คนหนึ่งมาจากสกลนคร คนหนึ่งมาจากเมืองเลย คนหนึ่งมาจากขอนแก่น คนหนึ่งมาจากชัยภูมิ ทั้ง 4 คนมีความขมขื่นเหมือนกัน ต่อสู้เพื่อปกป้องทรัพยากรของชุมชนบ้านเกิดเหมือนกัน ถูกรังแกและคุกคามไม่ต่างกัน เพียงแต่รายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันตามปัญหาที่พวกเขาเผชิญในแต่ละพื้นที่
แต่พวกเขามีความหวัง
ที่มหาสารคาม ลมหนาวและอากาศแห้ง พาพวกเขาเดินทางจากบ้านมาที่งานสัมมนาทางวิชาการ ’70 ปีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน: สิทธิชุมชนอีสานอยู่ตรงไหน?’ จัดโดย วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยสารคาม และองค์กรร่วมจัด พวกเขาบางคนหวังว่าจะยื่นเรื่องอุกอั่งต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และบอกเล่าเรื่องราวชวนเจ็บปวดให้ชาวต่างชาติที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนฟัง
หลังงานจบ WAY พูดคุยกับชาวอีสานสี่คน จากพื้นที่สี่แห่งนี้
พล็อตเรื่องในพื้นที่ทั้งสี่แห่งคล้ายกัน แตกต่างในบริบท กล่าวได้ว่า ชุมชนทั้งสี่แห่ง ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนา และการเอื้อประโยชน์แก่นายทุน แน่นอนคนเสียประโยชน์คือชุมชน อย่างน้อยๆ เขาถูกตัดโอกาสในการใช้สิทธิที่จะพูดที่จะคัดค้านและแสดงข้อมูลอีกด้าน อาจกล่าวได้ว่าทุกรัฐบาลต่างก็ดำเนินนโยบายพัฒนาเช่นนี้ แต่ภายใต้รัฐบาลทหารที่ใช้อำนาจพิเศษต่างๆ เสกและเร่งรัดให้เร็วขึ้น มันทำให้สังคมมิดสี่หลี่ ที่สำคัญกว่านั้น พวกเขาถูกละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงที่สุด
เราทักทายถามไถ่ชาวอีสานทั้งสี่ด้วยคำถามเดียวกัน “ซำบายดีบ่”
…
“มันทรมาน มันแน่น มันอุกอั่ง”
มะลิ แสนบุญศิริ
เครือข่ายกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
“ตอนแรกฉันก็ไม่ได้คิดอะไรหรอก เพราะทุกรัฐบาลก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ เราเป็นแค่ผู้เฒ่าบ้านนอก เลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน หาปูหาปลากิน แต่พอนานเข้า ทุกอย่างเปลี่ยนไป กฎหมายไม่รู้กี่ฉบับที่ออกมาและเปลี่ยนไปแทบทุกวัน แต่ไม่เคยให้ความรู้ประชาชน ดูโทรทัศน์ก็เห็นแต่พ่อใหญ่ประยุทธ์ด่า ด่าประชาชน ด่าสื่อมวลชน พออยู่มา ฉันไม่อยากได้รัฐบาลนี้ อยากให้เขาคืนอำนาจให้ประชาชน ให้เราเลือกใหม่เถอะ ถ้าเราเลือกแล้วเขาทำไม่ดี เราก็ไล่เขาออกได้ ใช่มั้ย? เพราะเราเลือกเขาเข้ามา นี่เราไม่ได้เลือกเขา เรามีมือมีหัวใจที่รักแผ่นดิน เขามีทุกอย่างมีกองทัพกองพัน สิ่งนี้ถ้าฉันพูดผิดฉันก็จะพูดเหมือนเก่า ถ้าคุณจะเขียนไปให้เขาอ่าน ฉันก็จะพูดแบบนี้ ถ้ามีคนถามว่า “ยาย ทำไมยายให้สัมภาษณ์แบบนี้” ฉันก็จะบอกว่า ก็ใช่สิ คุณมีทั้งปืนทั้งอำนาจ ฉันไม่มีเลยสักอย่าง คุณจะข่มเหงฉันยังไงก็ได้ พวกคุณสวมเครื่องแบบมาวางอำนาจ เอาคอมแบตมาเหยียบหัวไม่ให้พวกเราพูด พวกเรายังเป็นคนของแผ่นดินนี้รึเปล่า? เป็นประชาชนหรือเจ้าของแผ่นดินมั้ย? หรือพวกเราเป็นคนที่ไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ก็ตอนไปทำบัตรประชาชนเขาก็ยังเขียนอยู่ว่า สัญชาติไทย 100 เปอร์เซ็นต์”
