ตามรอยผู้ก่อการร้าย แห่งเขตฐานที่มั่นน่านใต้ จากดอยยาวถึงภูผาจิ

ฉากจบภาพยนตร์ คนล่าจันทร์ หรือ 14 ตุลา สงครามประชาชน (2544) ที่เพิ่งได้รับคัดเลือกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติปี 2566 เป็นภาพอดีตผู้นำนักศึกษาผู้เพิ่งเดินลงจากภูเขาเข้ามอบตัว ณ ชายป่าห้วยขาแข้ง ถูกจับถ่ายรูปในฐานะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตัดสลับกับภาพย้อนหลังกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน ขณะเขาปราศรัยคุมขบวนในวันที่ 13 ตุลาคม 2516

เสียงกู่ตะโกนปราศัยในฉากจบ เป็นถ้อยคำปลุกเร้าเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ และรัฐธรรมนูญ

หนังสื่อสารตรงไปตรงมาว่า ประเทศนี้การเรียกร้องเพื่อจะมีชีวิตขั้นพื้นฐานอยู่บนหลักสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และนิติรัฐ นอกจากจะต้องเอาชีวิตเข้าแลกแล้ว ผลลัพธ์บั้นปลายอาจต้องกลายเป็นอาชญากร

เหตุการณ์ผ่านไป 50 ปี ยังมีคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบันจำนวนหนึ่งส่งเสียงเรียกร้องหลักการเดิม และกำลังเผชิญบทลงทัณฑ์คล้ายคลึงกัน

มันจะอะไรกันนักกันหนา

บทสนทนาระหว่างนั่งอยู่ในรถยนต์อเนกประสงค์ร่วมกับชายชราวัยล่วง 70 ปี จำนวน 3 คน สุภาพสตรีเพิ่งรีไทร์จากงานโฆษณา 1 คน จากทุ่งรังสิตถึงจังหวัดน่านวนเวียนอยู่กับคำถามเหล่านี้ โดยมีคนนั่งหลังพวงมาลัยตลอดทางชื่อ จันทนา ฟองทะเล

ทุกวันนี้ จันทนา ฟองทะเล ยังคงเดินทางไปจังหวัดน่านสม่ำเสมอ

จันทนา ฟองทะเล เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด จบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เข้าเรียนมหาวิทยาลัยปี 2515 โดยเลือกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอันดับหนึ่ง นั่นหมายความว่าตอนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เขากำลังเรียนชั้นปีที่ 2

โควทสัมภาษณ์จันทนา ฟองทะเล ที่เป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียช่วงเดือนตุลาคม 2566 สะท้อนบุคลิกของเขา

“ผมเข้าธรรมศาสตร์ปี 2515 ตอนสอบสัมภาษณ์อาจารย์ถามว่าจะไว้ผมยาวไหม ผมตอบว่าจะไว้ยาวกว่านี้หน่อย อาจารย์ถามต่อว่านักศึกษารู้ไหมว่าจอมพลถนอมชอบคนผมยาวหรือผมสั้น ผมก็ตอบว่าคนผมสั้น อาจารย์ตอบกลับมาว่า อ้าว! แล้วทำไมจึงจะไว้ผมยาว ผมก็ตอบกลับไปว่า เพราะผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับจอมพลถนอม”

คำตอบของนักเรียนมัธยมปลาย ดูเหมือนสุภาพเรียบร้อย แต่แสดงออกชัดเจนว่าขบถไม่ยอมใคร เมื่อถึงจังหวะต้องตัดสินใจทีเด็ดทีขาด

พื้นฐานความสนใจภาษา ศิลปะ และดนตรีไทย จันทนาเข้าร่วมเล่นดนตรีกับวงเจ้าพระยาและต้นกล้า วงดนตรีไทยที่ก่อตั้งผลักดันโดยสุจิตต์ วงษ์เทศ และเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ชะตากรรมของนักศึกษาที่หมกมุ่นกิจกรรมมักจะไม่ค่อยเรียนจบตามเกณฑ์เวลาในหลักสูตร นั่นเป็นสาเหตุที่เขาอยู่ร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ขณะเรียนชั้นปีที่ 5 มองเห็นความต่อเนื่องของคลื่นขบวนนักศึกษาประชาชนบนท้องถนน นับจากวันที่ 14 ตุลาคม 2516 จนถึงวันถูกปิดล้อมสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสนามหลวง ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

บันทึกเส้นทาง จากดอยยาวถึงภูผาจิ เริ่มต้นนับจากวันนั้น

ในฐานะคนรุ่นหลัง ผมชอบเสียงในตัวหนังสือของจันทนา ชอบสกุลภาษาใช้คำน้อยไม่ค่อยมีคำใหญ่คำหลวง แต่สามารถบรรยายเห็นเป็นภาพอย่างคมชัด อธิบายอารมณ์ความรู้สึกตัวละครโดยไม่ล้นพร่อง เขาเป็นนักเขียนรุ่นพี่ที่ผมรู้สึกตั้งแต่ตอนอ่านงานเขียนว่าตัวจริงกับตัวหนังสือน่าจะตรงกัน

