หลายชาติในยุโรปเริ่มกระสับกระส่ายจากการลุกฮือของกลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ หลังจากสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ฉนวนกาซาปะทุขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากกลุ่มผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ซึ่งเป็นชุมชนชาวมุสลิมมีปริมาณไม่น้อยในหลายพื้นที่ทั่วยุโรป เมื่อเกิดการรวมตัวขึ้นจึงทำให้รัฐบาลหลายชาติเริ่มออกมาตรการรับมือทันที
ฝรั่งเศสเริ่มสลายการชุมนุม
ตั้งแต่ช่วงวันที่ 7 ตุลาคม เป็นต้นมา เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ฉนวนกาซา จุดประกายการรวมตัวของกลุ่มผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องให้ปลดปล่อยปาเลสไตน์เป็นอิสระในหลายประเทศทั่วยุโรปและฝรั่งเศสก็เป็นหนึ่งในนั้น ต่อมาในวันที่ 12 ตุลาคม เจอราลด์ ดาร์มาแนง (Gerald Darmanin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของสาธารณรัฐฝรั่งเศสเปิดเผยว่า มีความกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมเหล่านี้ที่อาจกระทบกระเทือนความสงบเรียบร้อยของสาธารณะและสนับสนุนให้มีการจับกุมผู้ชุมนุมในครั้งนี้
วันเดียวกัน ตำรวจนครบาลในกรุงปารีสจับกุม 2 ผู้ชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์ ด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายระเบียบสาธารณะ ถึงอย่างไรการชุมนุมก็ยังเกิดขึ้นในหลายเมืองสำคัญ ทั้งเมืองลียง (Lyon) และมาร์กเซย์ (Marseille) โดยเจ้าหน้าที่เริ่มใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมแล้ว
สถานทูตไทยในฝรั่งเศสประกาศเฝ้าระวังก่อการร้าย
หลังเกิดเหตุคนร้ายใช้มีดทำร้ายร่างกายบุคลากรในโรงเรียนฝรั่งเศสที่เมืองอาร์ราส (Arras) เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย ทางการฝรั่งเศสจึงประกาศยกระดับการเฝ้าระวังการก่อการร้ายเป็นระดับสูงสุดในวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา อ้างเป็นผลกระทบจากเหตุสู้รบที่ฉนวนกาซา
วันต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสได้รับคำขู่วางระเบิดในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre Museum) ทำให้ต้องอพยพผู้คนด่วน แม้ภายหลังจะไม่พบระเบิดดังกล่าว เหตุเหล่านี้ทำให้ในวันที่ 15 ตุลาคม สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ต้องแจ้งเตือนชาวไทยในฝรั่งเศสให้เพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมชนและสถานที่สำคัญ ตรวจสอบเส้นทางเดินทาง ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2019-2020 มีสถิติพบว่า ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในฝรั่งเศสเป็นชาวมุสลิม และจากการศึกษาในปี 2017 พบว่า มีชาวฝรั่งเศสเพียง 39 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มองว่า ชุมชนชาวมุสลิมสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมของฝรั่งเศสได้ และหากย้อนดูตั้งแต่ปี 1989 ระบบยุติธรรมของฝรั่งเศสมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการแสดงออกเชิงศรัทธาในกลุ่มผู้นับถืออิสลามหลายข้อด้วยกัน นอกจากนั้นยังมีเคยมีผู้นำทางการเมืองในฝรั่งเศสที่กล่าวพาดพิงชุมชนมุสลิมเกี่ยวกับเหตุก่อการร้ายตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะตึงเครียดในกลุ่มชุมชนมุสลิมในประเทศฝรั่งเศส
สังคมอังกฤษเสียงแตก กรณีชูธงปาเลสไตน์
