‘เฟมินิสต์แบบบ้านๆ’ จากทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

คำว่า ‘บ้านๆ’ เอาไปต่อท้ายกับอะไรก็ดูเข้าถึงง่าย อาหารบ้านๆ ชีวิตบ้านๆ หรือกระทั่ง ‘เฟมินิสต์แบบบ้านๆ’ ที่ทำให้คำว่าเฟมินิสต์ดูเข้าถึงได้ง่าย และยังฉายภาพอีกว่า ใครๆ ก็เป็นเฟมินิสต์ได้ ไม่ใช่เรื่องไกลเกินตัว 

เฟมินิสต์แบบบ้านๆ ไม่ใช่แค่วลีที่ทำให้การพูดถึงสิทธิสตรีดูเข้าถึงได้ง่ายเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นชื่อหนังสือที่เขียนโดย จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ผู้มีเบื้องหลังเป็นการนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีมาโดยตลอด

“เฟมินิสต์แบบบ้านๆ…ทุกคนที่มีความเชื่อและขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นคนยากจน ชาวนา คนงาน ผู้หญิงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม LGBTQ ผู้ชาย และความรู้เกิดจากคนธรรมดาสามัญที่เรียนรู้ และจะเปลี่ยนแปลงระบบชายเป็นใหญ่ไปด้วยกัน” นี่คือสิ่งที่ปรากฏอยู่บนหน้าปฐมบทหนังสือเล่มนี้ เป็นถ้อยแถลงที่เชื้อเชิญให้นิ้วมือรั้งขอบกระดาษขึ้นมาเบาๆ เพื่อพลิกเปลี่ยนเป็นหน้าถัดไปเรื่อยๆ

เราเบรกการอ่านหนังสือเอาไว้หลังจากพลิกอ่านไปเพียงไม่กี่หน้า เพราะเป้าหมายในวันนี้คือวงเสวนาเปิดตัวหนังสือ โดยงานนี้จะมีเสวนา 2 วงด้วยกัน วงแรกจะมาแลกเปลี่ยนกันในหัวข้อ ‘เฟมินิสต์แบบบ้านๆ ใครๆ ก็เป็นได้’ มีผู้ร่วมพูดคุย ได้แก่ วิไลวรรณ แซ่เตีย อดีตผู้นำสหภาพแรงงานกลุ่มย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ (ผ่านคลิปวิดีโอ) ศาสตราจารย์ ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ (FOR-SOGI) และวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี ดำเนินรายการโดย ดร.ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

วงเสวนาอีกวงหนึ่งแลกเปลี่ยนกันด้วยคำถามตั้งต้นว่า เหตุใดการ ‘รวมกลุ่ม’ ต่อสู้เพื่อสิทธิในสังคมปัจจุบันจึงดูเหมือนจะลดระดับความเข้มข้นลงไป โดยได้ล้อมวงพูดคุยกันในหัวข้อ ‘ความท้าทายของการทำงานรวมกลุ่มในสังคมร่วมสมัย’ ร่วมแลกเปลี่ยนโดย อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ธารารัตน์ ปัญญา ทนายความประจำองค์กร Feminist Legal Support (FLS) เนืองนิช ชิดนอก ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค และชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

– 1 –

เฟมินิสต์แบบบ้านๆ ใครๆ ก็เป็นได้

“เฟมินิสต์แบบบ้านๆ ไม่ใช่ใครก็เป็นได้ แต่ทุกคนต้องเป็น” ศ.ดร.กิติพัฒน์ กล่าวเปิดวงเสวนา พร้อมอธิบายต่อว่า คำว่าเฟมินิสต์มีนัยยะของความเป็นวิชาการ ที่มีจุดยืนเรียกร้องคววามเสมอภาคเท่าเทียมและความยุติธรรมให้กับทุกเพศสภาพ ฉะนั้นแล้วการรับรู้คำว่าเฟมินิสต์แฝงนัยยะเชิงทฤษฎีจึงมีความสลับซับซ้อนอยู่มาก

