวคิดชาตินิยม ไทย VS ฝรั่ง หรือการสร้างภาพ romanticise ไปจนถึงขั้นว่าเราดูแลลิงเหมือนลูกเหมือนหลาน แต่อาจจะหันมาพิจารณาผ่าน ‘เฉด’ ของเส้นแบ่งระหว่างการทารุณกับการดูแลเสียใหม่ เพราะเราคงไม่เลี้ยงลูกหลานของเราด้วยการเอาโซ่ล่ามไว้แน่ๆ

 

PETA ก่อตั้งเมื่อปี 1980 ที่รัฐเวอร์จิเนีย มีสำนักงานกระจายอยู่อีกหลายเมือง เช่น วอชิงตัน, ลอสแองเจลิส, ฮ่องกง, มะนิลา ฯลฯ โดยเคลื่อนไหวใน 4 ประเด็น ได้แก่ อุตสาหกรรมปศุสัตว์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมบันเทิง และการทดลองในสัตว์ ครอบคลุมตั้งแต่ต่อต้านการทำหมันสัตว์ การทารุณกรรมสัตว์ ไปจนถึงการกำจัดศัตรูพืช เน้นการเคลื่อนไหวโดยใช้ ‘ปฏิบัติการซึ่งหน้า’ (direct action) ทำให้หลายครั้งการเคลื่อนไหวของ PETA สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและช่วยกระตุกเตือนสังคมอย่างกว้างขวาง ขณะที่บางครั้งก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ความไม่เข้าใจวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่แตกต่าง

 

อ้างอิง

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า