เพราะยากจนและเหน็บหนาว คนฟินแลนด์จึงรักการอ่าน
“ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน ฟินแลนด์เป็นเพียงหนึ่งในประเทศเล็กๆ ที่ยากจน ทีวีมีเพียงแค่หนึ่งช่อง เพราะอากาศข้างนอกก็หนาวมาก กิจกรรมที่ครอบครัวทำร่วมกันได้คืออ่านหนังสือด้วยกันในบ้าน วัฒนธรรมการอ่านจึงเริ่มต้นจากจุดนั้น”
เมื่ออ่านหนังสือจนหมดบ้าน ทางเลือกที่สองของชาวฟินคือเดินเข้าห้องสมุด – เป็นคำบอกเล่าของ ยานา เตือร์นิ (Jaana Tyrni) ผู้อำนวยการห้องสมุดเมืองเอสโป ประเทศฟินแลนด์
ส่วนอันนี้เป็นข้อเท็จจริง
ปี 1928 ฟินแลนด์ มีพระราชบัญญัติห้องสมุดฉบับแรก ระบุชัดเจนว่า ประชาชนทุกคนไม่ว่ารวยหรือจนต้องเข้าถึงห้องสมุด ห้องสมุดต้องบริการฟรี มีทุกเมือง และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างชาติ
ปี 1986 บริการห้องสมุด คือหนึ่งในรัฐสวัสดิการสำหรับประชากรชาวฟินแลนด์ทุกคน
การศึกษาและห้องสมุดสาธารณะของฟินแลนด์ ตั้งอยู่บนรากฐานและแนวคิดเดียวกัน คือ sivistys ตามภาษาฟินแลนด์ แปลเป็นไทยได้ว่า เคารพการเรียนรู้ เคารพความรู้ เคารพการศึกษา เคารพวัฒนธรรม เคารพผู้คนและเปิดใจต่อสิ่งใหม่ๆ ไอเดีย แนวคิด การพัฒนาส่วนบุคคลมีค่าเทียบเท่าการพัฒนาสังคม (อ่านบทความ “จงปล่อยให้ดอกไม้บาน” รากฐานประชาธิปไตยในห้องสมุดฟินแลนด์)
WAY สนทนากับ ยานา เตือร์นิ ผู้ที่ทำงานห้องสมุดมากว่า 30 ปี สุภาพสตรีอารมณ์ดีคนนี้เป็นเบอร์หนึ่งของห้องสมุดเมืองเอสโป เอสโป เป็นเมืองที่ติดกับกรุงเฮลซิงกิ มีป่า ทะเลสาบ อุทยานแห่งชาติ และห้องสมุด 4 แห่งกระจายทั่วเมืองตามจุดต่างๆ 12 จุดย่อย กับ อีก 2 รถห้องสมุดเคลื่อนที่
ยานาบอกว่า บทบาทสำคัญของห้องสมุดวันนี้ คือ maker space สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ทุกกิจกรรมทำได้และเกิดขึ้นได้ที่ห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็น การเล่นดนตรี ทำงานไม้ เล่นเกม คุยเรื่องการเมืองแบบไม่มีใครมาเซ็นเซอร์ คนอ่านหนังสือไม่ได้ก็ยังมา เพราะที่ห้องสมุดมีบริการน้องหมาช่วยฟัง
หรือถ้าไม่มีอะไรทำ…
“ไม่ต้องคิดว่าจะมาทำอะไรหรอก ก็แค่มา” ยานาพูดยิ้มๆ
บทสนทนาต่อจากนี้ทำให้เรารู้ว่า ทำไมสถิติการยืม-คืนหนังสือของห้องสมุดเอสโป จึงสูงถึง 4.2 ล้านครั้งต่อปี ทั้งๆ ที่ประชากรทั้งประเทศมีเพียง 5.5 ล้านคน
