จดหมายไม่มีผู้รับ: กฎหมายไม่มีผู้รับ

ประยุทธ์ ที่รัก

 

ในระหว่างที่คุณสวมชุดออกกำลังกาย แอโรบิกแดนซ์บนสนามหญ้าในทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันพุธที่ 30 สิงหาคม ญาติผู้ถูกบังคับให้สูญหายได้รวมตัวกันรำลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รัก เนื่องในวาระวันผู้สูญหายสากล (International Day of the Disappeared) ภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชนเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

พวกเขาเรียกร้องรัฐบาลดำเนินการชำระสะสางความจริงที่หมักหมมเสียที กรณีการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐในหลายกรณี รัฐบาลต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับให้บุคคลสูญหายของสหประชาชาติ ประเทศไทยต้องมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับสูญหาย เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรง

1 ปีหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 รัฐบาลภายใต้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ลงนามและให้สัตยาบัน (เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก) อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) เมื่อปี 2550

จากการเป็นประเทศภาคีสมาชิก ประเทศไทยมีพันธะผูกพันต้องดำเนินการแก้ไขด้านบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญา เช่น การบัญญัติให้การซ้อมทรมานเป็นความผิดตามกฎหมายในประเทศ

5 ปีหลังจากนั้น รัฐบาลภายใต้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับแห่งสหประชาชาติ (The International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) การลงนามดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้กับประเทศไทย เพราะรัฐยังไม่ให้สัตยาบัน

2 ปีต่อมา คุณและคณะรักษาความสงบและมั่นคงแห่งชาติ หรือ คสช. ทำการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม จนวันนี้ก็ 3 ปีแล้ว

สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอาจเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้คุณเดินทางเข้าประเทศต่างๆ ลำบาก

วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลควรถูกชำระสะสาง สิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ต้องปกปักรักษา ประชาชนภายใต้ช่วงเวลาของคุณคิดกันแบบนี้

ผมคิดว่าคุณย่อมรู้ดี เพราะคุณเก่งวิชาประวัติศาสตร์ แต่ก็อยากจะกล่าวเรียนด้วยความเคารพว่า การบังคับบุคคลสูญหายถูกนำมาใช้เป็นเทคนิควิธีในการกำจัดศัตรูทางการเมืองโดยรัฐ เป็นเครื่องมือสร้างความกลัวต่อสังคมอย่างเป็นระบบ กองทัพนาซีเคยใช้เทคนิคนี้เพื่อคุกคามชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพและรัฐบาลเผด็จการในเอเชียและลาตินอเมริกานำรูปแบบดังกล่าวมาใช้อย่างแพร่หลายเพื่อจัดการความขัดแย้งทางสังคม หรือขจัดศัตรูทางการเมืองในช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 เป็นต้นมา [i]

รัฐไทยรับมรดกนี้เพื่อกำจัดความขัดแย้งทางการเมืองและศัตรูทางการเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 2490 เตียง ศิริขันธ์ ถูกทำให้หายไป, หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ถูกทำให้หายไป, พร มะลิทอง เคยถูกจับกุมในคดีกบฏวังหลวงเมื่อ พ.ศ. 2492 ถูกทำให้หายไป

ในช่วงพุทธทศวรรษ 2490 และ 2500 รัฐบาลไทยมีนโยบายปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภายหลังการประท้วงเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ชาวไร่ชาวนาและนักศึกษารณรงค์ให้มีการนําพระราชบัญญัติควบคุมการเช่านามาใช้ในปี 2517 ในช่วงเวลานั้นพวกเขาก็ตกเป็นเป้าทําร้ายของรัฐ ซึ่งใช้วิธีสังหารบุคคลอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อสร้างความหวาดกลัว ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น (Tyrell Haberkorn) เก็บข้อมูลการใช้ความรุนแรงของรัฐในภาคเหนือของไทยในช่วงทศวรรษ 1970 พบว่า ระหว่างเดือนมีนาคม 2517-กันยายน 2522 มีผู้นําชาวนา 33 คนที่ถูกสังหาร 8 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส และหายตัวไป 5 คน [ii]