หน้าแรกๆ ของหนังสือเล่มนี้ บรรยายความไม่ประสีประสาของนักศึกษาจากกรุงเทพฯ ผู้ที่ในศีรษะ หัวใจ และในเป้ บรรจุแต่ความคิดอ่านและอุดมการณ์ปฏิวัติ แต่อ่อนหัดไร้ทักษะการดำรงชีวิตในป่าเกือบสิ้นเชิง

ถัดจากนั้น ระหว่างขั้นตอนการหล่อหลอมดัดแปลงตนเองให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศป่าเขาเขตงานน่านใต้ อันเป็นที่ตั้งศูนย์กลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยช่วงปี 2519-2521 เราจะจับสังเกตเห็นความรักความผูกพันของจันทนากับพื้นที่เขตงาน ถ่ายทอดผ่านออกมาเป็นฉากภูมิประเทศอย่างแม่นยำ บรรยายอากาศ แสง ร่องน้ำ เส้นทางเดินในป่า วิถีชีวิตสหายชาติพันธุ์ อย่างละเอียดประณีต

หลักฐานของความผูกพันคือ ในขณะที่นักศึกษาส่วนใหญ่ตัดสินใจเดินทางกลับเข้าเมืองในช่วงปี 2523 หลังนโยบาย 66/23 หรืออย่างช้าประมาณปี 2524 แต่จันทนาตกลงใจออกจากเขตงานน่านใต้กลับเข้ากรุงเทพฯ ในปี 2525 เมื่อเดินเข้าไปแจ้งความจำนงจะกลับเข้าศึกษาต่อที่คณะนิติศาสตร์ เขากลายเป็นบุคคลตกสำรวจ ต้องดำเนินธุรกรรมเอกสารซับซ้อนกว่านักศึกษาคนอื่นๆ กว่าจะได้หลักฐานยืนยันตัวตนเพื่อเรียนต่อจนจบ

จากปี 2516 จนถึงปี 2525 คนคนหนึ่งทำเวลาในชีวิตหล่นหายไป 1 ทศวรรษ

หากใครมีโอกาสนั่งในรถยนต์ที่เขาขับจากกรุงเทพฯ ถึงน่าน จากเช้าจรดเย็น มองเห็นเขานั่งบนเก้าอี้สนาม ทอดสายตามองภูดอยสลับซับซ้อน ดื่มด่ำระบำสีแสงเมื่อท้องฟ้าเปลี่ยนสีก่อนดวงตะวันลับเหลี่ยมเขา

มองจากระยะไกล เราไม่มีทางรับรู้และเข้าใจความในใจของเขาทั้งหมด

สิ่งที่พอทำได้คือนั่งเงียบๆ สำรวมเคารพห้วงเวลาและสถานที่ ปล่อยให้อดีตนักปฏิวัติสนทนากับดวงวิญญาณมิตรสหายผู้ฝังร่างอยู่มุมใดมุมหนึ่งของป่าเขาโดยไม่รบกวน

ฆ้วย กูไม่ใช่คนหยาบคาย

ถ้าหากจันทนา ฟองทะเล คือผู้ที่ใช้เวลาในป่าเขายาวนานกว่าเวลาเฉลี่ยของนักศึกษาทั่วไป ชายวัย 70 ขวบอีกคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในรถ ชายผู้มีเรื่องเล่าตลอดทาง โดยไม่เคยพักหลับ (แม้นว่าเรื่องเล่านั้นจะซ้ำเป็น รอบที่ 5-10) ก็น่าจะเป็นผู้เข้าป่าที่ใช้เวลาสั้นที่สุดคนหนึ่ง กล่าวคือทดลองเข้าไปอยู่ในเขตป่าภาคใต้ไม่กี่วัน ก็ตระหนักรู้ว่าการต่อสู้หนทางนี้ไม่สอดคล้องกับวิถีถนัดของตนเอง

เขาคือ เกษมศักดิ์ วงศ์รัฐปัญญา หรือ สนานจิตต์ บางสพาน (สนจ.) หรือ เสือเตี้ย อดีตนักวิจารณ์ภาพยนตร์ผู้มีโอกาสกำกับหนัง 2 เรื่อง เจ้าของสารพัดฉายา อาทิ เจ้ากรมหูแตก พระบิดาแห่งการแจกกล้วย เรื่องเอี้ยๆ เตี้ยจำแม่น บุรุษผู้ไปงานศพมากครั้งสุดในวงการ ฯลฯ

สนานจิตต์ บางสพาน ประธานชมรมวิจารณ์บันเทิงคนปัจจุบัน ผู้มีคนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนฟ้า

ใดๆ ก็ตาม ถ้าหากคำว่า ‘ญาติน้ำหมึก’ ที่พูดๆ กันนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง สนานจิตต์คือบุคคลที่ถือปฏิบัตินับญาติอย่างเป็นรูปธรรม เคร่งครัด และซื่อตรง ไม่ว่าท่วงทำนองเอะอะมะเทิ่ง ภาษาการแสดงออกของเขาจะไปสร้างความระคายเคืองให้กับมิตรหรือศัตรูเพียงใดก็ตาม