แต่เมื่อเติมคำว่า ‘แบบบ้านๆ’ ลงไป ทำให้เป้าประสงค์ของจะเด็จชัดขึ้นว่าต้องการให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมและความยุติธรรมได้โดยง่าย ราวกับเป็นการรื้อทฤษฎีเฟมินิสต์ให้เป็นของที่ติดดินเรียบง่าย

อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ยังสอดแทรกเรื่องงานพัฒนาด้วย บริบทแวดล้อมเล่าถึงตั้งแต่ชีวิตตัวเอง ก่อนจะขยับมาที่แวดวงแรงงาน และเป็นการเข้าไปทำงานกับคนในกลุ่มแรงงานแบบไม่ชี้นำ ไม่สั่งการ แต่ใช้การรับฟัง โดยมีจุดเริ่มต้นจากนำทฤษฎีไปสู่การปฏิบัติ และจากนั้นก็เอาการปฏิบัติกลับมาสู่การทำงานเชิงทฤษฎี

เฟมินิสต์แบบบ้านๆ ช่วยเติมมิติทางการศึกษา

ดร.วราภรณ์ กล่าวว่า เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วทำให้นึกถึงคำยากๆ คำหนึ่งคือ ‘feminist epistemology’ หมายถึงทฤษฎีความรู้แบบเฟมินิสต์ ถ้าขยายความง่ายๆ คือ การทำความเข้าใจกระบวนการสร้างความรู้ในแนวของเฟมินิสต์หรือสตรีนิยม ซึ่งในเนื้อหาจะมีการวิพากษ์วิจารณ์องค์ความรู้ อย่างประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการวิพากษ์องค์ความรู้ทางวิชาการส่วนใหญ่ว่าเป็นความรู้ที่ถูกสร้างมาจากมุมมองแบบผู้ชาย

ในหนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นตัวอย่างการเอาแนวคิดของกลุ่ม feminist epistemology มาทำให้ปรากฏเป็นรูปธรรม เช่น มิติของ ‘ประสบการณ์ในฐานะความรู้’ ซึ่งในการทำงานเชิงวิชาการอาจมองประสบการณ์ของคนเป็นข้อมูลดิบ โดยเอาประสบการณ์ของคนไปคิดวิเคราะห์ ไปแปลงออกมาเป็นทฤษฎี (เป็นคำยากๆ) แต่ในทางเฟมินิสต์จะมองว่าประสบการณ์ของคนว่าไม่ใช่ข้อมูลดิบ แต่คือความรู้ และในหนังสือเล่มนี้ก็เล่าออกมาแบบนั้น
“ก่อนที่เฟมินิสต์จะเข้าไปเป็นสาขาวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัยต่างๆ จุดกำเนิดก่อนหน้านั้น มีรากมาจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเพศ ซึ่งหนังสือเฟมินิสต์แบบบ้านๆ เป็นความรู้ประวัติศาสตร์สังคม ประสบการณ์ของคนเล็กคนน้อยที่บันทึกถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคม” ดร.วราภรณ์ กล่าว

อีกประเด็นหนึ่งคือ ‘ความรู้ไม่เคยเป็นกลางอย่างสมบูรณ์’ เฟมินิสต์ที่ศึกษาการประกอบสร้างความรู้มักจะบอกว่าความรู้ที่เรายอมรับนับถือกันจนทุกวันนี้ เป็นความรู้ที่ถูกประมวลและถ่ายทอดออกมาผ่านคนที่มีตำแหน่งแห่งที่ทางสังคม และทุกคนมีความคิดความเชื่อ มีประสบการณ์และการถูกหล่อหลอมที่แตกต่างกัน ซึ่งเฟมินิสต์กลุ่มนี้ไม่ได้เรียกร้องว่าความรู้ต้องเป็นกลาง ตรงกันข้าม เราเชื่อว่าความรู้ไม่เคยเป็นกลางโดยสมบูรณ์ 

