ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้งทั้งสิ้น 67 พรรค บรรยากาศการแข่งขันเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยมีอนาคตประเทศไทยในอีก 4 ปีข้างหน้าเป็นเดิมพัน
อีกด้านหนึ่งก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีกระบวนการหลายอย่างที่ชวนให้ประชาชนสับสนได้ ทั้งในเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ที่สร้างความงุนงงให้กับทั้งผู้สมัครหน้าเก่า หน้าใหม่ ไปจนถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อีกทั้งการที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต (สีม่วง) โดยไม่แสดงโลโก้พรรคหรือชื่อพรรคปรากฏให้เห็น ส่วนบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (สีเขียว) มีโลโก้พรรคพร้อมกับชื่อพรรคอย่างครบถ้วน รวมถึงหมายเลขของผู้สมัคร ส.ส.เขต กับหมายเลขพรรคที่ไม่ตรงกัน ก็อาจสร้างความ ‘อิหยังวะ’ ให้แก่ผู้หย่อนบัตรได้
ความสับสนอีกประการคือ ในบรรดาพรรคการเมืองมากมายที่เข้าร่วมแข่งขันในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ หากพิจารณาถึงโลโก้พรรค จะพบว่าหลายพรรคการเมืองมีการออกแบบโลโก้จนแลดูละม้ายคล้ายกัน ทั้งการเลือกใช้สี ลวดลายธงชาติ แผนที่ประเทศไทย กงล้อธรรมจักร ทรงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม และอีกสารพัดลวดลายสีสันตามไอเดียบรรเจิดของนักออกแบบแต่ละพรรค ดูเผินๆ แล้วชวนให้ตาลายจนผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งอาจเผลอกาผิดเบอร์ได้
WAY ชวนสำรวจโลโก้พรรคการเมืองหน้าคล้าย เพื่อให้ประชาชนคิด วิเคราะห์ แยกแยะได้ ก่อนจะเข้าคูหากาบัตรลงคะแนนเลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ ได้อย่างไม่ผิดฝาผิดช่อง
พรรคเปลี่ยน ได้ทำการเปลี่ยนโลโก้แล้ว หลังจากที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความคล้ายคลึงกับโลโก้พรรคก้าวไกล อย่างไรก็ตาม โลโก้ที่พรรคเปลี่ยนใช้ในการหาเสียง กับโลโก้ที่ปรากฏในฐานข้อมูลพรรคการเมืองของ กกต. กลับเป็นโลโก้คนละรูปแบบกัน
อนึ่ง หากพิจารณาอีกที ถึงแม้โลโก้ใหม่ของพรรคเปลี่ยนจะเปลี่ยนแล้ว แต่ดูไปดูมาก็อาจจะไปคล้ายโลโก้พรรครวมแผ่นดินอีกด้วย