‘Elephant in the room’ ในสำนวน ‘ตั๋วช้าง’ ของสภาไทย

สำนวนฝรั่งที่ว่า ‘Elephant in the room’ อันมีความหมายว่า ปัญหาเกิดขึ้นรอบๆ ตัวเรา แต่ผู้คนในสังคมกลับหลีกเลี่ยงจะพูดถึง ดูจะสอดคล้องกับกระแสการติดแฮชแท็ก #ตั๋วช้าง ซึ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จากการบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว และไม่โปร่งใส ส่งผลต่อการบริหารราชการตำรวจจนกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มผู้กอบโกยยศและตำแหน่งไว้กับตนเองและพวกพ้อง

 

‘ตั๋วช้าง’ ประเด็นร้อนบนสังเวียนอภิปรายไม่ไว้วางใจ

หลักฐานที่ถูกนำมาใช้สนับสนุนการอภิปรายของรังสิมันต์ครั้งนี้ คือ การปล่อยปละละเลยให้ผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่เข้ามาบงการการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งในองค์กรตำรวจ รังสิมันต์ได้อ้างเอกสารส่วนราชการ สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ ๙๐๔ ที่ พว.๐๐๐๕.๑/ “๐๓๐” ลงวันที่ 23 มกราคม 2562 รวมถึงหนังสือราชการที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ

โดยเนื้อหาการอภิปรายปรากฏชื่อของ พลตำรวจโทต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) และ พลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพื่อขอสนับสนุนการขอรับตำแหน่งให้กับนายตำรวจบางนายข้ามหน่วยงาน

กรณีนี้รังสิมันต์ได้ตั้งคำถามไปยัง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยชี้ว่า การเลื่อนขั้นนายตำรวจบางนายมีการเติบโตอย่างรวดเร็วและไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ก.ตร. ทำให้มีตำรวจหลายนายสูญเสียกำลังใจ และเป็นการทำลายระบบคุณธรรมของตำรวจ

นอกจากนั้นแล้ว องค์กรอื่นบางองค์กรยังขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติโอนย้ายตำรวจ 1,319 นาย ไปเป็นข้าราชการประเภทอื่นที่ไม่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และยังพบอีกว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 66 นาย ถูกลงนามคำสั่งโดย ผบ.ตร. ให้ไปปรับทัศนคติเป็นเวลาถึง 9 เดือน ก่อนที่การอภิปรายในสภาจะหยุดลง เมื่อมี สส. จากพรรคพลังประชารัฐ ลุกขึ้นประท้วงหลายคน จนรังสิมันต์ต้องออกมาอภิปรายนอกรัฐสภาแทน

ในการอภิปรายครั้งนี้ รังสิมันต์ยังได้ยกคำสารภาพของนายตำรวจบางคนที่ตัดพ้อว่า หากจะเติบโตในหน้าที่การงานจำเป็นต้องมี ‘ตั๋ว’ จากผู้มีอำนาจ โดยอ้างถึงหนังสือราชการลงวันที่ 14 มีนาคม 2562 เรื่อง ขอสนับสนุนขอรับการแต่งตั้ง ลงนามโดย พลตำรวจโทต่อศักดิ์ สุขวิมล ส่งถึง ผบ.ตร. มีเนื้อหาขอสนับสนุนขอรับการแต่งตั้งนายตำรวจ 3 นาย ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรจิตอาสา

ด้าน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็ได้ลุกชี้แจงการอภิปรายของนายรังสิมันต์ โดยยืนยันว่า ในสมัยเป็นประธาน ก.ตร. ได้ทำตามระเบียบของตำรวจทุกประการ แต่ในส่วนของรายละเอียดเรื่องใครได้ตำแหน่งหรือไม่ได้ เป็นเรื่องภายในที่จะต้องพิจารณาว่าใครมีความสามารถอย่างไร และอยู่ในดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาว่าจะรับพิจารณาหรือไม่

เมื่อถึงการชี้แจงในกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการตำรวจนั้น พลเอกประยุทธ์กล่าวว่า เป็นการเสนอโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยต้องพิจารณาจากความรู้ความสามารถและประสบการณ์ พร้อมยืนยันว่า การแต่งตั้งที่ผ่านมาเป็นไปตามหลักเกณฑ์และระเบียบตำรวจปี 2547 และกฎของ ก.ตร. ทุกประการ

การอภิปรายของ รังสิมันต์ โรม และการชี้แจงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นำมาซึ่งความสนใจของสาธารณชน ต่อประเด็นที่ว่าหน่วยงานอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีบทบาทอย่างไรในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา

การทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของ ‘ส่วนราชการในพระองค์’ ซึ่งเป็นชื่อหลักของการอภิปรายครั้งนี้ อาจจะช่วยให้เห็นความเป็นมาของการอภิปรายได้รอบด้านมากขึ้น

