จาก Love Canal ถึงเหมืองแร่คลิตี้ ไม่มีชาวบ้านในสมการฟื้นฟู

จาก Love Canal 

ถึง เหมืองแร่คลิตี้

‘เลิฟ คาแนล’ (Love Canal) คือคลองแห่งหนึ่งแถบไนแอการา (Niagara) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐนิวยอร์ค สถานที่แห่งนี้เริ่มต้นจากชายที่ชื่อว่า วิเลียม เลิฟ (William Love) เขาพยายามขุดคลองเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำไนแอการามาผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เพราะปัญหามากมายระหว่างทาง ชายผู้ริเริ่มไอเดียจึงจำต้องพับโครงการลงกลางคัน ทั้งที่คลองแห่งนี้ถูกขุดได้ถึงครึ่งไมล์แล้ว

หลายสิบปีต่อมา คลองร้างว่างเปล่ากลายเป็นสถานที่ทิ้งของเสียเคมีวัตถุหลายชนิดของบริษัทที่ชื่อว่า Hooker Chemicals & Plastics Corporation ขณะนั้นคือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปริมาณขยะอันตรายจึงทบเท่าทวีคูณ จากการเร่งผลิตสินค้าเพื่อป้อนทหารอเมริกัน

20,000 ตัน คือ ตัวเลขปริมาณของเสียที่ถูกกองถม เลิฟ คาแนล อันประกอบด้วยสารเคมีถึง 82 ชนิด (11 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง)

ต่อมาในปี 1953 บริษัท Hooker ถมคลองแห่งนั้นด้วยชั้นดินเดียว ก่อนขายต่อให้คณะกรรมการด้านการศึกษาของเมืองในราคา 1 ดอลลาร์ ซึ่งสัญญาซื้อขายฉบับนั้นระบุว่า ผู้ซื้อได้ทราบแล้วว่า ที่ดินนี้มีขยะอุตสาหกรรมอยู่ และยอมรับผิดชอบหากมีความเสียหายจากของเสียอันตรายนั้น

กาลเวลาผ่านไป ผืนดินซึ่งแต่ก่อนเคยเป็นคลองที่มีชื่อเรียกขานอันโรแมนติก กลายสภาพเป็นโรงเรียน สนามเด็กเล่น บ้านเรือน ร้านค้า ชุมชน 

จวบจนกลางทศวรรษ 1970 ขยะอันตรายที่เคยกองพะเนินก็ได้สำแดงเดช อุ้งเท้าของเด็กๆ ที่วิ่งเล่นอย่างเปลือยเปล่า เกิดเป็นแผลระคายเคือง ชุมชนเริ่มมีกลิ่นเหม็นคละคลุ้งอบอวล หินดินระเบิดติดไฟง่ายเพียงแค่หยิบโยนลงพื้น เด็กๆ เริ่มมีอาการหอบหืด ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ไปจนถึงระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ 

ยิ่งเมื่อเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายปี ถังบรรจุสารเคมีเก่าของบริษัทก็ยิ่งผุพังตามกาล นำมาสู่หายนะครั้งใหญ่ สารเคมีกระจายไปทั่ว ไม่ว่าจะถนน บ้านเรือน โรงเรียน ล้วนเปื้อนนองด้วยคราบน้ำมันดำลอยเด่นเหนือผิวน้ำ 

เลิฟ คาแนล กลายเป็นข่าวครึกโครม ชาวบ้านลุกขึ้นประท้วงก้อง กระทั่งต้นปี 1978 รัฐนิวยอร์คไม่อาจต้านทานแรงกดดันของประชาชนได้ จึงตั้งทีมทำงานเฉพาะกิจชื่อว่า ‘Interagency Task Force’ เพื่อจัดการปัญหามลพิษครั้งประวัติศาสตร์นี้ 

กรณี เลิฟ คาแนล กลายเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญที่สะท้อนภาพปัญหาการทิ้งสารพิษอันตรายที่กระจายตัวอยู่ทั่วอเมริกา กฎหมายที่ไม่เพียงพอต่อการให้อำนาจรัฐในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและเรียกค่าเสียหายชดเชยจากผู้ที่เกี่ยวข้อง นำมาซึ่งการเกิดขึ้นของกฎหมายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมฉบับแรกของอเมริกา ในนาม CERCLA หรือเรียกอีกชื่อว่า Superfund ตลอดจนการเกิดขึ้นของระบบฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ยืนยงมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งยังเป็นต้นแบบให้หลายๆ ประเทศได้นำโมเดลนี้ไปศึกษาเพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษในประเทศของตน …แต่น่าเสียดาย กลับไม่ใช่ที่คลิตี้ 

ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เขาจบปริญญาเอกด้านการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตราย (Contaminated Site Remediation) จาก มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) สหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมายังประเทศไทยเพื่อทำงานวิจัย งานบริการวิชาการ สอนหนังสือ ตลอดจนรับเหมาฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษอันตราย

