ห้องแกลเลอรี่สีทะมึนทึม ไฟสีส้มสลัว แสดงภาพผลงานจิตรกรรมที่สลัวไม่ต่างกับบรรยากาศในห้อง เมื่อเดินเข้าไปในห้องแสดง จะพบว่าภาพวาดเหล่านี้ดูจะสามารถแบ่งได้เป็นสามส่วน นั่นก็คือภาพทุ่งนาทุ่งไร่สองภาพแรกใกล้ทางเข้า กลางห้องเป็นภาพภายในหมู่บ้าน สนามเทนนิส แป้นบาสฯว่างเปล่า สระว่ายน้ำในเวลากลางคืนที่มีแสงเป็นเส้นวิ่งผ่ากลางภาพ และด้านในสุด คือภาพหญิงสาว 6 คนในชุดคนงานอันคุ้นตา 3 ภาพ ทั้งสามภาพมีบรรยากาศเหมือนคนเหล่านี้กำลังทำพิธีกรรมอะไรบางอย่างอยู่ นี่คือภาพโดยรวมของนิทรรศการ ‘Eternity Village’ โดย พชร ปิยะทรงสุทธิ์ ณ Artist+Run Gallery
หมู่บ้านในหมู่บ้าน
“ช่วงนึงเราเข้าๆ ออกๆ หมู่บ้านจัดสรรในกรุงเทพฯ เราเห็นความที่มันโดน ‘จัดสรร’ คือเป็นสถานที่ที่สะอาด ไม่มีใบไม้ร่วง ดูแล้วน่ามอง เราเห็นพวกคนงานมาทำความสะอาด เขาเข้ามาแล้วก็หายไปเหมือนเป็นผี เราเลยสงสัยว่าเขาพักอยู่ที่ไหนกัน” พชรเล่าถึงที่จุดเริ่มต้นของภาพชุดนี้
“ตอนแรกพอเราถามเขาก็ดูกลัวๆ แต่เขาก็บอกว่าอยู่ข้างๆ สนามเทนนิส เราเลยไปดูตึกข้างสนามเทนนิส เป็นออฟฟิศสองชั้นเหมือนบ้านใหญ่ๆ หลังนึง ซึ่งเป็นตึกนิติฯ เราเลยเข้าไปดู แต่ไม่เจอใคร มารู้ทีหลังว่านิติฯมันล่มสลายเพราะว่าลูกบ้านจ่ายค่าส่วนกลางไม่ครบกันเมื่อหลายปีมาแล้ว ทีนี้เราก็เข้าไปถามใหม่ ถึงได้รู้ว่า ‘ข้างๆ’ ของเขามันคือข้างหลัง Knockboard ซึ่งเป็นเนื้อที่แคบๆ ขนาด 23 ตารางวา อยู่กัน 6 ครอบครัว ประมาณยี่สิบกว่าคน ครอบครัวนึงก็ประมาณสามคน มีสามีภรรยา มีลูก อะไรพวกนี้ เป็นแคมป์ถาวรที่อยู่มายี่สิบกว่าปี”
“เขาทำงานมานานขนาดนั้นเลยเหรอ?” เราถามด้วยความสงสัย “ก็พอรุ่นแม่ตายเขาก็ส่งรุ่นลูกมารับช่วงต่อไปเรื่อยๆ ตอนเราไปก็มีคนเสียชีวิตในแคมป์นี้ ก็เขาไม่มีสวัสดิการ” พชรตอบ “ตอนที่เราเริ่มสนิทกับเขา คุยนั่นคุยนี่ได้ เราก็แกล้งถามไป “พี่ นี่ต้นไร นั่นต้นไร” ชี้ไปต้นนั้นต้นนี้ในสวน ปรากฏว่าเขารู้หมดเลย เขาโตมากับต้นไม้เหล่านี้ตลอดระยะเวลา 23 ปี ตอนที่เขาเข้ามาใหม่ๆ ต้นไม้พวกนี้ยังเป็นต้นเล็กๆ อยู่ การเติบโตของเขามันไปกับต้นไม้ แต่มันไม่สามารถไปได้สุด เพราะมันติดสายไฟ ต้องมีพวกเขาคอยตัดแต่งกิ่ง คอย ‘จัดสรร’ มันนี่ล่ะ” พชรเปรียบเทียบว่าสวนในหมู่บ้านจัดสรรที่นี่ให้ความรู้สึกเหมือนคนงานเหล่านี้เป็นเจ้าของสวนเอง ถึงแม้ที่อยู่อาศัยของพวกของเขาแท้จริงจะมีเนื้อที่เพียง 23 ตารางวา แอบซ่อนอยู่หลังกำแพงสนามเทนนิสในหมู่บ้านจัดสรรแห่งนี้อีกที
