ก่อนจะถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ที่มีผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งถึง 31 คน กลุ่มพลังกำเนิดใหม่อย่างกลุ่มที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรกจำนวนกว่า 700,000 คน อาจเป็นพลังสำคัญในการชี้ชะตาอนาคตในอีก 4 ปีข้างหน้า
การเลือกตั้งครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นก่อนจะมีการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2556 หรือคิดเป็นระยะเวลาถึง 9 ปีที่กลุ่มอายุ 18-27 ปี ไม่ได้มีโอกาสออกไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง และต้องใช้เวลา 9 ปีดังกล่าวในการอยู่กับผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร การจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้จึงเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ตบเท้าเข้าคูหาเพื่อแสดงเจตจำนงในบ้านเกิดของตัวเองเป็นครั้งแรก และอาจจะทำให้การคาดคะเนของนักวิเคราะห์ทางการเมืองทั้งหลายในการทำนายผลการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องทบทวนตัวแปรเกิดใหม่อย่าง First Voters ด้วยความจริงจังมากขึ้น
WAY ร่วมพูดคุยกับเยาวชนคนหนุ่มสาวทั้ง 8 คน ผู้ถูกนับเป็น First Voters และกำลังตื่นเต้นกับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเร็ววัน คำถามสั้นๆ ทั้ง 4 คำถามที่ดูเรียบง่าย อาจจะพอเปิดโอกาสให้สังคมไทยได้เห็นตัวแทนมุมมองของคนรุ่นใหม่ (และกลุ่มใกล้อายุ 30 แต่ไม่ได้มีโอกาสเข้าคูหามาหลายปี) และร่วมเข้าใจทิศทางอนาคตของสภาพสังคมการเมืองมากขึ้น
1. การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งสุดท้าย ต่างคนอยู่ที่ไหน ทำอะไรกันอยู่
เกือบทั้ง 8 คน ต่างใช้เวลานึกพอสมควร เสียงส่วนใหญ่ตอบว่าที่ต้องใช้เวลาคิดนานเพราะต้องย้อนความทรงจำไปถึง 9 ปี โดย ธารารัตน์ นิยมทอง ในฐานะผู้ตอบคำถามที่อายุน้อยที่สุดเพียง 21 ปี ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ระบุว่าขณะนั้นเขายังเป็นนักเรียนชั้น ม.ต้น
หากกระเถิบรุ่นขึ้นมาเล็กน้อย เป๊ป ผู้สื่อข่าววัย 24 ปี ระบุเอาไว้ใกล้เคียงกับธารารัตน์ว่า “ตอนปี 2556 เพิ่งจะขึ้น ม.ปลาย เรียนๆ เล่นๆ ไปวันๆ เพราะตอนนั้นยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง” และ บุญสิตา รวิโสภิตยิ่ง พนักงานบริษัท อายุ 24 ปี เช่นกัน ระบุว่า “ตอนนั้นน่าจะอยู่ ม.ต้น ก็คือเรียนปกติเลย พ่อไม่ได้อยู่ไทย แต่แม่ก็ได้ไปเลือกตั้ง เราก็เลยตามไปดูด้วย”
หากพิจารณาจากคำตอบข้างต้น ผสมกับคำตอบของ ณัฏฐ์ สรรค์วนิชพัฒนา อายุ 25 ปี และคำตอบของ โอ๊ค พนักงานบริษัทวัย 24 ปี ที่มีทิศทางคล้ายกันแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวกลุ่มคนเหล่านี้ยังอยู่ในสถานะมัธยมต้น หรือเพิ่งจะเริ่มขึ้นชั้นมัธยมปลาย และไม่ค่อยได้ติดตามการเลือกตั้งในครั้งนั้นมากนัก แต่ตัวแปรสำคัญที่ทำให้พวกเขาใกล้ชิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มากขึ้นคือการติดตามผู้ปกครองไปยังคูหา