ฉะนั้นข้อเสนอของ ดร.วราภรณ์ จึงอยู่ที่ว่า หากจะนำเสนอความรู้ ความคิด การตีความทางสังคม ช่วยบอกตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมหน่อยว่าคุณมีประสบการณ์อย่างไร จึงอธิบายสังคมเช่นนี้ ซึ่งหนังสือเฟมินิสต์แบบบ้านๆ เป็นสิ่งนั้น เพราะจะเด็จเล่าตั้งแต่ตัวตนว่าถูกหล่อหลอมมาอย่างไร

อีกแง่หนึ่งของมิติทางการศึกษาเรื่องเฟมินิสต์ แนวทางการถ่ายทอดเรื่องราวของเฟมินิสต์แบบบ้านๆ จะช่วยลดความแปลกแยก ช่วยลดมุมมองที่บอกว่าเฟมินิสต์คือพวกผู้หญิงหัวรุนแรง ยุให้ผู้หญิงเกลียดผู้ชาย ทำให้ครอบครัวแตกแยก แต่การนำเสนอแบบบ้านๆ ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วแนวคิดนี้สอดแทรกอยู่ในสังคมมานานแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่แปลกแยก

“คำว่าเฟมินิสต์ที่ใครต่างก็คิดว่ามาจากฝรั่งมังค่า ซึ่งฝรั่งมังค่าเขาก็เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ชีวิตของเขาเช่นเดียวกัน เขาเองก็ตกอยู่ในภาวะที่ไม่เป็นธรรม และเขาก็เรียนรู้ สร้างทฤษฎีขึ้นมาผ่านประสบการณ์ชีวิตของเขา ดังนั้นความรู้ที่สามารถสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลง คือความรู้และประสบการณ์ชีวิตที่อยู่ในตัวเรา” นัยนา กล่าวเสริม

ในฐานะที่เคยทำงานในกลุ่มเพื่อนหญิงด้วยกัน เมื่อรับรู้ประสบการณ์และการถูกหล่อหลอมของจะเด็จผ่านหนังสือที่เขาเขียน นัยนาจึงกล่าวว่า ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมจะเด็จจึงทำงานในกลุ่มเพื่อนหญิงและเติบโตมาสร้างมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล รวมถึงทำงานขับเคลื่อนกับแวดวงแรงงานได้ เพราะเขาเป็นผู้รอดจากการถูกทำให้เป็นชายตามความคาดหวังของสังคม

เฟมินิสต์แบบบ้านๆ จากมุมมองของเพื่อนกว่า 4 ทศวรรษ

“จะเด็จมีความเป็นมนุษย์สูง และสิ่งที่เขาทำมีหัวใจสำคัญคือการต่อสู้เรื่องความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และการเป็นนักจัดตั้งแบบเนียนๆ” วิฑูรย์ กล่าวขึ้น

เขาอธิบายต่อว่าในโลกสมัยใหม่ สิ่งที่สังคมต้องการคือพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน และในการแลกเปลี่ยนนั้นจะมีทั้งความคิด ความเห็น ท้ายที่สุดสิ่งนั้นจะมีผลต่อความคิดเราไปเอง และกล่าวว่าตัวเองถูกจะเด็จจัดตั้งจากวิธีการนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ 

ในการทำงานประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงของวิฑูรย์ที่ทำงานร่วมกับจะเด็จ กล่าวว่าทำให้ตัวเองได้พัฒนาไปพร้อมกันโดยไม่รู้ตัว เช่น เรื่องที่จะเด็จทำเกี่ยวกับประเด็นสิทธิผู้หญิงในความมั่นคงทางด้านอาหาร ทำให้เพิ่งรู้ว่านอกจากผู้หญิงจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากบรรษัทแล้ว ยังถูกกระทำเยอะมากในระบบอาหาร

