FOOD MANIFESTO: “เราจะส่งมอบแผ่นดินปลอดภัยให้กับคนในอนาคต”

 

ไม่ว่าใครก็ล้วนเกี่ยวข้องกับอาหารด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าเกษตรกร หมอ พยาบาล ตำรวจ ทหาร วิศวกร สถาปนิก นักเขียน บรรณาธิการ คนทำงานภาคประชาสังคม หรือกระทั่งนักบวช
นักบวชอาจมองอาหารเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงร่างกาย ทันตแพทย์อาจมองอาหารคืออนาคตของคนรุ่นถัดไป ชาวลาหู่คนหนึ่งอาจมองอาหารคือสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงมี หมอคนหนึ่งอาจมองอาหารที่ดีคือการสร้างระบบสุขภาพต้นทุนต่ำ
FOOD MANIFESTO คือมุมมองต่ออาหาร คือคำประกาศว่าอาหารประเทศนี้ควรเดินทิศทางไหน คนหนึ่งเป็นทันตแพทย์ คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คนหนึ่งเป็นคนทำงานภาคประชาสังคม คนหนึ่งทำงานผลักดันเชิงนโยบาย
WAY เดินทางไปยัง 4 จังหวัดทั่วภูมิภาคของประเทศ เชียงราย หนองบัวลำภู นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร อาหารจากมุมมองของแต่ละคนได้แตกแขนงไปสู่เรื่องอื่นๆ ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ การบริโภค ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิทธิ และนโยบายสาธารณะ
แม้ว่ามุมมองต่อเรื่องอาหารของพวกเขาจะมีรายละเอียดที่ต่างออกไป แต่ก็มีจุดร่วมมีเป้าหมายเดียวกัน คือการสร้างความมั่นคงด้านอาหารในวันที่นโยบายด้านอาหารของประเทศกำลังถูกตั้งคำถาม
FOOD MANIFESTO: “เราจะส่งมอบแผ่นดินปลอดภัยให้กับคนในอนาคต” คือ 1 ใน 4 ของซีรีย์ FOOD MANIFESTO


คำประกาศจากทันตแพทย์หญิงคนหนึ่ง: “เราจะส่งมอบแผ่นดินที่ปลอดภัยให้กับคนในอนาคต”

ทันตแพทย์หญิงคนหนึ่งถูกถามว่า “อะไรคือการงานแห่งชีวิต” เธอตอบว่า “ส่งมอบแผ่นดินที่ปลอดภัยจากสารเคมีเกษตรให้กับคนในอนาคต โดยลดละเลิกการใช้สารเคมีเกษตรและส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ให้เกิดขึ้นให้มากที่สุดเพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน”

‘เราจะส่งมอบแผ่นดินที่ปลอดภัยให้กับคนในอนาคต’ ได้กลายเป็นคีย์เวิร์ดของจังหวัดเล็กๆ อย่างหนองบัวลำภู หนองบัวลำภูอยากเป็นเมืองอาหารมั่นคง

ความฝันของคนตัวเล็กๆ หลายคนได้กลายเป็น ‘ความฝันร่วม’ ของคนทั้งจังหวัด

‘เราจะส่งมอบแผ่นดินที่ปลอดภัยให้กับคนในอนาคต’ คือ ‘ฝันร่วม’ ของหนองบัวลำภู

หนองบัวลำภูสรุปตัวตนของจังหวัดว่า ‘หนองบัวลำภูอาบยาพิษ’ เมืองที่ ‘ในน้ำมียา ในนามีอ้อย’ จากนั้นหาแนวทางเพื่อสร้างตัวตนให้จังหวัดใหม่ เป็นเมืองที่ไม่อาบยาพิษ โดยได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยครอบคลุมทั้งจังหวัดทำเป็น ‘หนองบัวลำภูโมเดล’ นำข้อมูลจากการวิจัยเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและหาพืชทดแทนพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีปริมาณมาก

 

หนองบัวลำภูมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 1,631,467 ไร่ พื้นที่การปลูกอ้อยมีมากถึง 681,000 ไร่ ย้อนกลับไปปี 2553 พื้นที่ปลูกข้าวของหนองบัวลำภูมีทั้งสิ้น 922,878 ไร่ ก่อนจะลดลงเหลือ 673,237 ไร่ในปี 2559

 

คำประกาศของคณะกรรมการวัตถุอันตราย: “ไม่แบนพาราควอต”