‘เหมืองแร่คลิตี้’ ชวนให้เขานึกย้อนถึง ‘เลิฟ คาแนล’ เพราะหนึ่ง-แม้สองเรื่องราวจะห่างไกลคนละพื้นทวีป และต่างกันคนละซีกของกาลเวลา ทว่าเนื้อในนั้นกลับคล้ายคลึงกันอย่างน่าใจหาย และสอง-ในฐานะวิศวกรสิ่งแวดล้อม หน้างานของเขาเกี่ยวพันกับเรื่องราวทั้งสองนี้โดยตรง 

WAY ชวน ดร.ธนพล สนทนา ในวาระว่าด้วยการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารพิษตะกั่วตามคำสั่งศาล ที่เพิ่งผ่านพ้นระยะที่ 1 งบประมาณ 454 ล้านบาท และกำลังเดินทางสู่การฟื้นฟูระยะที่ 2 งบประมาณราว 180 ล้านบาท 

เขาในฐานะกรรมการไตรภาคีวิชาการที่ได้รับการเสนอชื่อโดยประชาชน ผู้ตามติดและศึกษากระบวนการฟื้นฟูขนานคู่กับการทำงานของกรมควบคุมมลพิษ (ผู้แพ้คดีที่ต้องฟื้นฟูลำห้วย) และบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน (ผู้รับเหมาการฟื้นฟู) 

เขาพบเห็นสิ่งใดในรายทางของการฟื้นฟู ข้อมูลทางวิชาการที่เขาค้นพบ กำลังบอกอะไร แม้ชาวบ้านจะชนะคดี ทว่าในเชิงปฏิบัติ ชาวบ้านชนะจริงไหม กระบวนการฟื้นฟูที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมควรเป็นอย่างไร ไปจนถึงว่า หากเราไม่หยุดทบทวนการฟื้นฟูที่เกิดขึ้นในคลิตี้ จะต้องมีอีกกี่ร้อยกี่พันกรณีที่ซ้ำรอยความชำรุดของระบบและกฎหมายที่ไร้ประสิทธิภาพ 

อยากให้ช่วยเท้าความสั้นๆ เกิดอะไรขึ้นที่คลิตี้ 

หมู่บ้านคลิตี้ เป็นแหล่งปนเปื้อนสารพิษตะกั่วจากกิจกรรมเหมืองแร่ สิ่งที่ทำให้เกิดการปนเปื้อน ก็คือ โรงแต่งแร่กับบ่อเก็บกักแร่ 

ในการทำเหมืองตะกั่วนั้น เขาไม่สามารถสกัดตะกั่วออกได้ทั้งหมด จะมีตะกั่วบางส่วนที่สกัดไม่ออกแล้วคงอยู่ในกากแร่ ซึ่งเขาจะเอากากแร่นี้ไปไว้ในบ่อเก็บกักแร่ เราอาจลองนึกถึงหลุมฝังกลบขยะก็ได้ ซึ่งจะเป็นจุดที่สุ่มเสี่ยงที่สุด อันตรายที่สุด เพียงแต่ว่าเหมืองแร่นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2510 ขณะนั้นยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่างจากตอนนี้ที่มีการกำหนดว่า บ่อเก็บกักแร่ต้องมีไลเนอร์ (ผ้ายางปูรองลดรั่วซึม) มีบ่อเฝ้าระวัง ตรวจสอบ ติดตาม ซึ่งในตอนนั้น ไม่มี

จากที่ฟังจากชาวบ้านเล่าในสมัยนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชาวบ้านสังเกตเห็นควายตาย ลงไปกินน้ำในห้วยแล้วล้มตายเยอะมาก แต่เรื่องมันเป็นคดีความขึ้นมา เกิดจากบ่อเก็บกักแร่แตก ทำให้ตะกั่วรั่วไหลสู่ลำห้วยประมาณ 10,000 กว่าตัน ความเข้มข้นสูงสุดของตะกั่วอยู่ที่ประมาณ 300,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สูงมากๆ เมื่อเทียบกับค่าปกติที่ปลอดภัยต่อระบบนิเวศอยู่ที่ 140 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 

นอกจากผลกระทบกับสัตว์และระบบนิเวศแล้ว ผลกระทบต่อสุขภาพของคนรุนแรงแค่ไหน

ในหลายๆ กรณี เรามักมาถกเถียงกันว่า ผลกระทบทางสุขภาพของชาวบ้านมาจากกิจกรรมเหมืองแร่หรืออื่นๆ จริงไหม แต่ในกรณีคลิตี้ไม่ต้องเถียงเลย เพราะมันชัดมาก เด็กที่เกิดมาพัฒนาการ IQ ต่ำ ชาวบ้านหลายคนตาบอด มีปัญหาทางระบบสืบพันธุ์ บางคนต้องตัดนิ้วทิ้งเพราะเริ่มเป็นแผล บางคนสูญเสียระบบทางประสาท ซึ่งเป็นอาการโดยตรงของตะกั่วเลย จากการตรวจเลือดของชาวบ้าน พบตะกั่วในเลือดซึ่งมีความข้นสูงเกินกว่าจะรับได้ ชัดเจนครับ 

