คำเตือนการใช้งาน: โปรดเก็บ ‘ปืน’ ให้พ้นจากมือเด็ก

เรื่อง: พชร์ โพธิ์พุ่ม

 

• 18 มิถุนายน เด็กชายวัย 4 ขวบทำปืนลั่นใส่ตัวเองเสียชีวิตที่เพนซิลวาเนีย
• 19 มิถุนายน วัยรุ่นวัย 16 ปี เสียชีวิตจากการเล่นปืนโดยประมาทในฟลอริดา
• 20 มิถุนายน เด็กชายวัย 3 ขวบเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายด้วยปืนที่มิชิแกน

มีเด็กเสียชีวิตจากการเล่นปืนโดยประมาททุกวัน และเราแทบจะชินกับการได้ยินข่าวรายวันเหล่านี้เสียแล้ว

สถิติในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าเด็กอเมริกันเสียชีวิตจากการถูกยิงเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุรถชน ข้อสังเกตที่อาจจุดขึ้นอาจเป็นว่า ขณะที่คุณภาพชีวิตบนท้องถนนของเด็กๆ กำลังดีขึ้น แต่อุบัติเหตุจากปืนกลับไม่มีใครสนใจ

งานวิจัยล่าสุดที่ชื่อว่าChildhood Firearm Injuries in the United Statesในวารสาร Pediatrics รายงานว่า ที่อเมริกา แต่ละปีจะมีเด็กเสียชีวิตจากการถูกยิงประมาณ 1,300 คน ในจำนวนนี้ 53 เปอร์เซ็นต์ เป็นการฆาตกรรม, 38 เปอร์เซ็นต์เป็นการฆ่าตัวตาย และอีก 6 เปอร์เซ็นต์เป็นอุบัติเหตุ ทั้งยังมีเด็กๆ อีก 5,000 คน เป็นเด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืน

ที่น่าสนใจคือ ในตัวเลขนั้น เป็นการเล่นปืนโดยประมาทกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ คำนวณตัวเลขออกเป็นวันๆ จะมีเด็กในอเมริกาตายเพราะการเล่นปืนวันละ 1.5 คน

นอกจากนั้น งานวิจัยยังระบุตัวเลขเฉลี่ยว่าในแต่ละปีจะมีเด็ก 493 คนฆ่าตัวตายด้วยปืน พวกเขาใช้เวลาเพียง 10 นาที หรือน้อยกว่านั้นในการ ‘คิด’ ฆ่าตัวตาย

เฉพาะในปี 2007 อัตราการฆ่าตัวตายของเด็กมีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปี 2014 ค่าเฉลี่ยดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 เปอร์เซ็นต์ และยังคงเพิ่มขึ้นอีกในปัจจุบัน สาเหตุสำคัญประการหนึ่ง มาจากการที่เด็กเข้าถึงอาวุธ ’ในบ้าน’ ได้โดยง่าย

“เหตุการณ์เด็กเล็กๆ ที่เสียชีวิตจากการเล่นปืนเป็นปัญหาที่สำคัญและสามารถป้องกันได้ และการเข้าใจธรรมชาติของเด็กคือก้าวแรกในการป้องกัน” แคเธอรีน เอ. ฟาวเลอร์ (Katherine A. Fowler) หัวหน้านักวิจัยกล่าว

ปัจจุบันใบอนุญาตพกอาวุธปืนเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เหตุผลหนึ่งคือการสร้างความปลอดภัยให้กับครอบครัว แต่ภัยร้ายจากการที่เด็กๆ ค้นอาวุธปืนเหล่านั้นได้ใกล้มือ อาจยังเป็นมูลเหตุที่ผู้ปกครองยังใส่ใจไม่เพียงพอ 

การห้ามเล่นปืนของเล่นอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องสำหรับการป้องกันเหตุร้าย

ปกหนังสือ It’s a Boy: Your Son’s Development from Birth to Age 18

 

