รามคำแหง, กรุงเทพมหานคร
เด็กหญิงสวมชุดกระโปรงลายดอกไม้จ้องมองมาที่พวกคุณ ท่อนแขนบอบบางอุ้มถุงพลาสติกบรรจุขวดยาแก้อักเสบจำนวนกว่าหนึ่งร้อยขวด เด็กหญิงมีอาการทางเดินหายใจ เธอหายใจติดขัดตั้งแต่ยังเล็ก มีอาการหอบหืด เลือดกำเดามักไหลในวันที่ความกดอากาศต่ำ แม่ของเธอเก็บขวดยาเหล่านี้ไว้เหมือนหญิงสาวเก็บสะสมน้ำตาไว้ในขวดแก้ว เล่าขานในนิทานไม่มีอยู่จริง
เด็กหญิงคืออดีตกาลในภาพถ่ายขาวดำ ภาพถ่ายเล่าเรื่องราวความเจ็บป่วยจากอากาศรอบบ้าน หากโชคดีภาพถ่ายใบนี้จะเป็นบทเรียนสำหรับอนาคต
เริงฤทธิ์ และเริงชัย คงเมือง เป็นผู้ถ่ายภาพ เด็กหญิงฟ้า-วรรณา อินปัญโญ ภาพถ่ายฟ้าเป็น 1 ในหลายภาพถ่ายขาวดำบันทึกความเจ็บป่วยผู้คนในอำเภอแม่เมาะ จัดแสดงในนิทรรศการชุด Dark side of city: ด้านมืดของเมือง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ตอนนั้นฟ้าอายุ 10 ปี
ภาพถ่ายอีกใบบันทึกชั่วขณะของหญิงวัยกลางคน เธอไม่มองพวกคุณ ซ่อนความเจ็บปวดใต้เปลือกตา ฝ่ามือปิดอำพรางริมฝีปาก เหมือนคนร้องไห้ มืออีกข้างถือภาพถ่ายในกรอบรูปไม่วิจิตร ในนั้นคือภาพถ่ายของชายคนหนึ่ง เขาคือพ่อของเธอ
หญิงกลางคนผู้นี้ชื่อ ปราณี อินปัญโญ เธอเป็นแม่ของฟ้าผู้เก็บสะสมขวดยาแก้อักเสบของลูกสาวมากว่า 2 ปี เธอป็นลูกสาวของชายผู้วายชนม์ในภาพที่ถือ
พ่อของปราณีคือ 1 ใน 131 คนที่รวมตัวกันในนาม ‘กลุ่มสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ’ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง คดีหมายเลขแดงที่ อ.730-748/2557 ตั้งแต่ปี 2546 กระทั่งศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กฟผ.ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
แต่เขาเสียชีวิตไปก่อนที่ศาลปกครองเชียงใหม่จะอ่านคำพิพากษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2558
“มันเป็นภาพสะเทือนใจ” เริงฤทธิ์ คงเมือง หนึ่งในช่างภาพเจ้าของผลงาน ด้านมืดของเมือง บอกกล่าวระหว่างเรานั่งดูภาพถ่ายชุดนี้อีกครั้งในเดือนกรกฎาคมปี 2560 ที่กรุงเทพมหานคร
“เราอยู่เมืองใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯที่มักพูดกันว่าอากาศไม่ดี แต่อย่างน้อยเราสามารถสูดอากาศตรงไหนก็ได้ มันก็ยังมีให้สูดได้เต็มปอด ขณะที่บ้านนอกแทนที่อากาศจะดี แต่อากาศดีของเขากลับอยู่ในขวดอยู่ในถังอ๊อกซิเจน ก็รู้สึกค่อนข้างสะเทือนใจ คนที่นั่นไม่ได้มีสิทธิแบบคนกรุงเทพฯ”