ขณะเดียวกันในรุ่นปลายของการเป็น First Voters อย่าง ทัตเทพ กันเขตร วิศวกร อายุ 27 ปี ระบุว่าช่วงปี 2556 เขาเกือบได้เลือกตั้งแล้ว แต่อายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ “เมื่อปี 2556 ที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กำลังเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้น อายุยังไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ เลยไม่สามารถที่จะเลือกตั้งได้ และให้ความสนใจกับเรื่องการศึกษามากกว่าเพราะเพิ่งเรียนชั้นปีที่ 1 แต่ก็พอได้ติดตามอยู่บ้าง”
2. จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ เพราะอะไร
คำถามนี้เป็นคำถามที่ต้องการหยั่งเสียงดูว่า First Voters นั้นมีความตื่นตัวทางการเมืองแค่ไหน แน่นอนว่าในจำนวนผู้ตอบคำถามทั้ง 8 คน ต่างยืนยันจะออกไปเลือกตั้งกันอย่างแน่นอน แต่สาเหตุที่ทำให้อยากออกไปใช้สิทธินั้นล้วนมีความแตกต่างกันไป
มีจำนวนหนึ่งรายที่ต้องการออกไปใช้สิทธิครั้งนี้เพราะอยากได้ผู้ที่มีความสามารถจริงๆ มาบริหาร กทม. โดย ธารารัตน์ ระบุว่า “เพราะต้องการให้คนที่มีความสามารถมาพัฒนาและบริหารให้กรุงเทพฯ มีสภาพที่ดี สะดวก ปลอดภัย และน่าอยู่ขึ้น”
อีกเสียงหนึ่งอย่าง บุญสิตา ตอบว่าเป็นเรื่องของการใช้สิทธิและให้ความสำคัญกับสิทธิที่เรามี โดยเธอระบุว่า “คิดว่าเป็นอะไรที่พลาดไม่ได้ ปกติเวลามีสิทธิอะไรให้ใช้เล็กๆ น้อยๆ อย่างการเลือกตั้งองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ก็ไปใช้สิทธิ บอกให้เพื่อนๆ ไปด้วยกันด้วย แล้วอันนี้มันใหญ่กว่านั้นมาก คือต่อให้ยุ่งแค่ไหนก็ต้องไป รู้สึกว่ามันสำคัญมากๆ ส่งผลต่ออนาคตของเราโดยตรง แล้วก็เป็นอะไรที่เราสามารถทำได้ไม่ยากในฐานะประชาชนคนหนึ่งในการแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็น” ซึ่งใกล้เคียงกับคำตอบของ ณัฏฐ์ ที่ระบุว่า “ออกไปใช้สิทธิแน่นอนครับ เพราะเป็นครั้งแรกจะได้ใช้สิทธิของตัวเอง บวกกับอยากเห็นกรุงเทพฯเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นด้วยครับ”
สองคำตอบข้างต้นถูกเน้นย้ำโดย สโรชา เอิบโชคชัย ที่อยากใช้สิทธิของตนเองในการเลือกผู้ว่าฯ กทม. มาก และเน้นย้ำถึงการไม่อยากได้ผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการแต่งตั้ง “จะยอมตื่นเช้าหนึ่งวัน แล้วรีบไปเปิดหีบเลย อยากเลือกตั้ง ไม่ได้อยากให้ใครต้องแต่งตั้ง” และคำตอบของ สรชัช ที่ระบุว่า “ไปแน่นอน เพราะอยากใช้สิทธิ์ใช้เสียงที่ประชาชนพึงมี แล้วก็อยากให้คนที่เราเลือกได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.”
อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจให้คำตอบกับคำถามนี้โดยยกปัญหาขึ้นมาขยายความ โดย เป๊ป ระบุว่า “เพราะปัญหาที่หมักหมมมาเกือบ 10 ปี ต้องมีคนมาแก้ไข มันยิ่งทำให้ต้องออกไปกาบัตรเลือกตั้ง ยิ่งออกไปกันมากๆ คนที่เราอยากให้เขาชนะก็ยิ่งมีโอกาส” และโอ๊ค ที่ให้เหตุผลว่า “ออกไป (ใช้สิทธิ) แน่นอน เพราะ กทม. มีปัญหาทั้งเมืองและคนเยอะ”
ขณะเดียวกัน ทัตเทพ ก็ได้ระบุว่า “ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งแน่นอน เพราะอยากมีส่วนร่วมและมีความคาดหวังว่าจะได้ผู้ว่าฯ ที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงได้”
การตอบคำถามทั้งหมดนี้ จึงชี้ให้เห็นว่ากลุ่ม First Voters ให้ความสำคัญกับสิทธิที่ประชาชนพึงมีเป็นอย่างมาก มองว่าเป็นสิ่งที่ควรหวงแหนและต้องใช้สิทธิอยู่เสมอ ขณะเดียวกันก็รับรู้ร่วมกันว่า กทม. มีปัญหาที่เยอะและหลากหลาย การแก้ไขปัญหานี้จึงจำเป็นต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อหาคนที่เหมาะกับงานมาสร้างความเปลี่ยนแปลงกับบ้านเมืองของพวกเขาให้ได้
3. อยากได้ผู้ว่าฯ กทม. แบบไหน เพราะอะไร
ธารารัตน์ระบุว่า “อยากได้ผู้ว่าฯ กทม. แบบที่พูดแล้วทำจริง ไม่ใช่เอาแต่พูด พอถูกเลือกแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนไปสักอย่าง”
แน่นอนว่าแม้แต่ในความคิดเห็นของ First Voters พวกเขาก็มองว่าการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. ต้องพูดแล้วทำ แต่หากจะขยายความแนวคิดหลักเหล่านี้ให้มากขึ้น เป๊บ ได้อธิบายเอาไว้ในคำตอบของเขาว่า “อยากได้นักบริหารที่เข้าใจปัญหาของกรุงเทพฯ และรู้ว่าตัวเองมีขอบเขตการทำงานอะไรบ้าง เป็นคนที่เข้าใจปัญหาเส้นเลือดฝอย รู้รายละเอียดเชิงลึกของปัญหา นำเสนอนโยบายที่ตอบโจทย์ ไม่ใช่การขายฝันด้วยชุดคำพูดใหญ่ๆ หรืออ้างว่าขอมาทำต่อ” ซึ่งใกล้เคียงกับคำตอบของ บุญสิตา ที่ระบุว่า “อยากได้ผู้ว่าฯ กทม. ที่มีความรู้ในการบริหารจริงๆ แน่วแน่ในการทำงาน และไม่ขายฝัน เรารู้สึกว่ามันไม่ง่ายที่จะมาบริหารกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นต้องเป็นคนที่ชัดเจน มีแผน ฟังเสียงประชาชน ‘ทุกคน’ จริงๆ ไม่ใช่แบบลอยๆ พูดเก่งอย่างเดียว อะไรแบบนี้”
ไม่ใช่แค่ความเห็นข้างต้นเพียงรายเดียวที่พูดถึงการอยากได้ผู้ว่าฯ กทม. ที่รับฟังคนอื่น สรชัช เองก็ตอบเอาไว้ใกล้เคียงกันว่า “อยากได้ผู้ว่าฯ กทม. ที่ทำงานจริง แก้ปัญหาได้จริง แล้วก็ Down to Earth รับฟังเสียงคนใน กทม. รวมไปถึงชาวต่างจังหวัด ชาวต่างชาติ ที่ทำงานใน กทม. เหล่านี้ด้วย และแน่นอนว่าต้องสนับสนุนประชาธิปไตย”
“อยากได้คนเข้าใจและสนับสนุนนโยบายในจุดเล็กๆ ให้ครอบคลุมความต้องการของคนกรุงเทพฯ จริงๆ เพราะเมืองนี้มีอะไรใหญ่ยักษ์มากพอแล้ว แต่ถ้าสร้างสิ่งใหม่แล้วไม่แก้ปัญหาเดิมที่มองว่าเป็นเรื่องเล็กควบคู่กันไป หรือปล่อยให้คนชินไปเอง ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง” สโรชา พูดถึงผู้ว่าฯ กทม. ในฝัน ที่ควรเริ่มลองทำอะไรเล็กๆ ให้ครอบคลุมความต้องการของคนมากขึ้น เช่นเดียวกับความคิดเห็นของ โอ๊ค ที่ระบุว่า “อยากได้ผู้ว่าฯ กทม. ที่ทำให้เมืองดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะจะได้เป็นการสร้างจิตสำนึกแบบการเมืองท้องถิ่นให้คน กทม. ไปในตัว ก่อนหน้านี้คน กทม. เลือกผู้ว่าฯ โดยอิงจากการเมืองระดับชาติมากเกินไป คิดว่าควรมีมิติในการลงคะแนนที่หลากหลายขึ้น”
