เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2023 ที่ประชุมสหภาพยุโรป (European Union: EU) พิจารณาว่าอาจต้องขยายเวลาควบคุมราคาก๊าซ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงฤดูหนาวที่ความต้องการใช้ก๊าซจะมีสูงมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ได้ประกาศควบคุมราคาก๊าซฉุกเฉินตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความยืดเยื้อของสงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมไปถึงกังวลว่าการก่อวินาศกรรมโจมตีท่อส่งก๊าซในทะเลบอลติกอาจส่งผลรุนแรงต่อราคาก๊าซ
คณะกรรมการยุโรป (European Commision) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เริ่มมาตรการควบคุมเพดานราคาก๊าซยังไม่พบผลกระทบในทางลบและปัจจุบันราคาก๊าซลดลงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับราคาก๊าซเมื่อ 1 ปีก่อน โดยข้อมูลดังกล่าวถูกส่งให้ตัวแทนทูต EU ทั้ง 27 รัฐ และผ่านการรับรู้จากสำนักข่าว The Financial Times
การพิจารณาต่อเวลากำหนดเพดานราคาก๊าซนั้นเกิดขึ้นมาหลายสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ประเทศเยอรมนีและออสเตรียแสดงความเห็นแย้งว่า อาจเป็นการบิดเบือนราคาสินค้าทั่วไปในตลาดและอาจซ้ำเติมการขาดแคลนเสบียงอีกด้วย
แม้ว่าทางคณะกรรมการยุโรปจะยืนยันว่าการกำหนดเพดานราคาดังกล่าวไม่ส่งผลต่อการนำเข้าพลังงานก๊าซธรรมชาติในยุโรป โดยตอนนี้ราคาก๊าซลดลงอย่างมาก รวมไปถึงปริมาณกักเก็บพลังงานก๊าซธรรมชาติในยุโรปก็มีอยู่สูง แต่จากเหตุความไม่สงบในตะวันออกกลางและการทำลายท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลบอลติกในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อาจทำให้โครงสร้างพื้นฐานของราคาก๊าซปรับเปลี่ยนไป
หนึ่งในตัวแทนทูตจากสหภาพยุโรปกล่าวยอมรับว่า “เราไม่อาจคาดคะเนผลของราคาก๊าซในปีนี้ได้ หลังเกิดเหตุความไม่สงบในตะวันออกกลางและมันคงจะดีถ้าเรามีมาตรการรับประกันคุ้มครองเอาไว้”
วิกฤตขาดแคลนพลังงานเริ่มรุนแรงขึ้นตั้งแต่เกิดเหตุสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในปี 2022 เป็นเหตุให้สมาชิกคณะกรรมการยุโรปตัดสินใจออกมาตรการควบคุมเพดานราคาก๊าซในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเทศออสเตรียเป็นหัวหอกในการเรียกร้องให้สหภาพยุโรปพิจารณาการใช้พลังงานทดแทน โดยตั้งเป้าในปี 2030 ว่าจะต้องมีพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ จากก่อนหน้านี้สหภาพยุโรปตั้งเป้าไว้ที่ 42.5 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ทางเยอรมนีและฝรั่งเศสเสนอให้รัฐบาลในยุโรปขยายมาตรการช่วยเหลือโดยรัฐ (State Aid Rules) ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อรองรับผู้ใช้พลังงานในประเทศของตนจากเหตุแห่งสงคราม แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธจากหลายประเทศ ทั้งเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก เอสโตเนีย และฟินแลนด์
ทั้งนี้ ทางรัฐบาลไทยยังไม่มีท่าทีใดๆ ต่อเรื่องนี้ว่าภาวะสงครามจะส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟในประเทศไทยหรือไม่ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานหามาตรการลดค่าไฟที่เพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง
อ้างอิง:
- EU considers price cap extension to avert winter gas crisis
- EU considers gas price cap extension to avert winter crisis, Financial Times reports | Reuters
- ภาคประชาชนเรียกร้อง รมว.พลังงาน แก้ปัญหาค่าไฟแพง ย้ำต้องปรับโครงสร้างราคาก๊าซ หยุดเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าใหม่ ก่อนเสียค่าโง่ FT