ในระยะต่อมา กลุ่มเป้าหมายในการบังคับบุคคลให้สูญหายขยายไปยังความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่ถูกมองว่ากระทบความสงบเรียบร้อยและมั่นคงภายในรัฐ ทนง โพธิ์อ่าน มีบทบาทนำในการต่อสู้เพื่อผู้ใช้แรงงาน และการต่อต้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. เขารณรงค์ต่อต้านความพยายามของรัฐบาลทหารที่จะยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ก็ถูกทำให้หายไปในเดือนมิถุนายนในปีเดียวกันนั้น

ไม่ว่ารัฐบาลทหารหรือพลเรือน ผู้คนก็ถูกทำให้หายไปเสมอ นโยบายปราบปรามยาเสพติด นับเฉพาะการปฏิบัติงานตามนโยบายในระยะแรก (1 กุมภาพันธ์-30 เมษายน 2546) มีผู้ถูกสังหาร 2,873 คน และพบว่า มีเพียง 1,187 กรณีที่การเสียชีวิตมีหลักฐานว่าบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องกับยาเสพติด นโยบายปราบผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภายใต้กฎอัยการศึก และพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลโดยมีหมายศาล แต่ไม่ต้องมีข้อกล่าวหาทางอาญา เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้นานถึง 7 วัน และสามารถขยายระยะเวลาการควบคุมตัวได้รวมกันทั้งหมดไม่เกิน 30 วัน

จากการศึกษาของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ชี้ให้เห็นว่าเหยื่อได้หายตัวไปหลังได้รับเชิญให้เข้าพบกับกองกําลังฝ่ายความมั่นคง นายยา เจะดอเลาะห์ ถูกทำให้หายไป, นายมะยูนิต โลนียะ ถูกทำให้หายไป, นายรอสะมิง สามะแม ถูกทำให้หายไป, นายมะยาเต็ง มะรานอ ถูกทำให้หายไป, นายแวอาซิ แวซู และ นายแวฮารง รอฮิง ถูกทำให้เสียชีวิต พวกเขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผู้ที่ถูกทำให้หายไปในนโยบายปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดน

การถูกบังคับให้สูญหายถูกนำมาใช้โดยเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน จากที่เคยเป็นกลไกหน่วยงานตำรวจส่วนกลางมาตั้งแต่พุทธทศวรรษที่ 2490 การร้องเรียนเกี่ยวกับการบังคับให้สูญหายเกี่ยวข้องกับตำรวจท้องถิ่น ตำรวจตระเวนชายแดน ทหารหน่วยงานท้องถิ่นในสามจังหวัดชายแดน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระดับท้องถิ่น กลไกของรัฐบางส่วนยังทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ธุรกิจเอกชนระดับท้องถิ่น ขณะที่พลเรือนเป็นเหยื่อมากขึ้น

ยุคสมัยของคุณถูกบันทึกในรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลก หรือ World Report ประจำปี 2017 จัดทำโดย องค์การระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน หรือ ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch: HRW)

รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์อ้างถึงคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นโดยทั่วไปทำให้ถูกดำเนินคดีอาญา คำสั่งปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชน การจับกุมและควบคุมตัวพลเรือนในศาลทหาร กองทัพมีอำนาจในการจับกุม ควบคุมตัว และสอบสวนพลเรือนโดยไม่มีหลักประกันว่าจะไม่มีการล่วงเกินหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างดำเนินการ ทั้งยังมีการใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 ดำเนินคดีกับบุคคลจำนวนมาก

ถ้าถามคุณ คุณก็จะบอกว่า เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงแห่งชาติ

“จนถึงขณะนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีความสนใจจะดำเนินคดีหรือสอบสวนเพิ่มเติมเรื่องการวิสามัญฆาตกรรมบุคคลกว่า 2,000 คนในสงครามยาเสพติดสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2545 และยังไม่มีผู้กำหนดนโยบาย ผู้บังคับบัญชา หรือนายทหารคนใดถูกลงโทษจากการใช้กำลังสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 ราย และบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คน อีกทั้งยังไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงคนใดถูกดำเนินคดีทางอาญาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกลุ่มที่มีแนวคิดแบ่งแยกดินแดนยังคงใช้ความรุนแรงก่อเหตุโจมตีพลเรือนและละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอยู่เช่นเดิม” [iii]

คุณย้ำเหตุผลที่ทำรัฐประหารมาตลอดเวลา 3 ปี ว่าเพื่อรักษาความสงบและความมั่นคงของชาติ กฎหมายพิเศษที่คุณใช้นั้นก็ถูกอ้างในนามความสงบและมั่นคง แต่ในพันธะผูกพันระหว่างประเทศ รัฐไม่สามารถอ้างสถานการณ์พิเศษ สถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อซ้อมทรมาน กักขังเสรีภาพ ปฏิเสธสิทธิที่จะรับรู้ของญาติ แม้แต่ภาวะสงคราม รัฐก็ไม่มีสิทธิทำเช่นนั้น

คุณเคยกล่าวต่อประชาชนว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้พิจารณาร่างกฎหมายไปแล้ว 401 ฉบับ และมีผลบังคับใช้จำนวน 230 ฉบับ คำสั่งที่อาศัยอำนาจมาตรา 44 อย่างน้อย 151 ฉบับ และประกาศ และคำสั่ง คสช. อีกมากมาย แต่มีกฎหมายฉบับหนึ่งไม่ผ่าน สนช. กฎหมายฉบับนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้สูญหาย พ.ศ….

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เกิดจากการผลักดันของกระทรวงยุติธรรม ยกร่างโดยนักกฎหมาย 2 คน ศาสตราจารย์ณรงค์ ใจหาญ และ ผศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท ตั้งแต่ปี 2559

“เราเอาสองเรื่องที่เป็นพันธกรณีระหว่างประเทศมารวมกัน แล้วออกเป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน เหตุผลคือการซ้อมทรมานและอุ้มหายเป็นเรื่องที่ใกล้กัน และเพื่อที่จะทำให้เกิดการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมบอกได้เลยว่าทั้งหมดของร่างกฎหมายไม่ได้มีอะไรใหม่หรอกครับ เป็นการเอาสิ่งที่อนุสัญญาเขาเขียนไว้ทั้ง 2 ฉบับ เอามาถอดความมาใส่ในบริบทไทย ให้กฎหมายไทยเราสอดคล้องกับอนุสัญญามากที่สุด” ผศ.ดร.ปกป้อง หนึ่งในผู้ยกร่าง ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กล่าวที่มาของแนวคิด

คุณจำเป็นต้องรู้ว่า สาระสำคัญใน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีอะไร

 

การกำหนดฐานความผิด

ปัจจุบันไม่มีความผิดฐานทรมานและอุ้มหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีเพียงกฎหมายอาญาทั่วไป แต่ในร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดฐานความผิดเจ้าหน้าที่รัฐผู้กระทำทรมานประชาชน หรือบังคับบุคคลให้สูญหาย กำหนดโทษจำคุก 15-20 ปี

 

ความรับผิดของผู้บังคับบัญชา

นี่คือเรื่องใหม่ในกฎหมายไทย ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้กำหนดฐานความรับผิดให้ผู้บังคับบัญชาที่รู้เห็นหรือเพิกเฉยต่อข้อมูลว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาได้กระทำทรมานและอุ้มหาย ผู้บังคับบัญชาจะต้องมีความรับผิดด้วย

“แล้วหากว่าผู้บังคับบัญชาไม่ได้รู้เรื่องด้วยละครับ” ผมถาม ผศ.ดร.ปกป้อง เผื่อความกังวลของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็น