ด้านมืดของเมือง เป็นส่วนขยายจากการตระเวนถ่ายภาพเหมืองถ่านหินทั่วประเทศของเริงฤทธิ์ เขาชักชวนเริงชัยกลับไปแม่เมาะอีกรอบ บันทึกภาพผู้คนที่มีใบรับรองแพทย์ว่าเจ็บป่วยจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และจำนวนหนึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีสาเหตุเดียวกันกว่า 300 คน ชาวแม่เมาะยืนต่อแถวยาวเพื่อเข้าไปยืนในเฟรมของช่างภาพ เบื้องหลังพวกเขาคือฉากผ้าหมองหม่น
“หดหู่” คือความรู้สึกของเริงฤทธิ์ในตอนที่ยืนอยู่หลังกล้องถ่ายภาพ “ตอนที่คนต่อแถวเยอะๆ มันหดหู่ด้วยจำนวนคนที่มาให้เราถ่ายภาพ ยิ่งไปรับรู้รายละเอียดลึกๆ อย่างกรณีน้องฟ้า รวมถึงครอบครัวอื่นๆ ไหนจะครอบครัวที่เราไม่ได้รับรู้เรื่องราวอีก เรื่องราวมันแย่มาก รู้สึกเศร้า”
คอมพิวเตอร์พกพาของเริงฤทธิ์แสดงภาพถ่ายผู้คนที่อำเภอแม่เมาะให้ผมชม เริงฤทธิ์และเริงชัยใช้เวลา 3 วันในการบันทึกภาพผู้คนที่แม่เมาะ แต่เป็น 3 วันที่ทั้งสอง “แสบตาแสบจมูกแสบคอ เราไปอยู่ 3 วัน แต่แสบไปหมด ไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร ตอนนั้นอยากออกจากพื้นที่ ก็เลยออกจากที่นั่นมา เราทำงานได้แค่ 3 วัน แล้วคิดดูว่าคนที่อยู่ที่นั่นทุกวัน ใช้อากาศที่นั่น เขาอยู่กันได้อย่างไร”
“ภาพไหนทำให้คุณสะเทือนใจ?”
เริงฤทธิ์เลือกภาพถ่ายหญิงชราคนหนึ่งนั่งหลังตรง สวมเครื่องช่วยหายใจ ถังอ๊อกซิเจนวางอยู่ริมขอบภาพ เขาพบเธอระหว่างลงพื้นที่ถ่ายภาพในอำเภอแม่เมาะ หญิงชรากำลังนั่งหอบที่บันไดบ้าน บ้านที่ห้อมล้อมด้วยต้นไม้ เขามองเห็นความขัดแย้งที่จะปรากฎในภาพ อากาศบริสุทธิ์กับถังอ๊อกซิเจน แต่ทำไมหญิงชราคนหนึ่งเหนื่อยหอบจนต้องหายใจผ่านอากาศในถังเหล็ก
“ภาพของฟ้าก็ด้วย” เริงฤทธิ์บอก เขาต้องการหยุดพวกคุณด้วยเรื่องราวในภาพถ่ายใบนี้ เด็กหญิงคนหนึ่งอุ้มถุงพลาสติกบรรจุขวดยาที่กินมาทั้งชีวิต หยุดพวกคุณและผม พวกเราอาศัยในเมืองที่ไม่ต้องตั้งคำถามหรือกังวลกับการหายใจ แต่บ้านของฟ้ากลับไม่ใช่เช่นนั้น
ภาพถ่ายขาวดำ 2 รูปนี้ นำทางผมไปพบกับเธอทั้งสองคน
คนหนึ่งอายุ 47 คนหนึ่งอายุ 13 ทั้งสองเป็นแม่ลูกกัน
หมู่บ้านสบจาง อำเภอแม่เมาะ, ลำปาง
