เพดานเสรีภาพ ‘สื่ออิสระ’ ในสถานการณ์ชุมนุม

ภาพ: นราธิป ทองถนอม และอมรพล สุขบงกช

“มึงอยู่ฝ่ายไหน”

“ถ้ามึงอยากถ่ายก็ไปถ่ายแนวหลังม็อบ ไม่ใช่มาถ่ายแนวตำรวจ ทุกวันนี้ที่บ้านเมืองวุ่นวายก็เพราะสื่อ”

บางประโยคที่แสดงถึงทัศนคติของตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ต่อสื่อมวลชน ผ่านเสียงบอกเล่าจากผู้สื่อข่าว The Reporters ขณะปฏิบัติหน้าที่ในม็อบวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ณ แยกดินแดง 

ท่ามกลางสถานการณ์การปะทะเกือบทุกคืนบริเวณดังกล่าวที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บและการจับกุมอยู่บ่อยครั้ง สื่อมวลชนที่เคยลงพื้นที่ในหลายสนามข่าวกลับพบว่า ในปัจจุบันพวกเขาจำเป็นต้องตอบคำถามเจ้าหน้าที่ถึงตัวตนความเป็นสื่อของแต่ละคนมากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะมีสัญลักษณ์ปลอกแขนหรือกล้องมือถืออยู่ในมือก็ตาม

ประเด็นเรื่องความไม่ปลอดภัย การถูกคุกคาม รวมถึงสถานการณ์ต่างๆ ของสื่ออิสระ และการทำหน้าที่ในสถานการณ์ความรุนแรงนี้ สมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย หรือ DemAll จึงได้จัดงานเสวนาหัวข้อ ‘สื่ออิสระในสถานการณ์วิกฤต บทสะท้อนชะตากรรมเสรีภาพประชาชน’ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ณ Doc Club & Pub โดยมี ณัฐพงศ์ มาลี จาก สำนักข่าวราษฎร สถิตย์ คำเลิศ จาก กลุ่มกะเทยแม่ลูกอ่อน แอดมินนินจา จาก เพจ Live Real และ นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอิสระ เป็นผู้ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters

งานเสวนาครั้งนี้ไม่ได้มุ่งหวังเพียงให้สื่อมวลชนได้มาทบทวนนิยามและสภาพปัญหาของการเป็นสื่ออิสระเพียงเท่านั้น แต่ยังต้องการสื่อสารไปถึงผู้ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงสื่อมวลชน ทั้งประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่ภาครัฐได้เข้าใจด้วยว่า เพราะเหตุใดสื่ออิสระถึงจำเป็นอย่างยิ่งในพื้นที่จุดปะทะอย่างสถานการณ์การชุมนุม รวมไปถึงเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมถึงตัวตนของสื่ออิสระที่กำลังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

ณัฐพงศ์ มาลี: สื่อไร้สังกัด กับการรายงานข่าวบนฐานความเสี่ยง

“ตอนนี้มีทั้งหมด 1 คดี 2 ข้อหา”

ณัฐพงศ์ หรือ ‘โอปอล’ จาก สำนักข่าวราษฎร กล่าวถึงข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาการฝ่าฝืนเคอร์ฟิวที่ตนได้รับในระหว่างการทำงานและถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันจะไม่ถูกควบคุมตัว แต่อัยการยังสามารถสั่งฟ้องได้อีกจนกว่าคดีจะหมดอายุความ

จากข้อหาข้างต้น ทำให้เห็นว่าการทำหน้าที่ของสื่ออิสระไม่ใช่เรื่องง่าย และการทำหน้าที่ของโอปอลก็มุ่งหมายที่จะทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในการสื่อสารข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและเปิดพื้นที่ในการร่วมพูดคุยถกเถียงเพื่อหาทางออกร่วมกัน 

“เรายืนยันว่า ในการรายงานข่าวเรามุ่งนำเสนอแต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โดยไม่ได้ละเลยบริบทเหล่านั้น”