ไม่ใช่แค่การรับฟัง แต่ First Voter บางคนก็ยังต้องการผู้ว่าฯ ที่สามารถจัดการกับปัญหาเรื้อรังใน กทม. ให้ได้อย่างจริงจังมากขึ้น โดย ณัฏฐ์ ตอบคำถามนี้ว่า “ส่วนตัวผมอยากได้ผู้ว่าฯ ที่ฟังเสียงของประชาชนว่าต้องการอะไร ผู้ว่าฯ ที่สามารถสู้กับความอยุติธรรมต่างๆ ผมรู้สึกว่าในกรุงเทพฯเนี่ย การกินส่วนต่างของการก่อสร้างมันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นทางเท้า ถนน หรือว่าระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ผมอยากได้ผู้ว่าฯ ที่กล้าที่จะชนกับปัญหาตรงนั้นได้” ส่วน ทัตเทพ ระบุว่า “ต้องการให้เข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบที่มันล้าสมัย ทำโครงการหรือนโยบายที่สามารถจับต้องได้จริงสำหรับคนกรุงเทพฯ เพราะปัจจุบันทั้งสวัสดิการหรือนโยบายของ กทม. ไม่สามารถจับต้องได้เลยสักอย่าง”
ในลักษณะนี้ จึงหมายความว่ากลุ่ม First Voters ให้ความสำคัญสูงมากกับการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. ทั้งต้องการคนที่ ‘กล้าชน’ กับปัญหาหรือความล้าสมัย ทั้งต้องการคนที่ ‘บริหารได้’ มาทำงานแก้ไขปัญหาอย่างมืออาชีพ อย่างไรก็ตาม ทิศทางเดียวกันที่พวกเขามองหาคือคนที่รับฟังเสียงของประชาชน เป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง และสนับสนุนประชาธิปไตย
4. มองสนามเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร
ทุกคนต่างตอบคำถามสุดท้ายนี้ว่าการเลือกตั้งเต็มไปด้วยความหลากหลาย โดย สโรชา ระบุว่า “ปีนี้เป็นปีที่เราเห็นความสร้างสรรค์ในการแข่งขันเยอะมาก ทั้งนโยบาย ป้ายหาเสียง รวมไปถึงช่องทางการโปรโมตของแต่ละเบอร์ แสดงถึงความหลากหลายมากๆ แต่ก็อาจจะยังไม่มากพอที่จะไม่ทำอะไรซ้ำกัน” เมื่อถูกถามต่อถึงการซ้ำกันที่เธอกล่าวถึง สโรชา อธิบายเพิ่มเติมว่า “ทุกคนก็มีแพชชั่นต่างกัน แต่นโยบายหลายๆ อันก็แอบคล้ายกันแหละ เพราะเราก็ต่างเจอปัญหาเดียวกัน เลยคิดว่าตอนนี้มันขึ้นอยู่ที่ใครเป็นนำนโยบายนั้นไปทำได้จริงและเร็วที่สุดมากกว่า”
ในแง่ของความหลากหลาย โอ๊ค ก็ได้พูดถึงสิ่งนี้ในการตอบคำถามเช่นเดียวกัน “ผู้สมัครครั้งนี้มีความหลากหลายสูง แม้หลายคนจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองคล้ายกัน แต่การนำเสนอทำให้แตกต่างต่างกันได้อย่างชัดเจน ที่น่าสนใจคือ นโยบายหลายคนเริ่มหันมามองคนจนมากขึ้น หวังว่า กทม. จะเป็นที่พึ่งให้แก่คนยากคนจนได้ไม่มากก็น้อย” ความหลากหลายเช่นนี้ถึงกับทำให้หลายคนเกิดความลังเล โดย ทัตเทพ ระบุว่า “ผู้สมัครที่ลงสนามครั้งนี้ถือว่ามีความหลากหลายมาก เป็นครั้งที่ทำให้เกิดความลังเลว่าจะเลือกผู้สมัครคนไหน ส่วนตัวมองว่าผู้สมัครบางคนในรอบนี้ มีการสื่อสารกับประชาชนได้ดีกว่าตอนเลือกนายกรัฐมนตรีเสียอีก มีนโยบายที่จับต้องได้ มีจุดยืนที่ชัดเจน”