เปรียบเทียบกับวิชาชีพครู คนฟินแลนด์มีมุมมองต่อคนทำงานห้องสมุดอย่างไร ให้คุณค่าต่างกันหรือไม่
ในสังคมฟินแลนด์ยังไม่ได้ยกย่องคนทำงานห้องสมุดเทียบเท่าครู ค่าตอบแทนได้น้อยกว่า เหตุผลหนึ่งคือหลักสูตรสำหรับบรรณารักษ์และคนทำงานห้องสมุดเพิ่งเริ่มในศตวรรษ 1970 องค์ความรู้จึงยังใหม่
อย่างไรก็ตาม จากพระราชบัญญัติห้องสมุดสาธารณะฉบับใหม่ ทักษะของบรรณารักษ์ก็เปลี่ยนไป เราต้องการและเปิดให้คนหลากหลายสาขามาทำงานห้องสมุด ไม่ว่าจะเป็นวิศวกร นักดนตรี ช่างไม้ ครู เพราะทักษะที่เราให้บริการมันเปลี่ยนไป ไม่ได้มีแค่การยืมคืนหรือให้คำแนะนำเรื่องหนังสืออีกต่อไป ในห้องสมุดมีอะไรเต็มไปหมดทั้งงานไม้ เครื่องพิมพ์ 3D ฯลฯ
มีกิจกรรมอะไรบ้าง ที่ต้องใช้ทักษะหลากหลาย
แต่ก่อนห้องสมุดฟินแลนด์ใช้ซีดีจำนวนมาก เพราะมีบริการให้ยืมซีดี แต่ตอนนี้ทุกคน streaming กันหมด ดังนั้นในงบประมาณเดียวกัน ปัจจุบันเราเอางบตรงนี้มาจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ซื้ออูคูเลเล่ สอนอูคูเลเล่ ซึ่งได้รับความนิยมมากๆ ทั้งในหมู่วัยรุ่น คนทำงาน และผู้สูงอายุ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเล่นเป็นมาก่อน
กลุ่มคนมาเรียนที่แอคทีฟมากๆ จะแวะไปตามบ้านพักคนชราต่างๆ รอบๆ ห้องสมุด ไปเล่นดนตรี เล่นอูคูเลเล่ให้ฟัง ตามพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งทุกคนไปใช้พื้นที่ตรงนี้ได้ เป็นกิจกรรมที่ทำให้คนมาเจอกัน คนที่เรียนก็รู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองเรียนมีคุณค่า
แน่นอน คนที่มาเรียนจำนวนมาก ก็ทำอูคูเลเล่เสียหายเยอะเหมือนกัน เครื่องพิมพ์ 3D และอุปกรณ์ต่างๆ อีกมาก (หัวเราะ) เพราะห้องสมุดเป็น maker space เราจึงต้องการช่างเทคนิคที่รู้จักเครื่องมือเหล่านี้มาแนะนำ สอนให้ใช้เป็น และซ่อมเป็น
มีกิจกรรมอะไรบ้างที่มาจากการฟังเสียงคนใช้บริการ
ค่อนข้างเยอะค่ะ เช่น การสอนภาษา มีผู้อพยพจำนวนมากเข้ามาในฟินแลนด์ เราจึงเปิดคอร์สสอนภาษาฟินแลนด์ อาทิตย์ละ 1 วัน เพื่อให้เขาฝึกพูด สื่อสารภาษา ปรับตัวให้เข้ากับสังคม นอกจากนั้น ห้องสมุดยังจัดกิจกรรม Language Cafe พาคนฟินแลนด์กับผู้อพยพมาเจอกัน มาฝึกพูดกัน โดยไม่ได้ทำแบบห้องเรียนเป๊ะๆ เราไม่อยากให้เคร่งเครียดขนาดนั้น
อาสาสมัครที่มาช่วยงานห้องสมุดที่คุณบอกว่ามีอาชีพหลากหลาย หนึ่งในนั้นคุณพูดถึงทหารเกณฑ์ อยากรู้ว่าเขาช่วยงานอะไรบ้าง
