จากธนาพล ลิ่มอภิชาต ถึง ธงชัย วินิจจะกูล: สงครามประวัติศาสตร์ วิธีนิพนธ์ การโต้กลับ

จดหมายฉบับนี้ถูกเขียนที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปี 2521 ปีนั้นเป็นปีที่ ธงชัย วินิจจะกูล และผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา 19 ได้รับการนิรโทษกรรม หลังถูกจองจำมากว่า 2 ปี ผู้เขียนจดหมายฉบับนี้คือ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อนต้องตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยในบ่ายวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และถูกปรักปรำอย่างผิดไปจากความจริง กระทั่งต้อง ‘ลี้ภัยการเมือง’ อยู่ประเทศอังกฤษ  

มีประวัติศาสตร์ร่วมกันระหว่าง ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ กับ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล คนแรกเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คนหลังเป็นแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์เดียวกัน ในปี 2563 ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย ถูกคัดเลือกให้เป็นปาฐกในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 โดยมีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้จัดและดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องนับจาก พ.ศ. 2530

หัวข้อในการแสดงปาฐกถาพิเศษของอาจารย์ธงชัย คือ ‘นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย’ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคม 2563 ณ อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่ก่อนจะถึงวันนั้น WAY อยากชวนอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษชุด ‘ธงชัย วินิจจะกูล ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17’ ซึ่งประกอบด้วยบทสัมภาษณ์นักวิชาการด้านต่างๆ 4 ท่าน บทสัมภาษณ์แต่ละชิ้นทั้งเติมและต่อทั้งตัวตนและความคิดของอาจารย์ธงชัย

สำหรับบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ WAY สนทนากับ ธนาพล ลิ่มอภิชาต แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะลูกศิษย์คนหนึ่งของ ธงชัย วินิจจะกูล เขาสนใจประวัติศาสตร์นิพนธ์ สงคราม การช่วงชิง การนิพนธ์ และการโต้กลับบนสนามของการเขียนประวัติศาสตร์

ถ้าต้องติดเกาะและสามารถเลือกหนังสือเพียงเล่มเดียวของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ติดตัวไปด้วย อาจารย์ธนาพลจะเลือกหนังสือเล่มไหน

ผมจะเลือกวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์ธงชัย Siam Mapped: A History of the Geo-body of Siam ซึ่งไม่เหมือน Siam Mapped เวอร์ชั่นตีพิมพ์เป็นหนังสือเสียทีเดียว มีบางสิ่งถูกตัดไปในการพิมพ์เป็นหนังสือ ผมคิดว่าหลายเรื่องที่อาจารย์ธงชัยเขียนหลัง Siam Mapped มีรากบางอย่างย้อนกลับไปที่วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกชิ้นนี้ ผมเห็นบางอย่างในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของอาจารย์ธงชัยก่อตัวในงานชิ้นสำคัญๆ อย่างเช่น พระมหาธรรมราชา (ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย กรณีพระมหาธรรมราชา, 2546) ความคิดหลายอย่างที่อยู่ในวิทยานิพนธ์ แต่ไม่ได้ถูกนำมาใส่ในหนังสือ พูดง่ายๆ อาจารย์ธงชัยพูดอะไรไว้เยอะมากตอนเขียนวิทยานิพนธ์ แล้วหลายอย่างนั้นยังตกทอดมาเป็นงานชิ้นต่อๆ มาของอาจารย์ธงชัย ถ้าถามผม ผมเลือกเล่มนี้

แต่ถ้าพูดแบบนี้ก็เหมือนจะไม่แฟร์กับอาจารย์ธงชัย ราวกับว่าอาจารย์ธงชัยไม่มีความเปลี่ยนแปลงในวิธีคิดเลย แต่ความจริงคือความคิดทางวิชาการของอาจารย์เปลี่ยนไปเยอะมากหลัง Siam Mapped แต่ด้วยความสนใจส่วนตัวด้วยนะครับ ผมสนใจประวัติศาสตร์นิพนธ์ ผมสนใจแนวคิดเรื่องชาตินิยม ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้ปรากฏใน Siam Mapped เยอะมาก