แต่ ‘ฝันร่วม’ ของประเทศนี้ ถูกกำหนดทิศทางออกมาหลังการประชุมนัดสำคัญของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อพิจารณาลงมติว่าจะยกเลิกการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไม่นั้น ที่สุดมติคณะกรรมการมีมติ “ไม่แบนพาราควอต”

ระหว่างปี 2560-2561 หนองบัวลำภูเป็นดาราหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ สังคมออนไลน์แชร์ข่าว ‘โรคเนื้อเน่า’ (Necrotizing Fasciitis) ที่เกิดกับเกษตรกรหลายรายในจังหวัดหนองบัวลำภู บางคนสูญเสียอวัยวะเพราะเป็นแผลที่เท้าแต่ไม่สวมรองเท้าเดินลุยน้ำปนเปื้อนสารเคมีในที่นาของตัวเองซึ่งอยู่ติดกับไร่อ้อยของเพื่อนบ้าน ถึงขนาดที่ผู้ใหญ่บ้านประกาศห้ามลูกบ้านลงน้ำ

โรคเนื้อเน่า ไร่อ้อย และพาราควอต คือความเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผลของปรากฏการณ์ที่เกิดในจังหวัดหนองบัวลำภู และถ้าเราจะนับ ‘ความยากจน’ เข้าไปในสมการนี้ ก็ไม่ได้ทำให้ตัวแปรอย่างชีวิตของเกษตรกรได้รับคำตอบ

ตลอดทั้งปี 2561 มีความพยายามผลักดันห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด พาราควอต (Paraquat), คลอร์ไพริฟอส (Chlorpyrifos), และไกลโฟเซต (Glyphosate) ท่ามกลางข้อถกเถียงของฝ่ายที่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมกับฝ่ายธุรกิจเคมีภาคเกษตร เกษตรกรบางคนบอกว่า การใช้สารเคมีสามารถลดต้นทุนการผลิต

แม้งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันถึงอันตรายของสารเคมีอย่างพาราควอตทั้งในและต่างประเทศ งานวิจัยการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรใน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ได้มีการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมทั้ง ดิน ตะกอนดิน ลำน้ำ และอ่างเก็บน้ำ ที่นำมาตรวจสอบ มีการตกค้างของพาราควอตในทุกตัวอย่าง และอยู่ในระดับความเข้มข้นที่สูง (เก็บตัวอย่างเมื่อธันวาคม 2560) คาดว่าทั้งจังหวัดจะมีการใช้สารมากกว่า 800,000 ลิตรต่อปี งานวิจัยระบุว่า เกษตรกรนิยมใช้พาราควอตอย่างเข้มข้นมากกว่าที่ฉลากระบุถึง 4 เท่า โดยผสมสารพาราควอต 400 มิลลิลิตรกับน้ำ 20 ลิตร แต่ในรายงานอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย ระบุถึงข้อมูลการตรวจซ้ำโดยกรมวิชาการเกษตรในปี 2561 ว่า ไม่พบสารตกค้างในตัวอย่างน้ำ ส่วนในตัวอย่างดิน ตะกอนดินพบเล็กน้อย (เก็บตัวอย่างเมื่อมีนาคม 2561)

ขณะที่ งานวิจัยผลกระทบจากสารปราบศัตรูพืชต่อเกษตรกรและการตกค้างในหญิงตั้งครรภ์และทารก เก็บตัวอย่างจากหญิงตั้งครรภ์ใน อำนาจเจริญ นครสวรรค์ และกาญจนบุรี 113 คน ระหว่างปี 2554-2555 พบว่า พาราควอตและไกลโฟเซต สามารถผ่านจากร่างกายมารดาเข้าสู่ตัวอ่อนทารกในครรภ์ พบการตกค้างของพาราควอตในซีรัมทารกแรกเกิดและมารดา 17-20 เปอร์เซ็นต์ / ไกลโฟเซต 49-54 เปอร์เซ็นต์ ตรวจพบพาราควอตในขี้เทาเด็กทารกแรกเกิดสูงถึง 54.7 เปอร์เซ็นต์ จากมารดาที่วิจัย 53 คน แต่ในรายงานอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย ระบุว่า “มีข้อจำกัดในการศึกษาวิจัย จำนวนตัวอย่างที่ศึกษามีไม่มาก ต้องติดตามผลกระทบระยะยาวในเด็กที่อยู่ในครรภ์”