โอปอลตอบเมื่อถูกถามว่าการตั้งชื่อ ‘สำนักข่าวราษฎร’ จะถูกเจ้าหน้าที่มองว่าเป็นสื่อของผู้ชุมนุมหรือไม่ ซึ่งโอปอลยังได้ขยายความต่อไปว่า การนำเสนอข่าวนั้นเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร โดยไม่มีการใส่ความคิดเห็นใดๆ ลงไป นอกจากการวิเคราะห์สถานการณ์เท่านั้น ซึ่งหากเป็นสื่อสำนักใหญ่ๆ ก็อาจจะมีเพดานในการนำเสนอข่าวตามแต่ละสำนัก แต่ด้วยความที่สำนักข่าวราษฎรเป็นสื่ออิสระ จึงทำให้เพดานของการรายงานข่าวสามารถที่จะอยู่ในระดับเดียวกันกับการชุมนุมได้  

“ตอนโดนจับเราก็หวั่นใจ เพราะเราเป็นสื่ออิสระ ก็กลัวว่าจะไม่มีใครมาออกหน้าให้เรา”

โอปอลพูดเปรียบเทียบกรณีที่ตนเองถูกขังคุก 1 คืน กับกรณีการจับกุมนักข่าวที่มีสังกัดชัดเจน แต่ได้รับการปล่อยตัวในขั้นตอนการสืบสวน ซึ่งจากกรณีนี้โอปอลจึงอยากให้สังคมไทยและองค์กรภายนอกหันมาเปิดใจรับสื่อมวลชนอิสระให้มากยิ่งขึ้น หากมีความปลอดภัยในการทำงานของผู้สื่อข่าวก็จะช่วยสื่อสารข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดสู่ผู้ชมทางบ้านได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นโดยไม่มีการปิดกั้น ซึ่งปัจจุบันสื่ออิสระหลายแห่งยังคงต้องเผชิญความเสี่ยงจากการถูกจับกุม เนื่องจากไม่มีบัตรแสดงตนหรือเอกสารรับรองจากเจ้าหน้าที่ที่สื่ออิสระแทบจะไม่สามารถเข้าถึงได้ 

ณัฐพงศ์ มาลี

สถิตย์ คำเลิศ: สื่อเลวในสายตาของฝ่ายรัฐ 

“เมื่อก่อนเราสอนเรื่องการเพาะเชื้อเห็ดกับแจกข้าวแจกน้ำในโรงทาน แต่พอโควิดมาก็ห้ามจัด จนเราต้องไปแจกในม็อบแทน”

สถิตย์ หรือ ‘เล็ก’ พูดถึงจุดเริ่มต้นในการทำ เพจกะเทยแม่ลูกอ่อน โดยหลังจากที่ต้องไปทำงานในพื้นที่ชุมนุมแล้วทำให้ได้ฝึกฝนประสบการณ์การไลฟ์ และได้ช่วยให้ความรู้แก่ผู้อื่นในการใช้เครื่องมือถ่ายทอดสด 

“เคยเปิดร้านโทรศัพท์มือถือมา 14 ปี ทำให้เราถนัดเรื่องไลฟ์สด ทุกวันนี้จึงเริ่มมาสอนให้ทุกคนใช้สื่อนี้เป็น”

หัวใจสำคัญของเพจกะเทยแม่ลูกอ่อน คือการฝึกฝนให้คนในพื้นที่ทุกคนสามารถไลฟ์สดได้ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น คนที่อยู่ในพื้นที่จะต้องสามารถเก็บภาพให้ดีที่สุด ด้วยเหตุนี้เล็กจึงตัดสินใจลงทุนแจกโทรศัพท์มือถือให้คนในพื้นที่เพื่อเป็นเครื่องมือในการเป็นหูเป็นตา ส่วนแบรนด์กะเทยแม่ลูกอ่อน หลายคนอาจจะสงสัยว่าเหตุใดจึงมีเอกสารครบถ้วนเสมอนั้น เนื่องจากมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องและจ่ายภาษีเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง 

สถิตย์ คำเลิศ

ทีมงานของกะเทยแม่ลูกอ่อนเป็นงานอาสาสมัครที่ไม่ได้มีเงินเดือนแต่อย่างใด เหตุผลหนึ่งคือไม่ต้องการให้การนำเสนอข่าวต้องขึ้นอยู่กับนายทุนใหญ่ แต่จะให้ขึ้นอยู่กับการบริจาคของประชาชนเท่านั้น 

“การทำงานสื่อในพื้นที่การชุมนุมเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เนื่องจากเราต้องมั่นใจว่าเราเป็นกลางพอไหม”