รถสองแถวคันเดียวของหมู่บ้านสบจาง ตำบลนาสัก อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เดินทางออกจากหมู่บ้านตั้งแต่หกโมงเช้าเข้าเมืองลำปางทุกวัน จุดจอดปลายทางคือหน้าโรงพยาบาลจังหวัดลำปาง ก่อนจะตีรถรับชาวบ้านกลับในเวลาสิบเอ็ดนาฬิกาเข้าสู่หมู่บ้าน เป็นเช่นนี้ทุกวัน
คนเฒ่าคนแก่ไปโรงพยาบาล คนหนุ่มคนสาวไปเรียนหนังสือ
ผมโดยสารรถสองแถวคันนี้เข้ามาที่หมู่บ้านสบจาง ระหว่างรถสองแถวจอดพักรับสิ่งของที่ตลาดอำเภอแม่เมาะ ปราณี อินปัญโญ โทรเข้ามาเพื่อบอกว่า ตอนนี้เธอไม่อยู่บ้าน ให้เปิดประตูบ้านเข้าไปนั่งพักได้เลย
“ผมนั่งรอหน้าบ้านดีกว่าครับ”
“ไม่ๆ เข้าไปนั่งรอในบ้านเลย แต่ในบ้านจะมีรูปพ่อของฉันแขวนอยู่ ให้บอกแกนะว่ามาทำอะไร พูดเลย พูดบอกแกเลย”
พ่อของปราณีเสียชีวิตแล้ว เธออยากให้ผมกล่าวสวัสดีและแจ้งประสงค์ในการมาบ้านของเขา
‘แม่เมาะ’ กล่าวต้อนรับผมเช่นนี้
ไม่มีใครอยู่บ้าน ผมเลือกนั่งรอใต้ถุนบ้านแทนก้าวล่วงเข้าไปในบ้านที่เจ้าของไม่อยู่ ที่นี่เลี้ยงไก่ อุปกรณ์การเกษตรแขวนเรียงเต็มเพดานใต้ถุน
ราวบ่ายสี่โมง ประดิษฐ์ อินปัญโญ สามีของปราณีขี่มอเตอร์ไซค์กลับมาบ้าน เขาทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในเหมืองถ่านหิน แหล่งวัตถุดิบป้อนโรงผลิตไฟฟ้า ภรรยาต่อต้านโรงไฟฟ้า แต่สามีทำงานที่เหมือง ชีวิตก็เป็นเช่นนี้ ไม่นานหลังสามีกลับบ้าน ปราณีขี่มอเตอร์ไซค์เข้ามาจอดข้างรถของสามี เธอเพิ่งกลับจากนา
ภาพถ่ายในกรอบรูปหลายใบแขวนบนผนังบ้านไม้หลังนี้ ชายหนุ่มดวงตาแข็งกร้าวคือพ่อของเธอ เป็นภาพเดียวกับที่ปราณีประคองกอดไว้ในภาพถ่ายขาวดำของเริงฤทธิ์และเริงชัย
ผมปรารถนาจะเล่าเรื่องราวครอบครัวของคุณ เรื่องราวหลังจากคุณจากไปแล้ว
แม่ของปราณีในวัยสาวอยู่ในภาพถ่ายสีซีด เธอหอบช่อดอกไม้แนบอก ดวงตายิ้ม ผินหน้า 45 องศากับกล้อง ใต้ภาพระบุชื่อห้องภาพ ภาพนิมิตร ภาพถ่ายปราณีอยู่ในกรอบวิจิตรสีทอง เธอยังอยู่ในวัยสาว ดวงตาแตกต่างจากปราณีในปัจจุบันสิ้นเชิง ดวงตาในวัยสาวมุ่งมั่นมากกว่าอ่อนแรง ภาพถ่ายเด็กหญิงฟ้าอยู่ในกรอบลวดลายเดียวกับผู้เป็นแม่ ภาพนี้น่าจะถ่ายตอนเธออายุประมาณ 5 ขวบ ผมหน้าม้าเต่อ แววตาตระหนกกล้อง
