รักคาวหวาน

food-sex

ภาพประกอบ: K-9

 

อาหารช่วยหล่อเลี้ยงร่างกายมนุษย์ให้มีพละกำลังและสติปัญญาเพื่อทำกิจกรรมในชีวิต หนึ่งในกิจกรรมนั้นคือกิจกรรมทางเพศ ว่ากันว่าการฉันอาหารมื้อเดียวช่วยปราบกำหนัดแก่นักบวช อีกทั้งนักบวชสายธรรมยุตยังนิยมดื่มน้ำมะตูมที่มีสรรพคุณลดกำหนัด การอดอาหารเป็นเหมือนเส้นขนานกับกิจกรรมทางเพศ แต่กิจกรรมทางเพศก็ทำให้เกิดมนุษย์ และเมื่อเป็นมนุษย์ก็ต้องดำเนินกิจกรรมทางเพศ

อาหารและกิจกรรมทางเพศเกี่ยวโยงกันมาตลอดในประวัติศาสตร์ อาหารอย่างช็อกโกแลตหรือหอยนางรม ล้วนแต่มีชื่อเสียงในทางปลุกกำหนัด ในบางวัฒนธรรมเชื่อว่าอัณฑะสัตว์เป็นอาหารบำรุงสมรรถภาพทางเพศชั้นเลิศ ดูเหมือนว่า อาหาร เรื่องทางเพศ และความเชื่อ จะเป็นเรื่องเดียวกัน

สังคมตะวันตกเคยลุ่มหลงต่ออาหารที่หากินได้ยากและมาจากที่ห่างไกล พวกเขาเชื่อว่าอาหารที่มีลักษณะ 2 ประการนี้มีสรรพคุณเป็นอาหารปลุกกำหนัด ชาวแอซเท็กได้สอนให้ผู้บุกรุกต่างถิ่นอย่างนักสำรวจดินแดนชาวสเปนหรือที่รู้จักในนาม ‘กองกิสตาดอร์’ (Kong-Guistador) รู้จักดื่มช็อกโกแลตร้อน ชาวสเปนนำเครื่องดื่มจากดินแดนห่างไกลข้ามน้ำข้ามทะเลจากเม็กซิโกกลับมายังทวีปยุโรป พร้อมกับข่าวลือว่า มันเป็นเครื่องดื่มบำรุงรัก

ในยุคสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ เมื่อข้าวยังเป็นสินค้าหรูหราและมีราคาแพงในยุโรป พวกผู้ดีชนชั้นอำมาตย์ผู้เป็นคาสโนวาต่างก็เชื่ออย่างหัวปักหัวปำว่า การนำข้าวไปต้มในน้ำนมและแต่งกลิ่นด้วยอบเชย จะทำให้มีเรี่ยวแรงจัดการกับห้องหัวใจที่มีมากมายของพวกเขา

แต่เมื่อวัตถุดิบเหล่านี้กลายเป็นของธรรมดาที่หากินได้ง่ายและมีราคาถูกลง มนต์มายารักในอาหารเหล่านี้ก็หายไป ผู้คนในยุคเชคสเปียร์เชื่อว่ามันฝรั่งเป็นอาหารปลุกกำหนัด วัตถุดิบที่เคยหายากอย่างอบเชย กานพูล ข้าว พริกไทย ต่างก็สูญเสียสถานะอาหารปลุกกำหนัดเมื่อมันเป็นของหาง่าย

ชนพื้นเมืองเม็กซิโกมองว่ากล้วยไม้วานิลลาเป็นพืชโรแมนติก เพราะกล้วยไม้วานิลลาออกดอกในยามเช้าและจะผสมเกสรก็ต่อเมื่อเป็นการนำพาของนกฮัมมิงเบิร์ดและผึ้งบางชนิดเท่านั้น ชาวแอซเท็กเชื่อว่ากล้วยไม้วานิลลามีแหล่งกำเนิดมาจากโลหิตของเทพเจ้า พวกเขาไม่ได้เรียกพืชชนิดนี้ว่ากล้วยไม้วานิลลาอย่างชาวยุโรป แต่เรียกว่า Black Flower

