ตามหาประชาธิปไตยในยุคดึกดำบรรพ์ เจอแล้วบอกด้วย!

 

dscf2051

เรื่องและภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล

ในยุคที่ผ่านพ้นรัฐประหารมานับครั้งไม่ถ้วน และเชื่อว่ารัฐประหารเมื่อปี 2534 จนมาถึงปี 2549 ควรและน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะอะไร? และทำไม?

วงเสวนาภายใต้หัวข้อที่เข้ากั๊นเข้ากันกับยุคสมัย อาจมีคำตอบที่ค้นหา และอาจช่วยตอบเราได้ว่า ทำไมเราต้อง ‘ตามหาประชาธิปไตยในยุคดึกดำบรรพ์’

 

ยุทธพร อิสรชัย

ทำไมเราต้องมีประชาธิปไตย

“ถ้าถามว่าทำไมต้องมีประชาธิปไตย พวกเราหลายคนคงคุ้นชินกับคำว่าประชาธิปไตยกันมายาวนาน ประชาธิปไตยมันมีหรือเปล่า? หรือว่าสุดท้ายก็จะมีคำถามที่เกิดเป็นวังวนอยู่เสมอว่าประชาธิปไตยมันเหมาะกับสังคมไทยไหม? หรือว่าสุดท้ายแล้วประชาธิปไตยไม่ใช่คำตอบที่แท้จริงของสังคมไทย สังคมไทยอาจจะเหมาะกับระบอบปกครองที่เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ มากกว่า

รศ.ยุทธพร อิสรชัย อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เริ่มต้นเป็นคนแรกเพื่อตอบคำถามว่าทำไมประชาธิปไตยจึงดีกว่าระบอบปกครองอื่นๆ จากนั้นขยายให้เห็นภาพสะท้อนของคำถามที่ชี้ให้เห็นว่า

“ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่มีการขายฝันว่าสุดท้ายเราจะมีความมั่งมีศรีสุข สังคมที่ดี สังคมที่มีสันติภาพ แต่ประชาธิปไตยคือหลักประกันที่บอกว่ากระบวนการตรงนี้จะทำให้สังคมเดินไปได้ด้วยกัน เคารพในสิทธิที่ต่างกัน นี่คือประชาธิปไตย และตรงนี้คือคำตอบของคำถามว่า ทำไมเราต้องมีประชาธิปไตย

“ขณะที่ในแง่ของโครงสร้างรัฐ รัฐไทยมีลักษณะของความเป็นรัฐซ้อนรัฐ ด้านหนึ่งเรามีรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวกำหนดโครงสร้างสถาบันทางการเมือง แต่อีกด้านหนึ่งเราก็อยู่ในสภาวะที่เรียกว่ารัฐราชการ ซึ่งความเป็นรัฐราชการไม่สอดรับกับความเป็นประชาธิปไตย”

เพราะรัฐราชการไทยเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ก่อนตั้งแต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย รัฐราชการจึงไม่สอดรับกับความเป็นประชาธิปไตย ทำให้เป็นรัฐที่ซ้อนอยู่ในโครงสร้างของความเป็นรัฐในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งความเป็นรัฐซ้อนรัฐแบบนี้ ถ้าไม่สามารถคลายปมได้ ยุทธพรมองว่าโอกาสที่จะสร้างสังคมที่มีความประชาธิปไตยก็เป็นไปได้ยาก

 

dscf2013

ไม่ชี้หน้า แต่ฟังเสียงกัน

สังคมประชาธิปไตย คือสังคมที่ฟังเสียงกัน รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เขาชอบประชาธิปไตย เพราะไม่ชอบถูกใครชี้หน้า

“ต่อให้ผมไม่ชอบนักการเมือง แต่เขาก็ไม่ชี้หน้าผม ฉะนั้น ผมชอบประชาธิปไตย เพราะผมไม่ชอบถูกใครชี้หน้า แต่สำหรับบางคนที่รู้สึกดีกับการถูกชี้หน้า เพราะเขา (รัฐ) ชี้ให้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ดี ผมต้องถามกลับว่ามันดีสำหรับใคร? คือเขาอาจจะชี้ในสิ่งที่เขาคิดว่าดี แต่คำถามคือดีจริงหรือไม่?

