5 ข้อน่าจับตา ก่อนการรื้อฟื้น FTA ไทย-สหภาพยุโรป

FTA Watch (กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน) ยื่นจดหมายแก่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ห่วงการรื้อฟื้น FTA ไทย-สหภาพยุโรป จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ทั้งผูกขาดการเกษตร ทำให้ยาราคาแพงกระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพฯ ขัดคำประกาศว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของนายกฯ บนเวที UN โดยเสนอให้เก็บภาษีภาคธุรกิจที่ได้ประโยชน์จาก FTA เพื่อนำมาเยียวยาผลกระทบ

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 เวลา 10.00 น. ตัวแทนจากกลุ่ม FTA Watch ประกอบด้วย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch และ เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการรื้อฟื้นการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (EU)

ตามที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเร่งรัดการเจรจา FTA ไทย-อียู ให้บรรลุข้อตกลงนั้น จากการที่กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ติดตามและศึกษาเรื่องนี้มากว่า 1 ทศวรรษเห็นว่า FTA ไทย-อียู อาจสร้างผลกระทบต่อประชาชนในหลายมิติ จึงยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ดังนี้

 

1

ข้อผูกพันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่เข้มงวดเกินไปกว่ามาตรฐาน TRIPs (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights) ที่ตกลงไว้แล้วในองค์การการค้าโลกหรือการเป็น TRIPs+ (ทริปส์พลัส) ทั้งผลกระทบด้านการเกษตร ที่จะส่งผลให้เกิดการผูกขาดในภาคเกษตรแบบครบวงจรและกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ วิถีชีวิตชุมชน เกษตรกรรายย่อย และผลกระทบด้านสุขภาพจะทำให้เกิดการผูกขาดยาผ่านระบบสิทธิบัตรและกีดขวางการเข้าถึงยาราคาถูก ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อระบบสุขภาพของประเทศ

นอกจากนี้ การเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ จะทำให้มีการบริโภคมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสังคมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังมีการคุ้มครองการลงทุนที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องรัฐผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการนอกประเทศได้ แม้ว่ารัฐจะกำหนดให้มีนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชน แต่ขัดผลประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติ โดยการคุ้มครองการลงทุนในลักษณะดังกล่าวจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชนในทุกมิติ

“ขณะนี้นายกรัฐมนตรีของไทยกำลังเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่นิวยอร์ค เพื่อกล่าวคำประกาศทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในสายตานานาประเทศ และหลายประเทศกำลังเดินหน้าผลักดันให้มีระบบหลักประกันสุขภาพฯ เหมือนไทย แต่ถ้าประเทศไทยเดินหน้ารื้อฟี้นการเจรจา FTA กับสหภาพยุโรป โดยให้มีข้อผูกพันในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการคุ้มครองการลงทุน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยจะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากราคายาที่สูงขึ้นอย่างมาก และการถูกจำกัดการออกหรือใช้นโยบายสาธารณะเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน” เฉลิมศักดิ์กล่าว

ขณะที่คำประกาศทางการเมืองว่าด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขององค์การสหประชาชาติ ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยกำลังไปร่วมประชุม ในข้อที่ 51 ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 3 ที่ว่าด้วยสุขภาพ และในปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) ว่าด้วยความตกลง TRIPs และการสาธารณสุข ได้กล่าวย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการเข้าถึงยา วัคซีน และเวชภัณฑ์จำเป็นต่างๆ ในราคาที่เป็นธรรม และไม่ควรให้ความตกลงการค้าใดๆ และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงระบบสุขภาพภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ด้งนั้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์จึงควรตระหนักและคำนึงถึงประเด็นในเรื่องความสอดคล้องทางนโยบายเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการค้าและการสาธารณสุข

 

2

เมื่อ 7 ปีที่แล้วตอนที่เริ่มการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนอ้างความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องเร่งจัดทำ FTA เพื่อไม่ให้สินค้าไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System Preference: GSP) อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยของสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาพบว่า แม้สินค้าบางรายการของไทยถูกตัด GSP ไปแล้ว แต่การส่งออกไม่ได้ลดลง สินค้าส่งออกบางรายการกลับเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งตัวเลขการลงทุนของสองฝ่ายก็ไม่ได้ลดน้อยลง ดังนั้น จึงควรมีการทบทวนงานศึกษาและข้อมูลของทั้งหน่วยราชการและภาคเอกชนที่สนับสนุนให้เร่งเจรจา เพราะอาจมีอคติและให้ข้อมูลตัวเลขผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเจรจาที่เกินจริง และในทำนองเดียวกัน อาจให้ข้อมูลตัวเลขด้านผลกระทบในกรณีที่ไทยไม่ทำ FTA กับสหภาพยุโรปที่รุนแรงเกินจริง

 

3

ในการเจรจารอบที่เคยผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และกระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนให้จัดทำการศึกษาผลกระทบของ FTA ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (Health Impact Assessment: HIA) และ Environmental Health Impact Assessment: EHIA) และกระทรวงพาณิชย์และสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ศึกษาและมีรายงานหลายฉบับ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศควรรวบรวมงานศึกษาเหล่านี้ทุกฉบับและเผยแพร่ต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมเจรจาอีกหรือไม่ และใช้เป็นข้อมูลในช่วงการเจรจา

 

4

ในการเจรจารอบที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้จัดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเตรียมเนื้อหาการเจรจาอย่างเท่าเทียม เช่น การจัดให้มีการหารือผู้มีส่วนได้เสียครบทุกภาคส่วนทั้งก่อนและหลังการเจรจาในแต่ละรอบ โดยให้มีการชี้แจงท่าทีของคณะเจรจา รายงานความคืบหน้า พร้อมทั้งรับฟังและดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียอย่างสมดุล ถ้ามีการรื้อฟื้นการเจรจาขึ้นมาอีกครั้ง ขั้นตอนการมีส่วนร่วมในทุกระดับและทุกหัวข้อของเนื้อหาการเจรจาความตกลง ต้องมีการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย อย่างแท้จริง และไม่น้อยไปกว่าเดิม อีกทั้งไม่ควรเลือกปฏิบัติรับฟังความคิดเห็นของภาคธุรกิจมากกว่าภาคประชาสังคม

 

5

การออกมาตรการรองรับหรือมาตรการเยียวยาใดๆ จากผลกระทบของ FTA ต้องให้ผู้ได้ประโยชน์จากความตกลงฉบับนี้ มีส่วนในการรับผิดชอบต่อผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสุขภาพ ชีวิตเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม

กรรณิการ์กล่าวย้ำประเด็นนี้ว่า ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และนักลงทุน ถ้าอยากทำ FTA เพราะจะได้รับประโยชน์ทางธุรกิจ ก็ควรต้องยอมให้รัฐจัดเก็บภาษีรายการใหม่ๆ ในอัตราที่สมเหตุสมผลและเพียงพอ เพื่อนำมาเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน

ทั้งนี้ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เครือข่ายภาคประชาสังคม และภาควิชาการ พร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลการศึกษาต่างๆ เพื่อให้การเจรจาการค้าระหว่างประเทศเกิดความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนมากที่สุด และไม่ปล่อยให้ผลได้กระจุกผลเสียกระจายดังที่เคยเป็นมา

 

 

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า