อาจารย์ธงชัยพยายามจะท้าทายความรู้ประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ บางครั้งอาจารย์ก็ไม่ได้มั่นใจนะครับว่าสิ่งที่นำเสนอจะถูกต้องหรือมีคำตอบที่แน่นอน แต่ท้าทายไปก่อน ถ้าคิดไปในแนวนี้ อาจจะต่อยอดหรือผลักความคิดไปได้ เขาเรียก pushing the limit เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจารย์ธงชัยพยายามทำมาตลอด ลองดูซิว่าถ้าคิดไปในแนวนี้จะไปต่อได้ไหม จะนำไปสู่อะไรที่ใหม่กว่าเดิมไหม นี่คือสิ่งที่อาจารย์ธงชัยพยายามจะเสนอตลอดมา

แต่ถ้าคุณกลับไปลองอ่านงานชิ้นที่สำคัญเช่น The Others Within: Travel and Ethno-Spatial Differentiation of Siamese Subjects 1885-1910 หรือ ผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ไทย กรณีพระมหาธรรมราชา เป็นงาน originality ที่น่าสนใจมาก อาจารย์ธงชัยพยายามท้าทายกับองค์ความรู้ที่มีอยู่เดิม

อะไรคือการท้าทายองค์ความรู้เดิมของอาจารย์ธงชัยที่ส่งอิทธิพลต่อการอธิบายสังคมไทย

มันทำให้เราคิดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เขียนกันเสียใหม่ เมื่อก่อนเราจะถกเถียงเรื่องประวัติศาสตร์กันเฉพาะในเนื้อหา แต่อาจารย์ธงชัยจะบอกว่าประเภทของงานเขียน (genre) และองค์ประกอบของงานเขียนมีส่วนสำคัญ และประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องของเนื้อหาอย่างเดียว ประวัติศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของ narrative มีพล็อตเรื่อง โครงเรื่อง เทคนิคการเขียน ภาษาที่ใช้ในการเขียน มีองค์ประกอบเยอะมากในงานเขียนประวัติศาสตร์ อาจารย์ธงชัยได้รับอิทธิพลจาก เฮย์เดน ไวท์ (Hayden White) ในแง่ของการมองประวัติศาสตร์แบบ narrative ใช้ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับ narrative มาศึกษางานประวัติศาสตร์ ก็เลยทำให้เราเห็นประวัติศาสตร์ไทยที่แตกต่างไปจากที่เคยศึกษากันมาก่อนหน้า

อยากให้อาจารย์ธนาพลช่วยฉายภาพสมรภูมิของประวัติศาสตร์นิพนธ์ ว่ามันคลี่คลายจากอดีตสู่ปัจจุบันอย่างไร

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณปี 2553 อาจารย์แพทริค โจรี เขียนงานชิ้นหนึ่งซึ่งหัวข้อน่าสนใจ ชื่อว่า สงครามประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย: การต่อสู้ของสถาบันกษัตริย์ในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ตีพิมพ์อยู่ในวารสารฟ้าเดียวกัน (ฉบับเดือนมกราคม-กันยายน 2553) อาจารย์แพทริค โจรี พยายาม outline ให้เห็นถึงการต่อสู้ในเชิงของการเขียนประวัติศาสตร์ไทย เริ่มตั้งแต่สมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไล่มาจนถึงช่วงประมาณต้นทศวรรษที่ 2550 ว่ามีการต่อสู้กันอย่างไร ข้อสังเกตของอาจารย์แพทริคก็คือว่า ประวัติศาสตร์ชาตินิยมหรือที่อาจารย์ธงชัยเรียกว่า ‘ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม’ เป็นพลังทางอุดมการณ์ของชนชั้นนำไทยที่ทั้งพยายามเผยแพร่ ผลิตซ้ำ จนกลายเป็นอุดมการณ์ชุดหนึ่งให้กับสังคมไทย ผ่านแบบเรียน ผ่านการเขียนงานของนักวิชาการต่างๆ