ไม่นานมานี้ใครสักคนเอ่ยแซะสรรเสริญพฤติกรรมการแจกกล้วยของเขาขึ้นมากลางวง พี่ สนจ. เกิดอาการปรี๊ด สวนโพร่งขึ้นมาทันทีว่า “ฆ้วย กูไม่ใช่คนหยาบคาย”

ผมคว้าประโยคนี้ และบอกพี่เขาไปว่า มันควรปรากฏในหนังสืองานศพของพี่

ถ้าเรายอมรับข้อตกลงร่วมกันว่า ความหยาบคายไม่ได้ตัดสินกันด้วยถ้อยคำสำนวน แต่ควรวัดกันด้วยวิถีปฏิบัติและพฤติกรรม วัตรปฏิบัติของสนานจิตต์ย่อมห่างไกลความหยาบคาย

ทริปการเยือนเขตงานน่านใต้ครั้งนี้ เขาเป็นผู้ประสานงานนัดหมายด้วยความกระตือรือร้น แผนการเดินทางร่างและสรุป ภายหลังงานรำลึก 6 ตุลาคม

เกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา หากไม่มีอุปสรรคติดขัด ทุกเช้าวันที่ 6 ตุลาคม สนานจิตต์จะนำพวงมาลัย 1 พวงไปวางข้างเสาประตูสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เมื่อ 47 ปีก่อน ณ ตำแหน่งพิกัดนั้นเคยมีผู้หญิงถูกฆ่า ศพเปลือยกาย ร่างเปลือยเปล่าของเธอถูกฝูงชนบ้าคลั่งทำร้ายคุกคามทางเพศซ้ำ นักศึกษาชายคนหนึ่งตัดสินใจเสี่ยงถอดเสื้อนักศึกษาวิชาทหารห่มคลุมร่างสตรีผู้นั้นต่อหน้าตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวรอำเภอหัวหิน  

“กูไม่เคยลืมภาพนั้น และกูไม่มีวันให้อภัยคนที่หรี่ตาอนุญาตให้เกิดการสังหารหมู่ครั้งนั้นในประวัติศาสตร์สังคมไทย คนที่ผ่านเหตุการณ์วันนั้น ทุกวันนี้พวกมึงไปสวามิภักดิ์เขาได้ยังไง กูไม่เข้าใจ”

ผมเคยเอ่ยกับเพื่อนหลายคนและหลายครั้งว่า แท้จริงแล้วพี่เตี้ยเป็นคนอ่อนโยน

“มีพี่คนเดียวแหละที่เห็นแบบนั้น” ช่างภาพน้องรักเคยยืนยันไม่เห็นด้วยกับทัศนะข้อนี้ของผม

ทางของสิงห์

ภารกิจหนึ่งที่ทุกคนในทริปรับรู้โดยไม่ต้องเอ่ยเป็นคำพูดคือ เราควรพา สุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกจากถ้ำบ้านทุ่งรังสิตบ้าง

ปัจฉิมวัยของสิงห์สนามหลวงผู้เปลี่ยนสมรภูมิหน้ากระดาษมาอาละวาดอยู่ในโซเชียลมีเดีย ยังต้องรบรากับหลายสิ่ง ทั้งเรื่องที่สาธารณชนรับรู้รับทราบ เนื่องจากเจ้าตัวป่าวประกาศเปิดหน้าสู้อยู่เกือบทุกวัน เนื่องจากถือว่าเป็นประเด็นสาธารณะ เกี่ยวข้องกับหลักการ ความถูกต้อง ความยุติธรรม และความไม่ชอบธรรมของผู้ใช้อำนาจรัฐ

แต่สิงห์ก็ย่อมเป็นสิงห์ ทุกข์ร้อนส่วนตัวหลายเรื่องที่โหมเข้ามาในเวลาเดียวกัน สุชาติ สวัสดิ์ศรี เก็บปากเก็บคำเงียบกริบ ไม่เคยโอดครวญปริปากให้ใครรับรู้ได้ยิน แม้นกระทั่งเรื่องเฉี่ยวใกล้ความเป็นความตาย

การที่พี่สุชาติตกปากรับคำร่วมเดินทาง จึงถือเป็นการบรรลุเป้าประสงค์แล้วครึ่งหนึ่ง

เราตกลงกันว่าจะให้พี่สุชาตินั่งเบาะหน้าข้างคนขับ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สามารถปรับเอนที่นั่งให้สบายแข้งขาหลังไหล่ที่สุด พี่ยี จันทนา ผู้มีความสุขในการขับรถบอกว่า เราจะแวะปั๊มน้ำมันทุก 2 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้สูงวัยยืดเหยียดร่างกายและเข้าห้องน้ำ

“จริงๆ ทริปนี้ผมอยากให้ศรีดาวเรืองกับโมนมาด้วย แต่สองแม่ลูกเขาติดนัดหมอ”

“ตอนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ศรีดาวเรืองเขาอยากเข้าป่ามาก แต่ผมเป็นคนตัดสินใจเลือกที่จะไม่เข้า ผมพอเดาได้ว่าผมคงเข้ากับพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้”

เนื่องจากผมได้ยินเรื่องนี้มามากกว่า 5-6 ครั้ง จึงแสดงความเห็นทะลึ่งตึงตังสวนออกไปว่า

“ดีแล้วล่ะครับ ถ้าตอนนั้นพี่สุชาติตัดสินใจเข้าป่า ป่าคงแตกเร็วขึ้นกว่านี้หลายปี”

มีเสียงหัวเราะครืนจากทุกคนในรถ  รวมถึงเจ้าตัว

ในฐานะผู้มีประสบการณ์ในพื้นที่ พี่ยี จันทนา แสดงความเห็นเพิ่มว่า

“ถ้าพี่สุชาติเข้าป่า พรรคฯ เขาก็คงส่งพี่ไปชายขอบ อยู่ใกล้ๆ กับนายผี เสกสรรค์ เสถียร พิรุณ แล้วปัญญาชนเหล่านี้ก็จะทะเลาะกันเอง ก่อนที่จะทะเลาะกับพรรคฯ”

เรื่องบางเรื่องต้องใช้เวลาเกือบครึ่งศตวรรษ กว่าจะหัวเราะกับมันได้

หากจะมีสิ่งใดแทรกคั่นในเสียงหัวเราะครื้นเครงนั้น มันก็คงเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยว กระทั่งบางครั้งอดเผลอไผลหดหู่ชะตากรรมไม่ได้

คนบางประเภทไม่มีทางผนวกตนให้กลมกลืนกับจารีตกระแสหลัก แต่ขณะเดียวกัน ก็หวงแหนสปิริตเสรีชนเป็นตัวของตัวเอง เกินกว่าจะวางตนเป็นลูกที่ดีของพรรค…ไม่ว่าพรรคนั้นจะชื่ออะไร

วินัยศิลปิน

เราถึงจังหวัดน่านก่อนมืดตามแผน แวะซื้อเครื่องดื่มเผื่อยามค่ำคืนเล็กๆ น้อยๆ แต่ข้าวปลาอาหารเจ้าบ้านตระเตรียมไว้รอต้อนรับแล้ว

เจ้าบ้านคือ วินัย ปราบริปู ศิลปินผู้สร้างอาณาจักรหอศิลป์ริมน่าน เป็นหมุดหมายของเมืองที่ผู้มาเยือนต้องแวะเข้ามาชม แม้นว่าจะอยู่ห่างจากเขตอำเภอเมืองร่วม 20 กิโลเมตร

วินัยกับจันทนาวัยวุฒิไล่เลี่ยและเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ไม่ต้องใช้ความพยายามสังเกตมากก็รับรู้ว่าทั้งคู่ต่างนับถือกัน

คนหนึ่งเกิดที่นี่โตที่นี่ มีชื่อเสียงในแวดวงจิตรกรรม แล้วกลับมาทำหอศิลป์ที่บ้านเกิดในวัยกลางคนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อีกคนเป็นคนกรุงเทพฯ ก็จริง แต่ผูกพันกับเมืองน่านเกือบครึ่งศตวรรษในฐานะนักปฏิวัติ ภายหลังเป็นผู้ค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองน่านเชิงลึก ทั้งภูมิหลังชื่อตำบลหมู่บ้าน ภูมิประเทศ แม่น้ำ ลำห้วย ป่าเขาในเขตจังหวัดน่าน กระทำการงานเยี่ยงผู้ที่รักและผูกพันกับที่นี่อย่างลึกซึ้ง

วินัยกับจันทนา เรียกขานกันด้วยชื่อจริง บางครั้งมีคำนำหน้าว่าอาจารย์

ผมชอบดูงานของพี่วินัยมาตั้งแต่สมัยที่เขาปักหลักริมทะเลเพื่อเขียนเม็ดทรายเขียนเปลือกหอย เมื่อราว 30 กว่าปีก่อน งานชุดล่าสุดที่จัดแสดงที่หอศิลป์ริมน่านเป็นสกุลนามธรรม ชื่อเสียงและผลงานของเขาถูกรสนิยมได้รับการยอมรับจากนักสะสมงานศิลปะต่างชาติมายาวนาน เป็นทุนรอนให้เขาสะสมจนสามารถก่อสร้างหอศิลป์

มีทุนเพียงพอย่อมสามารถสร้างอาคาร ปรับภูมิทัศน์เปลี่ยนพื้นที่รกร้างกลายเป็นหอศิลป์ได้ แต่การดูแลประคับประคองให้เติบโต มีชีวิตยาวนานถึง 20 ปี สร้างแรงจูงใจให้ผู้คนเดินทางมาเยือนสม่ำเสมอ ประการหลังนี้จำเป็นต้องมีทักษะการบริหารจัดการขั้นสูง ทักษะนี้ศิลปินส่วนใหญ่ไม่ค่อยมี

