ห้องเรียนฟินๆ ที่เพี้ยนพินอนุสรณ์

เรื่อง: ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
ภาพ:
าร

วันนั้นคือวันเปิดเทอมของโรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ และโรงเรียนอื่นๆ ในสังกัดกรุงเทพมหานคร

วันนั้น เด็กๆ 30 คนของชั้น ป.2/1 ทุกคนถูกติดป้ายชื่อภาษาอังกฤษไว้บนอก ดูจากสีหน้า หลายๆ คนสงสัยแต่ไม่ยักมีใครถาม …จนเมื่อผู้อำนวยการโรงเรียนขึ้นพูดหน้าเสาธงว่า

“วันนี้จะมีคุณครูจากฟินแลนด์มาสอนนะเด็กๆ”

นอกจากเสียงว้าวของนักเรียนทั้งโรงเรียนแล้ว เด็กๆ ห้อง ป.2/1 ซึ่งได้รับเลือกให้เรียนกับ คุณครูตีน่า กับ คุณครูเอ็มมิ จากฟินแลนด์ หันหน้ามามองโดยไม่ได้นัดหมาย จะพูดอะไรกันบ้างก็ไม่รู้แต่เสียงเย้! จากเด็กๆ น่าจะสรุปได้สั้นๆ ว่า “โอเคเลย”

ถามว่าเด็กๆ รู้จักฟินแลนด์กันไหม?

“ไม่เคยเลยค่ะ”

คิดว่าฟินแลนด์อยู่ไกลไหม?

“ไกลมากกกกกกค่ะ นั่งเครื่องบินสี่ชั่วโมงน่าจะถึง”

แล้วคิดว่าฟินแลนด์เป็นยังไง?

“หิมะตก หนาว แล้วก็…น่าจะมีกวางค่ะ (ยิ้ม)”

คาบแรก ดนตรีและภาษาอังกฤษแบบฟินๆ

เจ้าของประโยคข้างต้นชื่อ ด.ญ.อิศรา ศิรีงาม หรือ น้องไอโฟน เด็กสาวตัวเล็กวัย 8 ขวบที่ได้เข้าห้องเรียนฟินแลนด์วันนี้ด้วย และก็เป็นไปอย่างที่ไอโฟนว่าไว้จริงๆ เพราะวิชาจากฟินแลนด์วันนี้มี ‘กวาง’ ด้วย

คุณครูตีน่า เมาส์เต กับ คุณครูเอ็มมิ แฮร์เลอร์ เวสเตออเกร์ สองคุณครูประจำชั้นจากฟินแลนด์ ที่เตรียมการสอนมาเต็มแม็ก เริ่มตั้งแต่ภาษาอังกฤษ ดนตรี คณิตศาสตร์ และศิลปะ

ทั้งหมดสอนด้วยเสียงในฟิล์ม ไม่มีแปลเป็นไทย (เพราะทั้งครูตีน่าและครูเอ็มมิไม่มีใครพูดไทยได้เลย)
“เราเชื่อว่า ถ้าเราแปล เด็กบางคนก็จะนั่ง ฝัน และหลับ เพราะเด็กๆ รู้ว่าเดี๋ยวก็แปลเป็นไทย ไม่ต้องฟังภาษาอังกฤษก็ได้ แต่ถ้าเด็กๆ รู้ว่าจะไม่มีการแปล พวกเขาจะโฟกัสมากๆ คอยฟังว่าครูจะพูดอะไร” ครูเอ็มมิอธิบาย

ครูเอ็มมิทำท่าหมี

ยกตัวอย่างคาบแรก วิชาภาษาอังกฤษ ครูเอ็มมิเริ่มต้นด้วยการชวนเด็กๆ ร้องเพลง

There was a great big moose.
Who like to drink a lot of juice.