แต่อาจารย์แพทริคก็พยายามชี้ให้เห็นว่า มีงานที่ท้าทายงานเหล่านี้ด้วย เขากลับไปดูงานประวัติศาสตร์หลายชิ้นในช่วง 2475 ซึ่งถูกผลิตออกมาท้าทายบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อพัฒนาการโดยรวมของประเทศไทย และที่สำคัญก็คือช่วงทศวรรษ 2490 ช่วงนั้นนักคิดปัญญาชนฝ่ายซ้ายซึ่งได้รับอิทธิพลจากลัทธิมาร์กซ์ เริ่มที่จะผลิตงานที่ท้าทายภาพรวมของประวัติศาสตร์ไทย

งานอีกชิ้นหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพของการต่อสู้ในเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ได้ค่อนข้างชัด ก็คืองานของอาจารย์ธงชัยเอง อาจารย์ธงชัยพยายามอธิบายให้เห็นว่า 14 ตุลาฯ เป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ ไม่ใช่ในเชิงการเมืองอย่างเดียว แต่ในเชิงของภูมิปัญญาด้วย หลัง 14 ตุลาฯ มีแขนงของงานเขียนประวัติศาสตร์ที่แตกกิ่งออกมาเยอะมาก ก่อนหน้า 14 ตุลาฯ งานเขียนที่ออกมาจะเน้นประวัติศาสตร์ชาติเป็นหลัก แต่ช่วงหลัง 14 ตุลาฯ คุณจะเห็นงานประวัติศาสตร์ใหม่ๆ เยอะมาก งานของกลุ่มนักโบราณคดี อาจารย์ศรีศักดิ์ (วัลลิโภดม) งานของอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์) รวมทั้งงานของสายอาจารย์ฉัตรทิพย์ (นาถสุภา) ซึ่งเป็นงานที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดเกี่ยวกับท้องถิ่น เรื่องของชาวบ้าน ที่สำคัญคือการให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ ในแง่ของการขับเคลื่อนการเขียนประวัติศาสตร์

ประเด็นของอาจารย์ธงชัย ผมคิดว่าอาจารย์ต้องการนำเสนอให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ไทยหลัง 14 ตุลาฯ แต่ในขณะเดียวกันถ้าคุณอ่านงานชิ้นอื่นๆ ของอาจารย์ธงชัย คุณก็จะพบว่าประวัติศาสตร์ก็ยังคลุมเครือ พูดง่ายๆ ยังมีอำนาจครอบงำสังคมไทยอยู่ อำนาจนั้นก็คือประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม

สิ่งที่ผมอยากจะเน้นอีกอย่างหนึ่ง ผมคิดว่า 6 ตุลาฯ มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยโดยรวม 6 ตุลาฯ เปลี่ยนประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยโดยรวมมากกว่าที่หลายคนพูดถึงหรือไม่ได้พูดถึง

6 ตุลาฯ เปลี่ยนประวัติศาสตร์นิพนธ์อย่างไร

นักประวัติศาสตร์คนสำคัญๆ ผลิตงานชิ้นสำคัญๆ ในช่วงประมาณ 20-30 ปีที่ผ่านมา คนอย่าง อาจารย์นิธิ, อาจารย์ธงชัย, อาจารย์สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) หรือ อาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) กรณีอาจารย์นิธิ ผมคิดว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ มีส่วนทำให้อาจารย์นิธิซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขของรัฐบาลขวาจัดในช่วงเวลานั้นกดขี่การแสดงออกทางการเมือง หรือกึ่งๆ บังคับให้อาจารย์นิธิผลิตงานอีกแบบหนึ่งขึ้นมา ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์นิธิจะเขียน ปากไก่และใบเรือ ออกมาอย่างนี้หรือไม่ถ้าไม่มีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ เพราะอาจารย์นิธิเคยพูดเคยบอกว่า เป็นความตั้งใจที่จะเขียน ปากไก่และใบเรือ เพราะวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ส่วนหนึ่งก็บ่งบอกถึงความสนใจความสัมพันธ์ระหว่างประวัติศาสตร์และวรรณกรรม