ระหว่างพักที่หอศิลป์ริมน่าน เดินทางไปเยี่ยมผู้คน และชมสถานที่ที่ควรได้เห็นเมื่อมาน่าน ผมเห็นผู้คนทักทาย ยกมือไหว้พี่วินัยด้วยความให้เกียรติตลอดรายทาง เขาเป็นปูชนียบุคคลของจังหวัดนี้

ก่อนจะเป็นปูชนียบุคคล วินัย ปราบริปู คือผู้ลงทุนลงแรงค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพื่อเชิดชูศิลปินท้องถิ่นนิรนาม จนกระทั่งปรากฏนามให้โลกรู้จักในชื่อ หนานบัวผัน เจ้าของผลงานกระซิบบันลือโลกแห่งวัดภูมินทร์

ตอนที่พี่วินัยพาตระเวนชมจิตรกรรมตามวัด แกทำหน้าที่อย่างมีชีวิตชีวาและภาคภูมิใจ อธิบายถึงลายเส้นอันมีลักษณะเฉพาะของหนานบัวผัน อธิบายบางภาพที่ปรากฏในผนังวัดว่า ภาพเรือสำเภานี้มิใช่ฉากที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นจังหวัดน่าน เนื่องจากน่านไม่มีภูมิประเทศเช่นนี้ แต่เป็นภาพที่ศิลปินไปเห็นมาเมื่อครั้งเดินทางเข้ากรุงเทพฯ กระทั่งภาพเขียนบันไดท่าน้ำยังตามหาหลักฐานได้ว่าบันไดลักษณะนี้ของจริงอยู่ที่วัดใดในกรุงเทพฯ พร้อมกับชี้ให้เห็นทักษะความชำนาญของหนานบัวผัน ที่เหนือชั้นกว่าเมื่อเทียบกับฝีมือช่างพื้นบ้านคนอื่นๆ

คนที่ลงแรงค้นคว้าให้เกียรติผู้มาก่อน ย่อมได้รับเกียรติจากผู้อื่น

เรากลับจากการเดินทางเยี่ยมชมสถานที่และผู้คน พี่ยี จันทนา เอนหลังพิงเก้าอี้ริมระเบียง ทอดสายตาไปที่แม่น้ำน่านยามเย็นย่ำ

“สมัยก่อนพวกเราเดินมาจากเขาลูกนั้น” เขาชี้ทิศทางภูเขา ผมไม่รู้หรอกว่าลูกไหน แต่เข้าใจว่ามันคงเป็นพื้นที่ปฏิบัติงานต่อเนื่องกันทั้งเทือก

“พอมาถึงแม่น้ำน่านจุดนี้ เราจะซุ่มรอจนมีเรือมารับข้ามฝั่ง บางครั้งก็ต้องเอาปืนจี้ชาวบ้านให้ข้ามมาส่ง พอข้ามแม่น้ำมาได้เป็นอันว่าปลอดภัย”

ฟังถึงตรงนี้จึงเข้าใจได้ว่า เหตุใดเขาจึงรู้สึกผูกพันกับพื้นที่หอศิลป์เมืองน่าน

พื้นที่บริเวณนี้บรรจุภาพจำ ความหลัง ความเป็นความตาย ปัจจุบันเป็นที่ทางของมิตรสหายที่พร้อมเปิดประตูต้อนรับ

ผมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพี่วินัยกับพี่ยีว่า พี่วินัยมีเซนส์ของการบริหารจัดการสูงมาก และดูแกเป็นคนมีวินัยสมชื่อ ไม่ว่าจะเรื่องใหญ่อย่างการดูแลหอศิลป์ในพื้นที่ 13 ไร่ มีค่าใช้จ่าย มีเงินเดือนพนักงาน กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างอาหารการกินที่แกต้อนรับ มันพอดิบพอดี ไม่มีล้นจนต้องเหลือทิ้ง

ป้าหนุ่ย สุภาพสตรีคนเดียวในทริป ผู้เป็นเพื่อนร่วมเดินทางที่ผมวางใจการวางแผนและจัดการเสมอ เอ่ยสนับสนุนข้อสังเกตนั้นว่า กระทั่งอาหารที่เหลือจากมื้อค่ำ พี่วินัยยังอุตส่าห์เก็บกวาดใส่ถุงเผื่อให้สัตว์เลี้ยงวันรุ่งขึ้น โดยไม่เคยทิ้งขว้างเป็นขยะ

“มันไม่ใช่พฤติกรรมของคนตระหนี่ แต่เป็นลักษณะคนคิดละเอียดและจัดการเก่ง”

วินัย ปราบริปู เป็นศิลปินแน่ๆ แต่หอศิลป์ริมน่านอยู่ถึงวันนี้ไม่ได้ หากเขาขาดแคลนความสามารถด้านการจัดการ วางแผน และลงมือทำโดยไม่รอใครมาทำให้