แน่นอน ไม่มีเด็กโรงเรียนเพี้ยนพินคนไหนรู้จักกวางมูส แต่นั่นไม่ใช่ธงของครูเอ็มมิ หากอยู่ที่การโน้มน้าวให้เด็กๆ ร้องเพลงตามทั้งๆ ที่ยังไม่เข้าใจความหมาย สายตาแป๋วๆ ก็มัวแต่จับจ้องไปที่ครูต่างชาติแบบกล้าๆ กลัวๆ เสียวตัวเองจะร้องผิด (เพื่อนล้อแย่)

ปาไปรอบที่ 5 ที่ 6 โน่นแหละ เด็กๆ ถึงค่อยกล้าร้องตาม หลังจากคุ้นกับจังหวะและพอจับคำได้แล้ว คราวนี้ดังนำโด่งม
เสียงของนักเรียนหญิงในห้อง ส่วน 19 คนจากฝั่งผู้ชายยังเงียบกริ๊บ

“เด็กผู้หญิงจะกล้ากว่าค่ะ เด็กผู้ชายจะหนักไปในทางแกล้งกัน ถึงขั้นชกต่อยกันก็มีค่ะ เราต้องห้ามบ่อยๆ” คุณครูฤทัย อยู่ศิริ คุณครูประจำชั้น ป.2/1 เล่านิสัยเด็กๆ ให้ฟัง

“แต่ครูเอ็มมิก็ขยันมากนะคะ พยายามร้องช้าๆ ชัดๆ ให้เด็กฟังโดยไม่เบื่อ จนเด็กๆ เค้าเริ่มคุ้นและกล้าร้องตาม” ครูฤทัยชมเปาะหลังจากนั่งสังเกตการณ์อยู่ใกล้ๆ

คาบถัดมาคือ วิชาภาษาอังกฤษ ครูเอ็มมิก็ดึงเอาเรื่องกวางมูสและเพื่อนสัตว์ทั้งหลายมาสอนต่อผ่านหนังสือภาพเรื่อง Under and Over – แนะนำสัตว์ที่อยู่ในน้ำและบนบก เพื่อย้ำภาพจำกับสัตว์ตัวเดิม ช่วยให้เด็กไม่ต้องนับ 1 ใหม่เมื่อเริ่มวิชาถัดไป

“ถือว่าเป็นหนังสือที่ยากสำหรับพวกเขา แต่ฉันจะอ่านด้วยการพูดซ้ำ ด้วยน้ำเสียงเร้าใจเพื่อให้เด็กรับ message เราแล้วมีปฏิกิริยาตอบกลับมา นี่คือบทเรียนแรกของการฝึกหัดและเรียนรู้”

ครูเอ็มมิยังบอกอีกว่าสิ่งเหล่านี้คือข้อได้เปรียบ ถ้าเราเริ่มต้นจากความไม่เข้าใจ แล้วพยายามอย่างถึงที่สุด ทักษะด้านภาษาจะพัฒนาต่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าใจในทุกคำ

คาบปราบเซียน คณิต และ ศิลปะ

มาถึงคาบปราบเซียนอย่างคณิตศาสตร์ที่หลายคนขยาดแม้จะสอนด้วยภาษาไทย แต่สองครูฟินแลนด์เขามีคาถาอะไรหนอ ถึงดึงเด็กให้ตาแป๋วหูผึ่งกันได้ทุกคน

คาบนี้ นักเรียนถูกแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม กลุ่มแรกบวกเลขแล้วระบายสี กลุ่มสองแทนค่าอุปกรณ์ต่างๆ อย่างมะกะโรนี ไม้ไอติม แล้วบวกลบเลขตามโจทย์ กลุ่มสามต่อรูปทรงเรขาคณิต เช่น สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมเป็นสัตว์ที่เรียนมาเมื่อสองคาบที่แล้ว และสี่ ทอยลูกเต๋า ต่อภาพสัตว์ (อีกแล้ว)

สัตว์ที่เรียนมาตั้งแค่คาบดนตรี ภาษาอังกฤษ คณิต ถูกนำมาใช้จนถึงคาบสุดท้ายอย่างศิลปะ ที่งานนี้ไม่ได้มาง่ายๆ แบบให้เด็กๆ ระบายสี

แต่ครูจะเตรียมกระดาษสีมาจำนวนมาก พร้อมกับภาพสัตว์ต่างๆ ที่ได้คุ้นกันมาตั้งแต่คาบแรก โดยให้เด็กๆ เลือกภาพและกระดาษสีตามใจชอบ จากนั้นให้ขยำกระดาษสีแล้วแปะลงไปในภาพสัตว์ตัวโปรดที่ตัวเองเลือกมา