“ในสังคมประชาธิปไตยเขารับฟังเสียงกัน ทำไมชาวนาจำนวนมากจึงยังปลูกข้าว จึงยังชีพด้วยเกษตรกรรมอยู่เพราะเขามีชุดตรรกะชุดหนึ่ง ก็ต้องฟังเขาด้วย ไม่ใช่ไปชี้บอกแบบนี้โง่ ฟังเรานี่! เรารู้ดี! ก็เพราะไม่ฟังกันไง เลยต้องมีกระบวนการมากำกับให้ทุกสี่ปีเรามีเลือกตั้ง”

จากนั้นเพื่อฉายให้เห็นหนึ่งในองคาพยพของสังคมที่นำพาให้ย้อนเวลากลับมาสู่อดีตกาล สมชายอธิบายเรื่องความเกี่ยวพันของสถาบันตุลาการกับสังคมไทยในการปะทะกันของสองกระแส

“กระแสหนึ่งคือเรื่องตุลาการภิวัตน์ กับอีกกระแสหนึ่งคือเรื่องแบ่งแยกอำนาจ ฝ่ายที่ยกย่องกระแสตุลาการภิวัตน์ต่างก็บอกว่าสถาบันตุลาการเป็นสถาบันที่หลุดพ้นจากผลประโยชน์ต่างๆ เป็นสถาบันที่เข้ามากอบกู้สังคมจากเผด็จการทุนนิยมสามานย์ อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับตุลาการภิวัตน์ โดยยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจ

“สิ่งที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาคือ ฝ่ายตุลาการทำได้แต่เฉพาะประเด็นทางกฎหมาย ไม่ใช่ประเด็นทางนโยบาย เพราะประเด็นทางนโยบายเป็นข้อถกเถียงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประกันราคาข้าว ซึ่งเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องทางกฎหมาย ฉะนั้น สถาบันตุลาการเข้ามาไม่ได้ ไม่เกี่ยวข้อง”

ในมุมมองสมชาย กฎหมายไม่ใช่เรื่องของตัวบท หากแต่เป็นเรื่องของการลงไปดูว่ากฎหมายต่างๆ เวลาปฏิบัติจริงนั้นเป็นอย่างไร

“กฎหมายคือสิ่งที่กระทำกับความเป็นจริง โดยพิจารณาจากคำวินิจฉัยที่ไม่อาจแยกขาดจากตัวผู้พิพากษาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีภูมิหลัง มีความคิดความเชื่อทางศาสนา มีอคติที่ถูกห้อมล้อมด้วยความเชื่อต่างๆ จำนวนมาก

“ศาลไม่ใช่สถาบันที่มีจุดยืนทางด้านศีลธรรม แต่เป็นสถาบันที่เต็มไปด้วยเครือข่ายร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องทะลุทะลวงให้ได้ก่อนจะทำให้ศาลเป็นส่วนหนึ่งของระบบประชาธิปไตย”

dscf2011

ประชาธิปไตยในชีวิตประจำวัน และประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ขณะที่ ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่าประชาธิปไตยไม่ได้แอบอิงอยู่บนความเลื่อนลอย สวยหรู ทว่าเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน

“คือสังคมมันเปลี่ยนไปมากจนเราไม่สามารถไปผลักให้คนมันเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาได้ แน่นอนว่าประชาธิปไตยมีหลายแบบ มีทั้งประชาธิปไตยแบบรวมศูนย์ อย่างพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ประชาธิปไตยแบบทุนนิยม แต่เราเห็นไหมว่าทุกประเทศในโลกนี้ไม่มีใครกล้าไม่เอาประชาธิปไตย