สมาชิกในครอบครัวนี้มีทั้งหมด 5 คน แต่มีเพียง 3 ชีวิตที่อยู่บ้านหลังนี้ แม่ สามี และปราณี ลูกสาว 2 คนย้ายไปอยู่ที่อื่น ลูกสาวคนโตชื่อน้ำฝน กำลังฝึกงานที่เชียงใหม่ เธอกำลังจะจบปริญญาตรี ส่วนฟ้าย้ายไปเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่จังหวัดกาญจนบุรี
เธอเต็มใจและโล่งใจที่ลูกสาว 2 คน ไปอยู่ที่อื่น
“โล่งอกแล้ว รู้อยู่แล้วว่าฟ้าต้องหาย เพราะพี่สาวของฟ้าก็หาย ตอนเล็กๆ เจ้าน้ำฝนเป็นหนักกว่าฟ้าอีก ตอนนี้น้ำฝนออกไปเรียนมหาวิทยาลัยได้ 3-4 ปีแล้ว น้ำฝนบอกแม่ว่า หนูไม่ได้เป็นอะไรเลย ทั้งที่อยู่บ้านก็ป่วย ทั้งพี่ทั้งน้อง” ปราณีเล่า
ฟ้าย้ายออกจากพื้นที่ราวเดือนพฤษภาคม หลังจากเริงฤทธิ์และเริงชัยเข้ามาถ่ายภาพชุด ด้านมืดของเมือง ปราณีโทรขอความช่วยเหลือช่างภาพเรื่องย้ายลูกสาวออกจากพื้นที่
ปราณีเหมือนเรือเคว้งในคลองข้างบ้านตัวเอง ใกล้ฝั่งไหนเธอคว้าฉวยไว้หมด เธอต้องการอพยพไปจากบ้านของตัวเอง
“ตอนแรกผมนึกถึงที่ดินของตัวเองที่จังหวัดเลย คิดว่าอาจจะให้ฟ้ากับแม่ไปอยู่ที่นั่น แต่พอคิดอย่างละเอียด มันอาจจะไม่สะดวกกับผู้หญิงสองคน ทั้งความปลอดภัยและความสะดวกสบายหลายๆ อย่าง” เริงฤทธิ์เล่าให้ผมฟังที่กรุงเทพมหานคร
“ผมเป็นฟรีแลนช์ มันไม่ชัดเจนเรื่องต้นสังกัด แต่สิ่งที่ชัดเจนคือเราเป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนกัน อะไรที่หาทางช่วยเขาได้ เราก็พยายามจะช่วย ให้เขาสบายใจ ถ้าเรามีเครือข่ายก็จะบอกต่อให้เขาได้รับสิ่งที่ดีที่สุด”
เริงฤทธิ์เล่าเรื่องราวของปราณีและครอบครัวให้ จรวยพร จึงเสถียรทรัพย์ ฟัง เธอจึงดำเนินการช่วยเหลือและแนะนำจนฟ้าได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสัมมาสิกขาปฐมอโศก ทดลองย้ายชีวิตไปสู่อากาศใหม่ๆ
“ตอนนี้ไม่ต้องกินยาอีกเลย” ปราณีบอกพลางเดินไปหยิบใบรับรองการตรวจร่างกายของแพทย์ ระบุว่า เด็กหญิงวรรณา อินปัญโญ มีอาการทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบเรื้อรัง ภาวะเรื้อรังจากการสัมผัสมลพิษในอากาศต่ำๆ เป็นเวลานาน (ภาวะเรื้อรังจากมลพิษ) ใบรับรองการตรวจร่างกายของแพทย์ฉบับนี้ ลงวันที่ 17 มกราคม 2555
“คุณหมอแนะนำตั้งแต่ปี 2555 แล้ว บอกว่า เอาลูกออกพื้นที่เลย ไม่งั้นลูกไม่หายหรอก เราไม่มีปัญญา น้องฟ้าออกจากพื้นที่ช่วงปลายปี 59-60 ก่อนหน้านี้ก็กินยาต่อเนื่องมา 4 ปี ตั้งแต่ออกไปจากที่นี่ ก็ไม่ได้กินยาเลยนะ”