คลิตี้เป็นข้อขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนาน หากนับจากการเกิดขึ้นของบริษัทเหมืองแร่ก็กว่า 50 ปี คุณรู้เรื่องราวคลิตี้ตั้งแต่ตอนไหน 

หลังเรียนจบ ผมกลับมาอยู่เมืองไทยประมาณปี 2010 ทางมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้ชวนมาดูเรื่องคลิตี้ ซึ่งจริงๆ แล้วด้วยความที่ผมเรียนต่างประเทศนาน ช่วงปริญญาโทก็แทบตัดขาดจากโลกภายนอก แล้วเราก็นึกว่าเรื่องคลิตี้จบไปนานแล้ว เหมือนคนทั่วไปที่คิดว่า ชนะคดีคือจบ (หัวเราะ)

ปรากฏว่ามูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมเขาบอกว่า ยังไม่จบนะ กำลังรอคำตัดสินอยู่ แต่ต้องการทำงานวิชาการเพื่อเตรียมไว้เผื่อการฟื้นฟู ช่วงที่ผมเข้ามาจับประเด็นนี้ ยังไม่ทันได้ทำอะไรมาก ศาลก็ตัดสินให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟู ตอนนั้นผมจึงได้เข้ามาทำงาน มาเป็นที่ปรึกษาในฝั่งวิชาการกับทางชุมชน

ช่วงแรกของการได้เข้ามาทำงานวิชาการที่คลิตี้ พบเห็นความยากง่ายอะไรบ้างในการฟื้นฟูลำห้วยที่ปนเปื้อนสารพิษมายาวนาน 

เห็นปัญหาเยอะมากครับ จะว่าเป็นปัญหาจากรัฐอย่างเดียวก็ไม่ใช่ ส่วนหนึ่งก็เกิดจากนักวิชาการด้วยเหมือนกัน เพราะสุดท้ายแล้วคนที่ช่วยรัฐตัดสินใจต่างๆ ก็คืออาจารย์ หรือคนที่เรียกตัวเองว่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 

หนึ่งคือ ช่วงแรกกรมควบคุมมลพิษบอกว่าใช้วิธีการธรรมชาติบำบัดในการฟื้นฟู แต่ชาวบ้านก็พบว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เพราะว่าธรรมชาติบำบัดสิบกว่าปี ชาวบ้านก็ยังใช้น้ำไม่ได้อยู่ดี ตะกอนยังปนเปื้อนสูงอยู่ดี ปลายังปนเปื้อนสูงอยู่ดี เราจึงขอหลักฐานไปว่า มีกลไกทางวิชาการรองรับในการประเมินไหมว่า ธรรมชาติบำบัดได้ไหม ใช้เวลากี่ปี

ตามหลักแล้ว เขาต้องบอกได้ว่าธรรมชาติบำบัดใช้เวลากี่ปี และในระหว่างที่ธรรมชาติบำบัด ชาวบ้านจะต้องปลอดภัยนะ ไม่ใช่ปล่อยให้เขารออย่างไม่ปลอดภัย ซึ่งวิธีธรรมชาติบำบัดนั้นถือเป็นกลไกตามหลักทางวิชาการว่า ธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แต่ต้องมีหลักเกณฑ์ในการใช้ นั่นคือ คุณต้องรู้ว่ากี่ปีที่ชาวบ้านต้องรอกว่าลำห้วยจะฟื้นฟูตัวเองได้ ต้องรอ 6 เดือน รอ1 ปี หรือรอว่า 300-400 ปี

สอง หากใช้ธรรมชาติบำบัด รัฐต้องมีกลไกที่ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องทนกับความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้ ไม่ใช่ห้ามกินปลา ห้ามใช้น้ำ อยู่ตามยถากรรมไป พอเราขอข้อมูลจริงๆ ปรากฏว่ามันไม่มีรายงานตัวนี้ ไม่เคยมี แล้วผมก็ทราบมาว่า มีอาจารย์ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกรมควบคุมมลพิษถูกเชิญมานั่งด้วย แล้วบอกว่า “ต้องใช้ธรรมชาติบำบัดนี่แหละ เพราะมันฟื้นฟูไม่ได้”

ที่คลิตี้ ธรรมชาติจะฟื้นฟูตัวเองได้น่าจะต้องใช้เวลากี่ปี 

เราเอาข้อมูลของกรมทั้งหมดที่เก็บมาเป็นสิบปี มาทำการวิจัยให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ พบว่าจุดที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ ต้องใช้เวลาประมาณเกือบ 400 ปี (จุด KC7-ปลายน้ำ) 

สิ่งที่พบคือ ทั้งองค์ความรู้และขั้นตอนการฟื้นฟูมีปัญหา หรืออีกกรณี เช่น ผมเข้าไปขอแปลนฝายดักตะกอน ขอรายการคำนวณตามหลักวิชาการ เพื่อตรวจสอบว่าฝายนั้นสามารถดักตะกอนตะกั่วที่เป็นหางแร่ขนาดละเอียดยิบเล็กกว่า 200 ไมครอน ได้จริงหรือเปล่า 

ปรากฏว่าไม่มี…ไม่มีการออกแบบที่บอกว่าฝายที่สร้างสามารถดักตะกอนที่ละเอียดขนาดนั้นได้ แปลว่าการสร้างฝายเหล่านั้นไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชาการที่ควรจะเป็น เพื่อหยุดการแพร่กระจายของตะกอนหางแร่

เหมือนเป็นกระบวนการฟื้นฟูที่เริ่มต้นอย่างไม่มีหลักการตั้งแต่แรกเริ่ม? 