หุ่นชักของชะตากรรม

การเลือกกิจกรรมบางอย่างในชีวิต ชักนำเราไปรู้จักคนบางประเภท มันช่วยขัดเกลาให้เรียนรู้ว่าคนเราไม่จำเป็นต้องคิดอ่านเหมือนกันทุกเรื่อง แต่เราสามารถแชร์บางด้านที่สนใจร่วมกันได้

ถ้า 10 ปีกว่าก่อนผมไม่มีเพื่อนในแวดวงจักรยานทางไกล เส้นทางชีวิตของผมก็ไม่น่าจะโคจรมาบรรจบพบกับคุณตู่ นันทพล พ่อเลี้ยงแลนด์ลอร์ดแห่งเมืองน่าน

ชื่อเดิมของน่านคือนันทบุรี บ้านใดตั้งชื่อบุตรชายว่านันทพล ย่อมสะท้อนถึงความผูกพันระหว่างครอบครัวกับท้องถิ่นแผ่นดินเกิด

บิดาคุณนันทพลหรือที่เขาเรียกตนเองว่านันทพอล เป็นนายทหารนักบินเฮลิคอปเตอร์ ช่วงที่สงครามเขตจังหวัดน่านเดือดระอุ หน้าที่ของนักบินมือดีก็คือการขับเฮลิคอปเตอร์บรรทุกพลปืนกล ไล่ยิงกลุ่มมนุษย์เบื้องล่างที่ถูกทางการตั้งชื่อว่า ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

ผมเดาว่าจันทนา ฟองทะเล น่าจะเคยวิ่งหลบวิถีกระสุนปืนกลที่ยิงลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ลำที่บิดาคุณนันทพอลเป็นคนขับอยู่หลายครั้ง

บิดาคุณตู่เป็นนักบินผู้มีผลงานดี จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ขับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง

ส่วนคุณตู่ผู้ถือกำเนิดในช่วงสงครามเขตน่านเดือดระอุ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ชายเต็มวัย เขาสนใจศึกษาอ่านงานเขียนเกี่ยวกับเมืองน่านของจันทนา ฟองทะเล และเมื่อรู้ว่าผมกับคณะจะเดินทางขึ้นไปย้อนรอยเส้นทางคอมมิวนิสต์ คุณตู่ก็ไม่รีรอขอร่วมทางไปด้วย

วันแรกที่เขาร่วมวงพูดคุยดื่มกิน ผมอดลุ้นไม่ได้ว่าเมื่อชะตากรรมเล่นตลกแบบนี้ บรรยากาศจะเป็นอย่างไร

ผลปรากฏว่าคนที่พูดคุยกับพ่อเลี้ยงเมืองน่านอย่างถูกคอคือพี่เสือเตี้ย สนจ. ถูกคอจนขอแยกตัวไปนั่งรถคันพ่อเลี้ยงไต่ดอยลูกแล้วลูกเล่ากันสองต่อสอง จากสันติสุข บ่อเกลือ ดอยภูคา ปัว วงกลมกลับเข้าเมืองน่าน โดยไม่มีเหตุวิวาทระหว่างทางอย่างที่ผมแอบกังวล

กลายเป็นว่าสองคนนี้เคมีเข้ากัน

จากอำเภอสันติสุขย้อนกลับเข้าเมืองน่านไม่ไกล แต่ผมเสนอให้ขับอ้อมเป็นวงกลมผ่านบ่อเกลือ ดอยภูคา ปัว เพราะจำได้ว่าเส้นทางสายนี้เป็นถนนลอยฟ้า บางฤดูหญ้ายังไม่ขึ้นสูงจะเห็นถนนทอดตัวเลื้อยอยู่บนสันเขา สองข้างทางทั้งฝั่งซ้ายขวาเป็นเหวลาดลึก

พามาไกลถึงน่านทั้งที ผมอยากให้พี่สุชาติได้เห็นภาพแบบนี้

ระหว่างเส้นทาง พี่ยี จันทนา บรรยายเหตุการณ์สู้รบในแต่ละจุด เล่าบรรยากาศการใช้ชีวิตของคนหนุ่มสาวตามฐานที่มั่น ส่วนพี่สุชาติฟังไปก็ควักโทรศัพท์มือถือพยายามจะถ่ายวิดีโอจากภายในรถไปด้วย มีบางมุมเหมือนเด็กซนกำลังตื่นเต้นกับภูมิประเทศแปลกตา

ผมนั่งอยู่เบาะหลัง ฟังและดูอากัปกิริยาผู้อาวุโสทั้งสองคน ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่าการเดินทางไกลครั้งนี้คุ้มค่าแล้ว

เมื่อเราวนกลับมาที่หอศิลป์เมืองน่าน พี่เสือเตี้ยก็คงรู้สึกบรรลุภารกิจคล้ายๆ กัน เขาเอ่ยว่า

“กูเคยเห็นมึงพาลูกไปเที่ยวต่างประเทศ กูยังไม่เคยพาลูกเมียไปสักครั้ง กูฝันว่าจะพาเขาไปญี่ปุ่นสักครึ่งเดือน ให้พรรคพวกยากูซ่าดูแล ขับรถเที่ยวให้ทั่ว ถ้าบรรลุภารกิจนี้ชีวิตกูคงเติมเต็มสมบูรณ์”