ลูกเทนนิส
“เวลาคนเล่นเทนนิส เขาจะตีตรงกำแพง knockboard ทำให้เสียงดัง คนที่เล่นอยู่ก็ไม่เคยรู้เลยว่าด้านหลังคือบ้านของคนงานที่อยู่มาตั้งนานแล้ว เขาก็ไม่รู้เลยเพราะกำแพงมันบังเอาไว้อยู่ แต่ความโชคดีคือ พอนิติฯ ล่ม ไฟก็โดนตัด เลยเล่นเทนนิสตอนกลางคืนไม่ได้ ถ้ามีนิติฯ อยู่ก็จะเล่นกลางคืนได้ ความโชคดีคือ อย่างน้อยก็ได้นอน” พชรเล่าถึงตลกร้ายของแคมป์คนงานนี้
หมู่บ้านที่พชรเลือกมาเป็นต้นแบบในการค้นคว้าก่อนจะสร้างเป็นผลงาน ก็เป็นหนึ่งในหมู่บ้านจัดสรรธรรมด๊าธรรมดา ไม่ต่างกับหมู่บ้านจัดสรรอื่นๆ ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง จุดสังเกตที่เรากับพชรเห็นตรงกันคือแพทเทิร์นของสถาปัตยกรรมที่เหมือนๆ กัน เหมือนจ้างผู้รับเหมาคนเดียวกัน เช่นเดียวกับคนที่มาดูงานหลายๆ คนที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “อาคารแบบนี้มันดูคุ้นมาก” เคยผ่านตาทุกครั้งไม่ว่าจะไปบ้านเพื่อน บ้านญาติ หรือตามบิลบอร์ดโฆษณา และหมู่บ้านเหล่านี้ก็มีปัญหาเดียวกันราวกับเป็นหนังที่เดาได้ คือนิติฯ ล่ม ไม่สามารถบริหารหมู่บ้านต่อไปได้ ทำให้ระบบที่คอยบริหารและดูแลสวัสดิการแก่คนงานเหล่านี้เหมือนหลุดออกไปจากสมการบ้านจัดสรร สิ่งที่คนงานคอยทำได้ ก็คือกวาดถนน ตัดแต่งกิ่งไม้ แต่น้ำในสระว่ายน้ำไม่สามารถไหลต่อได้แล้ว และไฟตอนกลางคืนก็แทบจะไม่มี เพราะไม่มีส่วนกลางมาคอยดูแล
“ปัญหาพวกนี้มันเป็นปัญหาของชนชั้นกลาง แต่มันกระทบเขาโดยตรง ถึงจะไม่ได้โดนจังๆ แต่มันก็ส่งผลกับชีวิตเขา ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เหมือนกับลูกเทนนิสที่ไปกระทบกำแพง ถึงจะไม่ได้โดนลูกเทนนิสเข้าตรงๆ แต่คนที่อยู่หลังกำแพงได้ยินทุกครั้ง” พชรเปรียบเทียบสถานการณ์โดยรวมกับบ้านหลัง Knockboard ของสนามเทนนิส
เสียงสะท้อน
หลังจากที่พชรทำงานชุดคนงานทั้งสามภาพ และสนิทชิดเชื้อกับพี่ๆ คนงานแล้ว เขาก็ตัดสินใจตามไปสำรวจบ้านเกิดของคนงานที่ใจดีมาเป็นแบบวาดรูปให้เขาที่กาฬสินธ์ุ หมู่บ้านที่ไม่น่าสนใจ ไม่มีประวัติอะไรเลย ไม่ได้ปรากฏในหน้าหนังสือประวัติศาสตร์ใดๆ ต่างจากงานชุดเก่าของเขาโดยสิ้นเชิงที่พชรได้ไปดูประตูแดงและหมู่บ้านคอมมิวนิสต์เมื่อปีก่อนนั้น ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคหนึ่ง