เธอต้องการอพยพออกจากพื้นที่ เรียกร้องผ่านสื่อมวลชนหลายครั้ง ส่งเสียงทุกเวทีการประชาพิจารณ์ เธอเหมือนแกะดำในหมู่บ้าน เสียงส่วนใหญ่ไม่ต้องการย้าย ปราณีจึงลงชื่อกับราษฎรที่ประสงค์จะอพยพในนามหมู่บ้านแม่จาง รวบรวมรายชื่อราษฎรที่ประสงค์จะย้ายออกจากพื้นที่ให้ทาง กฟผ. แต่ปรารถนาของเธอยังไม่เป็นจริง
“ตอนนี้คุณต้องการอะไร”
“ให้ กฟผ.ช่วยย้ายเรา ฉันเป็นคนหาเช้ากินค่ำ จะเอาปัญญาที่ไหนย้าย ลำพังจะกินยังไม่มีเลย เงินเดือนจะกินก็ไม่มีสักบาท เวลาพืชผลเสียหาย กฟผ.ก็ไม่เคยชดใช้ เราต้องการย้ายออกจากพื้นที่ ให้ กฟผ. เป็นคนย้าย”
พ่อตาย ลูกป่วย และผู้ใหญ่บ้านเคยพยายามขับไล่เธอออกจากหมู่บ้าน
เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อปี 2556 สื่อมวลชนจากส่วนกลางลงพื้นที่รายงานข่าวปัญหามลพิษที่แม่เมาะ สื่อมวลชนมาสัมภาษณ์เธอ ปราณีบอกเล่าความเจ็บป่วยของลูกสาว คนดูทั้งประเทศ น้ำเสียงเธอเผยแพร่ไปทั่วประเทศ
“ผู้ใหญ่บ้านเรียกลูกบ้านประชุม เหตุจากสถานีโทรทัศน์มาถ่ายทำมาหมู่บ้านเรา เขาก็ประกาศว่าจะประชาคมไล่ฉันออกจากหมู่บ้าน ผู้ใหญ่พูดว่า สถานีโทรทัศน์ทำให้หมู่บ้านเสียหาย ยังบอกอีกว่า ถ้านักข่าวเข้ามาอีก ให้ไล่นักข่าวออกไปเลย ไม่มีสิทธิ์เข้ามาในหมู่บ้านเรา ผู้ใหญ่บอกว่า ที่จริงเราชาวบ้านไม่ได้ป่วยนะ มันบอกว่าลูกบ้านมันไม่ได้ป่วย คิดดูสิ”
เหตุการณ์ในการประชุมทั้งหมด ปราณีแอบให้เพื่อนบันทึกภาพวีดิโอไว้ และส่งกลับไปยังสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง
“กฟผ.เคยขู่ว่า ถ้าคนไหนลุกขึ้นสู้ เวลาลูกสอบติดหรือสมัครไฟฟ้า เขาจะไม่ให้ลูกทำงานเลย ชาวบ้านก็ไม่ยอมเข้าชื่อกันเลย ทั้งที่ลูกมันก็ป่วย”
“อายุ 47 แล้ว คุณไม่กลัวการเริ่มต้นชีวิตใหม่เหรอ”
“ไม่ยากเลย ขอแค่มีที่อยู่เถอะ เราก็มีแรงทำงานไม่ใช่เหรอ จะต้องการอะไร ย้ายบ้านเราไปสิ ฉันชอบขายของนะ อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้หมดแหละ ทำงานทุกอย่างนั้นแหละ มีนาเขาอยู่ตรงนั้นเราก็รับจ้างทำก็ได้ ฉันทำได้ทุกอย่างขอแค่ไม่เจ็บป่วยก็พอ”
เธอจึงลงชื่อกับราษฎรหมู่บ้านแม่จาง เพราะเธอคือเสียงส่วนน้อยในหมู่บ้านตัวเองที่ต้องการอพยพออกจากพื้นที่
“คุณเห็นด้วยกับสิ่งที่ปราณีทำมั้ย” ผมถามประดิษฐ์ สามีของเธอ