กลุ่มผู้ตอบคำถามบางส่วนได้ตอบเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยมองไปยังอนาคตที่ไกลกว่าแค่การเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 โดย เป๊ป ระบุว่า “คิดว่าจะเป็นสนามเลือกตั้งที่จะพอเขียนภาพให้เห็นว่า การเลือกตั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นอย่างช้าสุดในปีหน้าจะเป็นอย่างไร กระแสเบื่อและเกลียดรัฐบาลชุดปัจจุบันมันพุ่งสูงมาก คะแนนเลือกตั้งจากสนามผู้ว่าฯ อาจจะบอกอะไรได้”
แม้อาจจะทำให้สังคมไทยพอเห็นภาพของอนาคตที่ใหญ่กว่าเพียงแค่เรื่องของ กทม. แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ยังไม่สามารถคาดเดาอะไรได้มากนัก เรื่องนี้ บุญสิตา ตอบเอาไว้ว่า “รู้สึกว่ามันไม่มีอะไรแน่นอน ดูได้จากครั้งที่แล้ว รู้สึกว่าคนรอบตัวก็คิดๆ เหมือนกับเรา มีหวังมาก แต่ผลสุดท้ายกลับไม่ใช่เลย ครั้งนี้เลยรู้สึกว่ายิ่งประมาทไม่ได้ ทุกคนควรออกไปใช้สิทธิจริงๆ ครั้งนี้รู้สึกว่ามีพรรคอะไรไม่รู้เยอะแยะ จุดขายไม่มี ไปโปรโมตอะไรก็ไม่รู้ เหมือนลงแบบเล่นๆ ไปงั้น บางคนก็รู้สึกว่าเขามีแค่ฐานเสียง”
ในบรรดาผู้ตอบคำถาม ได้ระบุถึงความสำคัญของ First Voters เอาไว้ โดย สรชัช ระบุว่า “มี first voter ใหม่ๆ มากขึ้นเยอะด้วย คิดว่าน่าจะทำให้ผลเปลี่ยนจากที่เป็นมาสิบกว่าปีไม่มากก็น้อย แต่คิดว่าคาดเดาผลยากมาก ไม่รู้ว่าจะมีพลังเงียบ (รวมถึงการโกง บัตรเขย่ง ฯลฯ) มากแค่ไหน ผลอาจจะพลิกล็อกได้ตลอดเวลาเลย” ขณะเดียวกัน ณัฏฐ์ ระบุว่า “ส่วนตัวผมมองว่าเสียงยังค่อนข้างจะแตกอยู่เป็นสองสามเสียง ผู้ใหญ่ก็ไปทาง วัยรุ่นวัยทำงานก็ไปอีกทาง” และ ทัตเทพ ที่ระบุว่า “คนที่อายุรุ่นเดียวกันที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งมาก่อนหน้า ทำให้สนามเลือกตั้งนี้มีทิศทางไม่แน่นอนเหมือนปี 2556 เนื่องจากมีคนรุ่นใหม่จำนวนมากมีสิทธิในการเลือกตั้งแล้ว”
ดูเหมือนว่าความไม่แน่ไม่นอนของผลการเลือกตั้งก็ยังทำให้เหล่า First Voters กังวลอยู่พอสมควร อย่างไรก็ตามพวกเขามองว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้มีความคึกคักขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีความหลากหลายมากขึ้น และทำให้ผู้คนหันมาสนใจนโยบายของผู้สมัครแต่ละคนมากเสียยิ่งไปกว่าช่วงการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีรอบที่ผ่านมาเสียอีก รวมไปถึงการเลือกตั้งครั้งนี้สำหรับพวกเขายังทำให้เกิดการปลุกไฟความหวังในใจมากขึ้น ว่าปัญหาของคน กทม. นั้นต้องเริ่มต้นแก้ไขด้วยการเลือกตั้ง
กลุ่ม First Voters ผู้ร่วมตอบคำถามเหล่านี้อาจจะเป็นภาพสะท้อนของกลุ่มใหญ่หลากอายุอีกกว่า 700,000 ชีวิต การกระตือรือร้นออกมาใช้สิทธิครั้งนี้เป็นการช่วยยืนยันหลักการพื้นฐานอย่าง ‘สิทธิ’ และยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่พวกเขาต้องการจะแก้ไข ผ่านวิธีการเลือกตั้ง รวมไปถึงยังเป็นการเพิ่มการตื่นตัวทางการเมืองที่อาจจะส่งผลระยะยาวต่อการเมืองระดับชาติในอนาคตต่อไป