“คำตอบก็คือผู้บังคับบัญชาไม่ได้รับผิดแบบถูกลากเหมา ลูกน้องทำ ลูกน้องไปทรมานประชาชน ลูกน้องผิดอยู่แล้ว ตัวผู้บังคับบัญชาต้องดูแบบนี้ครับ ถ้าตัวเขาไม่รู้ ตัวเขาได้ดูแลอย่างดีแล้ว เขาไม่ผิดอยู่แล้วครับ กฎหมายจะเอาผิดกับผู้บังคับบัญชาที่รู้ว่าลูกน้องทำแล้วเพิกเฉย หรือเพิกเฉยอย่างจงใจ ถามว่าน่ากังวลมั้ย ตอบง่ายๆ ได้ว่า ไม่น่ากังวล”

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ถอดความมาจากอนุสัญญาฯ เจ้าหน้าที่รัฐจะอ้างสถานการณ์ฉุกเฉิน สถานการณ์ไม่สงบ หรือแม้แต่ภาวะสงครามต่างๆ เพื่อทรมานและอุ้มหายประชาชนไม่ได้ ประเด็นนี้ถูกเขียนไว้ชัดเจนใน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้

 

อายุความ

ความผิดฐานทรมานและอุ้มหายเป็นอายุความที่ต่อเนื่อง ตราบใดที่เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่ปล่อยตัวประชาชนออกมา อายุความก็ยังไม่เริ่มนับ ถ้ายังไม่ทราบชะตากรรมของผู้ถูกทำให้หายไป อายุความยังไม่เริ่มนับ

 

การกำหนดให้เป็นความผิดสากล

“การทรมานหรืออุ้มหายไม่ว่าเกิดขึ้นที่ใดในโลก ศาลไทยมีเขตอำนาจเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ก็เขียนกฎหมายแบบนี้ การทรมานหรืออุ้มหายที่เกิดขึ้นในไทย ศาลต่างประเทศมีเขตอำนาจเหมือนกัน เหตุที่กำหนดแบบนี้เพื่อไม่ให้มีที่อยู่ของผู้ร้ายที่ละเมิดกฎหมายร้ายแรงสูงสุด” รศ.ดรปกป้อง อธิบาย

ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ กำหนดให้การคุมขังหรือควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยจะต้องกระทำในสถานที่ที่เปิดเผยตรวจสอบได้ องค์กรระหว่างประเทศสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ ญาติพี่น้องต้องรู้ว่าบุคคลอันเป็นที่รักถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุมขังไว้ที่ไหน ใช้อำนาจใด และหากการคุมขังนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ญาติมีสิทธิร้องขอให้ปล่อยตัว

 

คณะกรรมการการสอบสวนและเยียวยา

เป็นกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อจะทำหน้าที่สอบสวนคดีทรมาน อุ้มหายและเยียวยาญาติผู้เสียหาย เพื่อขจัดผลประโยชน์ขัดกันระหว่างผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดกับคนทำหน้าที่สอบสวน

“หมายความว่า ถ้าตำรวจถูกกล่าวหาว่าทรมานอุ้มหาย กฎหมายกำหนดว่ากรรมการจะตั้งตำรวจเป็นผู้สอบไม่ได้ เพราะกลัวว่าเขาจะช่วยกัน เช่นกันถ้าทหารเป็นคนถูกกล่าวหาว่าทรมานอุ้มหาย ตัวคณะกรรมการจะตั้งทหารเป็นคนสอบคนพิจารณาไม่ได้ จะต้องเป็นองค์กรอื่นที่ไขว้กัน นี่คือหลักการที่มีเฉพาะในบริบทไทย ที่เราอยากจะให้เกิดลักษณะที่ไม่มีการขัดกันระหว่างคนที่ถูกสอบสวนและคนสอบสวน ขัดกันในที่นี้คือขัดกันในเชิงองค์กร นี่คือร่างกฎหมายที่กำหนดไว้” รศ.ดร.ปกป้อง อธิบาย

