เลือกตั้งฝรั่งเศส 2017: เมื่อฝ่ายซ้ายหายไป ใครจะ Win?

ภาพประกอบ: Shhhh

 

โดยทั่วไป การเลือกตั้งฝรั่งเศสมักถูกกำหนดด้วยการแข่งขันด้านนโยบายของแต่ละพรรค ที่สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ทางการเมือง ความเป็นฝ่ายซ้าย-ฝ่ายขวา ดังที่เห็นได้จากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญในสาธารณรัฐที่ 5 (French Fifth Republic) ตลอดมานั้น กระแสความนิยมพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย-ขวา มักสลับกันไปมาอยู่เสมอ แต่ไม่เคยมีครั้งใดเหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2017

การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พบว่า แม้จะอยู่ในลำดับที่ 2 แต่ผู้สมัครฝ่ายขวาจัดกลับมีคะแนนสูงมาก และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั่นคือความตกต่ำของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส ที่ไม่สามารถผ่านเข้าสู่การเลือกตั้งรอบสองได้

แม้ว่าจะไม่มีใครสามารถมีชัยชนะเด็ดขาด จนต้องไปสู้ต่อกันในการเลือกตั้งรอบสอง ในวันที่ 7 พ.ค. ที่จะถึงนี้ แต่ผลการเลือกตั้งก็แสดงให้เห็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของฝรั่งเศสอย่างน่าสนใจ

เอมมานูเอล มาคร็อง (Emmanuel Macron) นักการเมืองหนุ่มวัย 39 ปี จากพรรค En Marche! ซึ่งเข้าวินมาเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้งรอบแรก กวาดคะแนนไป 8,528,585 หรือคิดเป็น 23.86 เปอร์เซ็นต์ เขาประกาศตัวเป็นผู้สมัครสายกลาง โดยมีประสบการณ์เคยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ โอลลองด์ (François Hollande) และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และกิจการดิจิตอล เขามีนโยบายแนวคิดเสรีนิยม เน้นการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจและสนับสนุนการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

ขณะที่ มารีน เลอ เปน (Marine Le Pen) จากพรรคแนวร่วมแห่งชาติ หรือ National Front (FN) ที่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 2 มีคะแนน 7,564,991 คิดเป็น 21.43 เปอร์เซ็นต์ เธอชูนโยบายขวาจัดที่สำคัญคือ ต่อต้านการรับผู้อพยพจากประเทศที่เผชิญสงคราม และเสนอให้นำฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรป

เธอมีคะแนนทิ้งผู้สมัครจากพรรคสำคัญอย่างนักการเมืองพรรคกลาง-ขวา เช่น ฟรองซัวส์ ฟียง (François Fillon) จากรีพับลิกัน 7,041,511 คะแนน คิดเป็น 19.94 เปอร์เซ็นต์ หรือนักการเมืองฝ่ายซ้ายอย่าง ฌอง-ลุค เมลองชอง (Jean-Luc Mélenchon) จากกลุ่ม La France Insoumise ที่ได้ 6,907,100 คะแนน คิดเป็น 19.56 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรวมถึงพรรคการเมืองซ้ายจัดอย่าง เบอนัวต์ อามง (Benoît Hamon) พรรคสังคมนิยม ที่ได้คะแนนมาเพียง 2,244,080 คิดเป็น 6.35 เปอร์เซ็นต์

ผลการเลือกตั้งแสดงให้เห็นว่า คะแนนนิยมฝ่ายซ้ายไม่ตอบโจทย์คนฝรั่งเศส รวมถึงการขึ้นมามีกระแสสูงของพรรคการเมืองแนวประชานิยมฝ่ายขวา ในกรณีของเลอ เปน

เสียงของมาคร็อง vs เลอ เปนมาจากไหน?

สัญญาณความตกต่ำของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศส ถูกอธิบายว่ามาจากหลายปัจจัย เช่น ปัญหาความล้มเหลวของ ฟรองซัวส์ โอลลองด์ (François Hollande) ในการผลักดันกฎหมายสำคัญ จนเขาไม่ลงสมัครเลือกตั้ง และเป็นครั้งแรกในสมัยสาธารณรัฐที่ 5 ที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ซึ่งยอมรับกันว่า กระแสประชานิยมฝ่ายขวาในหลายประเทศที่กำลังเฟื่องฟูอยู่นี้ เป็นแรงตอบสนองจากความตึงเครียดในระบบเสรีนิยมใหม่ เช่น ปัญหาอัตราการว่างงานสูง ปัญหาเศรษฐกิจ วิกฤติผู้อพยพในประเทศที่ต้องเผชิญสงคราม ฯลฯ

ประธานาธิบดีเป็นตำแหน่งสำคัญมากสำหรับการเมืองฝรั่งเศส รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ต่อจากหมวดอำนาจอธิปไตย โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสนั้น จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ในรายงานของ Bloomberg ชี้ให้เห็นว่า การเลือกตั้งรอบแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานั้น มาคร็องชนะในหลายเขตเลือกตั้งที่พรรคฝ่ายซ้ายเคยได้ในปี 2012 ในทางตรงกันข้าม เลอ เปนได้ชัยชนะในเขตที่พรรคฝ่ายขวา-กลางเคยครอบครอง และคว้าไป 30 เขต จากพื้นที่ที่ นิโกลาส์ ซาร์โกซี (Nicolas Sarkozy) เคยชนะในการเลือกตั้งครั้งก่อน