แน่นอนว่า คนอย่างอาจารย์สมศักดิ์ จริงๆ แล้วต้องรวมอาจารย์สมเกียรติ วันทะนะ ด้วยอีกคนหนึ่ง แล้วก็อาจารย์ธงชัย คนเหล่านี้ผลิตงานประวัติศาสตร์ขึ้นมา ในแง่หนึ่งคือการโต้กลับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 ตุลาฯ คนเหล่านี้เขียนประวัติศาสตร์เพื่อต่อสู้กับประวัติศาสตร์กระแสหลัก ต่อสู้กับประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่สร้างอุดมการณ์ชาตินิยมขึ้นมา ซึ่งมีส่วนทำให้คนสามารถฆ่ากันเองได้อย่างเหี้ยมโหด ผมคิดว่านี่เป็นลักษณะของการเขียนประวัติศาสตร์เพื่อการต่อสู้

เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 มีผลต่อการเขียนประวัติศาสตร์อย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าหลังการรัฐประหาร ปี 2549 มีงาน 2-3 กลุ่มปรากฏชัดขึ้น กลุ่มแรกคืองานเชิงประวัติศาสตร์การเมืองที่ให้ความสนใจกับยุคสมัยหรือทศวรรษที่ 2490 หลายคนมองว่า 2490 เป็นจุดเริ่มต้นของลักษณะบางอย่างของการเมืองไทย คุณจะเห็นงานหลายชิ้นที่พูดถึงทศวรรษ 2490

งานอีกลักษณะหนึ่งที่ค่อนข้างจะเห็นได้ชัด ก็คืองานที่ให้ความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงในชนบท นักวิชาการพยายามที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงในช่วงทศวรรษ 2540 ที่นำมาสู่การรัฐประหาร มันเกิดจากอะไร ความเปลี่ยนแปลงในชนบทเป็นคีย์หนึ่งที่สำคัญ หลายคนพยายามจะอธิบาย โดยเฉพาะสำนักเชียงใหม่ ลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์อรรถจักร์ (สัตยานุรักษ์) ผลิตงานหลายชิ้นที่น่าสนใจขึ้นมา

ขณะที่งานจำนวนหนึ่งพยายามกลับไปพูดถึง 2475 ในมิติการมีส่วนร่วมของประชาชนที่สำรวจลงลึกมากไปกว่างานที่เคยพูดถึงประเด็นนี้ในช่วงก่อน ในแง่หนึ่งการเมืองจึงมีผลต่อการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์

ดูเหมือนว่าฝ่ายที่เขียนประวัติศาสตร์ในช่วงหลัง 2549 จะเป็นฝ่ายที่ต้องการท้าทายความเป็นอนุรักษนิยมของสังคมไทย ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่เขียนประวัติศาสตร์หลังการรัฐประหาร 2549 บ้างหรือ

ถ้าเราดูปรากฏการณ์ของการผลิตหรือการเขียนงานประวัติศาสตร์หลังการรัฐประหาร 2549 ฝ่ายอนุรักษ์หรือผู้มีอำนาจในสังคมไทยก็กังวลเกี่ยวกับความแพร่หลายของประวัติศาสตร์ในเวอร์ชั่นที่เป็นฝ่ายก้าวหน้า คุณจะเห็นได้ว่า มีงานประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งที่ถูกผลิตออกมาโดยฝ่ายอนุรักษนิยมที่ตีพิมพ์หลังปี 2549 หนึ่งในตัวอย่างที่ผมคิดว่าน่าสนใจก็คือหนังสือ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ผลิตโดยกรมศิลปากร ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรม ผลิตในปี 2558

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่ คือสิ่งเดิมที่ถ่ายทอดกันมานั่นแหละ แต่ทำไมต้องมาผลิตเพิ่มในช่วงเวลานี้ ก็เพราะชนชั้นนำกังวลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ คุณจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมา ชนชั้นนำไม่ว่าจะเป็นพลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา) หรือใครต่อใครต่างก็ออกมาบอกว่า เราต้องเรียนประวัติศาสตร์ คนไทยต้องรู้ประวัติศาสตร์ เพราะเขากังวลว่าประวัติศาสตร์ที่เผยแพร่ในเวอร์ชั่นอื่นๆ มันอันตราย อาจารย์ธงชัยก็เคยเขียนงานว่า ประวัติศาสตร์มันอันตราย