ต่อมา มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 มีมติไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด โดยให้จำกัดการใช้แทน มตินี้ไม่เป็นไปตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรภาคประชาชนกว่า 700 องค์กรที่เสนอให้ยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย ก่อนที่จะยืนยันมติไม่แบนพาราควอตอีกครั้งในเดือนแห่งความรักปี 2562

คณะกรรมการวัตถุอันตรายลงมติลับ 16:5 เสียง โดยไม่เปิดเผยชื่อผู้ลงคะแนนโหวตให้สามารถใช้พาราควอตต่อไปได้

 

การดิ้นรนที่จะมีชีวิตของหญ้าและคน

หนองบัวลำภูมีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 1,631,467 ไร่ พื้นที่การปลูกอ้อยมีมากถึง 681,000 ไร่ ย้อนกลับไปปี 2553 พื้นที่ปลูกข้าวของหนองบัวลำภูมีทั้งสิ้น 922,878 ไร่ ก่อนจะลดลงเหลือ 673,237 ไร่ในปี 2559 สาเหตุของการปลูกอ้อยเพิ่มมากขึ้นในช่วงปีหลังๆ มีที่มาจากนโยบายบริหารพื้นที่เกษตรกรรมของพืช (zoning) โดยเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวที่อยู่ในพื้นที่ไม่เหมาะสมไปสู่การปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรจะได้รับการสนับสนุนและจูงใจเรื่องเงินกู้จากภาครัฐหากปลูกพืชที่กำหนดไว้

ข้อมูลการใช้พื้นที่ทางการเกษตรในจังหวัดทำให้ ทพญ.วรางคณา อินทโลหิต เริ่มมองไปยังอนาคตของคนรุ่นถัดไป และความมั่นคงด้านอาหารของเมืองหนองบัวลำภู

“ถ้ามีที่ดิน 10 ไร่ เกษตรกรจะปลูกอ้อย 8 ไร่ ปลูกข้าว 2 ไร่ เพราะเขาไม่เคยเห็นเงินแสนจากนาข้าว จากข้อมูลนี้ทำให้ฉันเริ่มกังวลถึงอนาคตของข้าว ความมั่นคงด้านอาหารโดนเบียดขับด้วยพื้นที่ที่ลดลงเพราะเกษตรกรหันไปปลูกอ้อยแทนข้าว และการปลูกอ้อยก็ทำให้ต้องใช้ยาฆ่าหญ้าเยอะมาก ความมั่นคงทางอาหารถูกกระทบ 2 ส่วน หนึ่ง พื้นที่พืชอาหารลดลง สอง สารเคมีมีผลกระทบต่อข้าว”

ทพญ.วรางคณา อินทโลหิต

 

นอกจากงานบริหารที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำยุทธศาสตร์ด้านทันตสาธารณสุขของจังหวัด ทพญ.วรางคณายังสนใจงานภาคประชาสังคม ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพหนองบัวลำภู ประสานและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับผลกระทบของสารเคมีภาคเกษตรที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และคืนข้อมูลให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น เกษตรกร ผู้บริโภค หัวหน้าส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความตระหนักให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

แต่การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนเห็นข้อมูล บางคนเห็นเพื่อนเป็นโรคเนื้อเน่า…ก็เกิดความกลัว แต่ถามว่าพวกเขาเลิกใช้สารเคมีอันตรายหรือไม่ คำตอบจาก ทพญ.วรางคณา คือ ยังใช้อยู่ และเป็นการใช้อย่างเข้มข้นกว่าเดิม ตามผลการวิจัยการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรใน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู

เกษตรกรนิยมใช้พาราควอตอย่างเข้มข้นมากกว่าที่ฉลากระบุถึง 4 เท่า โดยผสมสารพาราควอต 400 มิลลิลิตรกับน้ำ 20 ลิตร