เล็กพูดถึงกรณีถูกหาว่าเป็น ‘สื่อเลว’ โดยขยายความว่าการทำหน้าที่สื่อนั้น หากสื่อสารออกมาแล้วใครเสียประโยชน์ก็จะถูกมองว่าสื่อเจ้านั้นๆ เป็นสื่อเลวเสมอ ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าสื่อนั้นให้ผลประโยชน์แก่ใครนั่นเอง 

“ถ้ามีภาพออกไปว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายเด็กๆ ที่แฟลตดินแดงก็จะถูกตัดสินว่าเป็นสื่อไม่ดี แต่กลับกันหากมีภาพออกไปว่าเจ้าหน้าที่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมทำร้ายก็จะถูกตัดสินว่าเป็นสื่อดี ซึ่งเราก็ไม่ได้ต้องการให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ ตอนเราเข้าไปแจกข้าวในพื้นที่ชุมนุมหรือเข้าไปเป็นหูเป็นตาให้แก่ประชาชน ก็ไม่เคยที่จะมองว่าเข้าไปทำงานให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เข้าไปทำงานเพื่อประโยชน์ของทุกคน

“เหตุการณ์การคุกคามที่เกิดขึ้น หากไม่มีสื่อตัวเล็กตัวน้อยคอยเก็บภาพก็คงไม่รู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ต่อให้มีสื่อใหญ่ทำงานอยู่ด้วยกล้องที่ชัดที่สุดในโลก แต่มีเพียงตัวเดียว ก็ได้ไม่เท่ากับคนอีกมากมายที่สามารถพูดและใช้ภาพจากกล้องมือถือในการรายงานข้อเท็จจริง”

เล็กสรุปถึงความจำเป็นที่สังคมควรให้พื้นที่แก่สื่ออิสระ เนื่องจากมีคนจำนวนมากที่สามารถรายงานและถ่ายทอดสดเหตุการณ์ต่างๆ ได้ โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดที่ทำให้ผู้รายงานต้องรายงานแต่เพียงข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นเท่านั้น ไม่สามารถตัดต่อหรือเลือกรายงานได้ การปล่อยให้สื่อทำงานได้อย่างอิสระก็จะทำให้สังคมทราบข้อเท็จจริงเองว่า ใครกำลังกระทำความผิดและใครไม่ได้กระทำ 

แอดมินนินจา: สื่ออิสระ ความรุนแรงและการถูกคุกคามที่มีอยู่จริง

เมื่อแยกดินแดงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่มักปรากฏภาพการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างตำรวจควบคุมฝูงชนกับมวลชน ในฐานะคนในพื้นที่ซึ่งเห็นเหตุการณ์มาโดยตลอดอย่าง ‘แอดมินนินจา’ จึงได้สร้างเพจ ‘Live Real’ ขึ้นมา เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการฉายภาพสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้

เมื่อการชุมนุมเกิดขึ้นในช่วงสถานการณ์โรคระบาด สื่อจึงถูกจำกัดด้วยกฎหมาย เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อเกิดการชุมนุมปะทะที่ยืดเยื้อ สื่อหลายสำนึกจึงไม่อาจถ่ายทอดสถานการณ์ได้ทุกช่วงเวลา เพจ Live Real จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ใกล้ชิดสถานที่ และสามารถนำเสนอภาพเหตุการณ์ในห้วงขณะที่ไม่มีสื่อไหนสามารถรายงานได้

“ก่อนที่ผมจะไลฟ์ มีสื่ออยู่กันเยอะ แต่สถานการณ์ดำเนินตลอดเวลา สื่อที่เกาะติดก็ไม่ได้อยู่แล้ว ผมเลยเลือกที่จะทำต่อเอง”

การกลายมาเป็นสื่ออิสระอย่างเต็มตัว ทำให้แอดมินนินจาไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะทั้งกับผู้ชุมนุมหรือสื่ออย่างเขาเองนั้น มีอยู่และเกิดขึ้นจริง

“สื่อมวลชนถูกกันให้อยู่ด้านนอก

“เจ้าหน้าที่มีการตรวจค้น และให้แสดงเอกสาร โดยเวลานั้นผมก็ได้ถ่ายคลิปไว้ แต่ต้องแสร้งว่าไม่ได้ถ่าย