กล่าวได้ว่า ผู้สนับสนุนที่ทำให้เลอ เปนชนะการลงคะแนนเสียงอยู่ใน 9 จาก 10 จังหวัดที่มีอัตราการว่างงานสูงสุด โดยเธอได้รับคะแนนเสียงในอัตราส่วนตั้งแต่ 1/4 ถึง 1/3 ของคะแนนทั้งหมด โดยพื้นที่นี้เป็นเมืองที่มีโรงงานและถ่านหิน กระจุกตัวอยู่ทางตอนเหนือของประเทศฝรั่งเศส และทางตอนใต้ซึ่งพึ่งพาการท่องเที่ยว และมีจุดศูนย์กลางที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง

เลอ เปนไม่เพียงได้รับการสนับสนุนจากเขตชนบทเท่านั้น ใน 10 เมืองใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศสเช่น มาร์กเซย นีซ และสตราสบูร์ก ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพื้นที่ที่คน ‘มีการศึกษาสูง’ เธอก็ยังสามารถเก็บชัยชนะได้เช่นเดียวกัน

ขณะที่มาคร็องสามารถทำได้ดีกว่าเลอ เปน ในกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียงที่มีการศึกษาชั้นสูงระดับปริญญาตรีขึ้นไป และเขายังได้รับคะแนนจาก 10 จังหวัดที่มีสัดส่วนของผู้มีการศึกษาขั้นสูงระดับปริญญาโทขึ้นไปมากที่สุด

ในรายงานชิ้นเดิมยังระบุว่า จังหวัดที่มาคร็องชนะ 26.4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรมีการศึกษาขั้นสูงสุด ขณะเดียวกัน จังหวัดที่คู่แข่งของเขาชนะมีประชากรระดับการศึกษาขั้นสูงสุด 21.7 เปอร์เซ็นต์ และเลอ เปนก็ยังทำได้ดีกว่าในพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของผู้มีการศึกษาระดับอาชีวะ หรือผู้ที่ไม่มีแม้การศึกษาระดับมัธยมปลาย

เป็นที่ยอมรับกันว่า บริบทของยุโรปในขณะนี้มีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิกฤติผู้อพยพจากประเทศเผชิญสงคราม ปัญหาการก่อการร้าย และการออกเสียงประชามติ Brexit ที่ผ่านมา

ถึงกระนั้นก็ตาม ประเด็นการตัดสินใจสำคัญยังคงน่าจะมาจากปัญหาภายในของฝรั่งเศสเองมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาการว่างงาน ระบบการเกษียณอายุ ปัญหาสวัสดิการทางสังคม และรวมถึงปัญหาทางการเงินการคลังที่สะสมมานาน

อะไรคือปัจจัยการตัดสินใจของคนฝรั่งเศส?

ในรายงานสำรวจของ FTI Consulting, Inc. บริษัทให้คำปรึกษาทางนโยบาย เผยให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอีกสามประเทศ คือ อังกฤษ เยอรมนี สหรัฐ พลเมืองฝรั่งเศสไม่พอใจสภาพสังคมของตัวเองในทุกด้านๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจ้างงาน การศึกษา การเติบโตทางเศรษฐกิจ

ในกรณีผู้สนับสนุนเลอ เปน พบว่า กว่า 83 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่ารูปแบบการจัดการผู้อพยพต้องกลมกลืนเป็นอัตลักษณ์เดียวกัน คือฝรั่งเศส มากกว่าความเชื่อในความหลากหลายของวัฒนธรรม และ 76 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มเดียวกันยังเชื่อว่า กระแสโลกาภิวัตน์เป็นปัจจัยด้านลบที่ส่งผลต่อฝรั่งเศส

สำหรับการสำรวจเหตุผลในการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกนั้นพบว่า กลุ่มผู้ลงคะแนนให้ผู้สมัครห้าคนเลือกเหตุผลด้านเศรษฐกิจการคลัง ทว่าในกลุ่มของผู้สนับสนุนเลอ เปน เป็นการเลือกโดยความไม่พอใจต่อสภาพที่เป็นอยู่ถึง 26 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ในกลุ่มคนที่เลือกมาคร็องใช้เหตุผลนี้เพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ในส่วนของเหตุผลหลักที่จะเป็นพื้นฐานการตัดสินใจเลือกประธานาธิบดีฝรั่งเศส ในกลุ่มของเลอ เปน พบว่า 62 เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องของความมั่นคง ขณะที่ในกลุ่มของผู้ที่เลือกมาคร็อง เหตุผลหลักคือเรื่องของการศึกษา โดยสูงสุดอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์

ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบสอง ซึ่งจะเป็นการชี้ขาด ในวันที่ 7 พฤษภาคม แม้ว่าผู้นำพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายอย่าง ฌอง-ลุค เมลองชอง ซึ่งได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 4 จะประกาศไม่สนับสนุนมาคร็อง เนื่องจากนโยบายไม่ตรงกันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการต่อต้านโลกาภิวัตน์ และแนวคิดของมาคร็องที่ไม่สนับสนุนการผลักดันฝรั่งเศสออกจากสหภาพยุโรป แต่นักวิเคราะห์หลายคน รวมถึงการสำรวจความเห็นของ FTI ยังคงแสดงให้เห็นว่า กรณีนี้ไม่ได้ส่งผลสำคัญต่อความเป็นไปได้ที่มาคร็องจะคว้าชัยในการเลือกตั้งรอบสอง ซึ่งครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นการต่อสู้ระหว่างระบอบเสรีนิยมใหม่กับประชานิยมฝ่ายขวา โดยที่อุดมการณ์ฝ่ายซ้ายหายไปจากกระดานนับคะแนนอย่างน่าใจหาย


อ้างอิงข้อมูลจาก
bloomberg.com
politico.eu

 

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า