แต่หมู่บ้านที่ไม่มีอะไรเลย กลับเผยประวัติที่เชื่อมโยงกับครอบครัวคนงานเหล่านี้ไม่ต่างกับเสียงลูกเทนนิสที่กระทบกับกำแพงหลังสนามเทนนิส “เราพบว่ามันเชื่อมโยงกับหมู่บ้านมากเลย เราเจอเด็กตัวเล็กๆ กลางทุ่งนา เซเว่นยังไม่มีเลย แต่ใส่ชุดยูนิโคล ซาร่า แล้วก็ไปรู้มาว่ามันคือของที่คนในหมู่บ้านเขาบริจาคมาให้ หรือบ้านหลังหนึ่งที่ประกอบมาจากเศษไม้ที่มันไม่เหมือนกันเลย เขาก็ขนกลับมาสร้างเป็นบ้านอีกหลังนึงไปเลย” พชรเล่า
ทั้งที่เรื่องราวการไปกาฬสินธุ์ที่พชรเล่าให้ฟังมีเยอะมาก ทั้งความลำบาก ความเศร้า ความเหลื่อมล้ำที่เห็นได้ชัดจากทุกส่วน แต่กลับมีรูปที่ออกมาแสดงอยู่เพียง 2 รูป คือรูปอาทิตย์ตกดิน และรูปคนกลางทุ่ง ชื่อผลงานว่า ‘Moon Harvest’ พชรจึงอธิบายเหตุผลว่า “บางเรื่องเราเก็บไว้กับตัวเองดีกว่า ถ้าทำออกมามันอาจจะกลายเป็นการสร้างดราม่าจนเกินไป เลยออกมาเป็นสองรูปที่เห็นอยู่ด้านหน้า ซึ่งมันเป็นปลายทาง ที่นั่นมันไม่มีสิ่งบันเทิงอะไรเลย ยกเว้นการจ้องมองตอนพระอาทิตย์ตก การจ้องมองพระจันทร์ ดมกลิ่นหญ้า นั่นน่ะ บันเทิงที่สุดแล้ว ขนาดเซเว่นยังห่างไปเป็นสิบๆ กิโล ไฟฟ้ายังแทบจะไม่มี ในขณะที่ชนชั้นกลางก็จะบอกว่า นี่ล่ะ สิ่งที่ใฝ่ฝันยามแก่ แต่สำหรับเขา มันเลือกไม่ได้”
“ตอน Parasite ออกมา คิดยังไง” ฉันแกล้งถาม เพราะประเด็นใกล้เคียงกันมาก “ตอนหนังออกมาเราก็ไปดู… เอ้า ชิบหาย เหมือนของกูเลย!” พชรหัวเราะ ก่อนจะตอบว่า “แต่ประเด็นที่เราพูดมันใหญ่กว่านั้น มันใหญ่กว่าการหลบซ่อน มันมีเรื่องแสง เงา เราพูดถึงคนที่อยู่ตรงนั้น อันนั้นเป็นหนัง แต่นี่มันชีวิตจริงเลย”
ความจริงในชีวิตนั้น คืองานแรงงานที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มีแต่คนรุ่นเดียวกับแบบ 6 คนในภาพจิตรกรรมเท่านั้นที่ยังทำอยู่ พี่คนงานให้เหตุผลว่า เพราะคนรุ่นใหม่จากต่างจังหวัดเดี๋ยวนี้ทำงานในห้างหมดแล้ว แต่สุดท้ายจะทำที่ไหนก็ยังเป็นหนี้เหมือนเดิม “เป็นหนี้ในระบบเดิม ระบบที่เป็นนิรันดร์ แล้วมันไม่ต่างกับเราเลย เราเองก็ผ่อนนั่นผ่อนนี่ เป็นหนี้เหมือนกัน ระบบเดียวกัน เหมือนกับเราอยู่ภายใต้แสงแดดเดียวกัน แสงแดดที่มันแผดเผาเรา” พชรกล่าว
“ในภาพของพี่ ชุดที่เขาใส่เลยต้องปกป้องจากแสงแดด?” ฉันถาม “ใช่ เราชอบอย่างหนึ่งคือ พอเรามองมือเขา มันเป็นสีเดียวกันหมดเลย ทั้งที่เราไปดูรูปเก่าๆ บางคนก็ผิวขาวบ้าง แต่เรากลับเท่าเทียมกันเพราะแสงแดดมันเผาเรา”
แสงมืด
เมื่อดูรูปเซ็ตหมู่บ้านจัดสรร 3 รูปตรงกลางแกลเลอรี สิ่งที่สังเกตได้ชัดคือพระเอกของรูปไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นแสง แสงที่ส่องสว่างในตอนกลางคืน