ถ้าคุณไปเดินดูตามชั้นหนังสือในร้านหนังสือทั่วไป บนชั้นประวัติศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ไทย หนังสือกลุ่มต่างๆ ที่คุณเห็นไม่ใช่ของฝ่ายก้าวหน้านะครับ แต่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ถูกตีพิมพ์ซ้ำ ประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับทั้งในแง่ของสถาบัน ในแง่ของประวัติศาสตร์เรื่องราวในรั้วในวัง นั่นคือการต่อสู้ในเชิงประวัติศาสตร์

คุณจะเห็นเลยว่าหนังสือที่ออกมาจะเป็นประเภทที่ทำให้เราระลึกถึงความสวยงาม ความดี ความยิ่งใหญ่ ของประวัติศาสตร์ไทยในอดีต คืออาการ nostalgia นี่ก็คือวิธีโต้อันหนึ่ง วิธีโต้อย่างหนึ่งเลยก็คือการสร้าง nostalgia ว่าอดีตนั้นดีงาม ภายใต้รูปแบบการปกครอง ภายใต้กลุ่มคนปกครองกลุ่มเดิม จะทำให้ประเทศไทยดี คนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาท้าทายหรือจะขึ้นมามีอำนาจ พวกนั้นเป็นพวกเชื่อถือไม่ได้

ผมอาจจะผิดก็ได้นะครับ และผมไม่แน่ใจว่าสามารถพูดได้มากน้อยแค่ไหน แต่ ณ ขณะนี้ นักประวัติศาสตร์ในสายอนุรักษนิยมที่สังคมไทยเคยมีมาแบบในอดีต มันไม่มีแล้ว…หรือมี ก็มือไม่ถึง อาจจะมีบ้างแต่ไม่สามารถผลิตงานมาแข่งมาโต้ได้ คุณไม่สามารถโต้แย้งนิธิ คุณไม่สามารถโต้ธงชัยหรือสมศักดิ์ ฉะนั้นสิ่งที่คุณทำก็คือ คุณจะผลิตงานที่ไม่ได้มี intention ที่ชัดเจน ดังนั้นประวัติศาสตร์เวอร์ชั่นอนุรักษนิยมจึงไปปรากฏในละครทีวี พูดง่ายๆ ก็คือ ฝ่ายอนุรักษนิยมรับรู้ถึงกระแสการเขียนประวัติศาสตร์ ผมคิดว่าเขาจะ conscious หรือไม่ conscious ผมคิดว่าเขามีเซนส์ว่ากำลังต่อสู้อยู่กับประวัติศาสตร์กระแสโต้กลับในระดับหนึ่ง ฉะนั้นจึงต้องผลิตงานออกมา ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนก็ตามแต่ สี่แผ่นดินเวอร์ชั่นที่เป็นละครเวที ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจที่จะลงไปดู

เมื่อครู่อาจารย์บอกว่า นักประวัติศาสตร์ฝั่งอนุรักษนิยมฝีมือไม่ถึง?

ผมพูดอย่างนี้ดีกว่า มีนักประวัติศาสตร์จำนวนมากที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม แต่เขาไม่ได้เขียนงานออกมาโต้ตรงๆ เขาผลิตงานประเภทอื่น ผมไม่รู้ว่าเราจะนับนักประวัติศาสตร์สมัครเล่นที่เขียนงานส่งมาลงนิตยสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ได้ไหม พูดแบบนี้ดีกว่า ในปัจจุบันเราไม่มีคนอย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่มีคนอย่าง อาจารย์ขจร สุขพานิช ไม่มีคนอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เราไม่มีปัญญาชนแบบนี้ในปัจจุบัน ผมคิดว่าอาจารย์นิธิอาจจะเคยเขียนไว้ หรือใครเคยเขียนไว้ในประเด็นนี้ เรื่องที่ว่าปัญญาชนของฝ่ายอนุรักษ์ในปัจจุบันนั้นขาดแคลน เขาจำเป็นต้องสร้างขึ้นมา พอสร้างไม่ได้ คุณก็จะเห็นลักษณะที่เป็นอีกแบบหนึ่งของสงครามประวัติศาสตร์นิพนธ์