“ประชาธิปไตยที่แท้จริง คือการต้องมีรัฐธรรมนูญกำกับ ไม่อย่างนั้นคนนี้พูดอย่างคนนั้นก็พูดอย่าง แล้วประชาธิปไตยที่แท้จริงคืออะไร? อเมริกามีรัฐธรรมนูญมาสองร้อยกว่าปี ฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญมาสองร้อยกว่าปี ไทยเรามีรัฐธรรมนูญมากว่าแปดสิบปี แต่ในแปดสิบปีเราก็มีช่วงเว้นว่างจากรัฐธรรมนูญที่อาจจะพูดได้ว่าเรามีรัฐธรรมนูญจริงๆ ไม่ถึงยี่สิบปี”

“นอกจากนี้ประชาธิปไตยยังเป็นเรื่องของพันธะสัญญา ว่าเราไม่สามารถอนุญาตให้ใครสักคนมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงคนเดียว หรือเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป ประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องของพันธะสัญญา และพันธะสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร ก็คือรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน”

dscf2017

อีกคำที่สร้างความสับสนอยู่เสมอ คือคำว่า ‘ประชาธิปไตยแบบไทยๆ’ คำนี้สะท้อนลักษณะ Siamese talk หรือสังคมที่พูดอย่างทำอย่าง เช่น การยกขบวนไปปิดหน่วยเลือกตั้ง หรือขัดขวางการเลือกตั้ง ก็มีคนเรียกว่าการชุมนุมโดยสันติวิธี หรือคำว่า ‘ขอคืนพื้นที่’ ซึ่งเป็นคำที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่ความเป็นจริงคือการอนุญาตให้ใช้อาวุธกับผู้ชุมนุม

รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ เริ่มต้นด้วยการเสนอชุดคำที่คุ้นชินเพื่ออธิบายว่าทำไมประชาธิปไตยในไทยจึงเป็นประชาธิปไตยที่แตกต่างจากที่อื่น ก่อนจะกล่าวถึงลักษณะนิยมความเป็นไทยแบบนี้อาจเป็นหายนะเมื่อนำมาต่อท้ายประชาธิปไตย

“ประชาธิปไตยไม่มีแบบไหนทั้งสิ้น ถ้าจะมีแบบก็คือ แบบของการใช้อำนาจอย่างไร ยังไงเราต้องยืนยันว่าประชาธิปไตยมีแบบเดียว”

ประชาธิปไตยเป็นระบบเดียวที่ประกันอำนาจของประชาชนชนชั้นล่าง มันประกันว่าทุกคนไม่ว่าชนชั้นใดก็ตามล้วนเท่าเทียมกัน แม้จะมีการโจมตีอยู่เสมอว่าเป็นประชาธิปไตยสี่วินาที แต่สุธาชัยมองว่าสี่วินาทีอาจยังดีกว่าไม่มีสักวินาทีเดียว

สังคมใดก็ตามที่คนในสังคมคิดเหมือนกัน สุธาชัยเห็นว่าสังคมนั้นมีปัญหา

“สังคมที่เป็นจริง มนุษย์ทุกคนไม่ได้คิดเหมือนกัน การคิดต่างเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การจะทำให้คนคิดเหมือนๆ กันเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติ ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นเรื่องของกลไกที่จะตัดสิน เพราะไม่ว่าคุณจะคิดยังไงก็ตาม ประชาธิปไตยตัดสินด้วยเสียงข้างมาก โดยเสียงข้างมากก็จะมีกรอบเวลา อย่างเช่นในสี่ปี คุณต้องเอาแบบนี้นะเพราะเป็นเสียงข้างมาก แต่ในอีกสี่ปีอาจไม่ใช่ก็ได้ ฉะนั้น ประชาธิปไตยจึงมีหลักแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแบบนี้”

กับคำถามที่ว่า ทำไมประเทศไทยจึงดึกดำบรรพ์ได้ขนาดนี้? สุธาชัยอธิบายว่า เพราะประเทศไทยมีชนชั้นนำที่ล้าหลัง รวมไปถึงชนชั้นกลางบางส่วนที่ไม่เคยมองเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