วันที่ 12 ตุลาคม ที่สหราชอาณาจักร รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ซูเอลลา เบรเวอร์แมน (Suella Braverman) ได้จุดประกายเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่าย ด้วยการออกมากล่าวว่า “การชูธงปาเลสไตน์หรือการเรียกร้องอิสรภาพให้ชาวปาเลสไตน์ อาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย เพราะถือว่าเชิดชูกลุ่มผู้ก่อการร้าย” และยังอาจผิดต่อระเบียบสาธารณะ มาตรา 5 มีโทษจำคุกสูงถึง 2 ปี ปรับ 2,500 ปอนด์ (กว่า 100,000 บาท)
ขณะที่งสังคมคนอังกฤษเริ่มเสียงแตก ส่วนหนึ่งเห็นด้วยกับเธอ แต่อีกส่วนหนึ่งมองว่า การชุมนุมถือเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออก และเกิดเสียงวิจารณ์ว่า คำพูดลักษณะนี้ของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยไม่ได้ทำให้การชุมนุมสงบลง แต่กลับยิ่งเพิ่มความตึงเครียดเข้าไปอีก ทั้งนี้ เฉพาะในลอนดอนมีประชากรมุสลิมมากถึง 1.3 ล้านคน และ 3.8 ล้านคนทั่วประเทศอังกฤษ
เยอรมนีสั่งยกเลิกกิจกรรมแรลลี่ที่เบอร์ลิน ผู้ชุมนุมถูกจับกุม
วันที่ 15 ตุลาคม กลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์กว่า 1,000 คน รวมตัวที่กรุงเบอร์ลิน บริเวณจัตุรัสโพตส์แดเมอร์ พลาตซ์ (Potsdamer Platz Square) เพื่อเดินขบวน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสั่งให้กลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัวเพื่อความสงบเรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม มีผู้เดินขบวนหลายคนถูกจับในที่สุด จากการขัดขืนคำสั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งไม่ต่างจากที่อังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้ประชาชนชาวเบอร์ลินตั้งคำถามถึงสิทธิและเสรีภาพของตน
เนเธอร์แลนด์เตรียมสกัดม็อบสนับสนุนฮามาส
วันที่ 13 ตุลาคม มาร์ก รูตต์ (Mark Rutte) นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ประกาศว่ารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ อาจเข้าไปแทรกแซงการชุมนุมกลุ่มผู้สนับสนุนฮามาส เนื่องจากกังวลต่อการแสดงออกในการต่อต้านชาวยิว (anti-semitic) นอกจากนี้ยังมองว่าการกระทำของฝั่งอิสราเอลควรคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และต่อสู้ด้วยความสมเหตุสมผล ได้สัดส่วนกับการรบ ไม่ควรปล่อยให้ผู้บริสุทธิ์ในกาซาขาดน้ำ ขาดอาหาร และขาดการเข้าถึงสาธารณสุข
จากการประกาศของนายกฯ เนเธอร์แลนด์ ทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวต้องย้ายจากบริเวณอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ไปยังพื้นที่อื่น เพื่อลดความกดดันทางการเมือง พร้อมกันนั้นกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมและสิทธิมนุษยชนทั่วยุโรปเริ่มออกมาประณามกลุ่มผู้นำหลายประเทศในยุโรปกับการกระทำเหล่านี้
จอร์แดนสั่งห้ามประท้วงบริเวณติดพรมแดนปาเลสไตน์
วันที่ 13 ตุลาคม มาซิน อัล-ฟาร์ราเยห์ (Mazin Al-Farrayeh) รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของจอร์แดน เตือนประชาชนและสั่งห้ามไม่ให้มีการชุมนุมบริเวณหุบเขาจอร์แดนและชายแดน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ติดกับพรมแดนปาเลสไตน์และอาจได้รับอันตรายได้ ซึ่งกองทัพทหารของจอร์แดนต้องรับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัยของประชาชน
อ้างอิง
- European countries restrict pro-Palestine rallies | Daily Sabah
- France bans all pro-Palestinian protests
- UK Palestine groups to defy Suella Braverman’s crackdown
- Berlin blocks pro-Palestinian rally
- October 14, 2023 Israel-Hamas war news
- Teacher killed and several people wounded in France school knife attack
- Royal Thai Embassy – Paris, France – สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส
- Religious Discrimination against Muslims in France – Ballard Brief