เรามีงานประวัติศาสตร์ที่ทั้งอธิบาย ท้าทาย ชำแหละ ลักษณะวิธีคิด การก่อตัว ผลิตซ้ำอุดมการณ์ชาตินิยม ออกมามากมาย แต่ดูเหมือนว่า ชาตินิยมก็ยังเป็นกระแสหลักของสังคมไทย และอาจจะสังคมโลกด้วย

หมายความว่าชาตินิยมมันกลับมา? ผมว่าชาตินิยมอาจไม่เคยหายไปไหนด้วยซ้ำ เราเคยเชื่อว่าในช่วงหลังจากกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย พูดง่ายๆ เราเชื่อว่าหลังสงครามเย็น liberal democracy จะเป็นฝ่ายชนะในเชิงอุดมการณ์ ผนวกกับกระแส globalization ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นคือช่วงทศวรรษ 1980-1990s ก็น่าจะทำให้กำแพงของความเป็นชาติถูกรื้อถูกพังลง แต่ในความเป็นจริงคนจำนวนหนึ่งไม่ได้ผลประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ ไม่ได้ผลประโยชน์จากกระแส liberal democracy เสียทีเดียว โดยเฉพาะอเมริกาหรือยุโรป คนจำนวนมากได้รับผลกระทบจาก globalization ด้วยซ้ำ และทำให้คนเหล่านี้ลุกขึ้นมาต่อต้านกระแส globalization ถ้าเราพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า neo liberalism ลัทธิที่มองเฉพาะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แล้วก็เป็นลัทธิที่ทำให้ชนชั้นนายทุนหรือพวกผู้ประกอบการใหญ่ๆ ได้ผลประโยชน์มากที่สุด แต่มีคนเสียประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้จำนวนมากลุกขึ้นมา ไม่ยอมรับสิ่งที่เราเรียกว่า globalization ไม่ยอมรับสิ่งที่เป็นเทรนด์ที่บอกว่าต่อไปโลกจะไม่มีกำแพงอีกแล้ว

ในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘กำแพง’ น่าสนใจ การที่โดนัล ทรัมป์ บอกว่าจะสร้างกำแพงหรือเขตแดนกั้น การมีอาณาเขตเป็นฐานสำคัญของชาตินิยม ในแง่หนึ่งก็ตลกมากที่ครั้งหนึ่งเราคิดว่า ไม่มีแล้วสิ่งที่เรียกว่าชาติ จบไปแล้ว แต่ไม่จริง สำหรับผม มันไม่เคยหายไปไหน…ชาตินิยม แล้วจะอยู่กับระบบไปอีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้

แล้วพลังของประวัติศาสตร์อยู่ตรงไหน

พลังของประวัติศาสตร์ไม่ได้อยู่ ณ ตอนที่นักประวัติศาสตร์เขียนมันขึ้นมา แต่พลังของประวัติศาสตร์อยู่ที่การที่มันถูกผลิตซ้ำผ่านสถาบันต่างๆ มหาวิทยาลัย โรงเรียน รัฐ หรือการผลิตซ้ำผ่านสื่อ ผ่านวรรณกรรม ที่กลายเป็นหนังสือที่ต้องอ่านหรือหนังสือขายดี เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำประวัติศาสตร์นิพนธ์

ประวัติศาสตร์นิพนธ์อย่างที่อาจารย์ธงชัยเรียกว่า ‘ราชาชาตินิยม’ ไม่ได้มีพลังหรอกถ้าไม่ถูกผลิตซ้ำ เพราะประวัติศาสตร์ถูกผลิตซ้ำจึงมีพลัง และเมื่อมันถูกผลิตซ้ำเรื่อยๆ คุณถูกสอนให้เชื่ออย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า unconscious เป็นสิ่งที่จะอยู่ใต้สำนึกคุณ คล้ายๆ เป็น second nature ในหัวของคุณ บ่อยครั้งคุณไม่ต้องคิด คุณไม่ต้องตั้งคำถาม แต่คุณเชื่อมัน เหมือนกับความเชื่อต่างๆ ที่เรามี ฉะนั้นพลังทางประวัติศาสตร์ในแง่ของประวัติศาสตร์นิพนธ์อยู่ตรงที่มันถูกผลิตซ้ำ กลายเป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของคุณ

ในแง่นี้ การโต้กลับอย่างหนึ่งก็คือการเขียน นักประวัติศาสตร์จึงใช้การเขียนประวัติศาสตร์เพื่อโต้กลับ?