พวกเขาคือคนหนุ่ม เต็มไปด้วยพรสวรรค์ ทักษะต่างๆ ที่แตกต่างจากบรรณารักษ์อย่างฉัน (หัวเราะ) การมีคนทำงานหลากหลายจึงสำคัญมาก
พวกเขาขยันขันแข็งช่วยงานรูทีน (routine) ห้องสมุดทุกอย่าง เช่น นั่งประจำ information desk ให้ข้อมูล คอยตอบคำถาม ส่วนใหญ่พวกเขามี service mind มากๆ อยากช่วย ทำงานบริการช่วยเหลือลูกค้าได้ยอดเยี่ยมมาก และคอยบอกว่าวัยรุ่นผู้ชายน่าจะชอบอะไรบ้าง พวกเขามีทัศนคติที่ดีมาก เต็มใจช่วยเหลือมากๆ ซึ่งฉันคิดว่าเป็นคุณสมบัติข้อสำคัญที่สุดค่ะ
สิ่งสำคัญคือ คนไม่ได้คาดหวังว่าเราจะต้องรู้ทุกเรื่อง แต่เขาคาดหวังว่าเราจะเต็มใจช่วยเหลือ (ยิ้ม)
เวลารับสมัครคนเข้าทำงานห้องสมุด คุณดูจากอะไรหรือต้องการคุณสมบัติอะไรบ้าง
มันไม่ใช่แค่เรื่องระดับการศึกษา หรือคุณรู้มากแค่ไหน แต่สิ่งสำคัญคือทัศนคติ คุณเต็มใจที่จะฟังและช่วยเหลือลูกค้าจริงๆ หรือเปล่า เช่น คนอพยพจะพูดว่า ผม/ฉันไม่รู้จะกรอกเอกสารอย่างไร คุณช่วยฉันได้หรือเปล่า
เพราะงานอีกอย่างของห้องสมุดปัจจุบัน คือ ช่วยลดความยุ่งเหยิงของระบบราชการ เช่น ช่วยผู้อพยพหรือผู้สูงวัยกรอกแบบฟอร์ม เพราะผู้สูงวัยจำนวนมากใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็น เด็กๆ มาช่วยสอนใช้สมาร์ทโฟน แทบเล็ต โปรแกรมสไกป์ ฯลฯ ซึ่งถามว่าเราต้องการคนจบปริญญาโทมาสอนตรงนี้ไหม ก็อาจจะไม่ (หัวเราะ) แต่มันคือทักษะการเรียนรู้ทั้งหมด
ถ้าจะถามถึงคุณสมบัติที่ฉันต้องการมากที่สุด ฉันต้องการคนที่รักเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่ใช่แค่รักหนังสือ (หัวเราะ) ต้องรักคนก่อนรักหนังสือ เราสนับสนุนและให้ความสำคัญและดูว่าประชาชนทำอะไรไม่ได้ มากกว่าเขาทำอะไรได้ เราจะได้ช่วยเขา
ห้องสมุดเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียง แลกเปลี่ยนเรื่องการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา ของระบอบประชาธิปไตย รูปธรรมและกิจกรรมมีอะไรบ้าง
ทั่วไป กิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเมือง ศาสนา เราไม่ได้จัดแต่จะเป็นคนข้างนอกมาจัด ก่อนอื่น เราต้องรู้ว่าใครเป็นคนจัด เช่นเดียวกันถ้าหัวข้อ มีลักษณะเหยียด หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งมากๆ (controversial) หรือคาดการณ์ได้ว่าถ้าจัดแล้วเกิดเหตุร้ายแรงอะไรขึ้น ก็จะจ้างการ์ดมาดูแล แต่ไม่ได้ห้ามจัด