“หลายคนกลัว คนที่ทำไร่อ้อยหลายคนกลัว แต่ก็ยังใช้อยู่ ถามว่าพวกเขาใช้ด้วยวิธีไหน คำตอบคือจ้างคนอื่นมาฉีดแทนตัวเอง ตอนนี้ลักษณะในการจ้างฉีดก็ส่งผลให้มีการใช้ยาอย่างเข้มข้น เมื่อรู้ถึงพิษภัยของสารเคมี เขาก็จ้างคนอื่นฉีดแทน พอเป็นการจ้างฉีด เจ้าของไร่อ้อยจะดูประสิทธิภาพของการทำงาน คือฉีดแล้วมันตายไหม ถ้าเป็นไปได้ชาวบ้านอยากให้ฉีดปุ๊บแล้วหญ้าตายตามหลังเลย ทำให้คนที่ไปรับจ้างฉีดต้องผสมเข้มข้นมาก เมื่อก่อนฉันเห็นแต่ข้อมูลในงานวิจัยว่า ยาฆ่าหญ้า 1 กระป๋องปลากระป๋องผสมน้ำ 20 ลิตร ตอนไปเก็บข้อมูลล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผานมาก็ยังใช้แบบนั้นนะ ยา 3 กระป๋องกับน้ำ 18 ลิตร ฉันเห็นกับตาเลยว่าใช้เยอะขนาดไหน เหมือนกับว่าคนที่ทำหน้าที่รับจ้างฉีดจะมีความคิดว่าถ้าหญ้าไม่ตายก็เหมือนเขาไม่เก่งพอ เขาก็อาจจะถูกเลิกจ้างในครั้งต่อไป และเนื่องจากยาฆ่าหญ้ามีราคาไม่แพง คนก็ใช้เยอะ”

สมยศ สินทอง รับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้าและสารเคมีอารักขาพืชทุกชนิดมาตั้งแต่อายุ 15 ปัจจุบันลูก 2 โตแล้วทั้งคู่ เขาเล่าว่าตรวจสุขภาพทุกปี ผลเลือดดี แต่เมื่อถามถึงลูกๆ ทั้งสอง เขากลับบอกว่า “ผมไม่ยอมให้ลูกรับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้า”

 

สมยศ สินทอง เป็นเหมือนเชิงอรรถยืนยันข้อเท็จจริงของงานวิจัยที่ ทพญ.วรางคณากล่าวข้างต้น แต่ชีวิตไม่ใช่เชิงอรรถของงานวิจัย ชีวิตคือชีวิต

ระหว่างทำงาน สมยศเปิดวิทยุขนาดเล็กที่กำลังรายงานข่าวท้องถิ่น รายการเพลงหมอลำเพลงลูกทุ่งบ้าง ข่าวสารและความบันเทิงถูกแทรกคั่นด้วยโฆษณาสรรพคุณของยาฆ่าหญ้า เสียงดังก้องลอยไปกับละอองของยาฆ่าหญ้า

ก็ลองเบิ่งซั่นแล่ว หญ้าชนิดไหนเกิดขึ้นมาในไร่อ้อยของข่อย…ตายเรียบ ด้วยอาร์มี่ บ่เหลือฮอดตอฮอดเหง้า

สมยศรับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้าและสารเคมีอารักขาพืชทุกชนิดมาตั้งแต่อายุ 15 ปัจจุบันลูก 2 โตแล้วทั้งคู่ ตรวจสุขภาพทุกปี ผลเลือดดี – หมอบอก พาราควอตไม่สามารถทำสมยศระคายผิว ยิ่งเมื่อฟังว่าเขาใช้มือเปล่าในการผสมพาราควอตกับน้ำ ยิ่งชวนให้เราตกใจ “กินน้ำเกลือต้มวันละครึ่งแก้ว หรือไม่ก็น้ำโซดา หรือไม่ก็รางจืด” สมยศเล่าถึงวิธีการปฏิบัติตัวระหว่างผสมยาฆ่าหญ้า ช่างเป็นการป้องกันและบรรเทาพิษตามยถากรรมโดยแท้ ชีวิตคนคนหนึ่งต้องพึ่งพิงน้ำเกลือและโซดา?! ดูจากภายนอกเขาดูแข็งแรงดี แต่เขากำลังนำชีวิตไปเผชิญกับสารเคมีชนิดที่มีผลวิจัยออกมาว่าสามารถส่งต่อจากครรภ์มารดาสู่ขี้เทาเด็กเพื่อแลกกับค่าจ้างพ่นยาฆ่าหญ้าไร่ละ 300 บาท

แต่ชีวิตบางครั้งมีทางเลือกอยู่ตรงหน้าไม่กี่ทาง

“ตอนนี้ลูกๆ ของคุณทำอะไรกันบ้าง?”