นักวิชาการมีข้อจำกัดที่สามารถจะทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ นักวิชาการไม่ใช่นักการเมือง ไม่ใช่นักปฏิวัติ ฉะนั้นในแง่ของนักวิชาการ สิ่งที่คุณทำได้คือคุณผลิตงานวิชาการขึ้นมาสู้ เพราะคุณกำลังอยู่ในสงครามของการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ อุดมการณ์เกี่ยวพันกับความรู้ เกี่ยวพันกับความเชื่อ ฉะนั้นคุณต้องต่อสู้ในแง่ของความเชื่อ เพื่อจะชนะความเชื่อ แต่ในอีกเซนส์หนึ่งก็เพื่อจะเข้าใจอดีต

ผมคิดว่าคนอย่างอาจารย์ธงชัย คนอย่างอาจารย์สมเกียรติ (วันทะนะ) หรือหลายๆ คนในรุ่นนี้ต้องการเข้าใจว่าเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรที่อยู่เบื้องหลัง อะไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่รุนแรงขนาดนี้ อะไรที่ทำให้คนไทยด้วยกันฆ่ากันได้ด้วยความเหี้ยมโหดขนาดนี้ นี่คือสิ่งที่เขาต้องการแสวงหาคำตอบ มากกว่าความต้องการในการเขียนโต้ทางการเมือง คือการอยากรู้ เขาต้องการแสวงหาคำตอบ

อาจารย์มองเห็นอะไรในการเมืองร่วมสมัย และนักประวัติศาสตร์มองเห็นอะไร

ผมคิดว่านักประวัติศาสตร์แต่ละคนทำงานไม่เหมือนกัน ด้วยจารีตอะไรบางอย่างที่ผมเรียนรู้มา ผมคิดว่าตัวเองทำงานโดยเคารพสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต หมายถึงการศึกษาอดีต แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็เชื่อว่าผมมีภาระบางอย่างที่ต้องตอบเกี่ยวกับปัจจุบัน ในแง่หนึ่งการที่เราเห็นภาพในอดีตจะทำให้เราเข้าใจปัจจุบันมากขึ้น ถ้าถามว่านักประวัติศาสตร์โดยรวมในสังคมไทยกำลังทำอะไรอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ พวกเขากำลังทำอะไรในแง่ของการโต้ตอบกับสถานการณ์การเมืองอยู่ บางอย่างที่ผมได้ตอบไปแล้ว พวกเขาพยายามตอบคำถามในระดับหนึ่งว่า ลักษณะการเมืองในปัจจุบันเกิดขึ้นได้อย่างไร ผมคิดว่ามันเป็นคำถามเหมือนที่คนรุ่น 6 ตุลาฯ ถาม ถ้าคุณดูงานของนิสิตปริญญาโท ปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเด็นหนึ่งที่เขาพยายามหาคำตอบก็คือความเปลี่ยนแปลงในชนบท เขาอยากรู้ว่าชนบทมันเปลี่ยนไปอย่างไร พลังของกลุ่มคนในชนบทส่งผลต่อการเมืองเยอะนะ ถ้าเราดูคนเสื้อแดงในช่วงต้น 2550 ช่วงที่มีการเคลื่อนไหว นั่นคืองานที่พยายามจะอธิบาย

รวมถึงงานที่เขียนเพื่ออธิบายทศวรรษ 2490 มันคือรากฐานของพัฒนาการทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่พัฒนามาตั้งแต่ในช่วง 2490 น่าจะให้คำตอบอะไรบางอย่างได้ การศึกษา 2490 น่าจะให้คำตอบเราบางอย่างเกี่ยวกับพัฒนาการเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ นี่คือสองตัวอย่างที่ผมคิดได้ อาจจะมีตัวอย่างอื่นเยอะแยะมากมาย