ที่ห้องสมุดมีบริการน้องหมาช่วยการอ่าน สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องการอ่าน ช่วยอย่างไร ต้องใช้สายพันธุ์ไหนเป็นพิเศษหรือไม่
ไม่ได้เจาะจงว่าต้องใช้พันธุ์ไหนเป็นพิเศษ ถ้าผ่านคุณสมบัติต่างๆ เช่น อดทนพอไหม ตั้งใจฟังพอไหม อยู่เฉยๆ เป็น พันธุ์ไหนก็ได้ ขอให้นั่งนิ่งๆ ฟังเป็น ให้คนอ่านรู้สึกปลอดภัย ไม่กดดัน ไม่ถูกตัดสินว่าถูกหรือผิด
ขั้นตอนการทดสอบ ฉันเองก็ไม่ได้รู้ลึกมากนัก เป็นแค่ผู้สังเกตการทดสอบรอบนอก เท่าที่พอบอกได้คือ สร้างสถานการณ์ มีคนเดินผ่านมา เจ้าหมาโฟกัสที่ใคร ที่เด็กหรือคนอื่น เพราะหมาบางตัวก็ไม่สามารถอยู่นิ่งๆ ได้
เจ้าของเองก็ได้รับการให้ข้อมูลว่าการบริการนี้มันเป็นอย่างไร ตัวหมาทำงานอย่างไร
ทั้งหมดเป็นงานอาสาสมัคร ไม่มีการจ่ายเงิน มันเป็นคล้ายๆ งานอดิเรกของหมาที่เจ้าของจะพาหมา ซึ่งได้รับความนิยมมากๆ มา หมาก็เอนจอยกับงานอาสาสมัคร
ที่ผ่านมา เคยมีการประเมินผลของการใช้บริการน้องหมาช่วยอ่านบ้างหรือไม่ อย่างไร
มีค่ะ ยกตัวอย่าง เด็กผู้หญิงมัธยมปลายคนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยพูดจากับใคร ไม่มีใครเคยได้ยินเสียงเธอ ครูก็เฝ้าถาม แต่เธอก็ไม่เคยตอบ แต่พอเธอมาอ่านกับน้องหมาในห้องสมุด ราวๆ 4 สัปดาห์ เธอก็เริ่มพูด และบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เธอรู้สึกปลอดภัยในสถานที่สาธารณะ
วัยรุ่นมีส่วนร่วมกับห้องสมุดอย่างไรบ้าง ทำอะไรบ้าง
ห้องสมุดเรามีวัยรุ่นมาใช้งานวันละ 100 คนในวันธรรมดา บางคนก็ยืมหนังสือ บางคนก็ทำอย่างอื่น เช่น เล่มเกม ตีปิงปอง ฯลฯ เรามี Club for Teens ที่พวกเขาสามารถมาทำดนตรีเองได้ เด็กๆ ที่ไม่มีเงินซื้อเครื่องดนตรี ก็มาเล่นมาเรียนดนตรีที่นี่ได้
เด็กหลายคนบอกว่าการมาห้องสมุดคืองานอดิเรกของเขา สำหรับฉัน สิ่งนี้สำคัญมากๆ นะ พวกเขาไม่จำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างตลอดเวลาหรอก แค่มีความสุขที่จะมาก็พอ มาใช้ space เพื่อหาความสุข
พวกเขายังไม่เป็นผู้ใหญ่ การมาห้องสมุดก็จะมีเรื่องคุย เรื่องเล่า ที่อาจบอกครู พ่อแม่ไม่ได้ เพราะอาจจะเพิ่มแรงกดดันให้อีก แต่ที่ห้องสมุดเล่าได้ หลายคนมาเล่า มาปรับทุกข์กับเรา
เราจึงกลายเป็นนักฟัง นักจิตบำบัดไปด้วย ทำทุกอย่าง (ยิ้ม)
สิ่งที่อยากจะบอกจริงๆ คือ ก็แค่มา ไม่เห็นต้องรู้สึกว่ามาเพื่อทำอะไร มาแล้วอยากทำอะไรก็ทำ แล้วจะมีผู้ใหญ่แถวนั้นคอยดูแลเอง
