อ้างอิงจาก Center for Science in the Public Interest (CPSI) มีข้อมูลระบุว่า ในแต่ละปี ชาวสหรัฐกว่า 76 ล้านประสบอาการป่วยเนื่องจากอาหาร 325,000 คนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และ 5,000 คนเสียชีวิต
อันตรายจากอาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาด เช่น แบคทีเรีย Salmonella ที่เป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษ ถูกพบในไข่ที่มาจากฟาร์ม อาการท้องร่วงจาก อี.โคไล (E.coli) ในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ที่มีการระบาดผ่านระบบอาหารทั่วๆ ไป ซึ่งเชื้อโรคเหล่านี้กว่าร้อยละ 90 เกิดขึ้นในระบบการผลิต การปลูก การขนส่ง การขาย ก่อนจะผ่านผู้บริโภคที่ซื้อและนำกลับบ้าน
แนวคิด Freeganism คือ การนำเอาอาหารที่ถูกทิ้งทว่ายังอยู่ในสภาพที่ยังกินได้ นำมาประกอบอาหารเพื่อบริโภค เป็นการใช้ทรัพยากรอาหารอย่างรู้คุณค่า เป็นเทรนด์ที่เติบโตในหลายประเทศ เพื่อลดจำนวนขยะอาหาร บางส่วนยังเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรการกุศลที่ส่งต่ออาหารแบบ Freegan ไปสู่ผู้ที่ยังประสบภัยความหิว
ข้อมูล ‘อันตรายจากอาหาร’ ข้างต้น อาจเป็นหลักฐานหนึ่งที่จะสนับสนุนว่า การกินอาหารที่ถูกทิ้งไม่ได้มีอันตรายมากไปกว่าการกินอาหารในร้านหรือจากผลิตภัณฑ์บนชั้นขายสินค้าสักเท่าไร เพราะอันตรายจากอาหารมีอยู่แล้วตั้งแต่ต้นน้ำ – ในแปลงปลูก ดังนั้นที่ปลายทางในถังขยะ อันตรายต่อสุขภาพจึงอยู่ในระดับสูสี
แต่ไม่ใช่ขยะอาหารทั้งหมดที่รับประทานได้ และอันตรายจากอาหารในกระบวนการผลิตก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะหลังจากถูกทิ้ง บรรดา Freegan ยิ่งควรใช้สติในการพิจารณาสิ่งที่เขาพบเจอมากกว่าปกติ ว่าสิ่งนั้นยังอยู่ในสภาพกินได้จริงหรือไม่
+ คำแนะนำสำหรับ Freegan
ไมเคิล เกรเกอร์ นายแพทย์ผู้ทำการศึกษาด้านอาหารมังสวิรัติ ผู้อำนวยการหน่วยงานด้านสาธารณสุขและปศุสัตว์ (Public Health and Animal Agriculture) ของ Humane Society of the United States และ Humane Society International ได้แนะนำหลักการเก็บอาหารเหลือทิ้งแต่ยังมีประโยชน์ว่า มีวิธีพิจารณาอย่างไร อาหารชนิดไหนควรเก็บกลับบ้าน อาหารประเภทใดบ้างที่ควรโยนกลับลงถังขยะ
วันหมดอายุ
วันจัดจำหน่าย (sell-by date) หรือ ‘ควรบริโภคก่อน’ (use by) เป็นตัวบอกถึงอายุของสินค้าที่สามารถวางอยู่บนชั้นจัดจำหน่าย ว่านานแค่ไหน หรือไม่ก็เป็นวันที่แนะนำสำหรับการบริโภคให้ได้คุณค่าและรสชาติมากที่สุด ไม่ใช่เส้นตายเหมือนวันหมดอายุ (expiration date) และสำหรับการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมในร้านค้าที่มีคุณภาพ สินค้าที่ยังไม่ผ่านการแกะ เปิด ออกจากภาชนะบรรจุจะยังสามารถบริโภคอย่างปลอดภัยได้อีกหลายวัน แม้จะผ่านวัน ‘ควรบริโภคก่อน’ ไปแล้วก็ตาม
อาหารเหลือทิ้งที่ควรหลีกเลี่ยง
อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล ไข่ นม ถั่วงอกชนิดต่างๆ ผลไม้ที่ผ่านการหั่นหรือตัดแล้ว น้ำผลไม้ที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรซ์ เนื่องจากอาหารประเภทนี้จำเป็นต้องควบคุมอุณหภูมิเพื่อจัดจำหน่าย ดังนั้น เมื่อนำออกจากตู้แช่ไม่นาน เชื้อโรคและแบคทีเรียจะสามารถเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้นจนถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้รวมไปถึงควรหลีกเลี่ยงอาหารมือสองที่มีผู้บริโภคแล้วเหลือทิ้งไว้ เพราะอาจเกิดโรคติดต่อได้
การทำความสะอาด
อาหารที่เก็บมาควรทำความสะอาดทุกครั้ง ที่สำคัญกว่านั้นคือ การล้างมือให้สะอาด โดยเฉพาะเมื่อมีการสัมผัสกับเนื้อสัตว์ อาจฟอกด้วยสบู่ฆ่าเชื้อนาน 20 วินาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
อาหารกระป๋องบุบและบวม
หลีกเลี่ยงอาหารกระป๋องที่บุบหรือปริบวม จนเกิดเป็นรอยแตกตรงบริเวณมุม รอยต่อ หรือขอบวัสดุที่ใช้ทำกระป๋อง เพราะอาหารในภาชนะบรรจุนั้นอาจสัมผัสกับอากาศแล้ว เท่ากับว่าไม่ได้ถูกถนอมให้สะอาดพร้อมบริโภคอีกต่อไป
อาหารที่เริ่มเก่า
อาหารจำพวกผัก มันฝรั่ง กะหล่ำปลี กระเทียม หัวหอม บรอคโคลี ที่มีรอยช้ำ หรือรอยเชื้อราเล็กๆ สามารถตัดเฉพาะส่วนที่เสียหายทิ้งได้ด้วยมีดคมๆ พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้มีดโดนบริเวณดังกล่าว โดยส่วนที่เหลือยังนำไปบริโภคต่อได้
สำหรับอาหารจำพวกขนมปังทุกประเภท ถ้าพบว่ามีราขึ้น ให้ทิ้งทันที แม้ว่าจะเป็นจุดเล็กๆ แต่ขนมปังเป็นอาหารเนื้ออ่อน ทำให้เชื้อราสามารถเจาะเข้าไปได้ลึกมากกว่าที่คิด
ผักและผลไม้
ผักและผลไม้ควรล้างและขัดผิวให้น้ำไหลผ่าน และควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ที่มีอาการอาหารเป็นพิษ และแพ้อาหารอยู่บ่อยๆ รวมถึงเด็ก หญิงตั้งครรภ์ คนชรา ผู้มีปัญหาโรคตับ และผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกัน
นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำว่า หากอาหารที่บรรดา Freegan เก็บมามีกลิ่นแปลกๆ หรือไม่แน่ใจว่าจะปลอดภัยกับสุขภาพหรือไม่ ก็ให้ตัดสินใจโยนอาหารชิ้นนั้นลงถังขยะได้เลย
อ้างอิงข้อมูลจาก: freegan.info