“ต่อต้านไปก็ไม่ได้ผล” ประดิษฐ์บอก “เพราะผู้นำชุมชนเขาไม่เห็นด้วยกับความคิดแบบปราณี ผู้ใหญ่บ้านบางทีก็ไปเที่ยวไปต่างประเทศ เขาจัดงบฯพาไปอบรม เรียกผู้ใหญ่บ้านไปประชุมบ้าง ใส่ซองให้เงิน เราก็สู้เขาไม่ได้ ก็อยู่ไปแบบนี้แหละ”
“รู้แล้ว มันต่อต้านไม่ได้ยังไงก็ย้ายเราซะ มันมีไม่กี่คนหรอก คนที่อยู่ได้ก็ให้เขาอยู่” ปราณีบอก
ทุ่งนาแรงรัก สัมมาสิกขาปฐมอโศก, อำเภอท่าม่วง, กาญจนบุรี
ทุ่งนาแรงรัก ซ่อนตัวเองอยู่ในหมู่บ้านหนองตะโก จากโรงพยาบาลท่าม่วง เราต้องผ่านเขื่อนแม่กลองและโรงไฟฟ้าพลังน้ำแม่กลอง ผมนึกถึงฟ้า ตอนที่ฟ้าเข้ามาที่นี่ เธอจะคิดถึงบ้านที่แม่เมาะมั้ย
ฟ้าและเพื่อนๆ กำลังเรียนวิชาคอมพิวเตอร์และวิเคราะห์วิดีโอ นักบวชจะเปิดคลิปให้ดู เป็นคลิปธรรมชาติของสัตว์ แล้วให้นักเรียนออกมาพูดในสิ่งที่เห็น
นอกจากวิชาการแล้ว ที่สัมมาสิกขาปฐมอโศก จะให้นักเรียนลงภาคปฏิบัติ ปลูกข้าวทำนา ฝึกทักษะด้านเกษตรกรรม ฟ้าดูคล่องกว่าเด็กคนอื่น ทั้งๆ ที่ปราณีไม่เคยให้ลูกสาวช่วยทำนา เหมือนชาวนาในประเทศนี้ พวกเขาไม่อยากให้ลูกลำบากเหมือนตัวเอง
ฟ้าและเพื่อนถอนกล้าไปดำนา ปักดำเป็นแถวเป็นแนว
เธอตัดผมสั้นต่างจากเด็กหญิงฟ้าในภาพถ่ายขาวดำ ภาพใบนั้นฟ้าผอม ผมยาว แบกความเจ็บไข้ของตน ดวงตาระทมไม่เหมือนดวงตาเด็กที่ควรจะเป็น ถ้าจะมีช่างภาพถ่ายภาพเธอตอนนี้ มันควรเป็นภาพสี เธอคุยกับเพื่อน ร่าเริง
นักเรียนที่สัมมาสิกขาปฐมอโศกมาจากหลายจังหวัด เช่น เล็กมาจากปทุมธานี, มาวินมาจากนครศรีธรรมราช, หมวยมาจากเชียงใหม่, ใบตองมาจากจันทรบุรี, หมอกมาจากเชียงราย, เทอร์โบมาจากพะเยา ฯลฯ
ฟ้าตัดผมสั้นเหมือนเพื่อนหญิงทุกคน สวมเสื้อสีฮ้อมเหมือนเพื่อนทุกคน เรียนเหมือนเพื่อนทุกคน ทำนาเหมือนเพื่อนทุกคน เข้านอนเหมือนเพื่อนทุกคน ตื่นพร้อมเพื่อนทุกคน กินเหมือนเพื่อน แต่มีบางอย่างที่ฟ้าแตกต่างจากเพื่อนคนอื่น
ราวตีห้า ใครคนใดคนหนึ่งในที่พักฝ่ายชายปลุกให้ทุกคนตื่น แต่ละคนออกจากมุ้งและเต๊นท์ที่กางบนอาคารไม้ ใครคนหนึ่งนำเสียง “เตรียมรวมครับ” เพื่อนคนอื่นก็เอ่ยตามประหนึ่งคณะประสานเสียงโมโนโทน พวกเขาเดินลงบันไดเรียงหนึ่งพลางเอ่ย “เตรียมรวมครับ”
ที่นี่ ชีวิตคือส่วนรวม
เวลาพวกเขาเจอกันจะกล่าวทักทายว่า “เจริญธรรม” และยกมือสวัสดี
