สำหรับผู้ต้องการเริ่มรับประทานอย่างมีความสุข อย่าเพิ่งสับสนกับข้อมูลที่ได้รับจากหลายสื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลิตภัณฑ์อาหารไขมันต่ำ หรือไขมัน 0 เปอร์เซ็นต์ที่เคยได้รับความนิยม จากข้อมูลบางชุดที่นำมาสนับสนุน ปัจจุบัน มีความพยายามทำความเข้าใจเรื่องไขมันกันใหม่อีกหน เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการแนะนำให้ลองเปลี่ยนจากการหลีกเลี่ยงไขมัน มาเป็นเลือกรับประทานไขมันจริงๆ ที่มีคุณภาพดีกว่า
นอกจากเรื่องมันๆ นี่คือเทคนิคเบื้องต้น ถ้าคุณต้องการปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหารให้เป็นมิตรกับตัวเองมากกว่าที่เคย
1. อ่านฉลากอย่างจริงจัง
ถ้าให้เวลากับการอ่านฉลาก คุณจะพบคำแปลกๆ ในส่วนผสม เช่น ไดโซเดียม กัวไนเลต, TBHQ (tertiary butylhydroquinone), สีสังเคราะห์, ไนไตรต์, BHA, BHT ฯลฯ เกณฑ์ในการเลือกอาหารใส่ตะกร้าช้อปปิ้งที่ง่ายที่สุดคือ พยายามหลีกเลี่ยงสารชื่อประหลาดที่คุณไม่รู้จักให้มากที่สุด
2. เลือกที่มีส่วนประกอบน้อยที่สุด
เมื่ออ่านฉลากบนผลิตภัณฑ์อาหารผ่านกระบวนการ จะพบว่ามีส่วนประกอบมากมายเป็นหางว่าว หากต้องการเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานและวิถีในการกินจริงๆ ลองเลือกสินค้าที่มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียว อาทิ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ น้ำมันมะกอก น้ำผึ้ง หรือเนย
3. ไม่ต้อง low-fat ตลอดเวลา
เนย น้ำมันมะกอก รวมถึงไขมันสัตว์ อาจให้รสชาติอร่อยลิ้นและดีต่อสุขภาพมากกว่าต้องฝืนธรรมชาติกับผลิตภัณฑ์โลว์แฟต ที่พยายามป้อนข้อมูลบางด้านแก่ผู้บริโภคมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 70
หากสังเกตดู จะพบว่าบรรพบุรุษเราเป็นโรคเรื้อรังกันไม่มากนัก เบาหวาน มะเร็ง หรือโรคหัวใจ เพิ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนในช่วงหลังๆ นี่เอง
ลองค่อยๆ หันมาเลือกใช้ เนยสด น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก และน้ำมันหมู แทนไขมันอื่นๆ ที่เคยใช้อยู่ดูบ้าง
4. เลือกสรรความหวานที่คุณคู่ควร
พยายามลด ละ เลิก น้ำตาล น้ำเชื่อมข้าวโพด (high fructose corn syrup) ที่มักจะมาในชื่อ น้ำตาลฟรุคโตส
ขึ้นชื่อว่า น้ำตาล ไม่มีปริมาณใดๆ ที่ถือว่าดีต่อสุขภาพ แต่ถ้ายังต้องการเติมความหวานให้ชีวิตและพัฒนาความสามารถในการรับรสหวานให้ดีขึ้น ลองเลือกน้ำผึ้ง น้ำตาลแดง หรือน้ำเชื่อมที่ทำจากน้ำตาลแดง แทนสารให้ความหวานที่ใช้อยู่ประจำ และพยายามใช้ในปริมาณน้อยที่สุด ยิ่งถ้าได้เติมน้ำตาลด้วยมือตัวเอง น่าจะช่วยให้ลดปริมาณได้ส่วนหนึ่ง
5. เลือกผักผลไม้ที่ไว้ใจได้
ถ้าเป็นไปได้ พยายามเลือกซื้อผักและผลไม้สดตามฤดูกาลมารับประทานหรือประกอบอาหาร อย่าหลงไปกับผักผลไม้กระป๋องหรือพืชผักแช่แข็งที่มีวางขายในราคาย่อมเยากว่า เพราะเมื่อเทียบกันตามน้ำหนัก ไม่ถือว่าของสดแพงกว่าแต่อย่างใด ผักที่เพิ่งเด็ดมาจำหน่ายสดใหม่ในตลาดท้องถิ่น หรือตลาดสดใกล้บ้าน คือตัวเลือกน่าสนใจที่สุด
ที่มา: nourishedkitchen.com