เยาวชนปกาเกอะญอช่วยคนจนเมืองพ้นความหิวโหยด้วยไร่หมุนเวียน

29 สิงหาคม 2564 กลุ่มเยาวชนปกาเกอะญอ ‘เบ๊อะบละตู’ จาก 3 หมู่บ้าน ในอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ได้แก่ บ้านปางทอง บ้านแม่ปอคี และบ้านซอแขระกา ได้ระดมพืชอาหารจากไร่หมุนเวียนและป่าจิตวิญญาณสมทบโครงการ ‘ปั๋นอิ่ม’ แบ่งปันให้กลุ่มคนจนเมืองและคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ โดยอาหารที่นำมาสมทบมีทั้งข้าวสาร หน่อไม้ มะละกอดิบ ผักชี อีหลึง และพริกแห้ง

ศุภชัย เสมาคีรีกุล ประธานกลุ่มเบ๊อะบละตู เล่าถึงความรู้สึกตนเองว่า วันนี้รู้สึกดีใจที่ได้นำผลผลิตในชุมชนที่มีมากมายในช่วงหน้าฝนมาแบ่งปันคนในเมือง ซึ่งทางกลุ่มเบ๊อะบละตูพร้อมจะช่วยเหลือในระยะยาว เพราะชุมชนมีศักยภาพในการเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่สามารถช่วยกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบต่างๆ ผ่านพ้นความหิวโหย

ศุภชัย เสมาคีรีกุล | photo: อนุชา ตาดี

“เราอยู่บนดอย ทำไร่หมุนเวียนเป็นหลัก เรารู้สึกว่าในโลกนี้ ประเทศนี้ คนก็คือคนเท่ากัน เราอยากเป็นพี่น้องกับทุกชนเผ่า เรามีผลผลิตบนดอยที่เราทำอยู่ เรามีพืชผักมากมายจนกินไม่หมด ช่วงนี้ผลผลิตเรามีเยอะ เพราะว่าเป็นช่วงฤดูฝน ผลผลิตในไร่หมุนเวียนจะออกเยอะมากๆ ในช่วงนี้ อีกประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้าก็จะมีพืชผักอีกเยอะมาก ถ้ามีพี่น้องประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือ เราก็ยินดีที่จะช่วยกัน” ศุภชัยกล่าว

ประธานกลุ่มเบ๊อะบละตูหวังว่า การร่วมสมทบกับโครงการปั๋นอิ่มจะเป็นหนึ่งช่องทางที่ช่วยสื่อสารสร้างความเข้าใจกับสังคมว่า กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยเฉพาะระบบการทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียนที่มักตกเป็นจำเลยสังคมว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันมาตลอด

“วิถีของเราคือการเลี้ยงชีพ ทำเพื่อดำรงชีวิตแบบไม่ทำลายธรรมชาติ ภาพการทำไร่หมุนเวียนที่ทุกคนเข้าใจผิดว่า เราถางป่า เผาป่า ผมอยากให้เข้าใจว่า เราถางไร่ เราไม่ได้ถางป่า เราเผาไร่ เราไม่ได้เผาป่า ป่าก็คือป่า ไร่ก็คือไร่ อยากให้คนที่ไม่เข้าใจวิถีของเราได้เปิดใจรับฟัง ถ้าอยากเรียนรู้ ก็มาเรียนรู้กับเราได้ เราพร้อมจะอธิบาย” ศุภชัยย้ำ

ชาวบ้านกังวล อุทยานแห่งชาติแม่เงา-โครงการผันน้ำยวม ทับที่ทำกิน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชุมชนในพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินทำกิน โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงา ตั้งแต่ปี 2536 พื้นที่ประมาณ 257,650 ไร่ รวมทั้งกำลังเผชิญกับโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท โดยความคืบหน้าล่าสุดคือ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณา

ปราโมทย์ เวียงจอมทอง ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เล่าว่า ถ้าไม่มีที่ดินทำกิน นอกจากชุมชนจะไม่มีความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังอาจทำให้ไม่มีพืชอาหารแบ่งปันให้คนในเมืองยามวิกฤติ ซึ่งตอนนี้ทั้ง 6 ชุมชนที่อยู่ในกลุ่มเบ๊อะบละตู ได้แก่ บ้านปางทอง บ้านซอแขระกา บ้านปอเคลอะเด บ้านแม่อมยะ บ้านแม่ปอคี และบ้านเคาะทีโค๊ะ กำลังเผชิญกับสถานการณ์การเตรียมประกาศอุทยานฯ ทับที่ทำกิน และโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม ซึ่งสร้างความกังวลให้ชุมชนอย่างมาก

ปราโมทย์ เวียงจอมทอง | photo: อนุชา ตาดี

“พื้นที่ที่เราอยู่ เป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ 1 และ 2 เป็นพื้นที่ล่อแหลม มีความกดดันจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ให้ลดรอบในการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งถ้าต้องลดรอบ พืชผักในไร่หมุนเวียนมันจะไม่ดี มันจะไม่ขึ้นเลย และถ้าเราต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยว สิ่งที่เรากังวลในอนาคตคือ ปัญหาสารเคมีและความมั่นคงทางอาหาร เพราะขาดการปลูกพืชแบบผสมผสานในไร่หมุนเวียน” ปราโมทย์กล่าว

ชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคียังย้ำว่า ในสถานการณ์ที่มีความมั่นคงทางอาหาร แต่ไม่มีความมั่นคงด้านที่ดิน หน่วยงานรัฐควรยอมรับและคุ้มครองวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่ทำไร่หมุนเวียน โดยการผลักดันให้เป็นพระราชบัญญัติส่งเสริมสิทธิและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งภาคประชาชนกำลังยกร่าง รวมถึงยกเลิกการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา เนื่องจากชุมชนสามารถดูแลจัดการทรัพยากรได้โดยไม่ต้องเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ

“พื้นที่ป่ากว่าแสนไร่ จะให้อุทยานฯ มาดูแลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องให้ชุมชนมาช่วยดูแล เช่น เกิดไฟป่าขึ้นที่หมู่บ้านหนึ่ง สำนักงานอุทยานฯ อยู่ที่แม่เงา เขาจะรู้ไหมว่าไฟป่าเกิดขึ้นตรงนี้ มันต้องเชื่อมโยงกันว่าส่วนไหนที่ชาวบ้านดูแลได้ ชาวบ้านก็ควรที่จะดูแล ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นกฎหมายของอุทยานฯ หรือป่าสงวนฯ คือชาวบ้านอยู่มาก่อน ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ตอนนี้ก็เพราะชาวบ้านดูแลตั้งแต่สมัยก่อนแล้ว เมื่อก่อนไม่มีอุทยานฯ หรือป่าสงวนฯ แต่ชาวบ้านก็สามารถดูแลได้ ถ้าเราไม่ดูแลป่า เราคงไม่มีกินมีอยู่ถึงวันนี้” ปราโมทย์ย้ำ

ชุมชนปกาเกอะญอในกลุ่มเบ๊อะบละตู นับเป็นชุมชนที่ 15 ที่ได้ระดมพืชผักสมทบกับโครงการปั๋นอิ่ม ผ่านทางโครงการ ‘สู้ภัยโควิดด้วยสิทธิชุมชน’ โดยพืชอาหารดังกล่าวจะได้รับการจัดสรรถึงกลุ่มคนจนเมืองและคนไร้บ้านผ่าน 3 จุดประสานงานหลักในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ข่วงประตูท่าแพ กาดหลวง และประตูช้างเผือก รวมถึงนำผักสดไปขายในราคาถูก ตลอดจนแปรรูปเป็นอาหาร เพื่อนำเงินที่ได้มาซื้อสิ่งของที่คนบนดอยขาดแคลน ซึ่งเป็นโมเดลการแลกเปลี่ยนกันต่อไป

พชร คำชำนาญ
เอ็นจีโอผู้ฝันใฝ่อยากเป็นนักข่าวมาตลอดชีวิต ใช้เวลาหลังเรียนจบกับกลุ่มชาติพันธุ์ หลงใหลชีวิตบนดอย ไร่หมุนเวียน และเหล้าภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอเป็นพิเศษ และอยากเห็นประเทศที่เข้าใจว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า