ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแส #ก้าวไกลNOโหวตเพื่อไทย ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ (เอ็กซ์) จากความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยร่วมกับ 6 พรรคเล็ก รวมถึงกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงท่าทีในการขอเสียงสนับสนุนจากพรรคก้าวไกลในการโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย จนทำให้ สส. ก้าวไกลหลายคน ออกมาประเมินเสียงจากโหวตเตอร์ในเขตเลือกตั้งของตนเอง เช่น นางสาวพุธิตา ชัยอนันต์ สส. เชียงใหม่ เขต 4 ที่เปิดโพลบนโซเชียลมีเดียของตนเอง ส่วนนายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส. เชียงใหม่ เขต 3 ก็เปิดโพลบนโซเชียลมีเดีย พบว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ไม่สนับสนุนการโหวตเห็นชอบนายเศรษฐา ทวีสิน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30
จากประเด็นข้างต้นนำมาสู่การถกเถียงบนทวิตเตอร์ระหว่างชาว ‘ด้อมส้ม’ และ ‘นางแบก’ ว่า การซาวด์เสียงของ สส. ก้าวไกล ต่อโหวตเตอร์ของตนเองนั้น กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคเพื่อไทยมองว่าเป็น ประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) เหมือนแบบยุคกรีก แต่รูปแบบและกลไกของประชาธิปไตยที่เราใช้กันอยู่นั้นคือ ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) หรือเรียกอย่างหนึ่งว่า ประชาธิปไตยทางอ้อม (Indirect Democracy) ซึ่งก็ถือว่าประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองเช่นกัน
ขณะที่โหวตเตอร์ก้าวไกลมองว่า การทำโพลจากโหวตเตอร์ในเขตเลือกตั้งของตนเอง เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมือง (Political Pariticipation) ที่ยึดโยง สส. กับประชาชน ไม่ใช่การเข้าคูหากาแล้วจบ แต่ต้องเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเข้ามาด้วย หรือที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) อย่างไรก็ตาม การดีเบตในประเด็นรูปแบบของประชาธิปไตยนี้มีความน่าสนใจไม่น้อยว่า แต่ละรูปแบบนั้นเป็นอย่างไร
ประชาธิปไตยทางตรง VS ประชาธิปไตยทางอ้อม
ประชาธิปไตยทางตรง หรือประชาธิปไตยบริสุทธิ์ (Pure Democracy) ที่พลเมืองทุกคนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ มีที่มาจากรูปแบบประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ (Athenian Democracy) โดยมีการตั้ง สภาพลเมือง (The Assembly of the Demos) สำหรับพลเมืองในการแสดงความคิดเห็นและลงมติเห็นชอบต่อนโยบายของรัฐบาลที่มีที่มาจาก สภาห้าร้อย (the Council of 500) จากพลเมือง 500 คน จากเผ่าต่างๆ 10 เผ่าๆละ 50 คน แลกเปลี่ยนหมุนเวียนกันตามวาระ 1 ปี รวมไปถึงมีการตั้ง ศาลประชาชน (the People’s Court) ที่มีระบบลูกขุนขึ้นมาด้วย
อย่างไรก็ดี ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ได้รับการถกเถียงว่า ประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ไม่ใช่รูปแบบการปกครองโดยทุกคนในรัฐ เพราะมีการให้สิทธิเฉพาะชายชนชั้นกลางขึ้นไป ไม่รวมสตรี เด็ก คนชรา และไพร่ทาส
ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส นักคิดที่มีอิทธิพลต่อต้นแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่อย่างฌอง ฌากส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ถือเป็นหนึ่งในนักคิดที่สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยทางตรงแบบนครรัฐเอเธนส์ เพราะเขามองว่า การต่อสู้ระหว่างพรรคการเมืองซึ่งมุ่งแต่อำนาจ แต่ไม่มีความรับผิดชอบ จะนำมาซึ่งความยุ่งยากวุ่นวายทางการเมือง ดังนั้น ประชาชนสามารถแสดงเจตจำนงของตนผ่านการเข้าร่วมประชุมสภาประชาชนเพื่อการออกกฏหมายได้โดยไม่มีผู้แทนราษฎร