เข้าใจก็ส่วนเข้าใจ แต่ปากก็อดไวไม่ได้

“พี่เตี้ยถามเมียถามลูกหรือหรือยัง เขาอยากเที่ยวแบบนั้นหรือเปล่า ลูกพี่โตกันหมดแล้วเขาก็คงอยากวางแผนเที่ยวแบบของเขา ส่วนเมียพี่แกจะไปครึ่งเดือนโดยไม่ห่วงบ้านเหรอ”

“ยัง”

“555 นั่นพี่เติมเต็มเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อลูกเมีย”

เหลือบมองลายเสื้อยืดของพี่เสือเตี้ยโลโก้ใบปิดหนัง The Godfather รูปมือคนกำลังควบคุมอุปกรณ์หุ่นชัก ผมนึกถึงสำนวน ‘หุ่นชักของชะตากรรม’

“เมื่อก่อนผมก็เคยเชื่อเรื่องการแสวงหาชิ้นส่วนชีวิตที่ตกหล่นสูญหาย ฝันว่าอยากเอามาซ่อมแซมความแหว่งวิ่น ผมพบว่าขืนพยายามแบบนั้นมันจะไม่มีทางจบสิ้น เอาเข้าจริง เราอาจต้องลดการดิ้นรนเติมเต็มหาสมบูรณ์ แล้วเรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่สมบูรณ์ บางแง่มุมมันเป็นสุนทรียะ”

“วะบิซาบิ” ยากูซ่าเสือเตี้ยเก็ตอย่างรวดเร็ว

นึกทบทวนย้อนหลังบทสนทนาคืนนั้นแล้วก็รู้สึกอาย นับเป็นความเมตตาของพี่เชื้อที่อดทนฟังคำเทศนาของน้องนุ่ง

ถ้าไม่เมา จะไปเอาความมั่นใจมาจากไหน จึงกล้าพูดอะไรแบบนั้น

ไก่ป่าแคมป์

นอกจากหอศิลป์ริมน่าน จุดพักแรมอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ในแผนการเดินทางคือ ไก่ป่าแคมป์ ตำบลป่าแลวหลวง อำเภอสันติสุข

เรานัดหมายเจ้าของไก่ป่าแคมป์ที่ร้านอาหารชื่อแบมบูซี๊ด เขตอำเภอสันติสุข ร้านอาหารเล็กๆ แต่ฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ รสชาติ ทุกคนลงความเห็นทิศทางเดียวกันว่าจัดอยู่ในระดับงานคราฟต์

ร้านอาหารกับแคมป์ไซต์เป็นเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวท้องถิ่นร่วมกัน สุภาพบุรุษหนุ่มขับรถกระบะเข้ามาจอด สวัสดีทักทายแนะนำตัวว่าเขาชื่อเคม ป่าแลว เจ้าของไก่ป่าแคมป์ เขากุลีกุจอบริการจนเราต้องบอกว่า นั่งกินด้วยกันดีกว่า ไม่ต้องบริการขนาดนั้น

เหตุที่ต้องให้เจ้าของแคมป์มารับที่ร้านอาหาร มิใช่เพราะวางท่าเป็นพญาเหยียบเมืองต้องมีคนพื้นที่คอยมาดูแลต้อนรับ แต่เพราะทางเข้าจากถนนสายหลักเข้าไปสู่แคมป์ไซต์แม้นว่ารถยนต์อเนกประสงค์จะเข้าได้ แต่จำเป็นต้องมีรถเจ้าถิ่นนำทาง เนื่องจากเป็นทางป่า วิธีปักหมุด GPS แล้วขับรถเข้าไปเอง น่าจะเป็นการหาเรื่องผจญภัยใส่ตัวโดยไม่จำเป็น

ไก่ป่าแคมป์ปลูกสร้างง่ายๆ กลมกลืนกับธรรมชาติ เจ้าของรู้ชัดว่าจะใช้ประโยชน์จากชัยภูมิพิเศษเช่นนั้นอย่างไร ระเบียงขนาดใหญ่ของบ้านพักหันหน้าไปทิศตะวันตก มองเห็นลำห้วยเลื้อยซอกซอนภูดอย เมื่อถึงเวลาอาทิตย์เคลื่อนลงลับเหลี่ยมเขา ระเบียงแห่งนั้นจึงทำหน้าที่เป็นโรงมหรสพแห่งแสงสี

ตอนที่ต่างฝ่ายต่างแนะนำตัวที่ร้านอาหาร เคม ป่าแลว บอกว่าเขาติดตามอ่าน WAY ผมหัวเราะและเอ่ยชมว่าเคมเป็นผู้มีรสนิยม แต่ในใจคิดว่าหมอน่าจะทำการบ้านมาก่อนว่าแขกเข้าพักเป็นใครบ้าง แต่เมื่อไปถึงบ้านพักเห็นประเภทหนังสือที่วางอยู่บนชั้น จึงเริ่มรู้สึกว่าหมอนี่มีความน่าสนใจมากขึ้น