ในฐานะที่ผมเป็นวิศวกร งานที่เราทำต้องมีการออกแบบ ซึ่งแบบนั้นต้องยืนยันได้ว่าใช้การได้จริง ผมจึงไปขอดูแบบจากกรมควบคุมมลพิษ ปรากฏว่าไม่มี นี่คือปัญหาใหญ่มากๆ แปลว่าเราทำงานโดยไม่มีแบบในหลายๆ กรณี เราทำงานเหมือนเราไม่รู้จักหลักวิศวกรรม เหมือนว่าเราก็สร้างไป  ถ้าใช้ไม่ได้ฟื้นฟูไม่ผ่านก็ช่าง เดี๋ยวสร้างใหม่

ก่อนการฟื้นฟูคลิตี้ ทราบว่ามีการศึกษาถึง 2 ปี จากนักวิชาการซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกรมควบคุมมลพิษ 

ใช่ครับ ซึ่งถูกต้องนะ เพราะก่อนการฟื้นฟูจะต้องมีกระบวนการที่เรียกว่า Feasibility Study ก็คือการศึกษาความเป็นไปได้ในการฟื้นฟู เขาต้องสำรวจพื้นที่โดยละเอียดเป็นขั้นตอน แล้วจึงเอาข้อมูลเหล่านั้นมาทำการศึกษาวิธีที่ดีที่สุด ประเมินความเสี่ยงตามค่าเป้าหมาย สอบถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับค่าเป้าหมายนี้ไหม จากนั้นจึงลงมือทำ 

กรมควบคุมมลพิษได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาศึกษา เป็นเงินรวมแล้ว 12 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องถูกต้อง เพียงแต่ว่าในการศึกษาครั้งนั้นยังไม่ได้ตามขั้นตอนตามหลักวิชาการที่ควรจะเป็น ซึ่งบ้านเรายังไม่มีกฎหมาย ไม่มีขั้นตอนที่ควรจะเป็น ฉะนั้นผมจึงบอกว่ามันต้องไปตามขั้นตอนของกฎหมายสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นแบบของหลายๆ ประเทศ เพราะว่าบ้านเราไม่มีเลย

การฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารตะกั่ว สามารถทำได้กี่วิธี แล้ววิธีที่ใช้อยู่ตอนนี้ช่วยได้ไหม

ในการฟื้นฟู ตอนนั้นมีอยู่ 3 เทคนิค

หนึ่ง ธรรมชาติบำบัด ซึ่งเรารู้แล้วว่าใช้ไม่ได้ผลกับคลิตี้
สอง การขุดลอกตะกอน วิธีนี้เรามีบทเรียนแล้วตอนเกิดการรั่วไหลของตะกั่วช่วงแรก บริษัทเหมืองได้ลองขุดแล้ว พบว่าเกิดการฟุ้งกระจาย แปลว่าถ้าใช้วิธีนี้ต้องรอบคอบมากๆ ซึ่งการออกแบบวิธีนี้จะต้องละเอียดมาก ต้องบอกได้ว่าขุดตรงไหน อย่างไร ค่าฟุ้งเป็นเท่าไหร่ ต้องมีแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ทั้งหมด
สาม การครอบตะกอน เทคนิคนี้เกิดขึ้นประมาณเกือบ 20 ปีแล้ว โดยการครอบตะกอนเก่าด้วยวัสดุจีโอเท็กซ์ไทล์ (Geotextile) ทำให้ตะกอนที่ปนเปื้อนไม่ฟุ้งขึ้นมา แล้วรอตะกอนใหม่ไหลเข้าไปปิดทับเอง ซึ่งเราจะสูญเสียสิ่งมีชีวิตในท้องน้ำไปบ้าง แต่ธรรมชาติก็จะสร้างระบบนิเวศขึ้นมาใหม่ เทคนิคนี้ใช้ในหลายประเทศ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาสามารถแก้ปัญหาการฟุ้งกระจายของตะกอนตะกั่วได้ ไม่ต้องสร้างหลุมฝังกลบ ซึ่งการออกแบบวิธีนี้จะต้องละเอียดมาก ต้องบอกได้ว่าขุดตรงไหน อย่างไร ค่าฟุ้งเป็นเท่าไหร่ ต้องมีแบบจำลองในคอมพิวเตอร์ทั้งหมด

กรมควบคุมมลพิษได้ว่าจ้างผู้รับเหมาฟื้นฟู คือ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน ด้วยวิธีขุดลอกตะกอน ผลเป็นอย่างไร  

