ลดน้ำหนักให้ได้ผล ต้องลดไขมัน?

chocolate-cake-1

 

สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักส่วนเกินด้วยการออกกำลังกายควบคู่ไปกับการลดอาหาร ยังเป็นเรื่องยากสำหรับหลายๆ คนที่จะตัดสินว่าควรรับประทานหรือไม่รับประทานอะไรกันแน่

จาก 2 สูตรลดน้ำหนักที่ได้รับความนิยมตลอดกาล อย่างการลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตหรือโลว์คาร์บ กับการลดน้ำหนักด้วยการเลี่ยงไขมันและรับประทานอาหารไขมันต่ำที่เรียกกันว่าโลว์แฟต สูตรไหนจะดีต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่ากัน คำถามนี้ก็เป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการทั่วโลกต้องการคำตอบไม่ต่างจากผู้บริโภคอย่างเราๆ

การลดน้ำหนักด้วยเทคนิกโลว์คาร์บ ถูกบรรจุไว้ในแผนการลดน้ำหนักมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 โดย ดร.โรเบิร์ต แอตกิน อ้างอิงผลการศึกษาในวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน (Journal of the American Medical Association: JAMA) ว่าการคุมน้ำหนักจะได้ผล ต้องควบคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ได้รับเป็นหลัก

แอตกินแนะนำว่า คาร์โบไฮเดรตกลุ่มที่ควรลดการบริโภคลง คือ คาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสี (refined carbohydrates) รวมถึงน้ำตาล และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำจากแป้ง

ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทูเลน (Tulane University) ในสหรัฐ เผยแพร่ในวารสารอายุรศาสตร์การแพทย์ (Annals of Internal Medicine) ทำการทดสอบและเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงตลอด 1 ปีของอาสาสมัครที่มีปัญหาน้ำหนักเกิน 148 คน โดยกลุ่มแรกลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลง 40 กรัมต่อวัน ขณะที่อีกกลุ่มควบคุมปริมาณไขมันที่ได้รับต่อวันไม่ให้เกินร้อยละ 30 ของปริมาณที่ควรบริโภคต่อวัน

ระหว่างการทดสอบ ทั้งสองกลุ่มต่างได้รับคำแนะนำในการควบคุมอาหารจากผู้เชี่ยวชาญร่วมกัน แต่ไม่ถึงกับต้องคำนวณปริมาณแคลอรีในแต่ละมื้ออาหารหรือเข้าคอร์สออกกำลังกายอย่างจริงจัง

หนึ่งปีผ่านไป กลุ่มที่ลดคาร์โบไฮเดรตมีค่าเฉลี่ยของน้ำหนักที่ลดลง 7.7 ปอนด์ ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ลดปริมาณไขมัน ขณะที่กลุ่มหลังกลับมีปริมาณไขมันในเส้นเลือดมากกว่า ซึ่งเสี่ยงกับภาวะผิดปกติของหัวใจมากกว่ากลุ่มลดคาร์โบไฮเดรต ขณะที่ปริมาณคอเลสเตอรอลที่ดี (High-density lipoprotein: HDL) ของทั้งสองกลุ่มมีพอๆ กัน

“เรากลับพบว่ากลุ่มที่ลดน้ำหนักด้วยวิธีโลว์คาร์บดูจะได้ผลกว่า และเห็นได้ชัดเจนว่าความเสี่ยงต่อโรคหัวใจของพวกเขาลดลงกว่ากลุ่มที่ลดน้ำหนักด้วยวิธีโลว์แฟต” ดร.ลิเดีย บาซซาโน หัวหน้าทีมศึกษาสรุปผล ค้านกับความเชื่อที่ว่าสูตรลดน้ำหนักที่ดีต่อหัวใจต้องควบคุมปริมาณไขมัน

กลุ่มที่ลดคาร์โบไฮเดรตเองก็ได้รับพลังงานจากไขมันเฉลี่ยร้อยละ 40 โดยส่วนใหญ่มาจากน้ำมันมะกอกและคาโนลา ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัว ส่วนปริมาณไขมันอิ่มตัวแสนอร่อยอย่างเนยสด ถูกจำกัดการรับประทานไว้ที่ร้อยละ 13

นี่ไม่ใช่การได้ไฟเขียวที่จะรับประทานไขมันเพิ่มขึ้น แต่จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การได้รับไขมันที่มีคุณภาพในปริมาณพอเหมาะ กลับช่วยให้การลดน้ำหนักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ไบรอัน เซนต์ ปิแอร์ นักโภชนาการและผู้ให้คำแนะนำด้านการควบคุมอาหารบอกว่า การจำกัดปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เขาแนะนำว่าหากต้องการลดน้ำหนักให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว การคุมปริมาณคาร์โบไฮเดรตเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ถ้าใช้วิธีโลว์คาร์บติดต่อกันนานๆ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกาย

คาร์โบไฮเดรตพบได้ทั้งในอาหารจากธรรมชาติและอาหารที่ผ่านกระบวนการ ส้มและเค้กช็อกโกแลตต่างก็มีคาร์โบไฮเดรตด้วยกันทั้งคู่ จาก 2 ตัวเลือกนี้เราทุกคนล้วนตอบได้ว่าคาร์โบไฮเดรตในอาหารชนิดไหนที่ควรรับประทานมากกว่ากัน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการลดน้ำหนักให้ได้ผลดีจำเป็นต้องเคร่งครัดและมีวินัยในการรับประทานด้วยเช่นกัน

 

ที่มา: consumeraffairs.com /

tulane.edu /

annals.org

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า