เจ็ดนาฬิกา หลังเคารพธงชาติและสวดมนต์ พวกเขาถอนกล้าในแปลง ใส่กาละมัง เข็นรถมาลงกล้าในนา แปลงคือการบ่มเพาะ แต่ผืนนาคือสนามจริงที่ชีวิตจะเติบโต
รุ่นพี่จะขับรถไถ ไถนาในแปลงใกล้ภูเขา ส่วนนักเรียนที่เหลือเรียงแถวหน้ากระดานเป็นแถวเป็นแนว ปักต้นกล้าลงนา
หมอก เด็กหญิงจากเชียงราย กระซิบขอเพลงจาก มดตะนอย เด็กหญิงจากอุบลราชธานี “ต้องร้องนะแก เพราะต้นกล้าจะได้โตจะได้สวย”
“แกร้องเพลงนี้ได้มั้ย ฉันอยากปักต้นกล้าใกล้ๆ แก จะได้ฟังเพลง ฉันไม่ได้ฟังเพลงนานแล้ว”
มดตะนอยคือเด็กหญิงร้องเพลงไพเราะ และเด็กหญิงหมอกชอบฟังเพลง
ป้าเกื้อ คอยปักหลักเชือกเพื่อกำหนดแนวกล้าให้ตรงกัน การดำนาเป็นไปแบบต้องคอยกำชับ กาย,ตะวัน, ฟ้า, หมอก, ใบตอง และใครอีกหลายคน ป้าเกื้อต้องคอยเรียกชื่อพวกเขาพร้อมคำสั่งกำกับให้งานเดินหน้าอย่างประสิทธิภาพ เหมือนจับปูใส่กระด้ง
“ตอง ทำไมเธอช้ากว่าคนอื่น” ป้าเกื้อตำหนิใบตอง เด็กหญิงจากจันทบุรี
“พี่ตองหน้ากว้างกว่าคนอื่นค่ะ” คือเสียงกล้าหาญปกป้องพี่สาวของฟ้า
พวกเขาต้องดำนาให้เสร็จก่อนวันแม่ เพื่อจะได้กลับบ้าน ปิดเทอม
เด็กเหล่านี้มาจากเมืองต่างๆ พวกเขามาอยู่รวมกัน หอบเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาแลกกับเพื่อน ระหว่างดำนา พวกเขาพูดคุยกันจิปาถะ เพลง สถานที่ท่องเที่ยว และโรคสังคัง โดยเฉพาะเด็กชายมารวย
บางบทสนทนา พวกเขาคุยกันเรื่องที่ดิน คุยกันเรื่องชีวิตคือลำพัง แล้วเพื่อนก็โห่ฮา พวกเขาไม่ไร้เดียงสา เต้บอกว่า ครอบครัวไม่ค่อยรักกัน และเขาก็ติดเกมส์หนักมาก ป้าจึงอยากให้มาเรียนที่นี่ ที่นี่ทำให้เขาเปลี่ยนไป จากที่กวาดบ้านไม่เป็น ตอนนี้เขาพอจะซ่อมเครื่องตัดหญ้าและขับรถไถได้
ที่นี่เรียน 3 ภาค ปิดภาคละ 15 วัน
“อาการของหนูเริ่มดีขึ้นตั้งแต่ตอนที่เข้าคัดสมัครเป็นนักเรียนที่นี่แล้วค่ะ รู้สึกว่าไม่เป็นเลย อยู่ที่บ้าน บางวันจะเจ็บคอ กลืนน้ำลายยาก หายใจไม่ค่อยออก แต่พอมาอยู่ที่นี่ อาการแบบนั้นไม่มีเลยค่ะ แม้จะตากแดด ทำนา เปียกฝนยังไงมันก็ไม่เป็น จะเจ็บคอบ้าง แต่ก็เพราะตะโกนกับเพื่อนมากกว่า” ฟ้าบอก
“ตอนแม่จะส่งมานี้ที่นี่ ฟ้าอยากมามั้ย?”
“อยากมาค่ะ เพราะทำให้หนูเรียนรู้อะไรมากขึ้น ถ้าหนูเรียนอยู่โรงเรียนแบบเดิม มันไม่ได้รู้อะไรมากขึ้น ตัวหนูเองก็จะไม่ได้ลดกิเลศด้วย”
“ไม่คิดถึงแม่เหรอ?”