ปรากฏว่า ไม่มีแผนผังในการทำว่าจะขุดตรงไหนอย่างไรบ้าง ไม่มีรายการคำนวณออกแบบบ่อดักตะกอนจากโคลนเลนที่รีดออกมาจากถุงเก็บตะกอนซึ่งมีตะกั่วปนเปื้อนออกมาสูงมา ไม่มีการคำนวณออกแบบว่าเมื่อน้ำไหลมาในหน้าฝน ตะกอนที่ถูกดักไว้โดยฝายหินทิ้งจะทะลักออกมามากเท่าใด และจะทำให้ลำห้วยช่วงที่ดูดตะกอนไปแล้วกลับมาปนเปื้อนใหม่ไหม? คล้ายกับว่าเรากำลังจะสร้างบ้านหลังหนึ่ง เราจ้างสถาปนิกหรือวิศวกรในการออกแบบบ้าน แต่เราไม่ได้แบบบ้าน เราได้แค่คำอธิบายบอกว่า ฉันจะสร้างบ้านคอนกรีตนะ เสาเป็นแบบนี้นะ แต่แบบแปลนเป็นอย่างไร…ไม่รู้ เราก็ได้แย้งไปนะว่า นี่คือปัญหา 

แต่สิ่งสำคัญที่สุด ถ้าใครเรียนเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารอันตรายจะรู้ว่า หัวใจของมันคือ ค่าเป้าหมายการฟื้นฟู 

ค่าเป้าหมายการฟื้นฟูคืออะไร สำคัญอย่างไรในกระบวนการฟื้นฟู

ค่าเป้าหมายการฟื้นฟู (how clean is clean) คือหัวใจของการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารพิษอันตราย เพราะในการฟื้นฟูนั้น ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถฟื้นฟูโดยไม่เหลือการปนเปื้อนเลย ทำไม่ได้ครับ แต่เราสามารถฟื้นฟูให้เหลือการปนเปื้อนในระดับที่ไม่ทำให้ผู้คนใช้ชีวิตเสี่ยงเกินจะยอมรับ เราต้องเข้าใจกันก่อน 

ตามหลักวิชาการทุกที่ในโลก ต้องกำหนดค่าเป้าหมายก่อนการฟื้นฟู แล้วเป้าหมายนี้ต้องมีความเป็นไปได้ ซึ่งค่ามาตรฐานทั่วโลกอยู่ที่ 140 มิลลิกรัม/กิโลกรัม แต่เพราะคลิตี้คือพื้นที่แหล่งแร่ การฟื้นฟูจึงไม่สามารถทำได้ถึงตัวเลขที่ต้องการ นั่นทำให้เราต้องมาตกลงกันใหม่ว่า สุดท้ายแล้วค่าเป้าหมายการฟื้นฟูคืออะไร เพราะมันคือตัวชี้วัดความสำเร็จของการฟื้นฟูครั้งนี้

เราเชิญกรมควบคุมมลพิษมานั่งคุยเชิงวิชาการกันเลยว่า ที่ผ่านมามันผิดพลาดอย่างไร ไม่บรรลุค่าเป้าหมาย ไม่บรรลุประสิทธิภาพการฟื้นฟู ไม่บรรลุคำสั่งศาลอย่างไรบ้าง ซึ่งขอไปหลายครั้ง ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ

ในฐานะนักวิชาการของชุมชน ได้เห็นถึงข้อโต้แย้งทางวิชาการหลายข้อในการฟื้นฟูครั้งนี้ คำถามคือ ข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อโต้แย้งเหล่านี้ ได้ถูกนำไปพัฒนาต่ออย่างไรบ้าง

มันไม่ได้ถูกนำไปใช้ในเวลาที่เหมาะสม ทางเราเสนอในนามกัลยาณมิตรของกรมควบคุมมลพิษมาโดยตลอด เรามีหลักฐานทางวิชาการทั้งผลงานตีพิมพ์ในระดับโลกให้ดูว่ามันถูกต้องแล้ว เราเอางานไปตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติที่ผ่านกระบวนการมากมาย เพื่อบอกว่าเราถูกจริงๆ ไม่ใช่ความรู้ลอยๆ 

อย่างไรก็ตาม ความรู้ทางฝั่งของเราไม่ได้ถูกนำไปใช้ ผมเคยเชิญอาจารย์ ของผมจากสหรัฐอเมริกามาที่ประเทศไทย เชิญมาด้วยเงินของมหาวิทยาลัย เพื่อมายืนยันว่า การครอบตะกอน (sediment capping) ทำอย่างไร แก้ปัญหาการฟุ้งอย่างไร เชิญกรมควบคุมมลพิษมาด้วย ออกทีวีด้วย แต่สุดท้ายกรมก็ไม่เลือกใช้วิธีนี้ บอกว่ามันยาก ซึ่งจริงๆ มันไม่ได้ยากขนาดนั้น กลายเป็นว่า องค์ความรู้หลายๆ อย่างของเราไม่ถูกนำไปใช้ 

เราเห็นตัวละครอย่างกรมควบคุมมลพิษ นักวิชาการ บริษัทรับเหมา แล้วชาวบ้านล่ะ อยู่ตรงไหนของการกระบวนการฟื้นฟูคลิตี้