เปรียบเทียบกับห้องสมุดไทยที่เจ้าหน้าที่มักจะบอกว่าให้เงียบ ห้องสมุดที่ฟินแลนด์ต้องเงียบไหม
ที่ฟินแลนด์ก็เหมือนกัน เราก็เคยบอกกับกลุ่มเด็กว่าอย่าตะโกน อย่าวิ่ง แต่ก็คุยกันได้ และต้องไม่รบกวนคนอื่น ต้องเคารพคนอื่น
ส่วนการแต่งตัว เชื่อไหม ครั้งแรกที่ฉันเข้าห้องสมุด ฉันใส่รองเท้าแตะ เจอเจ้าหน้าที่บอกว่าครั้งต่อไป ต้องใส่ถุงเท้านะ ฉันก็…ค่ะ (หัวเราะ)
ส่วนเรื่องพฤติกรรมการใช้งาน สมัยก่อนคุณไม่ได้รับอนุญาตให้กินอาหารและเครื่องดื่มในห้องสมุด แต่ตอนนี้การเดินเข้าพร้อมแก้วกาแฟเป็นเรื่องปกติมาก จากที่เคยห้ามกระทั่งขวดน้ำ เราก็มานั่งคุยกันใหม่ว่าทุกคนต้องกินน้ำ ดื่มกาแฟนะ เราเลยปรับเปลี่ยน แต่ก็ต้องไม่กินหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือหนังสือของห้องสมุด แต่ถ้ากิน/ดื่มตอนนั่งอ่านหนังสือตัวเอง ตามสบาย
หลักการและการทำงานทุกอย่างขึ้นกับ Sivistys?
ใช่ โดยเฉพาะการทำงานของสมุด คนทำงานจะพูดกันเสมอว่า เราต้องมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งสำคัญมาก
คนทำงานห้องสมุดต้องมีความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงหรือทำสิ่งใหม่ๆ อย่ากลัว เพราะการทำความผิดคือของขวัญสำหรับองค์กร มันคือการเรียนรู้จากความผิดพลาด
ในฟินแลนด์มีหนังสือที่มองว่าไร้สาระไหม
ไร้สาระสำหรับใครล่ะ ใครเป็นคนตัดสิน มันอาจจะไร้สาระสำหรับบางคนแต่อีกหลายคนมันไม่ใช่
คุณอยากทำงานห้องสมุดตั้งแต่เด็กๆ เลยหรือเปล่า
ฉันคิดเรื่องทำอาชีพอะไรดีตอนอายุเกือบๆ ยี่สิบ ตอนนั้นคิดว่าอยากเป็นนักสังคมสงเคราะห์ แต่ครูคนหนึ่งก็พูดกับฉันว่า เธอต้องคิดให้รอบคอบนะ ประเด็นสังคมมันค่อนข้างหนัก เธออาจมีปัญหาเวลาทำงาน เธอพร้อมรับภาระของคนอื่นจริงๆ ไหม เวลาถูกเอาไปแก้ปัญหาให้คนอื่น จนไม่มีเวลาว่างให้ตัวเอง ลองคิดใหม่ไหมว่าตัวเองชอบอะไร แล้วฉันก็ลองคิด ฉันชอบอ่านหนังสือ ฉันชอบพบเจอพูดคุยกับผู้คน เลยเริ่มมาทำงานห้องสมุด และฉันก็จบปริญญาโทด้านบรรณารักษ์มานะ (ยิ้ม)
คุณชอบอะไรในงานมากที่สุด
(นิ่งคิด) ได้ทำอะไรที่สำคัญจริงๆ ต่อสังคม มันไม่ใช่แค่เรื่องทำงานหาเงิน แต่คือทำให้ชีวิตคนคนหนึ่งดีขึ้น ฉันเชื่ออย่างนั้น
มันเป็นงานที่ช่วยสร้างโอกาสให้คน ถ้าชีวิตมีความหมายอย่างนั้น ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น