“อันนั้นเป็นส่วนที่แสงมันสามารถลอดมาจากข้างหลังได้ เราตั้งชื่อให้ว่า ‘Lighthouse’ ที่แปลว่าประภาคาร เพราะมันเป็นอาคารที่ส่องแสงให้คนเห็น เพราะเวลาเราไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ เราจะไม่เห็นแสงอื่นๆ นอกจากแสงนั้นได้เพราะไฟมันโดนตัด” พชรชี้ไปที่รูปทางเข้าบ้านพักคนงานที่มีแสงลอดออกมา
“แสง ที่เป็นขีดๆ เส้นๆ พวกนี้มาจากไหน มันดูเหนือจริงมาก” ฉันชี้กลับไปที่รูปสระว่ายน้ำ “มันพัฒนามาจากแสงที่อยู่ตรง knockboard พวกนี้ ซึ่งเป็นเส้นที่โดนขีดกลางภาพตลอดภาพเลย เรารู้สึกว่ามันน่าสนใจสำหรับเรา เวลาเราพูดถึงเรื่องแสงและเงา เราจะรีเสิร์ชไปถึงงานเก่าๆ เช่น เรอเนสซองส์ บาโรค ซึ่งยุคนั้นเนี่ย แสงและเงามันเชื่อมโยงไปถึงอะไรหลายๆ อย่าง เช่นความเชื่อของพระเจ้า ความมืดอาจพูดถึงความชั่วร้าย แต่ในงานเราพยายามจะดึงบรรยากาศของยุคเก่า จำลองความศักดิ์สิทธิ์ของการเป็นมิวเซียม เป็นโบสถ์ แต่กับงานนี้เราเอามาตีความใหม่ มันไม่เกี่ยวกับศาสนาเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย แต่ก็ยังคงให้มีสัญญะบางส่วนอยู่ อย่างเสาไฟที่มีขีดกลาง หรือเส้นที่มันมีแนวนอนพาดอยู่ (ทำให้เหมือนไม้กางเขน) เราใช้ภาษาภาพในการเล่าเรื่องที่มันเป็นเลเยอร์อื่นๆ นอกเหนือจากที่เราต้องการจะนำเสนอมันตรงๆ” พชรตอบ
“คนในภาพของเราเป็นคนที่มักจะไม่ค่อยได้ยินเสียงเขา ถ้าไม่ได้เข้าไปคุยด้วยจริงๆ ในภาพก็จะเห็นแค่เขาใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ทำงาน ภาพลักษณ์นี้เป็นนิรันดร์ เขาใส่เสื้อสีขาวสะอาดปกปิดตัวเองจากแดด ในขณะที่สิ่งที่อยู่ข้างบนจริงๆ อาจจะไม่ใช่แดดแต่เป็นความมืดที่มันตกลงมา แบบที่เห็นในรูป”
“ภาพพี่มีความโกย่า” ฉันพูดกับศิลปินด้วยความรู้สึกแรกที่เห็นภาพออกมา เพราะนอกจากการเล่นแสงเงาแบบที่ Francisco Goya จิตรกรยุคศตวรรษที่ 19 ผู้โด่งดังด้วยผลงานชิ้น The Third of May แล้ว ภาพคนงานทั้งสามภาพทำให้ฉันนึกถึงภาพ Witches’ Flight ของโกย่าเป๊ะๆ ทั้งองค์ประกอบภาพ แสง และท่าทางราวกับกำลังทำพิธีกรรมของคนเหล่านี้ แต่เมื่อมองลึกลงไปถึงองค์ประกอบของภาพแล้ว กลับรู้สึกใกล้ตัวกว่าการมองภาพที่ถูกวาดขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วอย่างแน่นอน “แต่งานพี่ซีรีส์นี้มันร่วมสมัยขึ้นนะ” ฉันพูดเปรียบเทียบกับผลงานคครั้งก่อนของเขา ซึ่งพูดถึงประตูแดงและพื้นที่ตรงนั้นในยุคสมัยที่คนไทยยัง ‘สู้รบ’ กับคอมมิวนิสต์อยู่ แน่นอนว่าฉันยังไม่เกิดและพ่อแม่ฉันยังเป็นเด็ก
