เรื่อง: อรปมน วงค์อินตา
***มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของหนัง***
คุณเคยมีความคิดอยากหยิบยื่นความตายให้ใครสักคนที่ทำสิ่งเลวร้ายที่สุดบ้างไหม อาทิ นักการเมืองที่ทุจริตคนเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ยังคงอยู่ในแวดวงการเมืองมาจวบจนถึงปัจจุบัน หรือโจรที่ก่อคดีฆาตกรรม แต่ไม่มีหลักฐานมัดตัว และยังคงใช้ชีวิตตามปกติ หรือกระทั่งคนที่ช่วยเหลือพวกพ้องของตัวเองให้หลุดจากคดี
ใน Irrational Man ของ วูดี อัลเลน ได้หยิบยกประเด็นข้างบนขึ้นมาเป็นโจทย์หลัก พร้อมนำเสนอทางเลือกที่ตัวเอกของเรื่อง เอ๊บ ลูคัส (แสดงโดย วาคีน ฟีนิกซ์) ตัดสินใจทำ
Irrational Man เป็นหนังที่เล่าถึง เอ๊บ ลูคัส อาจารย์วิชาปรัชญาที่ใช้ชีวิตอย่างว่างเปล่า เขาติดเหล้า ไม่มีแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ แม้กระทั่งเซ็กส์ก็เป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย แต่แล้วชีวิตของ เอ๊บ ลูคัส ก็ถูกจุดประกายขึ้นอย่างมีความหวังอีกครั้ง เมื่อได้พบกับลูกศิษย์สาวอย่าง จิล พอลลาร์ด (แสดงโดย เอ็มมา สโตน) และได้ยินเรื่องเล่าของผู้หญิงคนหนึ่งขณะไปรับประทานอาหารกับจิล
ผู้หญิงคนนั้นเล่าว่าเธอพยายามต่อสู้ให้ได้รับสิทธิ์เลี้ยงดูลูกจากสามี แต่ไม่สามารถเป็นไปได้ เมื่อผู้พิพากษาของคดีนี้เป็นคนรู้จักกับสามี เรื่องราวที่ผู้หญิงคนนี้เล่าได้เร้าอารมณ์ทั้งผู้ชมรวมไปถึงเอ๊บและจิล ให้โมโหและโกรธผู้พิพากษาคนนี้ไปพร้อมๆ กัน
ในขณะที่ผู้คนรอบข้างของผู้หญิงคนนั้นรวมทั้งจิลเกิดอารมณ์ร่วม และภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คนเหล่านั้นถูกลงโทษ แต่สำหรับเอ๊บแล้ว เขาไม่เชื่อในสิ่งที่เป็นอารมณ์และการภาวนาว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความคิดนี้ส่งผลให้เขาวางแผนจัดการกับผู้พิพากษา คนที่เขาเชื่อว่าเป็นคนเลว เป็นภัยสังคม สิ่งที่เขาทำจะนำมาสู่ความสงบสุขของสังคม และนั่นก็ทำให้เขารู้สึกว่าตนมีคุณค่า ชีวิตที่ห่อเหี่ยวก็ดูจะมีความหมายขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ฉากนี้เป็นฉากที่ วาคีน ฟีนิกซ์ แสดงได้ดีมาก เขาสามารถเปลี่ยนผ่านจากคนหมดอาลัยตายอยากในชีวิตให้กลับมาสดชื่น กระปรี้กระเปร่าอีกครั้งเมื่อมีเป้าหมายในชีวิต
เอ๊บไม่รู้สึกเลยว่าการวางแผนฆ่าผู้พิพากษานั้นเป็นเรื่องเลวร้าย และเขาเองก็มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการลงมือ สังเกตได้จากการพูดคุยของเขาและจิลภายหลังจากออกมานอกร้าน จิลบอกกับเอ๊บว่าเขาเป็นผู้พิพากษาที่เลวร้าย แต่อาจจะเป็นพ่อที่น่ารักก็ได้ เอ๊บสวนกลับทันควันว่าเขาอาศัยอยู่ตัวคนเดียว จิลจึงเงียบไป สิ่งนี้ยิ่งทำให้ข้อแม้ต่างๆ ยิ่งลดน้อยถอยลง
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ขัดแย้งกันระหว่างศีลธรรม (moral) ในจิตใจ กับสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นจริงเพื่อให้สังคมสงบสุข สำหรับเอ๊บแล้ว เขาเลือกการพิพากษาคนที่เขาคิดว่าเลวคนนั้นมากกว่าจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของสังคม การเป็นคนดีมีศีลธรรมไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้น เอ๊บเชื่อว่ากลไกที่จะจัดการคนเลวๆ อย่างถูกต้องนั้นไม่มีอยู่จริง
การลงมือของเอ๊บช่วยหล่อเลี้ยงให้ชีวิตของเขามีความหมายไปพร้อมๆ กับความเชื่อว่าจะคืนความดีงามและความยุติธรรมแก่สังคม ทางแยกที่ขัดกันนี้รวมไปถึงการตัดสินใจของเขา ทำให้เราหันมาครุ่นคิดว่า ถ้าไม่มีกลไกจัดการความอยุติธรรมในสังคม แล้วเราจะร่วมกันสร้างกลไกนั้นให้เกิดขึ้นมาอย่างยุติธรรมได้หรือไม่ หรือจะปล่อยให้มือที่มองไม่เห็นจัดการ โดยไม่รู้ว่าการกระทำที่บอกว่าเพื่อคนอื่น เพื่อสังคม แท้จริงแล้วเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่ตอบสนองความต้องการของตัวเขาเองกันแน่