“เรียนอยู่คนหนึ่ง อีกคนเป็นทหาร” สมยศเล่าถึงลูกชายทั้งสองของเขา เมื่อถามเขาว่า ทั้งสองมีแนวโน้มที่จะประกอบอาชีพรับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้าเหมือนพ่อไหม สมยศตอบทันทีว่า ไม่อนุญาตให้ลูกๆ ทำเช่นนั้น

“เคยบอกเขาหลายครั้งแล้วว่า พ่อไม่ให้ทำนะ มีแนวโน้มอยู่ แต่พ่อไม่ให้ฉีด เพราะร่างกายของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน”

“มันเป็นปัญหาระดับสังคม” ทพญ.วรางคณาบอก และมีมูลเหตุจากความยากจน แต่ “คนที่นี่ไม่ได้ขี้เกียจ เขาพยายามดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตอยู่ สภาพดินอีสานไม่รู้ล่ะว่ามันขาดหรือไม่ขาดน้ำ แต่เขาก็ปลูกข้าวเพื่อจะกินหรือขาย เมื่อข้าวมันไม่ได้ผล เพราะแล้ง ก็ต้องไปหางานทำ เมื่ออพยพออกจากบ้านไปทำงานที่อื่น ที่บ้านก็ไม่มีแรงงาน เหลือคนแก่กับเด็ก ก็ต้องจ้างแรงงาน ค่าแรงก็สูง หนี้สินก็มา พอเป็นหนี้สินมากๆ พอมีนโยบายปลูกอ้อย ก็ปลูก ปลูกปีแรกๆ ได้เงินดี ปีต่อๆ มาเริ่มไม่ได้ ผลก็คืออัดยาเข้าไป”

เมื่อวงจรชีวิตของเกษตรกรไทยเป็นเช่นนี้ ทพญ.วรางคณาจึงมองว่า ต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

“ถ้ามองเชิงระบบก็ต้องมีนโยบายจากส่วนกลางลงมาจัดการเชิงโครงสร้าง จัดการปัญหาความยากจนตรงนี้ให้ได้ จะปล่อยให้คนยากคนจนตะกายออกมาจากบ่อที่เขาตกลงไป…ไม่ได้ ต้องมีคนช่วย มันเป็นปัญหาเชิงโรงสร้างมาตั้งแต่ระดับความยากจน ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขด้วยตัวเขาเองเพียงลำพัง มันต้องมีระดับนโยบายมาช่วย ไม่ปล่อยให้เขาอยู่กันเองตามยถากรรม เกษตรกรที่ทำอินทรีย์เขาดิ้นรนมากเลยนะ เขาต้องทำแนวกันชน ต้องดูเรื่องน้ำ แต่รัฐต้องดูแล แต่ไม่ใช่การให้แบบงอมืองอเท้า เกษตรกรไม่ได้รับการดูแลมานานแล้ว งบประมาณส่วนใหญ่สนับสนุนอุตสาหกรรม แต่เกษตรมันต้องภาพที่ใหญ่กว่านี้”

 

วิธีวิทยาของการสร้างความฝันร่วม

“เกษตรกรรู้ว่าอันตราย แต่พวกเขาต้องทำมาหากิน” ทพญ.วรางคณาจึงคิดว่าองค์ความรู้เรื่องสาธารณสุขไม่เพียงพอให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนหรือลดละเลิกการใช้สารเคมี จำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านอื่นๆ เช่น เกษตรกรรม

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัวลำภูเริ่มทวนกระแสบนผืนดินของพวกเขาที่รายล้อมไปด้วยไร่อ้อย พวกเขาเริ่มต้นในปี 2557 “พวกเราเรียนรู้ระบบ PGS ปีแรกๆ มีเกษตรกร 6 กลุ่มที่เข้าร่วม แล้วค่อยๆ ขยับขยายจนปัจจุบันมีถึง 58 เครือข่าย”

PGS (Participatory Guarantee System ) คือระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่น ที่ให้การรับรองผู้ผลิตโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อถือ เครือข่ายทางสังคม และการแลกเปลี่ยนความรู้

ย้อนกลับไปในช่วงที่เริ่มทำข้อมูลวิชาการ ทพญ.วรางคณาเริ่มสะสมข้อมูลและความรู้เรื่องสารเคมีการเกษตรด้วยการตระเวนไปอบรมตามเวทีวิชาการ ลงพื้นที่ตามเมืองต่างๆ ที่ประสบปัญหาสารเคมีทางการเกษตร ประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานด้านความมั่นคงด้านอาหาร เช่น เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เป็นแฟนหนังสือของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา สำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งทางวัตถุเชื่อมโยงจิตวิญญาณ

