ในภาวะวิกฤติอย่างการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ครั้งนี้ มีอย่างน้อย 2 สิ่งที่จำเป็นในการดูแลตนเองและผู้อื่น อย่างแรกคือ ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ อย่างหลังคือน้ำใจที่จะดูแลคนรอบข้าง และสังคม
เนื้อหาต่อไปนี้ เป็นการแปลบางส่วนมาจากหนังสือ The Coronavirus Prevention Handbook: 101 Science Based Tips that Could Save Your Life รวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในสถานการณ์ระบาด โดยคณะทำงานทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่รับมือกับการระบาดในเมืองอู่ฮั่น
หลังจาก WAY ได้ป่าวประกาศขอระดมแรงในการแปลหนังสือเล่มนี้ มีผู้อาสาออกแรงช่วยแปลส่วนต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในภาวะแบบนี้
เพราะข้อมูลเป็นสิ่งจำเป็น และน้ำจิตน้ำใจก็เป็นสิ่งสำคัญ
เราควรทำอย่างไรเมื่อต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 ในกรณีที่ผู้ป่วยรักษาตัวที่บ้าน
สำหรับผู้ดูแลผู้ที่ต้องสงสัยหรือถูกยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 หรือผู้ป่วยที่แสดงอาการ เมื่อมีความจำเป็นที่ต้องใช้สถานที่นอกสถานพยาบาล เช่น ที่บ้าน ผู้ดูแลหรือสมาชิกในบ้านจะต้องสำรวจอาการตัวเองเป็นประจํา ถ้าพบว่ามีอาการที่บ่งบอกการติดเชื้อ COVID-19 เช่น เป็นไข้ ไอ หายใจถี่และอาการอื่นๆ ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์โดยด่วน
ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้หรือไม่อย่างไร
ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) แนะนำให้แยกกักตัวผู้ป่วยจากผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นที่โรงพยาบาลหรือที่บ้าน จนกว่าผู้ป่วยจะพ้นภาวะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
ผู้ป่วยแต่ละคนมีระยะเวลาที่ต้องแยกกักตัวต่างกันตามอาการหนักเบาของโรค ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแพทย์และเจ้าหน้าที่ในการควบคุมและป้องกันโรค ซึ่งใช้การตรวจวัดอาการของโรคและดูผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการทดลองเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ ดังนี้
- ผู้ป่วยไม่มีอาการไข้โดยที่ไม่ได้รับยาลดไข้
- ผู้ป่วยไม่แสดงอาการของโรค เช่นอาการไอ
- ผู้ป่วยได้ผลลัพธ์เป็นลบ (ไม่มีเชื้อ) ติดต่อกัน 2 ครั้งจากการเก็บตัวอย่างไปตรวจโรค ซึ่งระยะห่างของการตรวจ 2 ครั้งต้องห่างกันอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
ผู้ที่เคยถูกกักตัวด้วยโรค COVID-19 สามารถแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้หรือไม่
ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ออกจากการแยกกักตัวแล้วไม่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อให้ผู้อื่น
การแยกกักตัวหมายถึงการแยกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่อาศัยหรือเดินทางอยู่ในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของโรค แต่ยังไม่แสดงอาการป่วยออกจากผู้อื่นที่ไม่ได้อาศัยหรือเดินทางอยู่ในพื้นที่ที่มีรายงานระบาด เพื่อควบคุมป้องกันการระบาดของโรค ระยะเวลาในการกักตัวนั้นขึ้นอยู่ระยะเวลาในการฟักตัวของโรคนั้น
ระยะเวลากักตัวสำหรับ COVID-19 คือ 14 วัน นับจากวันสุดท้ายที่อาจจะได้รับเชื้อจากพื้นที่ที่มีรายงานระบาด เพราะคำนวณจากระยะเวลาฟักตัวของโคโรนาไวรัสเดิมสายพันธุ์ที่มีระยะฟักตัวนานที่สุดคือ 14 วัน
ผู้ที่ออกจากการกักตัวถูกพิจารณาว่า ไม่มีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่น เพราะไม่แสดงอาการของโรคในระยะฟักตัว
ทำไมผู้คนบางคนจึงกล่าวโทษ ด่าทอ หรือหลีกเลี่ยงคนบางกลุ่มอันเป็นอคติจาก COVID-19
ชาวอเมริกันบางคนอาจจะมีความกังวลเมื่อเพื่อนหรือญาติที่อาศัยหรือได้เดินทางอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของ COVID-19 ความกลัวและกังวลนี้นำพาไปสู่การระแวงของสังคม ทำให้เกิดอคติต่อคนบางกลุ่มเช่นชาวจีนหรือชาวเอเชียอื่นๆ ในอเมริกาที่อยู่ในระยะกักตัว
อคตินี้คือการสร้างมลทินต่อกลุ่มคน สถานที่ หรือแม้แต่เชื้อชาติ การกล่าวโทษนี้ใช้เป็นกลไกในการจัดการความกังวลและความกลัวจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจการแพร่เชื้อของ COVID-19 การสร้างข่าวลือและการกล่าวโทษโดยอคตินี้ ทำร้ายผู้คนและสร้างความกลัวความกังวลเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้ช่วยป้องกันการระบาดของโรคแต่อย่างใด เราควรต่อต้านอคตินี้ด้วยการช่วยเหลือ การสื่อสารให้ข้อมูลจริงเกี่ยวกับไวรัสนี้ ไม่ควรมุ่งประเด็นไปที่เชื้อชาติของกลุ่มคนผู้ติดเชื้อโรคระบาด การให้ข้อมูลความจริงว่าเกิดการระบาดอย่างไรจะช่วยหยุดอคตินี้
ท่านควรป้องกันตัวเองอย่างไร