ผมแบ่งชาวบ้านออกเป็น 3 ส่วน หนึ่ง-ชาวบ้านที่รู้ว่าการปนเปื้อนคือการละเมิดสิทธิ คือชาวบ้าน 22 คนที่ฟ้องคดี ทั้งคดีแพ่งและปกครอง เพื่อให้เกิดการฟื้นฟู สอง-ชาวบ้านกลุ่มที่รู้ว่าถูกละเมิดและได้รับผลกระทบ แต่ไม่ใช่กลุ่มที่ฟ้องคดี สาม-ชาวบ้านที่มีส่วนร่วมกับกระบวนการฟื้นฟู ไม่ว่าจะในฐานะผู้รับเหมาหลัก หรือผู้รับเหมาเป็นช่วงๆ ในการฟื้นฟู

สิ่งที่พวกเขามีร่วมกันอย่างน้อยที่สุดสำหรับชาวบ้านกลุ่มที่ 1 และ 2 นั่นคือ เขาก็ยังมีความเข้าใจว่า กรมควบคุมมลพิษเข้ามาช่วยในการฟื้นฟู ช่วยได้แค่ไหนก็แค่นั้น แม้ผลการฟื้นฟูจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ และระหว่างการฟื้นฟูมันมีความเดือดร้อนเกิดขึ้น ทั้งน้ำขุ่น การขุดหน้าดิน การรบกวนที่ทำกิน 

หากชาวบ้านคิดว่า กรมควบคุมมลพิษมาเพื่อทำหน้าที่โดยใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นภาษีของพวกเรา เพื่อทำหน้าที่คืนความเป็นธรรมให้ชาวบ้าน มันจะทำแค่ไหนแค่นั้นไม่ได้ แล้วจะรบกวนทำให้ชาวบ้านเดือนร้อนระหว่างฟื้นฟูยิ่งไม่ได้เข้าไปใหญ่ แต่ต้องฟื้นฟูจนบรรลุค่าเป้าหมายกระทั่งชาวบ้านอยู่ได้อย่างปลอดภัย 

กรมควบคุมมลพิษชอบพูดว่า “ก็ชาวบ้านเองที่มาขอให้เขามาฟื้นฟู” ซึ่งจริงๆ แล้วคือ ชาวบ้านฟ้องให้รัฐเข้ามาแก้ไขปัญหาที่รัฐเองอนุญาตให้มาทำเหมือง แล้วกำกับดูแลเหมืองไม่ดีจนทำให้เกิดการปนเปื้อน ทั้งหมดนี้ชาวบ้านไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหา รัฐต่างหากที่ก่อให้เกิดปัญหา สุดท้ายศาลก็สั่งให้กรมควบคุมมลพิษมีอำนาจหน้าที่เข้ามาแก้ปัญหา และกรมไม่มีสิทธิ์มาทำความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน แล้วก็บอกว่า เราเข้ามาช่วยนะ เราจะทำให้เธอเดือดร้อนยังไงก็ได้ 

ระบบการฟื้นฟูที่ดี มีความหมายอย่างไร 

เมื่อเกิดการปนเปื้อน ชาวบ้านไม่ต้องประท้วง เพราะระบบที่ดีจะมีกลไกรายงานอยู่ 3 แบบ หนึ่ง-ชาวบ้านรายงานปัญหาว่าเกิดการปนเปื้อน สอง-หน่วยงานรัฐเข้ามาตรวจแล้วพบว่า มีการปนเปื้อนเกินค่าที่ยอมรับได้ สาม-โรงงานรายงานเองว่ามีค่าปนเปื้อนเกินมาตรฐานแล้ว 

หลายกรณีของต่างประเทศ การปนเปื้อนยังไม่ต้องไปถึงชุมชนหรอกครับ แค่ปนเปื้อนในโรงงาน หรือโรงแต่งแร่ เขาก็จัดการแล้ว มันจะไม่กระทบชีวิตคนเลย หรือหากหน่วยงานค้นพบว่ามีการปนเปื้อน เขาจะบอกเองเลยว่า ใครต้องรับผิดชอบ ถ้าโรงงานที่ก่อมลพิษไม่ยอมรับ กรมควบคุมมลพิษจะต้องฟ้องร้องโรงงาน ชาวบ้านไม่ต้องรอ เพราะกรมจะเอาเงินกองทุนฟื้นฟู (Superfund) ซึ่งเป็นเงินภาษีจากโรงงานที่ใช้สารเคมีอันตราย เอามาฟื้นฟูให้ชาวบ้านเลย แปลว่าชาวบ้านไม่ต้องฟ้องใครเลย 

ส่วนโรงงานก็สู้คดีไป ถ้าแพ้ก็จ่ายเงิน ถ้าชนะก็รอดตัว แต่กรมก็ต้องฟื้นฟูอยู่ดี ด้วยเงินจากกองทุนฟื้นฟู แปลว่า ไม่ว่าโรงงานที่ก่อมลพิษจะแพ้หรือชนะคดีก็แล้วแต่ ชาวบ้านจะได้รับการปกป้อง เพราะชาวบ้านสำคัญที่สุด