หน้าที่ของคนทำงานตัวเล็กๆ อย่าง ทพญ.วรางคณา คือการทำงานภาคพื้นราบ ประสานและรวบรวมข้อมูลกับเครือข่าย มองหาแนวร่วม ในตอนนั้นเธอยังไม่รุกเข้าไปในพื้นที่ของผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

ปี 2559 ทพญ.วรางคณาเข้าร่วมอบรมโครงการเครือข่ายพัฒนาศักยภาพการสร้างสุขภาวะ (คศน.) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาผู้นำด้านการสร้างสุขภาวะ รวมทั้งการสนับสนุนการสร้างและพัฒนาเครือข่ายผู้นำด้านสุขภาวะ ทั้งระดับพื้นที่ในประเทศและต่างประเทศ

“ก่อนเข้าอบรมกับ คศน. เรายังไม่ได้มองภาคีที่ชัดเจนว่าควรจะจับคนกลุ่มไหน แต่จุดที่เข้าร่วมกับ คศน. คืออยากจัดความคิดให้เป็นระบบและอยากหาคอนเนคชั่น การจัดการสารเคมีในจังหวัดตัวเองอาจจะแคบเกินไป เพราะสารเคมีเขาอาจมาจากจังหวัดอื่น ถ้าไม่ผลิตอาหารเองเราก็รับมาจากจังหวัดอื่น หรือถ้าเราทำเกษตรอินทรีย์ แต่น้ำและดินปนเปื้อนสารเคมี มันก็ทำไม่ได้

“ถ้าจะทำให้เกิดผล เราต้องมีคอนเนคชั่น มีเพื่อนที่คิดเหมือนกัน เพื่อนจะช่วยกันรณรงค์ช่วยวิธีการคิด อาจารย์หมอโกมาตร (จึงเสถียรทรัพย์) ช่วยเจียระไนความคิด ว่าถ้าให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ คุณต้องชัดเจนเรื่องตลาดอินทรีย์…ต้องใช้ตลาด เมื่อก่อนเราคิดแค่ว่าต้องนำเสนอข้อมูลให้คนกลัวและเปลี่ยนแปลง คีย์สำคัญต้องเป็นตลาด เราก็ชัดเจนขึ้นว่าจะต้องกลับมารณรงค์เรื่องตลาดและการหาภาคีที่ชัดเจน”

หลังจากเดินสายเก็บและให้ข้อมูลแก่เกษตรกรเพื่อสร้างความตระหนักในพิษร้ายของสารเคมีมาหลายปี ทพญ.วรางคณาเริ่มเบนเข็มมายังกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลงของจังหวัด – ผู้กำหนดนโยบาย

“แต่เดิมเรามักจะเจาะเลือดเกษตรกร ฉันเคยอ่านเจอสักที่ว่าเคยมีการเจาะเลือดนายอำเภอแล้วพบว่าสารเคมีตกค้างในร่างกายเยอะ เขาก็ทำเป็นนโยบายทั้งอำเภอเลย เราก็เลยเล็งไปที่กลุ่มผู้นำส่วนราชการและผู้นำการเปลี่ยนแปลง”

ข้อมูลการตรวจเลือดในครั้งนั้น พบว่า กลุ่มผู้บริโภคอย่างข้าราชการ ผู้บริหารส่วนราชการ และนักธุรกิจภาคเอกชน มีผลเลือดในกลุ่มเสี่ยงมากกว่าเกษตรกร เพราะ “ผู้บริโภคเหล่านี้ไม่ได้ทำเกษตร พอซื้อกินหรือกินตามร้านอาหารที่ไม่ได้ทำความสะอาดดีพอก็ทำให้ร่างกายได้รับสารตกค้างจากสารเคมีทางการเกษตร แม้แต่ตัวดิฉันเองก็จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และเป็นคนชอบกินผักด้วย ส่วนเกษตรกรจะปลูกไว้ขายและปลูกไว้กินต่างหาก เขารู้ว่าควรกินอะไร”