มะลิ แสนบุญศิริ เครือข่ายกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร พูดด้วยความอุกอั่ง และบางประโยค คำพูดฝืนตัวเองออกมาจากน้ำตา
เธออยู่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร พื้นที่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตช ให้แก่ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในพื้นที่ อำเภอวานรนิวาส จำนวน 12 แปลง เนื้อที่รวม 116,875 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่หกตำบล ได้แก่ ตำบลวานรนิวาส ตำบลศรีวิชัย ตำบลขัวก่าย ตำบลธาตุ ตำบลนาคำ และตำบลคอนสวรรค์ อาชญาบัตรพิเศษมีอายุห้าปี จนถึงวันที่ 4 มกราคม 2563 ชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีใครรู้เรื่องมาก่อน รู้ตัวอีกทีเจ้าหน้าที่จากบริษัทก็มาปักหมุดเพื่อทำการสำรวจบนที่ดินของคนในชุมชนแล้ว
เธอและประชาชนในนาม เครือข่ายกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จึงเดินเรื่องยื่นหนังสือและทวงถามถึงความชัดเจน แต่ก็ว่างเปล่า มีเพียงการคุกคามที่ได้รับกลับมา
“เขาบอกว่า รู้ตัวมั้ยว่ากำลังเดินเข้าคุก พวกเราก็บอกว่าไม่เป็นไร จะต้องเข้าคุกก็เข้า ถ้าต้องเข้าเพราะการไม่เอาเหมือง ข่อยบ่เอา มือเปล่านี่แหละ จะมาจับก็มา คนเราเกิดมาตายครั้งเดียว ถ้าจะตายเเบบนี้ก็ยอม”
“ไม่กลัวหรือ?”
“ความกลัวมันก็มีอยู่ แต่ ณ วันนี้ มันรักแผ่นดิน มันห่วงแผ่นดินไว้ให้ลูกหลาน หลานน้อยวิ่งด้องๆ อยู่ ถ้าพวกแม่ตายไป ไม่รู้อะไรจะเข้ามา ลูกหลานกองกันโจ้โก้อยู่ เขาจะอยู่ยังไง นี่คือสิ่งที่ทำให้พวกเราลุกขึ้นมาสู้ เรายื่นหนังสือตรงไหนได้ก็ไปยื่น บอกใครได้เราจะบอกว่าเราไม่เอา หยุดเถอะ…เซาซะ เราไม่อยากได้เหมือง
“ทุกวันนี้ เวลาพวกเราจะไปไหน เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจจะตามต้อยๆ เมื่อเช้าถ้าฉันมองไม่ผิด เขาตามมาจากบ้านพู่นล่ะ เข้าเซเว่นก็เข้านำกัน กะช่าง บ่ย่าน ฉันไม่ผิด คุณจะตามมายังไงก็ตามมาเถอะ ทุกวันนี้ต้องระวังตัวตลอด ถ้าเป็นคนแปลกหน้าและผิดสังเกต ฉันจะไม่คุยด้วย เพราะฉันก็ระแวงเหมือนกัน เรียกได้ว่า นอนอย่างหวาดผวา ไปไหนมาไหนเราต้องฝากบ้านฝากหลานกับพี่น้องไว้ มาต่างบ้านต่างเมืองแบบนี้ไม่ได้สบายใจเลย หัวใจหนึ่งอยู่ที่นี่ อยากมาสู้ให้ลูกให้หลาน อีกหัวใจหนึ่งอยู่บ้านกับหลาน มันทรมาน มันแน่น มันอุกอั่ง ถ้าบอกได้ ถ้ารัฐบาลมา ถ้าพ่อใหญ่ประยุทธ์มา สามารถพูดได้ ถ้าเข้าไปหาพ่อใหญ่ประยุทธ์ได้ ฉันจะไปกราบท่าน ขอให้ท่านหยุดเถอะนะ อย่าเฮ็ด มันเจ็บปวด มันทรมาน มันลำบาก ไม่เฉพาะแต่เจ้าหน้าที่ที่เราหวาดระแวง ครอบครัวพี่น้องก็ผิดใจกัน เพราะเขาก็หามวลชนของเขาในหมู่บ้าน เกิดมาฉันไม่เคยผิดใจกับญาติพี่น้อง พอหนักเข้า พี่ชายของผัวไปอยู่กับอีกฝ่ายหนึ่ง ฉันอยู่ฝ่ายหนึ่ง คำที่เขาพูดว่าอยากให้เราปรองดองกัน แต่มันปรองดองไม่ได้ เพราะเราไม่อยากได้เหมือง ฝ่ายเขาอยากได้ พวกที่ไปกับเขาเขาก็ป้อนแต่คำดีๆ เอาเงินให้ ถึงที่สุดพวกเราก็ผิดใจกัน ไม่ห่วงกัน ทำอะไรก็แยกกัน มันรวมกันไม่ได้ ก็ต้องแยกกัน ต่างคนต่างอยู่ ผิดใจกันมะนึงทึงทืด รัฐบาลประกาศทุกวันว่าให้ปรองดอง แต่เขาไม่เคยลงมาดูสักครั้งว่าการกระทำของเขามันปรองดองได้บ่ มันปรองดองบ่ได้