แล้วระบบการฟื้นฟูที่ดี จะต้องมีกระบวนการอย่างไร

ในกระบวนการฟื้นฟู เขาจะถามว่า จะฟื้นฟูหรือเปล่า เพราะไม่ใช่ว่า ผมทำสารเคมีหกถ้วยหนึ่งก็ต้องฟื้นฟู ถ้าเป็นบ้านเราก็จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ แต่ในต่างประเทศนั้น เขามีวิธีที่เรียกว่า Hazard Ranking Score คือใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ ถ้าเราใส่ข้อมูลลักษณะของการปนเปื้อนสารพิษ การกระจายตัวของประชาชน การกระจายตัวของสารอันตราย ทิศทางการไหลของน้ำทั้งหลาย โปรแกรมจะคำนวณออกมาเลยว่า ควรฟื้นฟูหรือเปล่า โดยสิ่งนี้จะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ 

เราไม่ต้องไปตั้งกรรมการ พื้นที่นี้ที พื้นที่นั้นที โดยที่ไม่รู้ว่ามีการล็อบบี้เกิดขึ้นหรือไม่ มีทัศนคติต่อปัญหาที่ต่างกันขนาดไหน ขณะที่อเมริกาตัดสิ่งเหล่านี้ออกไปโดยใช้วิธีมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ว่าใครก็ตามกรอกข้อมูลลงไป หากข้อมูลนั้นเหมือนกัน จะได้คำตอบเหมือนกัน 

จากนั้นถ้าต้องฟื้นฟู เขาจะนำไปใส่ในรายการ เรียกว่า National Priorities List (NPL) คือรายการที่ต้องฟื้นฟูในประเทศ โดยจัดอันดับไล่เลียงลงมาเลย ส่วนกระบวนการฟื้นฟูนั้น เขาจะเริ่มที่การสำรวจโดยละเอียด ทำแบบจำลอง ประเมินความเสี่ยง ตั้งค่าเป้าหมาย แล้วถามประชาชน หากประชาชนรับรู้ข้อมูลและยอมรับความเสี่ยง ยอมรับให้มีการฟื้นฟูได้ ก็จะมีการทำสัญญาเรียกว่า Record of Decision (ROD) จะฟื้นฟูการปนเปื้อนสารพิษให้ลงมาถึงค่านี้ ด้วยวิธีอะไร 

ทุกขั้นตอนของกระบวนการจะมีการตรวจสอบติดตามว่า คุณทำตามสัญญาหรือเปล่า ถ้าไม่ ก็ไม่สามารถเบิกเงินได้ ฉะนั้น กรมหรือบริษัทผู้รับเหมาฟื้นฟูจะเข้มงวดมาก ไม่สามารถตุกติกหรือไม่ทำตาม Record of Decision ได้ เพราะจะมีหลักฐานที่ทำให้ไม่สามารถเบิกเงินได้ 

เมื่อฟื้นฟูเสร็จแล้ว การปนเปื้อนสารพิษผ่านค่ามาตรฐานแล้ว จะมีการติดตามทุกๆ 5 ปี วิธีนี้ใช้ที่อเมริกา สำเร็จแล้วประมาณ 1,400 พื้นที่ กรณีที่ชาวบ้านต้องมาฟ้องเองเหมือนที่เกิดในบ้านเราซ้ำๆ แทบไม่มีแล้ว 

ปัจจุบันการฟื้นฟูหมดเงินไปแล้ว 454 ล้าน ในระยะที่ 1 และกำลังเข้าสู่การฟื้นฟูระยะที่ 2 ด้วยงบประมาณอีกกว่า 180 ล้าน มีข้อกังวลอะไรไหม

คำถามคือ หากฟื้นฟูระยะที่ 2 ต่อ แล้วลำห้วยจะดีขึ้นจริงๆ ไหม เพราะถ้าระยะที่ 1 วงเงิน 454 ล้าน ยังทำไม่สำเร็จ ยังไม่บรรลุค่าเป้าหมาย แล้วระยะที่ 2 ใช้เงินอีกเกือบ 200 กว่าล้าน จะบรรลุค่าเป้าหมายเหรอ ความเดือดร้อนที่ชาวบ้านจะได้รับยังเหมือนเดิมไหม ควรกลับมาทบทวนและหาหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนกว่านี้ไหม ว่า การดำเนินงานระยะที่ 2 จำเป็นจริงๆ และจะช่วยให้ชาวบ้านอยู่ได้โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบจริงๆ 