“เราพยายามให้งานของเรามีความเป็นยุคกลางหรือยุคมืด ความเป็นยุคเก่า แต่เราใช้ความร่วมสมัย ชีวิตร่วมสมัย สระน้ำ แป้นบาส สนามเทนนิส สวนสาธารณะ หรือแม้แต่ชุดของคนงานที่เอาผ้ามาทำเป็นที่คลุมกันแดด เหมือนเหล้าใหม่ในขวดเก่า มันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงถึงจะผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว” พชรตอบ
วกวนจนนิรันดร์
เมื่อดูงานชุด Eternity Village แล้ว ก็คิดได้ว่าหมู่บ้านแบบนี้ไม่ได้มีแค่หมู่บ้านเดียว แต่ไม่ว่าจะไปที่ไหน ก็จะมีบ้านพักคนงานที่อยู่ตรงนั้นมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ไซต์ก่อสร้าง โรงพยาบาล หรืออาคารต่างๆ แม้แต่แกลเลอรีที่ฉันทำงาน ก็มีบ้านพักของพี่แม่บ้านอยู่ติดกับป้อมยาม ซึ่งคนที่มาแกลเลอรีส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้หรอก
“พี่เล่นตลกกับคำว่า eternity คือเวลาพลบค่ำหรือเวลาที่ก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น มันเป็นเหมือนเวลาระหว่างจุดจบและจุดเริ่มต้น มันเป็นเวลาที่สั้นมาก แต่ในภาพพวกนี้ เหมือนกับว่ามันยืดออกไป” ฉันกล่าว
“eternity ของเราถูกแบ่งด้วยความคลุมเครือ อย่างแสงของท้องฟ้าอย่างนี้ หรือภาพกาฬสินธ์ุที่เราไปวาด ตรงกลางมันเหมือนพระอาทิตย์ แต่มันดูเหมือนมีใครเอาพระอาทิตย์ไปวางไว้ตรงนั้น หรือทุ่งนาที่มีลูกกลมๆ คล้ายพระจันทร์อยู่ พระอาทิตย์มันคือสิ่งที่บอกเวลา บอกความจริงในภาพ มันคือจุดเชื่อมโยงเล็กๆ น้อยๆ เราสะท้อนไปถึงอะไรที่มันใหญ่ไปกว่านั้นด้วยแสง เราจะมองเห็นอะไรได้ชัดเจนก็ต้องมีแสง แต่เมื่อมันคลุมเครือ เลยซ่อนอะไรลงไปภายใต้ภาพอีก”
สำหรับพชรแล้ว แสงอาจจะเป็นเส้นแบ่งของอะไรบางอย่าง ผลงานของพชรได้แบ่งดินกับท้องฟ้าอยู่ตลอด เช่นผลงานชิ้นสนามเทนนิส ที่มีเส้น Horizontal Line พาดผ่านภาพไป แต่การวาดท้องฟ้าให้เป็นดิน เหมือนดินบนพื้นฟุ้งลอยไปข้างบน เขียนทุ่งหญ้าที่ดูใกล้ๆ แล้วเหมือนแผลเป็น แต่เมื่อถอยออกมาจึงจะเห็นว่าเท็กซ์เจอร์นั้นกลับเป็นต้นไม้ใบหญ้า กลายเป็นการสร้างความหมายใหม่ในงานจิตรกรรม ที่ไปไกลกว่าสิ่งที่ตามองในมิติเดียว องค์ประกอบที่เป็นคู่ตรงข้ามอันขนานกัน เหมือนพื้นที่หลังกำแพงสองฝั่งในหมู่บ้านนิรันดร์