ในสายตาของนักสำรวจดินแดนชาวสเปน ฝักของกล้วยไม้วานิลลากลับมีความคล้ายกับอวัยวะเพศหญิง พวกเขาจึงเรียกพืชชนิดนี้ว่าวานิลลา vanilla มาจากภาษาละติน vagina ชาวยุโรปจึงนำวานิลลาไปทำยาโป๊ และเรื่องเล่าที่เล่าต่อกันมาว่า วานิลลาจะทำให้ชายเงื่องหงอยคนหนึ่งเปลี่ยนเป็นนักรักผู้ช่ำชองได้อย่างน่าประหลาดใจ

หอยนางรมเลื่องชื่อถึงสรรพคุณกระตุ้นตัณหามาอย่างยาวนานในประวัติศาสตร์ ด้วยการพรรณนาเปรียบเทียบหญิงโสเภณีกับหอยนางรมของเหล่ากวี อาณาจักรโรมันใช้หอยนางรมในการเย้ายวนผู้บริโภค เมื่อหอยนางรมได้ชื่อว่าทำให้สุขภาพทางเพศแข็งแรง หอยนางรมจึงสร้างความมั่งคั่งและอำนาจเมื่ออาณาจักรโรมันส่งออกไปยังเกาะบริเทน

รีเบคคา สต็อต ผู้เป็นทั้งนักวิชาการ นักเขียน และศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย East Anglia ได้เขียนหนังสือชื่อ Oyster เพื่อชี้ให้เห็นความเกี่ยวโยงระหว่างหอยนางรมกับหญิงโสเภณี ว่าได้ก่อให้เกิดภาพประทับที่แยกจากกันไม่ออก ว่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-18 หญิงขายหอยนางรมถูกใช้เป็นจินตนาการเชิงกามารมณ์ในบทกวี หอยนางรมถูกบริโภคในเชิงความหมกมุ่นในเชิงกามโลกีย์

อาหารปลุกกำหนัดลือชื่อในโลกตะวันตกอย่างช็อกโกแลตและหอยนางรม มีธาตุอาหารที่กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวและตอบสนองทางเพศได้ดี ดูเหมือนว่าอาหาร เซ็กส์ ความรู้ และความเชื่อ เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันลำบาก

โดยธรรมชาติแล้วตัณหาราคะของมนุษย์ทั้งถูกปลุกได้ง่าย แต่ก็ไม่คงทนถาวร จึงไม่น่าแปลกใจที่มนุษย์พยายามจะควบคุมสถานการณ์ (ทางกามารมณ์) โดยพึ่งพาความรู้ทางการแพทย์ ทดลองรากไม้ที่เป็นพิษ ยาอายุวัฒนะที่ยังน่าเคลือบแคลง ทางเลือกโบราณ

อาหารจึงถูกเชื่อมโยงเข้ากับการกระตุ้นความต้องการทางเพศมาโดยตลอด แต่สำหรับนักมานุษยวิทยาอย่าง โรบิน ฟ็อกซ์ ชวนมองอีกมุมหนึ่ง ว่าอาหารนำไปสู่กิจกรรมทางเพศเช่นกัน แต่สาระสำคัญไม่ได้อยู่ที่แร่ธาตุที่มีในอาหาร แต่เป็นการสร้างความหมายใหม่ให้กับพฤติกรรมของมนุษย์มากกว่า

เพราะการหาอาหารของผู้ชายในยุคสมัยหนึ่งอาจหมายถึงการแบ่งเบาภาระของเพศหญิงในขณะที่ตั้งครรภ์ แต่ความสมัครใจของผู้ชายในหาอาหารได้กลายเป็นตัวบ่งชี้สำคัญในความใส่ใจของเขาที่มีต่อคู่รัก ความสามารถในการปรุงอาหารหรือการจัดเตรียมอาหารของผู้ชายยังถูกมองใหม่ว่ามีความดึงดูดใจทางเพศโดยตัวของมันเอง การประกอบอาหารในสมัยนี้จึงกลายเป็นการกระทำแห่งความรัก เหมือนที่เราได้ยินโฆษณาร้านอาหารว่าใส่หัวใจลงไปในอาหารด้วย

ทักษะในการประกอบอาหารในยุคสมัยนี้จึงอาจเป็นการสร้างบรรยากาศแบบโรแมนติกหรือบุคลิกที่ดึงดูดทางเพศ พูดง่ายๆ ว่าการเข้าครัวปรุงอาหารมื้อพิเศษอาจปลุกกำหนัดคู่รักได้มากกว่าการกินหอยนางรมหรือช็อกโกแลต


 

ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร WAY ฉบับ 73

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า