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของส่วนราชการในพระองค์ หลังการรัฐประหาร 2557

กล่าวได้ว่า หลังการรัฐประหาร 2557 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่โครงสร้างและความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะ 2 สถาบันที่สำคัญ คือ กองทัพ และสถาบันพระมหากษัตริย์ หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนแปลงของ ‘ส่วนราชการในพระองค์’ ซึ่งสอดคล้องกับข้อสรุปของ ศาสตราจารย์โยชิฟุมิ ทามาดะ (Yoshifumi Tamada) ในบทความเรื่อง Democratization and the Military in Thailand ตีพิมพ์ในปี 2019 ที่ได้อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงของกองทัพและพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ สัมพันธ์กับ 3 จังหวะสำคัญที่เปลี่ยนแปลงในรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 คือ

  1. ไม่ทรงตอบรับการขึ้นครองราชย์ทันทีในเดือนตุลาคม 2559 จนกระทั่งพระองค์มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559
  2. การเปลี่ยนแปลงที่มาสมเด็จพระสังฆราช โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แก้กฎหมายคณะสงฆ์ เพื่อเพิ่มพระราชอำนาจ
  3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านการลงประชามติในปี 2560 โดยรัฐบาล คสช.

หน่วยงานส่วนราชการในพระองค์ก็เช่นเดียวกันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการขึ้นครองราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 มีการปรับเปลี่ยนหน่วยงานเหล่านี้ โดย สนช. ได้ผ่านพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2560

กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ตั้งส่วนราชการในพระองค์ขึ้นโดยการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ และได้ให้กรมราชองครักษ์และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเคยสังกัดกระทรวงกลาโหม โอนไปเป็นส่วนราชการในพระองค์ ทำให้รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นพลเรือน ไม่มีอำนาจบังคับบัญชากองทัพส่วนดังกล่าวอีก

เดิมที หน่วยงานของกองทัพที่เกี่ยวข้องกับการถวายความปลอดภัยแด่พระราชวงศ์ จะประกอบไปด้วย กรมราชองครักษ์ ซึ่งในทางกฎหมายเป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม แต่ในช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 มีการออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556 โดยให้ก่อตั้งหน่วยถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ขึ้นเป็นส่วนราชการระดับกรมในกระทรวงกลาโหม

ในหนังสือ โอลด์รอยัลลิสต์ดาย ซึ่งเขียนโดย ‘วาด รวี’ นักเขียนผู้เอาใจใส่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองร่วมสมัย ได้เสนอว่าบทบัญญัติที่เกี่ยวกับ ‘ส่วนราชการในพระองค์’ เดิมทีไม่มีการระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดเลยของ คสช. แต่มีระบุไว้ในมาตรา 15 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งในการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น มาตรานี้ไม่ได้ถูกสาธารณชนหยิบยกขึ้นมาถกเถียงแต่อย่างใด

ในมาตรา 15 นี้ การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย

การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา

จนกระทั่งมีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 จึงได้มีการโอนหน่วยงานราชการ 5 แห่ง ซึ่งเดิมทีอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาเป็นส่วนราชการในพระองค์ ได้แก่ 1. สำนักราชเลขาธิการ 2. สำนักพระราชวัง 3. กรมราชองครักษ์ 4. หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ (เดิมสังกัดกระทรวงกลาโหม) 5. สำนักงานนายตำรวจราชสำนัก (เดิมสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)

นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างส่วนราชการในพระองค์ ยังส่งผลต่อการกำหนดกรอบงบประมาณราชการแผ่นดินนับตั้งแต่ปี 2562-2563 และเกิดคำถามถึงกรณีการโยกย้ายข้าราชการตำรวจตามมา

พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 เป็นกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่ปรากฏขึ้นมา

กฎหมายฉบับดังกล่าวส่งผลต่อการโอนย้ายกำลังพลที่เกิดขึ้นในกรณีที่รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562

โดยกำหนดให้โอนกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์

อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของหน่วยงานส่วนราชการในพระองค์ที่เกิดขึ้นในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็ยังไม่ช่วยไขความกระจ่างต่อกรณีการอภิปรายของ รังสิมันต์ โรม ในวันนี้ เนื่องจากมีข้อสงสัยว่า เหตุใดหน่วยงานอื่นจึงมีอำนาจขอโยกย้ายนายตำรวจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ รวมไปถึงคำร้องทุกข์ของนายตำรวจบางคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบและชี้แจง

ถ้าหากเป็นจริงตามที่นายรังสิมันต์อภิปราย อาจจะถึงเวลาที่สังคมไทยต้องกลับมาทบทวน ปัญหาของความขัดกันของผลประโยชน์แห่งรัฐและปัญหาการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริหารราชการแผ่นดิน และไตร่ตรองกันอย่างเพียงพอต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘ตั๋วช้าง’

 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า