แน่นอนว่า ประชาธิปไตยแบบทางตรง ดูเหมือนเป็นรูปแบบทางการเมืองที่ไม่ได้รับความนิยมมากนักในโลกสมัยใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอยู่จริง เพราะสวิตเซอร์แลนด์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ยึดถือรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงมาโดยตลอดนับตั้งแต่การก่อตั้งประเทศเป็นสมาพันธรัฐ หลายท่านพอจะนึกภาพออกว่า สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีการ ‘ลงประชามติ’ ตลอดเวลาในหลายหลากประเด็นทั้งทางการเมืองและสังคม
ขณะที่ นักวิชาการหลายคนมองว่า การใช้อินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นรูปแบบประชาธิปไตยทางตรงด้วยเช่นกัน หรือที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยทางตรงแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Direct Democracy) หรือแม้แต่แนวคิดการเปิดเผยข้อมูลรัฐสู่สาธารณะ ที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วม (Participation) ผ่านตรวจสอบหรือร่วมแสดงความคิดเห็นโดยตรงผ่านอุปกรณ์ที่มีอยู่ได้
การมีส่วนร่วมทางการเมืองนี้เอง ถือเป็นหลักใหญ่ใจความของประชาธิปไตยในรูปแบบนี้ คือเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในเขตเลือกตั้งเพื่อทำการตัดสินใจหรือกำหนดนโยบาย มากกว่าการใช้งานผู้แทนราษฎรให้ทำแทน หรือจะเรียกได้ว่า ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy)
อย่างไรก็ตาม ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมสามารถผนวกเข้ากับรูปแบบประชาธิปไตยทางอ้อม หรือประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) ได้ โดยการเมืองภาคประชาชนสามารถกำหนดหรือตัดสินใจในนโยบายที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในท้องที่ ผ่าน สส. เพื่อนำเรื่องเข้าสู่สภาต่อไป ดังที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 ซึ่งได้ชื่อว่า ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ ได้มีการให้ความสำคัญกับ ‘ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม’ ควบคู่ไปกับ ‘ประชาธิปไตยแบบตัวแทน’ เป็นครั้งแรก และถูกส่งต่อมายังรัฐธรรมนูญฉบับหลังอีก 2 ฉบับ ถึงแม้ว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนจะยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจนนักก็ตาม
ในส่วนของประชาธิปไตยทางอ้อมหรือประชาธิปไตยแบบผู้แทนนั้น ถือเป็นรูปแบบประชาธิปไตยสากลที่ชาวไทยคุ้นเคยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา ผ่านการเลือกตั้ง สส. ให้ไปทำหน้าที่แทนตนเองในการตัดสินใจทางการเมือง การออกกฎหมาย ซึ่งรวมไปถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีผ่านระบบรัฐสภาด้วย ซึ่งเอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) ได้มีความเห็นแย้งกับรุสโซที่ชื่นชอบในประชาธิปไตยทางตรงในแง่ที่ว่า อย่างไรเสียการปกครองรูปแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งของประชาชนอยู่ดี คณะบุคคลที่รวมกันเป็นพรรคการเมืองก็มีบุคคลและนโยบายหลากหลายให้ประชาชนได้เลือกสรรตามความพึงใจ ซึ่งท้ายที่สุดก็จำเป็นต้องอาศัยกลไกของพรรคการเมืองอยู่ดี
วิวาทะของฝ่ายประชาธิปไตย 2 ขั้ว
วิวาทะระหว่างด้อมส้มและนางแบก ว่าด้วยรูปแบบประชาธิปไตย ถือได้ว่าเป็นวิวาทะที่น่าสนใจอย่างมาก หาใช่ดราม่าที่ไร้แก่นสารเสียทีเดียว เพราะได้สะท้อนสาระทางความคิดความเชื่อที่สามารถจำแนกออกจากกันได้ และการถกเถียงเช่นนี้กลับยิ่งส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ผ่านเหตุผลในการอธิบายความเชื่อของตนเอง
นางแบกคนสำคัญอย่าง ‘คำผกา’ ลักขณา ปันวิชัย ให้ความเห็นเกี่ยวกับการสำรวจเสียงของโหวตเตอร์ก้าวไกลที่มีต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีให้กับพรรคเพื่อไทย ด้วยการยืนยันประชาธิปไตยแบบผู้แทนว่า:
“เมื่อได้ สส. ซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนในพื้นที่นั้นๆ มาแล้ว เวลาจะโหวตใครเป็นนายกฯ หรือจะตัดสินใจอะไรในทางการเมือง ไม่ต้องกลับมาถามคนในพื้นที่-ไม่ต้องทำโพลในทวิตฯ หรือจะให้ย้อนกลับไปเป็นประชาธิปไตยทางตรง ไม่ต้องมีแล้ว สส.”