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ถึงแม้มือจะไม่มีคราบสกปรกก็ตาม เนื่องจาก การล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือการใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์นั้น สามารถกำจัดไวรัสที่อาจจะตกค้างอยู่ที่มือของท่านได้
- รักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร หรือ 3 ฟุต โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการไอ จาม หรือมีไข้ เนื่องจาก ขณะที่ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 การไอ หรือจาม จะทำให้มีเชื้อไวรัสติดออกมากับละอองที่เกิดจากการไอหรือจาม หากท่านอยู่ใกล้คนเหล่านี้มากเกินไป ท่านอาจจะหายใจรับเอาไวรัสเหล่านั้นเข้าไป
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสตา จมูก และปาก เนื่องจาก การสัมผัสอวัยวะเหล่านี้อาจจะทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส หากท่านเอามือสัมผัสกับตา จมูก และปาก จะทำให้ไวรัสเข้าสู่ตัวท่านได้
- หากท่านมีไข้ ไอ หรือหายใจลำบาก ให้เข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ และหากท่านมีประวัติการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศจีนและมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ โปรดแจ้งให้หน่วยบริการทางสุขภาพทราบ เนื่องจาก เมื่อใดก็ตามที่ท่านมีไข้ ไอ หรือหายใจลำบากนั้น ท่านจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะอาการดังกล่าวเป็นอาการของการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรืออาจจะมีอาการรุนแรงอื่นๆ ตามมาได้ ซึ่งอาการติดเชื้อทางเดินหายใจร่วมกับการมีไข้นั้น อาจจะเกิดจากหลายสาเหตุขึ้นอยู่กับสถานการณ์และประวัติการเดินทาง โดยโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ 2019 อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเจ็บป่วยได้
- หากท่านมีอาการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจไม่รุนแรงและไม่มีประวัติการเดินทางกลับจากประเทศจีน โปรดดูแลตัวเองเบื้องต้น ล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งพักผ่อนอยู่ที่บ้านจนกว่าอาการจะดีขึ้น
ข้อมูลพื้นฐาน: ที่มาของชื่อ COVID-19 และที่ไปของเชื้อไวรัส
ทำไมโรคที่แพร่ระบาดอยู่นี้จึงถูกเรียกว่า โรคโคโรนาไวรัส 2019 หรือ COVID-19
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2020 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศอย่างเป็นทางการถึงชื่อของโรคซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งเกิดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ชื่อเรียกใหม่ของโรคนี้คือ โรคโคโรนาไวรัส 2019 หรือชื่อย่อคือ COVID-19
- CO ย่อมาจาก 'corona’
- VI ย่อมาจาก ‘virus’
- D ย่อมาจาก ‘disease’
ซึ่งก่อนหน้านั้นโรคนี้ได้ถูกเรียกว่า '2019 โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่' หรือ '2019-nCoV.'
โคโรนาไวรัสในมนุษย์เดิมก็มีหลายสายพันธุ์ รวมถึงสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน แต่ COVID-19 เกิดจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เราไม่เคยเห็นการติดเชื้อนี้ในมนุษย์มาก่อน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดชื่อเรียกของโรคนี้ เพื่อบัญญัติโรคใหม่ที่เกิดในมนุษย์ เรียกอาการของโรคคือ ภาวะระบบทางเดินหายใจผิดปกติอย่างรุนแรงและฉับพลันจากโคโรนาไวรัส 2 ย่อว่า SARS-CoV-2 ถึงแม้ว่าชื่อเรียกนี้ระบุถึงไวรัส SARS ที่เคยเป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรงในปี 2002-2003 แต่ไม่ใช่ไวรัสสายพันธุ์เดียวกัน
ที่มาของ COVID-19 คืออะไร
โคโรนาไวรัส มีวงศ์ตระกูลใหญ่และมีหลายสายพันธุ์ บ้างเป็นเหตุของการเจ็บป่วยในมนุษย์ บ้างในสัตว์ เช่น สัตว์ในตระกูลค้างคาวและแมว ในกรณีของ COVID-19 คือการติดเชื้อไวรัสในคนจากสายพันธุ์ไวรัสที่ทำให้ติดเชื้อในสัตว์ ซึ่งมี 2 ตัวอย่างที่ใกล้เคียงคือโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) และ โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (SARS)
ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโคโรนาไวรัส 2019 หรือ COVID-19 แพร่เชื้อได้อย่างไร
ไวรัสตัวนี้ถูกตรวจจับได้ครั้งแรกที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน การติดเชื้อขั้นแรกเกิดขึ้นในตลาดซื้อขายสัตว์ (มีชีวิต) และขณะนี้ไวรัสดังกล่าวกำลังแพร่จากคนสู่คนอย่างต่อเนื่อง เป็นที่รู้กันว่าไวรัสบางตัวนั้นแพร่เชื้อได้ดีทำให้คนเป็นโรคติดต่ออย่างรุนแรง เช่น โรคหัด แต่ในขณะที่ไวรัสบางตัวก็แพร่เชื้อได้ไม่ดีนัก
ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ โดยการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้อยู่แล้วจากละอองสารคัดหลั่งทางจมูกหรือปากในระยะ 1 เมตร