ผมอาจจะไม่ได้ตอบคำถามเสียทีเดียว ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา งานจำนวนมากคืองานประวัติศาสตร์ที่เป็นประวัติศาสตร์สังคม ผลิตขึ้นมาโดยนิสิตปริญญาโทตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ประวัติศาสตร์สังคมไม่ใช่เรื่องการเมืองเสียทีเดียว แต่เขาพยายามฉายให้เห็นแง่มุมทางสังคมอื่นๆ ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นประวัติศาสตร์การเมืองหรือประวัติศาสตร์ของชนชั้นนำอย่างเดียว ประวัติศาสตร์สังคม แง่มุมต่างๆ ทางสังคมก็อาจจะมีความสำคัญ งานเหล่านี้อาจจะเป็นงานที่มีอิทธิพลต่องานในอนาคตมากกว่าประวัติศาสตร์การเมืองก็ได้ เราไม่รู้ เราตัดสินไม่ได้ เพราะเราไม่อาจทำนายอนาคตได้ ถามกลับไปช่วง 2540 คุณคิดว่าเราจะมีวันนี้หรือ ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าอย่างนี้ มันทำนายไม่ได้เลย ประวัติศาสตร์เปลี่ยนเร็วมาก ไม่ใช่เปลี่ยนเร็วมาก แต่เปลี่ยนในทางที่เราคาดไม่ถึง

พวกเราได้พูดคุยกับอาจารย์ธงชัย อาจารย์ธงชัยบอกว่า “คำถามที่ผมต้องการตอบที่สุดตอนนี้คือ เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร”

ถ้าเราอ่านงานของอาจารย์ธงชัย ชิ้นที่อาจจะเรียกว่า capture project ทั้งหมดของอาจารย์ธงชัย ก็คือชิ้นที่อยู่ในเล่ม เมื่อสยามพลิกผัน: ว่าด้วยกรอบมโนทัศน์พื้นฐานของสยามยุคสมัยใหม่ (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2562) ผมเคยคุยกับอาจารย์ธงชัย เขาคุยให้ผมฟังในทำนองว่า ถ้าดู Siam Mapped ก็จะรู้ว่าโปรเจ็กต์ทางวิชาการของอาจารย์ไปได้หลายทาง ทางหนึ่งที่อาจารย์ธงชัยสนใจคือเรื่องของพื้นที่ อีกทางหนึ่งก็คือการตั้งคำถามกับ modernity หรือความเป็นสมัยใหม่ งานของอาจารย์ธงชัยคือการตอบคำถามว่า ความเป็นสมัยใหม่ที่เข้ามาในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 1880 ถึงตอน 1920 ช่วงที่เรียกว่า high colonialism มันเปลี่ยนสังคมไทย หรือไม่เปลี่ยนสังคมไทยในมิติไหนบ้าง งานทั้งหมดที่คุณเห็น ไม่ว่าเรื่องการเขียนประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้เกี่ยวกับแผนที่ เรื่องเกี่ยวกับศาสนา พุทธศาสนา จนมาถึงเรื่องของ rule by law ซึ่งจะเป็นหัวข้อปาฐกถา นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย ทั้งหมดที่อาจารย์ธงชัยทำคือการพยายามชี้ให้เห็นว่า ความเป็นสมัยใหม่ที่เข้ามา ได้เปลี่ยนและไม่เปลี่ยน หรือปรับเปลี่ยนสังคมไทยอย่างไร ผมคิดว่านี่คือโปรเจ็กต์ที่ใหญ่ที่สุดของอาจารย์ธงชัย

บทสัมภาษณ์ชุด ‘ธงชัย วินิจจะกูล ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17’ นี้ประกอบด้วยการสนทนากับ 1. ยุกติ มุกดาวิจิตร 2. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ 3. พวงทอง ภวัครพันธุ์ 4. ธนาพล ลิ่มอภิชาต เพื่อประกอบตัวตนและความคิดของ ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 17 หัวข้อ นิติรัฐอภิสิทธิ์และราชนิติธรรม: ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของ Rule by Law แบบไทย จัดงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม 2563 ณ อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เริ่มลงทะเบียนเวลา 12.30 น.

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า