หนองบัวลำภูสรุปตัวตนของจังหวัดว่า ‘หนองบัวลำภูอาบยาพิษ’ เมืองที่ ‘ในน้ำมียา ในนามีอ้อย’ จากนั้นหาแนวทางเพื่อสร้างตัวตนให้จังหวัดใหม่ เป็นเมืองที่ไม่อาบยาพิษ โดยได้รับการสนับสนุนทุนการวิจัยครอบคลุมทั้งจังหวัดทำเป็น ‘หนองบัวลำภูโมเดล’ นำข้อมูลจากการวิจัยเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและหาพืชทดแทนพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีปริมาณมาก

เพราะการจะก้าวไปข้างหน้า จำเป็นต้องยืนยันหนักแน่นว่าที่ผ่านมา ตนคือใคร

 

 

“ข้อมูลเหล่านี้นำไปสู่การจัดการของจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูอยากจะปรับเปลี่ยนให้หนองบัวลำภูเป็นเมืองน่าอยู่น่าเที่ยวแทนที่จะเป็นเมืองอาบยาพิษ การใช้สารเคมีเยอะก็เพราะว่าขาดแรงงานด้วย ทำให้การใช้สารเคมีง่ายกว่า ขาดแรงงานเพราะอะไร ก็เพราะอพยพแรงงาน จะทำอย่างไรให้แรงงงานไม่อพยพ ก็ต้องหาวิธีสนับนุนหรือจูงใจเกษตรกร พืชทางเลือกอย่างไผ่ที่ปลูก 1.2 ไร่ จะให้เงินคืนมา 100,000 ขณะที่อ้อย 10 ไร่ใน 1 ปี 100,000 บาท เราต้องหาตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ทำให้เกษตรกรเปลี่ยนวิถีชีวิตและเพิ่มรายได้และลดรายจ่าย”

เรื่องนี้คือความพัวพันกันจนจับต้นชนปลายไม่ถูก พาราควอต ความยากจน แรงงานอพยพ สังคมการเมือง และปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันหนองบัวลำภูขับเคลื่อนเรื่องตลาดอินทรีย์ รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายกับจังหวัดเลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ ในชื่อ ‘สบายใจ’

“หนองบัวลำภูค่อนข้างชัดเจนเรื่องนโยบายเกษตรอินทรีย์ ก็มีการหาคู่ค้าหาตลาด ก็เป็นจังหวัดต้นแบบจังหวัดนำร่องที่จะมาทำร่วมกัน” ทพญ.วรางคณาเล่าถึงภารกิจที่คืบหน้า

ในฐานะของผู้บริโภคพืชผักเป็นหลัก ถาม ทพญ.วรางคณา ว่าท่ามกลางข้อมูลการปนเปื้อนสารเคมีในผักและผลไม้ เธอมีวิธีเลือกซื้อผักและผลไม้อย่างไร

“เวลาเลือกซื้อผักผลไม้บางครั้งก็แทบจะเป็นโรคประสาท ไม่รู้จะกินอะไร ถ้าอย่างนั้นเรามาสร้างสังคมที่ปลอดภัยดีกว่าไหม เพราะแค่จะกินเรายังรู้สึกไม่ปลอดภัยเลย ต้องทำในระดับสังคม ทำให้สิ่งแวดล้อมและอาหารปลอดภัย แค่จังหวัดหนองบัวลำภูไม่พอ เราต้องขับเคลื่อนระดับภูมิภาค

“หัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องไม่ใช้ทรัพยากรของคนในอนาคต ถ้าเราใช้สารเคมีไปเรื่อยๆ คนในอนาคตก็จะมีต้นทุนที่เป็นลบ เราจะส่งมอบแผ่นดินที่ปลอดภัยให้กับคนในอนาคต จึงตั้งเป้าหมายกับทีมว่าจะลดละเลิกการใช้เคมี เปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ให้มากเท่าที่จะทำได้”

แม้มติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 จะสวนทางกับ ‘ความฝันร่วม’ ของหนองบัวลำภู ไม่ใช่ทิศทางที่หมอฝนอยากจะให้ประเทศเดินไป แต่จะยุติธรรมกับคนรุ่นถัดไปหรือไม่หากเราไม่ทำอะไรเลย

จะยุติธรรมกับคนรุ่นถัดไปหรือไม่หากเราไม่ทำอะไรเลย – คือทั้งคำตอบและคำถามของ วรางคณา อินทโลหิต 

อ่าน FOOD MANIFESTO: “อาหารคือสิทธิ”

 

สนับสนุนโดย

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า