“ทุกวันนี้เขาละเมิดสิทธิทุกอย่าง ถ้าพูดแบบหยาบคายคือเขาเหยียบเราไว้เลย แล้วแต่ว่าเราจะอยู่ยังไง จะไม่ให้เราโงหัวขึ้นมา เราไม่สามารถอ้างหรือพูดอะไรได้ ไม่มีสิทธิ เจ้าหน้าที่รัฐเห็นเราเหมือนไม่ใช่คนไทย เขาไม่ให้ความสำคัญกับเราเลย แต่คนของนายทุนนี่เขาอุ้มเขาชูขึ้นบูชา”
“เฮ็ดหยังก็บ่ได้ แม้แต่ความคิดเพิ่นก็หยุดเฮาไว้”
ระนอง กองแสน
กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
“ชีวิตแม่ลำบากหลาย แต่ก่อนหากเราไม่ต้องการทิศทางที่รัฐจะมาลงทุน เราสามารถเรียกร้องได้ แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่ให้เราพูดเลย ตั้งแต่รัฐบาลทหารมานี่นะ จะทำอะไรก็ยาก เฮ็ดหยังก็บ่ได้ แม้แต่ความคิดก็หยุดเราไว้ ”
ระนอง กองแสน เป็นหนึ่งใน ‘7 แม่หญิงเลย’ ที่ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออก และรบกวนการปฏิบัติงานในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ
พฤศจิกายน 2559 ชาวบ้านกว่า 150 คน เข้าร่วมการประชุมสภา อบต.เขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เพื่อติดตามการประชุมสภาฯ ในวาระการพิจารณาเรื่องการขอต่ออายุใบอนุญาตขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ ส.ป.ก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งชาวบ้านได้เรียกร้องให้ถอนวาระดังกล่าวออกจากวาระการประชุม และนำไปสู่การยกเลิกการประชุมดังกล่าว
ต่อมา สมาชิก อบต. 16 คน ซึ่งเห็นด้วยกับการต่อหนังสืออนุญาตดังกล่าว ได้เข้าแจ้งความในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจสมาชิก อบต.เขาหลวง มิถุนายนที่ผ่านมา อัยการได้ร้องขอเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมในข้อหาร่วมกันชุมนุมสาธารณะกีดขวางทางเข้าออกและรบกวนการปฏิบัติงานในสถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ
นี่คือฉากเล็กๆ ในมหากาพย์การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านในจังหวัดเลยกับรัฐและทุน ที่ดำเนินมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2549
“ทั้งหมดที่ผ่านมาจำไม่ได้ว่าชาวบ้านถูกฟ้องกี่คดี ประมาณ 10-20 คดี” ระนองกล่าว “ฉันโดนสามคดี ตอนนี้กำลังสู้คดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ทางเหมืองเอาเรื่องเข้าสภา อบต. เราไปคัดค้านว่าไม่ให้ทำอีกต่อไป เราก็ไปคัดค้านในที่ประชุม ไปใช้สิทธิของเราว่าเราไม่อยากได้”
แม้ว่าเหมืองจะปิดมาห้าปีแล้ว แต่ก็มีความพยายามที่จะเอื้อประโยชน์ให้นายทุนจากภาครัฐผ่าน พรบ.แร่ ฉบับ คสช.
พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่นี้จะมีการทำ ‘แผนแม่บทการบริหารจัดการแร่’ ขึ้นมา โดยในแผนแม่บทได้กำหนดให้มี ‘พื้นที่ทำแร่’ หรือ Mining Zone ซึ่งมอบอำนาจให้ รมว.อุตสาหกรรม และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณาว่า หากพื้นที่ใดมีศักยภาพแร่สูงและมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจสูง แม้จะอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ก็สามารถยกเลิกพื้นที่อนุรักษ์ที่ประกาศไว้ได้
“รัฐก็เอื้อให้ทุนใหญ่ ถ้าอ่าน พ.ร.บ.แร่ ต่อจากนี้มันจะยากต่อการต่อสู้ รัฐมองไม่เห็นคุณค่าของที่ทำกินของชาวบ้าน รัฐพยายามจะให้เขาเข้ามาทำอีก พวกเราไม่ยอม ผลประโยชน์ตกที่ใคร ไม่ใช่ชาวบ้านแน่นอน ชาวบ้านมีแต่เสีย”
“เผิ่นสิมาซอมเบิ่งตลอด”
บุญช่วย โสสีทา
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาวอำเภอน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น
“แต่ก่อนที่ไม่มีรัฐประหาร เราทำอะไรก็ได้ ไปยื่นหนังสือ ไปชุมนุม สิทธิเสรีภาพของพลเมืองใช้ได้เต็มที่ แต่หลังปี 2557 ทำอะไรก็ไม่ได้ ไปชุมนุม หรือแม้แต่ประชุมกลุ่มอนุรักษ์ในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาสอดแนมตลอด ฝ่ายปกครองหรือผู้นำชุมชนจะรายงานความเคลื่อนไหวของชาวบ้านให้ฝ่ายความมั่นคงตลอด”
ห้วยเสือเต้น เป็นแหล่งน้ำสำคัญในอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น พื้นที่บริเวณห้วยเสือเต้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 มีมาตรการอนุรักษ์ โดยการประกาศให้พื้นที่ชุ่มน้ำโดยเฉพาะที่เป็นแหล่งน้ำจืดเป็นพื้นที่สีเขียว และมิให้ส่วนราชการเข้าไปใช้ประโยชน์ แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงข้าม
นอกจากนี้ อำเภอน้ำพองเป็นทำเลทองสำหรับการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ชุมชนจึงต่อสู้รักษาพื้นที่แหล่งอาหารทางธรรมชาติ ด้วยการศึกษาและวิจัย และช่องทางต่าง ๆ ที่พวกเขาพอจะทำได้
จากบทบาทดังกล่าว บุญช่วย โสสีทา กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาวอำเภอน้ำพอง จึงถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติหลายครั้ง แต่เขาไม่เคยไป บุญช่วยไม่ชอบดื่มกาแฟกับทหาร
“ผมเคยถูกเรียกไปปรับทัศนคติแต่ไม่ไป เขาก็มาหาที่บ้านเลย ชวนไปกินข้าว แต่ไม่ไป หลังจาก พ่อเด่น คำแหล้ ถูกอุ้มเดือนนึง ก็มีทหารโทรมาชวนไปกินข้าว จะมารับที่บ้าน แต่ไม่ไป ผมเรียกพี่น้องมาที่บ้าน ทหารจะเอารถตู้มารับ ก็คิดว่าเขาจะอุ้ม ก็เลยโทรเรียกพี่น้องเข้ามา พี่น้องเข้ามารุมด่าทหาร แล้วเขาก็ไป เขาวนเวียนมาเรื่อย ๆ เดือนละ 4-5 ครั้ง แล้วแต่เขา”
ปัญหาที่ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาวอำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ต่อสู้อยู่ตอนนี้ คือเรื่องผลกระทบจากโรงงานส่งผลต่อชาวบ้านรอบๆ และแหล่งน้ำสำคัญอย่างพื้นที่ชุ่มน้ำห้วยเสือเต้น น้ำเสียไหลลงน้ำพอง ส่งผลกระทบตลอดลำน้ำ มันเป็นน้ำสายเดียวกันที่จะไหลลงสู่ชีและมูลซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของอีสาน
ผลกระทบเกิดมาราวๆ 20 ปี ปัจจุบันยังไม่ได้รับการแก้ไข
“การต่อสู้ของชาวบ้านคือทำวิจัยด้านน้ำ ศึกษาคุณภาพและทรัพยากรทั้งในน้ำและบนบก รวมถึงทรัพยากรป่า ก็ทำกันอยู่ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น นักศึกษาดาวดินก็ลงไปช่วย เอ็นจีโอขอนแก่นก็ลงไปช่วย กลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่หลายกลุ่มร่วมกันทำ เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานของชุมชน เอาไปยันว่ามันมีผลกระทบจากสารเคมีของโรงงาน น้ำเสียของโรงงาน แต่ทางโรงงานก็ไม่ยอมรับ มีการวิจัยจากนักศึกษาต่างประเทศ เอาตัวอย่างดินและน้ำไปวิจัย ในน้ำมีสารตะกั่ว แคดเมียม ปูปลาก็มีสารปะปน ชาวบ้านเองก็ต้องใช้น้ำตลอด แต่เขาไม่ยอมรับ ชาวบ้านก็ทำวิจัยต่อเนื่องเพื่อหาข้อมูลที่ชัดเจน การศึกษาที่ทำมายังไม่ได้เปิดเผยทางการ นอกจากนี้เราก็เฝ้าระวังอุตสาหกรรมในพื้นที่ด้วย รัฐบาลจดจ้องพื้นที่น้ำพองมาทำอุตสาหกรรม แต่มันเหมาะทำเกษตรมากกว่า อำเภอน้ำพองเป็นพื้นที่ที่มีอุตสาหกรรมเยอะ ขอนแก่นติดอันดับ 1 ใน 5 จังหวัดที่มีปัญหามลพิษของประเทศ
“การขับเคลื่อนของพี่น้องทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทหารมาสอดแนมและคุกคามตลอด ส่วนใหญ่ก็มาถามที่บ้านตลอด ว่า พ่อจะเฮ็ดกิจกรรมอีหยัง นายกฯ จะมาในพื้นที่ เขาก็มาถาม บางทีเข้ามาถึงบ้าน บางทีก็มาห้ามไปนั่นมานี่ แต่ชาวบ้านไม่เคยฟัง”
“จั๊กเพิ่นสิซ่อยไผดอก”
ทองร้อย น้อยลา
กลุ่มรักษ์คอนสาร อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ
“อยู่ยากกินยาก บอกบ่ถูก อยู่ยากกินยาก บอกได้เท่านี้แหละ เราไม่มีอิสระที่จะทำอะไร พวกเราก็คิดกันว่า ถ้าชาวบ้านชุมนุมได้เหมือนเมื่อก่อน ถ้าเรารวบรวมพี่น้องได้ เราอาจจะเดินหน้าได้ดีกว่านี้ เพราะพลังของประชาชนต้องเป็นใหญ่กว่าทุกอย่างอยู่แล้ว แต่ความเป็นจริงในวันนี้คือเราไม่สามารถชุมนุมได้ เพราะเราจะมีความผิด ก็เคยชวนกันชุมนุมอยู่ ถ้าเขาจะมาจับก็ให้มาจับทั้งอำเภอคอนสารโลด แต่กลุ่มก็ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน พอมีงานประชุมอะไรเราก็มากันแบบนี้แหละ อีกความหวังหนึ่งก็คือกรรมการสิทธิมนุษยชนนี่แหละ เราก็ไปยื่นหนังสือ เคยยื่นกับหมอนิรันดร์ (พิทักษ์วัชระ) แต่คุณอังคณายังไม่เคยยื่น วันนี้ก็มายื่นหนังสือให้คุณอังคณา”
บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือขออนุญาตตั้งโรงงานประกอบกิจการบนเนื้อที่กว่า 282 ไร่ บริเวณบ้านหินรอยเมย หมู่ที่ 8 ตำบลดงบัง อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เพื่อก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก สำหรับดำเนินกิจการโรงงานผลิตยางพาราอัดแท่งรมควันขนาดใหญ่ กำลังการผลิตยางแท่งและยางผสมเดือนละ 12,000 ตัน กำลังการผลิต 18,000 แรงม้า พร้อมทั้งจะมีการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย บ่อน้ำ