ผมยืนยันว่า ก่อนจะไปฟื้นฟูต่อในระยะที่ 2 คุณจะต้องจบและปิดงานฟื้นฟูระยะที่ 1 อย่างสวยงามก่อน คือค่าตะกั่วคงค้างในตะกอนต้องต่ำกว่าค่าเป้าหมาย (ซึ่งคือ 563 มก ต่อ กก ที่ผมเสนอ หรือ 1,800 มก ต่อ กก ที่กรมควบคุมมลพิษเสนอ) หนึ่ง-ถ้าหลักวิชาการไม่ชัด ยังไม่ควรทำ เสียดายเงินเกือบ 200 ล้าน สอง-ถ้าความเดือดร้อนของชาวบ้านยังเหมือนเดิม ไม่ควรทำ เพราะมันคือการซ้ำเติมความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เอาง่ายๆ ว่า ถ้าปีหน้าเราไปเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ แล้วพบว่าการปนเปื้อนยังเหมือนเดิม แต่หมดเงินไปอีกเกือบ 200 ล้าน ใครจะรับผิดชอบ เราอาจจะต้องมานั่งสัมภาษณ์กันแบบนี้อีกรอบ คนที่ต้องรับผิดชอบก็ยังไม่ตอบอยู่ดี 

ถ้าเรายังไม่หยุดทบทวนกรณีคลิตี้ พื้นที่อื่นๆ เช่น เหมืองแร่เมืองเลย เหมืองทองอัครา เหมืองถ่านหิน หรือพื้นที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการปนเปื้อนสารพิษ จะเกิดอะไรขึ้น 

ถ้าเราไม่หยุดทบทวนก่อน แล้วปล่อยให้เสร็จๆ ไปทั้งๆที่ชุมชนยังไม่ปลอดภัย ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกที่ในประเทศไทยที่มีการปนเปื้อนสารพิษ จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า การฟื้นฟูที่ไร้หัวใจ และไม่มีชาวบ้านในสมการเลย 

สุดท้ายจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ผู้ได้รับผลกระทบซึ่งเป็นผู้ฟ้องร้องจนชนะ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเลย พูดให้ตรงกว่านั้นคือ ราชการที่ปฏิบัติงานผิดพลาดจนเกิดการปนเปื้อน แล้วเข้ามาฟื้นฟู อาจไม่มีความโปร่งใส หากไม่ให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ทางออกที่ดีในการตอบคำถามข้างต้นคือ ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมเยอะๆ ข้าราชการทำตามหลักวิชาการที่ควรจะเป็น มันถึงจะเกิดความสำเร็จได้

คลิตี้คือหมุดหมายในหลายๆ กรณี เพราะตอนนี้มีกรณีแบบนี้เยอะ ทั้งแม่สอด เมืองเลย ราชบุรี คล้ายๆ กันเลย ถ้าการฟื้นฟูเป็นเหมือนโมเดลที่คลิตี้ จะเกิดปัญหามากๆ เพราะว่าผู้ได้รับผลกระทบคือคนหนึ่ง ผู้ฟื้นฟูเป็นอีกคนหนึ่ง เมื่อถามหาความรับผิดชอบ ก็เหมือนยังไม่มีคำตอบ 

สุดท้ายแล้ว ผมกลัวว่ามันจะไปจบที่คำว่า “ธรรมชาติปนเปื้อนอยู่แล้ว จนฟื้นฟูไม่ได้” ผมพูดมา 3 ปีแล้วว่า อย่าตอบแบบนี้นะ รับฟังไม่ได้จริงๆ คุณไม่มีความสามารถในการฟื้นฟูต่างหาก ไม่ใช่ธรรมชาติฟื้นฟูไม่ได้ เราพิสูจน์ไปจนถึงระดับนิวเคลียร์ นิวตรอนแล้วว่า มันฟื้นฟูได้ ถ้าฟื้นฟูไม่ได้ มันคือความผิดของความไม่ถูกต้องทางหลักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมในการออกแบบ และดำเนินการ แล้วไม่รับผิดชอบต่างหากล่ะ 

ตลอด 10 ปีที่ทำงานคลุกคลีในคลิตี้ อยากฝากบอกอะไรไหม

ผมรู้สึกผิดหวังในหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือ ตัวเอง 

ผมรู้ตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้วว่า มันจะเกิดอะไรขึ้น รู้ว่าการฟื้นฟูจะไม่สำเร็จ แต่เรากลับคิดว่า เราทำหน้าที่เราแล้ว เราเตือนแล้ว ให้ข้อมูลถึงจุดอ่อนจุดแข็งของวิธีการฟื้นฟูไปแล้ว แล้วคิดว่ากรมควบคุมมลพิษตลอดจนบรรดาที่ปรึกษาของเขาจะรับไปพิจารณาและปรับปรุง 

เมื่อเขาไม่รับ เราคิดว่ามันคือความรับผิดชอบของเขา เราทำหน้าที่เสร็จแล้ว เพราะเราถกเถียงหน้าดำหน้าแดง คุณไม่ทำ ก็แล้วแต่คุณ 

แต่ความจริงก็คือ เมื่อถึงวันที่การฟื้นฟูไม่สำเร็จจริงๆ มีความผิดพลาดเกิดขึ้นจริงๆ ผมรู้สึกว่าถ้าวันนั้นเราแข็งกว่านี้ เราไม่ยอม เถียงหัวชนฝา มันจะเปลี่ยนใจเขาได้ไหมนะ มันจะทำให้ไม่เกิดวันนี้ วันที่ฟื้นฟูไม่สำเร็จหรือเปล่า


อ้างอิง

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า