“ผมถูกเข่ากระทุ้งที่น่องขา แต่มีเจ้าหน้าที่อีกคนมากันไว้ บอกว่าผมเป็นสื่อ โดยหลักฐานของการเป็นสื่อคือ ต่อให้ไม่มีบัตร แต่มีปลอกแขนก็รอด แต่ก็มีน้องๆ บางคนถูกทำร้ายร่างกายด้วย นั่นคือสิ่งที่เกินกว่าเหตุ โดยเจ้าหน้าที่รัฐอ้างว่าต้องการควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อย”

ข้างต้นเป็นเพียงเหตุการณ์ส่วนหนึ่งที่แอดมินนินจาได้พบเจอ และสะท้อนภาพของการกีดกัน การใช้ความรุนแรง และการคุกคามสื่อมวลชนจากเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างชัดเจน 

การคุกคามสื่ออย่างไม่สนหลักเกณฑ์ใดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งปรากฏชัดเจนขึ้นเมื่อ แอดมินนินจาถูกเจ้าหน้าที่จับกุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 แม้จะสวมใส่ปลอกแขนสื่ออย่างชัดเจนขณะปฏิบัติหน้าที่แล้วก็ตาม 

เหตุการณ์ในครั้งนี้จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่พูดได้ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐของรัฐบาลชุดนี้ ไม่สนใจและไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของสื่อเลยแม้แต่น้อย

แอดมินนินจา

นวลน้อย ธรรมเสถียร: สิทธิเสรีภาพสื่อต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“ถ้าไม่มีพวกเขา (สื่ออิสระ) เราก็ไม่ได้รับข่าวสารจำนวนมาก เพราะสื่อมีข้อจำกัดสูงมาก มีเงื่อนไขเรื่องเอกสาร เรื่องคำสั่งเจ้าหน้าที่ที่ทำงาน ณ เวลานั้น เราก็รู้ว่าเหตุการณ์เกิดตรงไหน แต่เมื่อสื่อถูกจำกัดจะเกิดอะไรขึ้นก็ได้”

นวลน้อย ธรรมเสถียร ผู้สื่อข่าวอิสระ พูดถึงมุมมองของการมีสื่ออิสระ ซึ่งหลายครั้งสื่อที่มีสังกัดก็มักมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การไม่สามารถละเมิดกฎของเจ้าหน้าที่รัฐได้ เพราะกลัวกระทบองค์กร เป็นต้น ดังนั้นการมีอยู่ของสื่ออิสระจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อทำหน้าที่ในการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนเข้าไม่ถึง

“หลายเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศที่สายตาประชาชนเข้าไปไม่ถึง อย่างน้อยต้องขอบคุณสื่ออิสระที่ทำให้เรามองเห็นในสิ่งที่เราไม่สามารถจะเห็นได้ ใครเป็นสื่อ ไม่เป็นสื่อ ถ้ามองภาพกว้างจะเข้าใจ แต่ถ้ามองบริบทเจ้าหน้าที่คือ สื่อต้องมีสังกัด ต้องเข้ากับสมาคมหรือสมาพันธ์สื่อ ต้องมีปลอกแขน แต่ทั้งหมดนี้ถ้าเราดึงออก คำถามคือคุณยังทำหน้าที่เป็นสื่อหรือเปล่า นั่นเป็นแค่องค์ประกอบเท่านั้น 

“มาตรการการสื่อสารควรตั้งอยู่บนเงื่อนไขและหลักเกณฑ์บนฐานคิดที่ว่า ทำเพื่อผลประโยชน์ของผู้รับข่าวสาร”

นวลน้อย ธรรมเสถียร

เช่นเดียวกัน ในยุคอินเทอร์เน็ตที่ใครๆ ก็สามารถเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว นวลน้อยจึงมองว่า ประชาชนทุกคนสามารถเป็นสื่อได้ ไม่ใช่เพียงการรับข้อมูลจากสื่อที่มีสังกัดหรือสื่อใหญ่เท่านั้น หากแต่สิ่งสำคัญคือ การเติมความรู้และทักษะในการสื่อสารให้ข้อมูลนั้นๆ สามารถเป็นแหล่งอ้างอิง น่าเชื่อถือ และเป็นประโยชน์ได้