ต่อมา องค์การบริหารส่วนตำบลดงบัง ได้แจ้งขออนุญาตจัดตั้งโรงงานประกอบกิจการ บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กับนายอำเภอคอนสารเพื่อให้พิจารณาการแจ้งการขออนุญาต และมีการประชาคมจัดตั้งกิจการโรงงานที่วัดหินรอยเมยในเดือนกรกฎาคม 2556 ในวันประชาคมดังกล่าว มีผู้เข้าร่วม 463 คน โดยมีองค์ประกอบดังนี้ ปลัดอำเภอคอนสาร เกษตรอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. 17 คน แปดหมู่บ้าน ชาวบ้าน ตำบลดงบัง แปดหมู่บ้าน และตัวแทนบริษัท เท่านั้น
ที่ประชุมมีมติเห็นชอบอนุญาตให้บริษัทศรีตรังเข้ามาประกอบกิจการ
ทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชน และกลุ่มพ่อค้าในท้องถิ่นร่วมกันจัดตั้งกลุ่มในนาม ‘กลุ่มรักษ์คอนสาร’ ขึ้นมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2556 โดยมีวัตถุประสงค์ในการคัดค้านโรงงานยางพารา เพื่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และร่วมกันตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว
ทองร้อย น้อยลา กลุ่มรักคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ บอกว่าเรื่องทั้งหมดเป็นไปอย่างเงียบเชียบและเร่งรัด ไม่มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชน
“เราก็ถามว่าทำไมไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เขาก็อ้างว่าเป็นโรงงานประเภท 3 ไม่ต้องทำ ไม่ต้องศึกษาผลกระทบ เพราะเป็นโรงงานที่แปรรูปผลผลิตจากการเกษตร เขาอ้างมา สุดท้ายเขาก็ได้ใบอนุญาต ตอนนี้ก็มีการเดินไฟฟ้าบริเวณที่จะสร้างโรงงาน ซึ่งงบประมาณนี้เขาก็ไม่ได้กล่าวชัดเจนว่ามาจากไหน แต่เรามองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้โรงงาน มีการขยายไหล่ถนนให้กว้างขึ้น ไม่มีการขึ้นป้ายหรือประกาศว่างบประมาณมาจากไหน จากที่เป็นป่าก็มีการปรับพื้นที่หมดแล้ว นี่คือสถานการณ์ล่าสุด
“ตอนนั้นทหารยังไม่ออกมายึดอำนาจ เฮาชุมนุมใหญ่อยู่ 3-4 ครั้ง ครั้งละพันสองพันคน ไปศาลากลาง 2,000 กว่า ตอนที่ยังชุมนุมได้ ชาวบ้านเขาไม่อยากได้โรงงานหรอก แต่จะให้มาต่อสู้ยืดเยื้อเขาก็ไม่สะดวก เขาต้องทำมาหากิน คนคอนสารก็รักสงบ จะให้เขาออกมาก็เป็นเรื่องยาก เราไม่อยากได้อีหลี เขาบอกว่าเป็นโรงงานประเภท 3 ไม่ต้องศึกษาผลกระทบ มันก็เป็นเรื่องที่เราหมดหนทางสู้ถ้าจะพูดกันแบบนี้ เราก็คัดค้านกันแบบนี้แหละ มีการประชุมที่ไหนเราก็ไป ไปยื่นหนังสือให้กรรมการสิทธิมนุษยชน ไปยื่นหลายที่ ศูนย์ดำรงธรรมก็ไป คสช. ลงมาเราก็ไป เขาก็ดี๊ดีดอก จะดูแลให้ จะช่วยเหลือ พอเราไปหาก็บอกว่า ลองศึกษาดูมั้ยว่าจะอยู่ร่วมกับโรงงานยังไง
“อีหยังวะ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่น่ะ เพิ่นสิช่วยใครกันแน่”