คำผกา, รายการ IN HER EYES Voice TV 9 สิงหาคม 2566 โควทโดย วีรนันท์ กัณหา
ทั้งยังมีการหยิบยกประเด็นการดีลกับพรรคชาติพัฒนากล้าของพรรคก้าวไกล ที่ถูกด้อมส้มล้มดีลไม่เป็นท่า โดยเธอให้ความเห็นว่า หากเป็นเช่นนี้ก็ไม่ต้องมีการเลือกผู้แทนแล้ว ให้ไปใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงแทน
ภายหลังจากการโควทข้อความดังกล่าวในทวิตเตอร์ของนายวีรนันท์ กัณหา พิธีกรร่วมรายการ ได้มีคนจำนวนมากรีทวีตเพื่อแสดงความคิดเห็นแย้งกับคำผกา ถึงการซาวด์เสียงของโหวตเตอร์ก้าวไกล อย่างผู้ใช้งานทวิตเตอร์รายหนึ่งระบุว่า:
“ฝ่ายประชาสังคมไทยรณรงค์มาแทบตายให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองและนโยบาย จะมาตายตรงคำว่า “representative” เข้าคูหากาแล้วจบ? เดี๋ยวค่ะ รู้จักคำว่า “citizen consultation” “public participation” หรือ “participatory democracy” มั้ย เบสิค ไม่ต้องเรียนรัฐศาสตร์ก็รู้”
Keawmala, 10 สิงหาคม 2566
ขณะที่ คำผกา ตอบกลับว่า:
“การเมืองแบบมีส่วนร่วม การเมืองแบบปรึกษาหารือ จะมีไม่ได้ถ้าไม่ให้ความสำคัญสูงสุดกับการเมือง ‘เลือกตั้ง’ และการมี ‘ตัวแทน’ ปชช. ในสภา เรื่องการโหวตนายกฯ พรรคกก. สามารถประชุม มี ‘มติพรรค’ หรือ ใช้ระเบียบวิธีการหยั่งเสียงจากโหวตเตอร์ที่ดีกว่าการให้ สส. ถามปชช. ในทวิตเตอร์ค่ะ”
คำผกา, 10 สิงหาคม 2566
หลังจากนั้น ก็มีผู้คอมเมนต์จำนวนมากด้วยการนำเสนอโมเดลประชาธิปไตยทางตรงที่มีอยู่ในโลกจริงๆ เช่น อินโดนีเซียหลังระบอบซูฮาร์โต้ล่มสลาย เป็นต้น แม้กระทั่งการต้องแยกระหว่างการฟังเสียงประชาชนกับฉันทามติที่ไม่เหมือนกัน
ประชาธิปไตยไทยไปทางไหนดี?
ประเทศไทยได้เดินทางผ่านจุดกำเนิดของความพยายามผลักดันการสร้างการมีส่วนร่วมทางเมืองมาแล้ว หากนับกันจริงๆ การผลักดันได้เริ่มต้นภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 ก่อนถูกเพิ่มเข้าไปในรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 ทำให้ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม หรือการเมืองภาคประชาชน (ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหยิบขึ้นมาพูดบ่อยครั้ง) ถูกขับเคลื่อนควบคู่ไปกับประชาธิปไตยแบบผู้แทน
ทว่าด้วยพลวัตทางการเมืองที่มีแรงเหวี่ยงสูงยิ่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะแนวทางและวิธีคิดแบบพรรคก้าวไกลที่เน้นยํ้า ‘การยึดโยง’ กับประชาชนบ่อยครั้ง ทำให้โหวตเตอร์จำนวนมากแสดงเจตจำนงทางการเมืองออกมาในรูปแบบของประชาธิปไตยทางตรง (แบบอิเล็กทรอนิกส์) อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ต้องผ่านผู้แทนของตนเองนำเข้าสู่สภาเพื่อการตัดสินใจอยู่ดี
การแสดงเจตจำนงทางการเมืองเช่นนี้ของด้อมส้ม อาจเกิดจากประสบการณ์ทางการเมืองตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า ประชาธิปไตยแบบผู้แทนนั้นไม่สามารถสะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนได้ เพราะข้อเสนอและเจตจำนงต่างๆ มักจะถูกปัดตกในสภาเสมอ เช่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของ iLaw เป็นต้น
ในขณะที่แนวทางประชาธิปไตยแบบผู้แทนนั้น โหวตเตอร์ได้แสดงเจตจำนงของตนเองผ่านการเลือกตั้งผู้แทนไปเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าเจตจำนงที่ผูกโยงกับนโยบายพรรคจะไม่ถูกแสดงออกมาในวาระของผู้แทนก็ตาม แต่ประชาชนก็มีสิทธิที่จะไม่เลือกผู้แทนหรือพรรคการเมืองนั้นๆ ได้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ท้ายที่สุดแล้ว รูปแบบประชาธิปไตยทั้งทางตรงและทางอ้อมในไทยได้อยู่ควบคู่กันมากกว่า 2 ทศวรรษแล้ว เกินกว่าที่เราจะย้อนกลับหลังให้กับการเมืองแบบมีส่วนร่วม อย่างน้อยที่สุด หากสภาไม่สามารถสะท้อนเจตจำนงหรือความต้องการของประชาชนได้ ประชาชนก็ยังมีช่องทางที่สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะประชาชนคือ เจ้าของอำนาจอธิปไตย (แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงก็ตาม)
อ้างอิง
- จันทร์เรือง, ช. (2006, December 24). รุสโซคือต้นแบบประชาธิปไตยในปัจจุบันจริงหรือ โดย อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง. Public Law Net. Retrieved August 11, 2023, from http://public-law.net/publaw/view.aspx?id=1017
- เจริญเมือง, ธ. (2019, March 26). ธเนศวร์ เจริญเมือง : คำประกาศเพื่อระบอบประชาธิปไตย A Democratic Manifesto. มติชนสุดสัปดาห์. Retrieved August 11, 2023, from https://www.matichonweekly.com/special-report/article_181411