ถึงเวลาอัดฉีด ‘นโยบายเรียนฟรี’ ผ่านไป 13 ปี ค่าครองชีพพุ่ง แต่เงินอุดหนุนยังเท่าเดิม

นโยบายเรียนฟรี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2552 มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือให้นักเรียนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทว่าตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ยังมีช่องว่างในการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งไม่สอดคล้องต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน 

รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอผลการศึกษานโยบายเรียนฟรี 15 ปี ในงานเสวนา ‘ถึงเวลาแล้วหรือยัง ปฏิรูปนโยบายเรียนฟรี’ ซึ่งจัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ระบุว่า การจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนยังไม่เพียงพอ เนื่องจากนโยบายเรียนฟรี 15 ปี โรงเรียนจะได้รับเงินอุดหนุนเป็นรายหัว เพื่อใช้ในการดำเนินการจัดการเรียนการสอน ค่าอุปกรณ์ รวมทั้งค่ากิจกรรมต่างๆ แม้งบประมาณที่สนับสนุนในปี 2564 จะมากถึง 76,000 ล้านบาท ซึ่งกระจายให้ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชนก็ตาม แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ปกครองยังคงต้องแบกรับค่าใช้จ่าย ทั้งค่าอุปกรณ์ ค่าเครื่องแบบอยู่เช่นเดิม

จากผลการศึกษาของสภาการศึกษา พบว่า นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ยังไม่ครอบคลุมการเรียนการสอนระดับเตรียมอนุบาลและระดับมัธยมปลาย ทำให้ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษานับแสนคน โดย รศ.ดร.ชัยยุทธ ได้เสนอแนวทางการปรับแก้นโยบายเรียนฟรี 2 แนวทาง ดังนี้

  1. ขยายกลุ่มเป้าหมายในโครงการให้ครอบคลุมระดับอนุบาล ในอัตราคนละ 1,000 บาท รวม 240,553 คน โดยใช้งบประมาณ 240 ล้านบาท ส่วนระดับมัธยมปลาย เฉพาะนักเรียนยากจนพิเศษ ม.4 ให้คนละ 9,000 บาท รวม 28,382 คน ใช้งบประมาณ 255 ล้านบาท
  2. ปรับอัตราอุดหนุนระดับมัธยมต้น จากเดิมคนละ 3,000 บาทต่อปี เป็น 4,000 บาทต่อคน รวม 584,620 คน ใช้งบประมาณ 2,338 ล้านบาท

“การปรับเพิ่มอัตราอุดหนุนให้เพียงพอสำหรับโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าหากปรับเพิ่มทุกส่วนอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงอยากให้พิจารณาโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปัญหาในการจัดสรรงบระมาณเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันมีเด็กที่ตกหล่นหรือหลุดออกจากระบบการศึกษานับแสนคนและเกิดภาวะเรียนรู้ถดถอยลงเรื่อยๆ” 

เงินอุดหนุนที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวถึงประเด็นเงินอุดหนุนนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ว่า ในปี 2565 นี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงถึงร้อยละ 4-5 ในขณะที่อัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้น ยังคงเป็นอัตราเดิมโดยไม่มีการปรับเปลี่ยนมากว่า 13 ปี 

ปัจจุบันนักเรียนชั้นประถมศึกษาได้รับเงินอุดหนุนคนละ 1,000 บาทต่อปี และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้รับคนละ 3,000 บาทต่อปี ซึ่งเงินอุดหนุนจำนวนนี้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ส่งผลให้เด็กจากครัวเรือนยากจนกว่า 2.4 ล้านคน เสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ หากต้องการเด็กที่มีคุณภาพ ควรให้ความสำคัญกับเด็กช่วงอายุ 0-6 ปี เนื่องจากมีงานวิจัยจำนวนมากระบุว่า การลงทุนกับเด็กวัย 0-6 ปี จะได้ผลลัพธ์มากถึงร้อยละ 13-14 รวมทั้งควรขยายนโยบายไปถึงนักเรียนมัธยมปลายและนักเรียนสายอาชีวะ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างการเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา

รศ.วรากรณ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงเวลาปฏิรูปการศึกษาโดยการขยายจาก 9 ปี เป็น 12 ปี เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ และขยายการเรียนฟรีให้ครอบคลุมนักเรียนในระดับเตรียมอนุบาลและมัธยมปลาย เพื่อให้เด็กอยู่ในระบบการศึกษาได้นานยิ่งขึ้น

เรียนฟรีที่ยังมีค่าใช้จ่าย กับดักที่คนยากจนต้องเผชิญ

ต่อกรณีนี้ ดร.ปฏิมา จงเจริญธนาวัฒน์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับชำนาญการพิเศษ กองศึกษาและวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า จากการศึกษาโดยการสำรวจรายได้ เงินออม และหนี้สินของคนเดิมซ้ำทุกปี พบว่าโอกาสที่คนยากจนในรุ่นพ่อแม่จะส่งต่อความยากจนให้กับรุ่นลูกมีสูงมาก เนื่องจากคนยากจนในปี 2548 ยังคงเป็นคนที่ยากจนที่สุดเหมือนเดิม ภายหลังผ่านไป 7 ปี ซึ่งการที่ครอบครัวคนจนไม่หลุดพ้นจากกับดักความยากจน ทำให้โอกาสการศึกษาของบุตรหลานลดลงไปด้วย

“สิ่งที่น่ากังวลคือ เด็กอายุ 6-14 ปี หรือเด็กที่ควรจะได้รับการศึกษาภาคบังคับยังหลุดออกจากระบบการศึกษามากถึงร้อยละ 17 เพราะปัญหาความยากจน เราควรจะโฟกัสกลุ่มนี้เป็นลำดับแรกๆ เพื่อตัดวงจรความยากจนข้ามรุ่นให้ได้” 

ทางด้าน ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว แม้จะเรียนฟรีก็ยังมีค่าใช้จ่ายอยู่จำนวนมาก เพราะศักยภาพของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกันและต้องใช้เงินในการดำเนินกิจการต่างๆ ทำให้ผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเช่นเดิม

จากการสำรวจค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า เด็กกรุงเทพฯ มีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเฉลี่ย 37,257 บาทต่อคนต่อปี แบ่งเป็นค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา 26,247 บาท ค่าเครื่องแบบ 2,072 บาท ค่าอุปกรณ์ 2,175 บาท และค่าเดินทาง 6,763 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขเฉลี่ยที่สูงกว่าทุกพื้นที่ในประเทศไทย

ดร.ภูมิศรัณย์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ต้องปรับปรุงในส่วนนโยบายเรียนฟรี 15 ปี คือ เงินอุดหนุนนักเรียนพื้นฐานยากจน แม้ว่าปัจจุบัน กสศ. จะมีทุนให้แก่นักเรียนยากจนพิเศษ และสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐานจะมีเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐาน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งหากต้องการขยายนโยบายให้ครอบคลุมเด็กทุกกลุ่ม จะต้องใช้งบประมาณปีละ 800 ล้านบาท

เจียระไน ซองทอง
นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ ผู้หลงใหลในของเก่า เมืองเก่า ภาษาจีน หนังสือ และหมูกระทะ รักการอ่านตั้งแต่เด็กจนมีความฝันว่าอยากเป็นนักเขียน แต่ชอบตอบครูแนะแนวว่าอยากเป็นหมอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า