“ย้อนหลังกลับไปสิบปี พวกเราในหมู่นักวิชาการไม่เคยมีใครคิดเลยว่าประเทศไทยจะเกิดการรัฐประหารถึงสองครั้ง เราคิดว่าชนชั้นนำไทยจะก้าวหน้า ไม่ได้คิดว่าชนชั้นนำไทยจะดึกดำบรรพ์ได้ขนาดนี้ ทั้งในการรัฐประหารเมื่อปี 49 และในการรัฐประหารปี 57 กองทัพไม่ได้มีความมั่นใจเลยที่จะยึดอำนาจ

“ความต้องการที่จะยึดอำนาจจึงไม่ใช่ความต้องการของกองทัพ แต่เป็นความต้องการของชนชั้นสูง ทั้งการปิดถนน ปิดหน่วยราชการเป็นเดือนๆ ของคุณสุเทพจะทำไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับการอนุญาตจากชนชั้นนำ”

dscf2023

เพราะนักการเมืองเลว การเมืองไทยเลยไม่ใสสะอาด!

ไม่ว่าฝ่ายอนุรักษนิยมหรือฝ่ายก้าวหน้า ไม่ได้มีปัญหากับคำว่าประชาธิปไตย ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า คำที่มีปัญหาจริงๆ คือคำว่า ‘การเมือง’

“เพราะการเมืองถูกนำไปเชื่อมโยงกับความสกปรก เพราะว่านักการเมืองมันเลว มันชั่ว คนทั่วไปไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะการเมืองไม่สะอาด ฉะนั้น คำว่าประชาธิปไตยของทั้งสองฝ่ายจึงแตกต่างกันตรงนี้

“ฝ่ายหนึ่งมองว่าการเมืองกับประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าประชาธิปไตยกับการเมืองเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันได้ ดังนั้น ประชาธิปไตยของอีกฝ่ายหนึ่งจึงเป็นประชาธิปไตยอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยก็ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน”

ประชาธิปไตยไม่ใช่คำที่ทำให้คนพูดดูดี และเป็นระบอบที่ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอย่างแน่นอน เพราะการเมืองคือการจัดสรรทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรทางอำนาจ ขณะที่แต่ละระบอบมีการจัดสรรทรัพยากรไม่เหมือนกัน เพียงแต่ประชาธิปไตยเป็นระบอบเดียวที่ให้สิทธิ์ทุกคนในการมีส่วนร่วม

ปองขวัญยอมรับว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่ตัดสินว่าสิ่งใดดีที่สุด เพราะสิ่งที่ดีที่สุดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ระบอบประชาธิปไตยคือระบอบที่ให้ ‘พื้นที่’ ทุกคนในการแสดงความเห็น แลกเปลี่ยน นำไปสู่จุดร่วมสุดท้ายว่าเราจะนำพาสังคมไปในทิศทางไหน

“สังคมประชาธิปไตยไม่ใช่สังคมที่มีเสถียรภาพอย่างถาวร ไม่ใช่สังคมที่ทุกฝ่ายเห็นร่วมกัน แต่ว่าอย่างน้อยเป็นสังคมที่ทำให้ทุกคนเห็นจุดที่อยู่ตรงกลาง เห็นสิ่งที่สามารถจะเดินไปด้วยกันได้ในอนาคต และนี่คือเสน่ห์ของประชาธิปไตยที่ระบอบอื่นๆ ซึ่งให้คนหนึ่งคนตัดสินใจแทนคนทุกคนทำไม่ได้”

คำอธิบายทั้งหลายอาจทำให้เราเข้าใจมากขึ้น แต่มันอาจไม่ส่งผลใดๆ เลย หากเราตอบตัวเองไม่ได้ว่า ก้าวต่อไปในอนาคต เราจะย้อนกลับไปสู่ยุคดึกดำบรรพ์เช่นที่เป็น หรือนำพาตัวเองไปสู่การเปิดพื้นที่ทางความคิดเห็นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า