“การมีสำนักข่าวอิสระ เช่น สำนักข่าวราษฎร เพจกระเทยแม่ลูกอ่อน หรือเพจ Live Real เมื่อมีการทำไลฟ์ย่อมมีข้อจำกัดในตัว เพราะไม่สามารถพูดอะไรนอกเหนือบริบทที่ไลฟ์อยู่ได้ สิ่งสำคัญคือ เราจะทำอย่างไรให้ทุกคนมีทักษะในการนำเสนอข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อ้างอิงได้ ตรงไปตรงมา ไม่ใช่แค่ต้องเป็นสื่อสังกัดใหญ่เท่านั้น 

“การเชื่อแต่สื่อใหญ่ เป็นการสกัดคนตัวเล็กในบริบทสังคมด้านการสื่อสาร การคิดว่าคนเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนโดยกลุ่มทางการเมืองเป็นอีกวิธีคิดที่จำกัด ปิดป้าย และทำให้ดูเหมือนว่าเขาไม่มีคุณค่าที่จะฟัง ซึ่งเราไม่ควรตั้งเป้าแบบนี้ตั้งแต่แรก”

ในมุมมองของการปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของสื่อ จากการทำงานด้านสื่อสารมวลชนมานาน นวลน้อยเห็นว่า การปิดกั้นสื่อในประเทศไทยมีมาโดยตลอด เนื่องจากผู้มีอำนาจมักต้องการควบคุมสื่อ ทำให้สื่อถูกคุกคาม ซึ่งหากเป็นสื่ออิสระการถูกคุกคามก็จะยิ่งง่ายและรุนแรง

“การเล่นงานสื่อมีมาตลอด หากสื่อทำอะไรที่ไม่สมประโยชน์คนที่อยู่ในอำนาจ เมื่อไหร่ที่มีสถานการณ์ให้สื่อต้องทำอะไรที่สวนทาง ถ้าสื่อนั้นทำก็จะมีปัญหา ที่ผ่านมาสื่อใหญ่จะมีการดูแลรักษาตัวเองซึ่งเป็นมาโดยตลอด ทำให้คนจำนวนมากพอใจทำกับสื่อใหญ่ พอเป็นสื่ออิสระที่ต้องดูแลตัวเอง ไม่มีแบ็คอัพ ก็จะเจอการคุกคามหลายอย่างและเจออย่างตรงไปตรงมา”

การคุกคามสื่อหรือการปิดกั้นสื่อ สำหรับนวลน้อยจึงเป็นการสะท้อนภาพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับแนวคิดสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชนด้วย โดยเธอยกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างเหตุการณ์การปะทะที่แยกดินแดงกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีความคล้ายคลึงกันในประเด็นความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจเจ้าหน้าที่รัฐ ความสลับซับซ้อนของประเด็น และการขาดพื้นที่การสื่อสาร

“ในสามจังหวัดชายแดน เจ้าหน้าที่จะใช้ประเด็นว่า สื่อไม่ควรลงพื้นที่ในบางกรณีเพื่อความปลอดภัยของสื่อเอง เช่น เวลากลางคืนในพื้นที่ห่างไกลอาจมีระเบิดซึ่งอันตรายมาก ในพื้นที่ภาคใต้มีหลายที่ที่สื่อไม่สามารถเข้าถึงได้ โดยมี ‘อันตราย’ เป็นตัวกำหนด ดังนั้น การจับกุมคน หรือเกิดอะไรขึ้นระหว่างการจับกุมและสอบปากคำ จึงไม่มีใครเห็นหรือรู้

“การทำงานของเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นที่ต้องอยู่ในสายตาสาธารณะในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ถ้าไม่มีสื่ออยู่ตรงนั้น ก็ต้องบันทึก เพราะหลังจากนั้นเกิดอะไรขึ้น ผู้เสียหายพูดไม่ได้ สถานการณ์นี้จึงอันตราย เพราะความไว้เนื้อเชื่อใจต่อเจ้าหน้าที่จะถูกกัดกินลงไปเรื่อยๆ และเจ้าหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐหรือรัฐบาล เท่ากับว่าความไว้ใจต่อรัฐบาลก็จะลดลงไปด้วย”

จากเวทีเสวนาทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า เสรีภาพของสื่อคือเสรีภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลักหรือสื่อไร้สังกัด หากเมื่อใดก็ตามที่เสรีภาพสื่อถูกลิดรอนก็หมายความว่าเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอนด้วยเช่นกัน

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า