ในหนังสือชื่อว่า It’s a Boy! Your Son’s Development From Birth to Age 18 ของ ไมเคิล ธอมป์สัน (Michael Thompson) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กกล่าวว่า เด็กในวัย 2-3 ขวบ เมื่อเพศสภาพเริ่มมีผลต่อการเล่น โดยปกติเด็กผู้ชายจะเริ่มเล่นอะไรที่มีความรุนแรง เช่น ต่อสู้กับสัตว์ประหลาด ขณะที่เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเล่นบทบาทสมมุติที่นุ่มนวลมาก ธอมป์สัน จึงสรุปว่าการเล่นของพวกเขา จึงเกี่ยวข้องกับสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้บทบาทความเป็นหญิงชาย จากสิ่งที่พบเห็นในครอบครัว               

ตามทฤษฎีนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันลูกรักจากการเล่นอะไรที่รุนแรง คือการห้ามเล่นปืน ‘ของเล่น’ หรือไม่ให้เล่นบทบาทสมมุติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงไปเลยน้ันไม่จริงเสมอไป เพราะพวกเขาสามารถเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงเหล่านี้ได้จากที่อื่น                                                                                          

การเล่นของเด็กเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาการทางด้านสังคมและการรู้คิด                    

การเล่นโดยใช้จินตนาการ (imaginary games) ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะควบคุมร่างกาย จิตใจ ความอดทน การคิดเชิงสัญลักษณ์ และได้เรียนรู้จากมุมมองของคนอื่นๆ การเล่นยังปล่อยให้เด็กๆ ได้แสดงความต้องการและแสดงความกลัวออกมาด้วย

ธอมป์สันอธิบายการเล่นด้วยการใช้ความรุนแรงของเด็กผู้ชายว่า “ในขณะที่เราเป็นเด็ก เราไม่ได้มีพลังที่จะทำอะไรได้มากนัก แต่เพียงการพกปืนของเล่น ก็ทำให้รู้สึกมีพลังพิเศษ เหมือนเราเป็นเป็นฮีโร่”                                                                                                                                 

เห็นได้ว่าการเล่นพวกนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรุนแรงโดยตรง แต่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ทางสังคมของเด็กด้วย เช่น การเป็นผู้นำ การแพ้-ชนะ และ การให้อภัย เป็นต้น

ซึ่งความรู้สึก ‘ได้เป็นฮีโร่’ นี้ พวกเราสามารถเติมเต็มความรู้สึกเหล่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างความเจ็บปวดหรือใช้ความรุนแรงเสมอไป กลับกัน การห้ามให้เด็กเล่นปืนของเล่น หรือการละเล่นที่พวกผู้ใหญ่เห็นว่ารุนแรง อาจจะส่งผลถึงการเรียนรู้ของเด็ก และทำให้พวกเขารู้สึกต่อต้าน  

หากวิธีป้องกันอุบัติเหตุจากการเล่นปืนของพวกเขา ควรเริ่มตั้งแต่ปัญหาพื้นฐาน นั่นคือ การไม่มี ‘ปืนจริง’ อยู่ในบ้าน หรือเก็บให้พ้นมือ และไม่ให้พวกเขารู้ว่ามีปืนจริงซ่อนอยู่ในบ้านเลย เป็นหนทางดีที่สุดในการป้องกันชีวิตพวกเขา

อย่างไรก็ตาม ธอมป์สันเห็นว่าการพูดคุยกับเขาให้เข้าใจถึงอันตรายของปืนอย่างตรงไปตรงมา และสร้างความตระหนักกับผู้ปกครองเองว่าปืนสามารถทำอันตรายเด็กได้ ทั้งหมดนี้เพื่อความปลอดภัยของเด็ก และการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วย


อ้างอิงข้อมูลจาก: webmd.com
news.com.au
pediatrics.aappublications.org

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า