ท่าทีคล่องแคล่ว ใส่ใจ เก็บรายละเอียดคนอย่างรวดเร็ว พูดจาถ่อมตัวแต่ฉลาดแพรวพราว ทำงานด้วยตัวเองเป็นหลายอย่างตั้งแต่จัดที่พัก ปรุงอาหารมื้อหลัก กับแกล้มเครื่องดื่มยามค่ำคืน ตื่นเช้าดริปกาแฟ เตรียมอาหารเช้าโดยบอกกล่าวชาวบ้านให้จัดกับข้าวมารับแขกบ้านละหนึ่งอย่าง ด้วยวิธีนี้ชาวบ้านละแวกนั้นได้ประโยชน์ร่วมกันกับธุรกิจท่องเที่ยวเล็กๆ

ยังไม่ต้องนับรูปร่างหน้าตา อากัปกิริยาวิธีเคลื่อนไหว รวมถึงวิธีพูดจาวิธีอธิบาย ลูกล่อลูกชนแบบคนที่ถูกฝึกมาจากองค์กรทำงานเครือข่ายชุมชน ชวนให้นึกถึงน้องชายยอดมนุษย์คนหนึ่งชื่อ โกวิท โพธิสาร ถ้ามีใครบอกว่าสองคนนี้แยกร่างมาจากเหล่ากอเดียวกัน ผมก็พร้อมจะเชื่อ

ตอนที่ได้ยินชื่อแคมป์และเมื่อมาเห็นกองหนังสือ ผมนึกถึงประโยคเปิดบทในนวนิยาย ปลายนาฟ้าเขียว ของวัฒน์ วรรลยางกูร ‘เสียงหวานปานนกเขาไพร ตาไวปานไก่เถื่อน’ ผมบอกให้เขาไปลองหามาอ่าน เขาจดชื่อหนังสือเอาไว้

จากบ่ายจรดเช้าที่ไก่ป่าแคมป์เป็นช่วงเวลาสมบูรณ์แบบ มหรสพแสงสีจากดวงตะวัน ค่ำคืนท้องฟ้าเปิดโล่งมองเห็นทางช้างเผือก เคม ป่าแลว วางมือจากงานย่างกับแกล้ม เปิดแอปพลิเคชัน Stellarium ส่องเลเซอร์พอยเตอร์ชวนดูดาว 

ผมเหลือบไปมองพี่สุชาติปลีกตัวไปนั่งเอนหลังอยู่มุมหนึ่งของระเบียงกว้าง แหงนมองดาวบนท้องฟ้าด้วยสภาวะดิ่งลึกโดยลำพัง

เรานั่งคุยสารพัดเรื่องอยู่ครึ่งค่อนคืน จู่ๆ พี่ยี จันทนาก็ผลุดลุกขึ้นจากเก้าอี้สนาม สะกิดผม

“คม ลุกมาดูดาวดวงนี้หน่อย”

แกพาเดินออกจากระเบียงไปทางเข้าหน้าบ้านพักทิศทางฝั่งตรงกันข้าม ชี้ให้ดูดาวดวงหนึ่งส่องสว่างโดดเด่น

“สมัยอยู่ป่าเราเรียกดาวดวงนี้ว่าดาวหมูกอง เราจะเห็นดาวดวงนี้ส่องสว่างทางทิศตะวันตกช่วงหัวค่ำเรียกว่าดาวประจำเมือง เมื่อมองเห็นดาวหมูกอง บางทีเราจะขึ้นต้นไม้ไปซุ่มยิงหมูป่า เพราะเป็นเวลาหากินของมัน เราจะเห็นดาวดวงนี้อีกทีในทิศตะวันออกช่วงเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น”

“ไม่ว่าดาวบนฟ้าจะซับซ้อนแค่ไหน แต่ผมอยู่ป่าผมไม่เคยหลงทิศหลงทาง เพราะผมมีดาวดวงนี้นำทางถูกต้องเสมอ”

ตอนแรกผมแปลกใจเล็กน้อย ทำไมจู่ๆ เรียกให้เดินออกมาดูดาวดวงนี้

สักพักจึงเข้าใจ – จันทนา ฟองทะเล ไม่ได้พูดเรื่องดวงดาว

Author

อธิคม คุณาวุฒิ
เริ่มต้นชีวิตคนทำหนังสือหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 รับหน้าที่บรรณาธิการครั้งแรกปี 2543 ปี 2549 ก่อตั้งนิตยสาร WAY รับหน้าที่บริหารจัดการควบคุมทิศทางองค์กรเป็นงานหลัก ให้คำปรึกษาหารือ ปัดเป่าทุกข์โศก แก้ไขปัญหาชีวิต อกหัก รักคุด ให้พี่น้องญาติสนิทมิตรสหาย เป็นงานอดิเรก มีงานเขียนรวมเล่มออกมาแล้ว 8 เล่ม ‘พ่อหล่อสอนลูก’ เป็นผลงานเล่มล่าสุดเมื่อปี 2559

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า