“ไม่ค่ะ เพราะถ้าเกิดวันหนึ่งแม่จากหนูไป แล้วหนูจะทำใจได้มั้ย ถ้าถึงตอนนั้นอาจจะทำใจยาก แต่ถ้าทำใจตั้งแต่ตอนนี้ จะทำให้ง่ายขึ้น”
“ฟ้ารู้ใช่มั้ยว่าแม่กำลังต่อสู้ แม่อยากย้ายไปอยู่ที่อื่น เลยส่งฟ้ามาอยู่ที่นี่ก่อน?”
“รับรู้ค่ะ แม่ก็ยอมสู้ถึงไม่รู้ว่าภายภาคหน้าจะเป็นยังไง แต่เรื่องแบบนี้มันคงจะเป็นเวรเป็นกรรมมาแต่ชาติปางก่อน ที่ ในชาตินี้เราก็ควรทำดีที่สุดค่ะ”
หลังดำนาเสร็จ เด็กๆ ลงไปเล่นน้ำ ล้างเนื้อตัวที่บ่อน้ำใกล้นา อาบน้ำแล้วมารวมกันกินข้าว ช่วงค่ำเปิดประชุมนักเรียน นักเรียนตั้งแต่ ม.1-5 นั่งล้อมวงบริเวณศาลา นักบวชเป็นผู้คัดท้ายการประชุมของเด็กๆ และเป็นดั่งคุรุคอยชี้แนะ
เริ่มตั้งแต่ไล่เรียงถึงข้อร้องเรียนของการประชุมหนก่อน เช่น นายคมใช้แชมพูเพื่อน ไม้แขวนเสื้อของหมอกหาย ฯลฯ มันคือการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกัน ยอมรับข้อเสียตนเพื่อปรับปรุง
หัวข้อถัดไปคือข้อเรียกร้องใหม่ประจำสัปดาห์ เด็กหญิงใบตองผู้คุมการประชุมเปิดเวทีให้น้องๆ เสนอข้อเรียกร้อง เมื่อไม่มีใครยกมือ แขนที่เคยอุ้มถุงพลาสติกบรรจุขวดยาของฟ้าในภาพถ่ายขาวดำของเริงฤทธิ์ ก็ยกขึ้น
“เจ้าประจำ” นักเรียนชายบางคนเอ่ย
“ศีลข้อสามนะคะ” ฟ้าเกริ่น “อยากให้เลิกเรื่องพ่อสื่อแม่ชัก เลิกเถอะนะค่ะพวกผู้ชาย”
ปราณีหัวเราะพออกพอใจในความกล้าหาญของลูกสาว “ดูฟ้าพูดเข้าสิ พ่อสื่อแม่ชัก” ดูลูกสาวไปก็ยิ้มไป ผมบันทึกวีดิโอตอนฟ้าเสนอข้อคิดเห็นที่โรงเรียน หอบมาให้เธอดูที่บ้านที่แม่เมาะ
ปราณีนั่งบนเก้าอี้โยก ดวงตาจดจ้องภาพเคลื่อนไหว ลูกสาวเธออยู่ในนั้น ใกล้แต่ไกล เหมือนไกลแต่ใกล้
ปราณีนั่งบนเก้าอี้โยก เธอได้ดูข่าวการต่อต้านถ่านหินของกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เมื่อต้นปี 2560 หยิบโทรศัพท์มือถือโทรหาเริงฤทธิ์ “รู้จักเบอร์โทรแกนนำมั้ย”
ปราณีโทรหาแกนนำกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ส่งข้อมูล เรื่องราว และภาพถ่ายลูกสาวของเธอ ปราณีส่งภาพถ่ายของฟ้าตอนที่เด็กหญิงป่วย เลือดกำเดาไหล
“ไม่อยากให้เขาเป็นเหมือนเรา ให้เขาดู เขาเคยสัมผัสที่ไหน โรงไฟฟ้าไม่เคยขึ้นไม่ใช่เหรอ ที่กระบี่ ฉันบอกคุณประสิทธิชัยให้ชาวบ้านดูน้องฟ้า ต้องกินยาแบบนี้ ไม่ต้องปิดบัง ให้คุณประสิทธิชัยเปิดเผยเรื่องราวให้ชาวบ้านที่นั่นดู”
แม่เมาะ กระบี่ และเทพา ใกล้แต่ไกล เหมือนไกลแต่ใกล้.