ผมถามเขาโดยยกตัวอย่าง อำนาจพิเศษมาตรา 44 ของคุณ เพื่อทำความกระจ่างต่อ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ว่า ร่าง พ.ร.บ. กับกฎหมายพิเศษต่างๆ จะไม่ขัดกันหรือ เช่น การควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษกับสิทธิที่ญาติจะได้รับรู้ว่าบุคคลอันเป็นที่รักถูกนำไปไว้ที่ไหน

“กฎหมายนี้มันต้องไปยกเว้นกฎหมายพิเศษเหล่านั้น” รศ.ดร.ปกป้อง กล่าว

“เพราะในกฎหมายฉบับนี้เขียนเป็นกลางไว้ ว่าทุกสถานการณ์ไม่ว่าสถานการณ์ฉุกเฉิน ความไม่สงบต่างๆ ที่ใช้ในประเทศไทย จะไปทรมานไปอุ้มหายไม่ได้ การคุมขังต้องเปิดเผย ต้องให้สิทธิญาติเขารู้ ผมว่าเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนธรรมดา”

แต่ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่ได้ไปล่วงละเมิดอำนาจรัฐในการรักษาความสงบและมั่นคงของชาติ

รศ.ดร.ปกป้อง ยกตัวอย่าง “เช่น รัฐมองว่านี่คือสถานการณ์ฉุกเฉิน เราต้องควบคุมผู้ต้องสงัสยไว้นานกว่ากรณีอื่นๆ สถานการณ์ฉุกเฉินสามารถควบคุมได้ไม่เกิน 30 วัน ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้แตะ เป็นอำนาจรัฐที่คุณจะควบคุมประชาชนเพื่อความสงบเรียบร้อย แต่ในระหว่างที่ควบคุมตัวแบบนั้น คุณจะไปทรมานไม่ได้ คุณจะไปอุ้มเขาหายไม่ได้ เท่านั้นเองครับ เป็นข้อเรียกร้องพื้นฐานที่สุด รัฐจะใช้มาตรการรักษาความสงบ รัฐจะใช้เทคนิคในการหาความจริงยังไงก็ได้ แต่การทรมานและอุ้มหายจะต้องไม่เกิดขึ้น แล้วต้องให้ญาติเขารู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน นี่คือสิ่งที่กฎหมายเรียกร้อง”

เมื่อเดือนมีนาคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตีกลับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ…. ว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในมาตรา 77 ระบุว่า จะต้องมีการรับฟังความเห็นให้รอบด้านก่อนที่จะผลักดันกฎหมายออกมา ตีกลับเพื่อทบทวนใหม่

ผมนึกถึงกฎหมายที่ผ่านการบังคับใช้กว่าสองร้อยฉบับในยุคสมัยของคุณ ร่างกฎหมายฉบับนี้มีชะตากรรมไม่ต่างผู้ที่ถูกทำให้หายไป – หายในหาย

ประชาชนภายใต้ยุคสมัยของคุณต้องการความยุติธรรม พวกเขาน่าจะรักความยุติธรรมมากกว่าความสุขที่คุณปรารถนาจะคืนให้.


[i] การบังคับบุคคลสูญหายและนัยยะของความคลุมเครือ
[ii] รายงาน การบังคับบุคคลสูญหายในประเทศไทย โดย มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
[iii] http://www.bbc.com/thai/thailand-38621271


เอกสารและข้อมูลประกอบการเขียน:
การบังคับบุคคลสูญหายและนัยยะของความคลุมเครือ โดย ประทับจิต นีละไพจิตร และ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน
คำสาปของความคลุมเครือ: เหยื่อการบังคับสูญหายกับการเลือกไม่ใช้ความรุนแรงในต่างประเทศและข้อคิดสู่สังคมไทย โดย ประทับจิต นีละไพจิตร, อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และ สวริน สิทธิสาร
การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย โดย มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ
สัมภาษณ์ รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560
สัมภาษณ์ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม

อ่านสารคดีชุด จดหมายไม่มีผู้รับ

ความทรงจำประทับจิต

ไม่มีผู้ชายในบ้านฟาเดล

นูรียาตามหาหลุมศพสามีผู้สาบสูญ

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า