“ชอบช่วงนี้มากค่ะ เด็กๆ ได้ทำงานศิลปะ เอากระดาษมาขยำแล้วติดกับรูป พิเศษตรงที่เด็กๆ มีโอกาสเลือกว่าอยากเป็นสัตว์ตัวไหน ตัวอะไร และได้ทำกิจกรรมที่ได้ใช้มือ เลือกสีเอง เรียนรู้ศัพท์ที่เขาได้เรียนมาตอนเช้า

“รู้สึกว่าครูทำทุกวิชาให้เชื่อมโยง เด็กได้เรียนทั้งวัน ทำให้เด็กจดจำได้มากขึ้น เพราะปกติเวลาเราเปลี่ยนวิชาบ่อยๆ บางทีเด็กยังไม่ทันเข้าใจก็หมดเวลาแล้ว เวลาหนึ่งชั่วโมง กว่าเขาจะเข้ามาห้องเรียน มานั่งเรียบร้อย เรียนแป๊บๆ เด็กเขาจะไม่เข้าใจแบบ long term อันนี้คิดว่าดีมากๆ เลยที่เอาเรื่องเดียวกันมาเชื่อมโยงทุกวิชา ผ่านธีมใหญ่เดียวกัน ทุกอย่างเกี่ยวกับสัตว์หมด” เสียงจาก ‘ครูเตย’ นสวรรณร์ โพธิ์สุวรรณ์ คุณครูวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ ที่สังเกตการณ์พร้อมรับหน้าที่ครูผู้ช่วยตั้งแต่ต้นจนจบ

วิชาศิลปะแบบฟินๆ

ทำไมต้อง ‘เพี้ยนพินอนุสรณ์’

จากคำบอกเล่าของครูเตย เด็กๆ ที่นี่จะเรียนภาษาอังกฤษสัปดาห์ละสี่คาบ แบ่งเป็นคุณครูต่างชาติหนึ่งคาบ และครูไทยสามคาบ และที่นี่คือ 1 ใน 140 โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (โรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษาเป็นหลัก แต่อาจมีการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาและถึงมัธยมศึกษา)

โรงเรียนย่านบางนาแห่งนี้ ประกอบด้วยนักเรียนจากเจ็ดชุมชนใกล้เคียง คือ ชุมชนกลางนา ชุมชนโปษยานนท์ ชุมชนรุ่งสว่าง ชุมชนพูนสวัสดิ์ ชุมชนร่วมพัฒนา ชุมชนร่วมใจประเสริฐ และชุมชนร่มประดู่

“เพราะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส บางทีในการเรียน เข้าถึงสื่อ หรือการเรียนพิเศษของเขาจะไม่เท่าเด็กในโรงเรียนเอกชน พ่อแม่ส่วนใหญ่อาชีพรับจ้าง ดังนั้นเรื่องภาษาอังกฤษ สำหรับเด็กมัธยม ฟังพอได้ แต่เรื่องเขียนจะยาก บางคนอยู่ ม.1 ม.2 ท่อง A-Z แต่เวลาให้เขียนพิมพ์เล็กพิมพ์ใหญ่ เขาจะงงๆ บางที B กับ D เขียนสลับข้างกัน ส่วนทักษะการพูดเขาจะไม่ค่อยกล้าพูด เพราะรู้สึกว่าเวลาพูดจะโดนเพื่้อนล้อ เลยมีปัญหาตรงนี้บ้าง ” ครูเตยอธิบาย

เวลาอยู่ในคาบ ครูเตยใช้วิธีพูดภาษาอังกฤษกับเด็กให้มากที่สุด  ตั้งแต่การทักทาย  คำสั่งง่ายๆ เช่น turn on the light , are you finnish? ให้เด็กๆ รู้สึกชิน

“ถ้าเราสอนภาษาอังกฤษ แล้วเราไม่พูดกับเขาหรือให้เขาได้ใช้จริงในห้อง โอกาสที่เขาจะได้ใช้ข้างนอกหรือใช้ในสังคมก็ยาก เลยเอามาใช้ พูดกับเขาไปเลย แต่มันจะใช้เวลานิดนึงกว่าเขาจะเข้าใจ”

นี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คุณครูตีน่าและคุณครูเอ็มมิเลือกมาสอนโรงเรียนนี้ แทนที่จะไปโรงเรียนทางเลือก สองภาษา นานาชาติ หรือโรงเรียนสาธิตต่างๆ “ฉันคาดหวังจะได้เจอของจริง นักเรียนโดยเฉลี่ยที่รู้ภาษาอังกฤษไม่มาก เรียนวิชาภาษาไทยมากกว่า เด็กที่มาเรียนโรงเรียนนี้เพราะใกล้บ้าน อยู่ในชุมชน นี่คือสิ่งที่ฉันคาดหวังในวันนี้” ตีน่าบอกความต้องการ

พอเจอจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร

“วันนี้ฉันมีความสุขมาก (ยิ้ม) สนุกมากที่ได้เอาความรู้ที่มีออกมาใช้ ถ้าฉันได้สอนนักเรียนต่อเนื่อง จะ 2-3 สัปดาห์ หรือ 2-3 เดือน พวกเขาจะสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

คุณครูตีน่าทำท่ากวางมูส

แต่ความจริงคือ ครูตีน่าและครูเอ็มมิมาสอนเพียงครึ่งวัน หลังจากนั้นก็อาจเป็นหน้าที่ของครูไทยที่จะเอาวิชาฟินๆ วันนี้ไปปรับใช้ในการเรียนการสอน

“อันดับแรกที่ทำได้ง่ายๆ คือเพิ่มกิจกรรมให้นักเรียน แทนที่จะสอนด้วยการพูด แต่ทำอย่างไรให้เด็กได้พูดมากกว่า ได้ทำกิจกรรมมากกว่านั่งฟังครูสอน อาจจะเริ่มด้วยการเพิ่มกิจกรรมที่เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางในทุกๆ กลุ่ม เพื่อให้มอบอำนาจและความอิสระให้เด็กๆ ผ่านการถามความคิดเห็นของเด็กๆ เช่น เด็กต้องการเรียนแบบไหนหรือต้องการเรียนที่ไหน โรงเรียนนี้มีสภาพแวดล้อมที่ดีมาก แต่ฉันไม่รู้ว่าจะเอาทรัพยากรเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในการเรียนอย่างไร เช่น พื้นที่สนามหญ้า ทางเดินในอาคาร สระน้ำ ฯลฯ ที่โรงเรียนฟินแลนด์สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ใช้เฉพาะในชั่วโมงพละ” ครูตีน่าแนะนำ

ด้านครูไทยหัวใจภาษาอังกฤษอย่างครูเตยเอง ห้องเรียนฟินแลนด์ช่วยจุดไฟกองใหญ่เลยทีเดียว

“จากนี้ไปคงปรับให้เด็กๆ ทำกิจกรรมมากขึ้นในห้องเรียน ให้ดูมีชีวิตชีวา ให้เขาได้เลือก ที่จำได้เลยคือ เขาบอกว่า เด็กๆ จะเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัว อาจสอดแทรกกิจกรรม เช่นเวลาเบรก มีเกมให้เล่นบ้าง ปกติเด็กๆ ชอบเล่นเกมอยู่แล้ว เวลาเราให้เด็กเขียน feedback ก็จะเขียนว่า อยากให้ครูเอาเกมมาเล่นในห้อง เราคงเอาเกมอย่างที่เขาชอบเข้ามาบ้าง รับฟังความต้องการของเขาบ้าง”

ติดขัดอยู่อีกเรื่องคืออุปกรณ์ สื่อการสอนที่ครูฟินแลนด์จัดมาเต็มเหลือเกิน แต่แน่นอน การสอนคือการประยุกต์ใช้ ไม่ต้องถอดแบบเขามาเสียทั้งหมด
“เอาจริงๆ เลยก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ยากเพราะด้วยระบบราชการ การขอหรือจัดของมันจะช้ามากๆ แต่เราก็พอมีทรัพยากรอยู่บ้าง ก็คิดว่าบริหารจัดการเท่าที่เรามีก่อน และพยายามทำออกมาชิ้นหนึ่งแล้วให้มันใช้ได้หลายๆ ครั้ง ไม่ใช่เปลี่ยนบ่อยๆ ก็อาจจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ (ยิ้ม)”

ครูเตยกับเด็กๆ มาในท่ากระต่าย

ไม่ต้องทำการบ้าน ไม่ต้องเรียนพิเศษ

นอกจากรูปแบบการสอนที่น่าจะนำมาปรับใช้ได้แล้ว สิ่งหนึ่งที่เด็กไทยมีแต่เด็กฟินแลนด์ไม่มีหรือมีน้อยมาก คือ การบ้านและเรียนพิเศษ

ครูประจำชั้น ป.1 อย่างครูเอ็มมิบอกว่าไม่ใช่ว่าที่ฟินแลนด์จะไม่มีการบ้านเลย มี แต่ใช้ทำเวลาเต็มที่แค่ 30 นาที เพราะเชื่อว่า บ้านมีไว้พักผ่อน

“หลังจากนั้นเป็นเวลาอิสระของพวกเขา ที่จะได้ไปทำกิจกรรมหลังเลิกเรียน หรือไปเล่นกีฬา ดนตรีกับเพื่อนๆ หรืออยู่กับพ่อแม่ การเรียนและเวลาอิสระต้องสมดุลกัน เราจะไม่ให้เด็กเรียน เรียน และเรียน ใช้ทุกชั่วโมงไปกับการเรียน” ตีน่าเสริม

แน่นอน…โรงเรียนพิเศษหรือสถาบันติวเตอร์ก็ไม่มี”หน้าที่หรือความรับผิดชอบของโรงเรียนคือการจัดหาการศึกษาพื้นฐานที่ได้มาตรฐานและนักเรียนก็เรียนตรงนี้อย่างเต็มเวลา เรามีการสบับสนุน สอนเสริมที่จัดทำโดยโรงเรียนเอง มีครูพิเศษด้านการศึกษา ครู social worker ครูด้านจิตวิทยา ครูด้านพยาบาล ทุกคนทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของนักเรียน และทำงานร่วมกับนักเรียน พ่อแม่ ที่สำคัญทั้งหมดอยู่ในชั่วโมงเรียนในห้องเรียน”

ทั้งนี้ เพราะครูตีน่าเชื่อว่า สิ่งที่โรงเรียนควรเตรียมความพร้อมให้นักเรียนคือการใช้ชีวิต ไม่ใช่การสอบประเมินผล

สิ่งหนึ่งที่ฟินแลนด์พยายามหาคำตอบคือ คิดว่าคนรุ่นต่อไปในประเทศต้องการอะไร พวกเขาต้องการความรู้พร้อมข้อมูลหรือเปล่า หรือพวกเขาต้องการข้อมูลอย่างเดียว หรือพวกเขาต้องการทักษะการแก้ปัญหา ศักยภาพ หรือทักษะการสื่อสาร ทักษะทางอารมณ์เพื่ออยู่ให้ได้ในสังคม เราต้องทำให้แน่ใจว่าการศึกษาสามารถมอบสิ่งเหล่านี้ให้เด็กๆ ได้”

ที่สำคัญ ครูตีน่าเชื่อว่า การศึกษาที่ไหนๆ ในโลกก็เปลี่ยนแปลงได้

กับประโยคที่ว่าการศึกษาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ คือสิ่งที่ฉันได้ยินมาตลอดเวลา สำหรับฉันมันคือข้ออ้างสำหรับครู เป็นข้ออ้างที่ไม่ดีด้วย สิ่งสำคัญคือการตระหนักว่า เราสามารถเปลี่ยนได้ในระยะเวลาอันสั้น และ ยาว และในระยะเวลาสั้นคุณเปลี่ยนอะไรได้บ้าง เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว”

………………………………………

ใกล้หมดวันแล้ว ไอโฟน เดินออกจากห้องด้วยรอยยิ้ม นอกจากคุณครูใจดีและมีเวลาให้เล่นมากกว่าปกติจะเป็น ‘ที่สุด’ ของวันนี้แล้ว คณิตศาสตร์คือวิชาที่ชอบมากที่สุด “ชอบตอนบวกลบเลขค่ะ เพราะจะได้บวกเป็นคณิตศาสตร์ด้วย เป็นภาษาอังกฤษด้วย  ได้เรียนทั้งสองวิชาเลย” โตขึ้นไอโฟนบอกว่าอยากเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษ แต่ก่อนหน้านั้นถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปเรียนต่อต่างประเทศก่อน ถามว่าอยากไปไหน?”เกาหลีค่ะ (ตอบทันที) อ๋อ…แล้วก็ฟินแลนด์ด้วย (หัวเราะ)”


สนับสนุนโดย

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า