“อาหารหยดแรกของมนุษย์ที่ควรจะเป็นนมแม่ ยังถูกเปลี่ยนให้เป็นนมอุตสาหกรรมของบริษัทยักษ์ใหญ่ วันที่ระบบค้าปลีกขนาดใหญ่ครอบคลุมสิ่งนี้ คุณก็ถูกพรากสิทธิ หรืออำนาจในการจัดการเรื่องอาหารลงไปด้วย” วิฑูรย์ กล่าว

นอกจากนี้วงเสวนายังได้เชิญตัวแทนแรงงานที่ผลักดันประเด็นต่างๆ ร่วมกันกับจะเด็จ ผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวในหนังสือเฟมินิสต์แบบบ้านๆ ขึ้นมาแลกเปลี่ยน เป็นเสียงสะท้อนในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งบุญมี ผู้นำแรงงานย่านพระประแดง และสุรินทร์ ผู้นำแรงงานย่านอ้อมน้อย ที่ร่วมกันผลักดันกฎหมายประกันสังคมให้เกิดขึ้น

ทั้งสองร่วมกันเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของชนชั้นกรรมมาชีพให้ได้มาซึ่งสิทธิความเท่าเทียม ที่สมัยก่อนแรงงานร่วมกันแสดงพลังเป็นจำนวนมาก รวบรวมคนได้หลายคันรถ แต่ทุกวันนี้กิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวหลายๆ เรื่อง จำนวนคนน้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก จึงสร้างแรงกดดันกับรัฐบาลแทบไม่ได้เลย เหมือนขบวนการแรงงานตายไปหมดแล้ว

– 2 –

ความท้าทายของการรวมกลุ่มในสังคมร่วมสมัย

วงเสวนาวงที่ 2 เล่าความท้าทายในการทำงานรวมกลุ่มกันผ่านคนละมุมมอง คนละมิติ ตามบริบทที่ตัวเองได้เข้าไปคลุกคลี ไม่ว่าจะการทำงานกับแรงงาน การทำงานกับคนรุ่นใหม่ การทำงานกับพื้นที่ชุมชนและบริบทคนจนเมือง หรือการทำงานกับหน่วยย่อยอย่างครอบครัว 

แต่ทั้งหมดทั้งมวลมีจุดร่วมและมองความท้าทายในรูปแบบเดียวกันคือ ในสังคมปัจจุบันที่คนต่างให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันธรรมชาติของคนเป็นไปอย่างปัจเจก ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการทำงานรวมกลุ่มเท่าไรนัก เพราะทำให้มองเห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในปัจจุบันขาดความลึกซึ้งกับปัญหาในหน่วยย่อย หรือคนที่เขาต้องเผชิญกับปัญหาอย่างแท้จริง

อังคณา ได้แลกเปลี่ยนวิธีการทำงานรวมกลุ่มตามแบบฉบับของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งเป็นการทำงานที่เคารพและเชื่อเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่ระดับปัจเจก ไปจนถึงทำให้เกิดการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย และการทำงานกับพื้นที่ชุมชน

ในการทำงานกับกลุ่มคนเปราะบางในสังคม จะถูกถ่ายทอด พูดคุยแลกเปลี่ยนในการปฏิบัติการทำงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งสำคัญในการทำงานลักษณะนี้ต้องมีพื้นที่ปฏิบัติการ ทั้งพื้นที่ที่มีปัญหา พื้นที่ในชุมชน แล้วเรียนรู้ลองผิดลองถูกอย่างต่อเนื่อง 

“พอได้ลงไปทำงานกับพี่ๆ แรงงานแถวพระประแดง ไปนอนอยู่กับพื้นที่นั้น นั่นทำให้เราค่อยๆ ได้เห็นมิติปัญหาแรงงานหญิงที่ถูกกดทับ ว่าเขาต้องเผชิญกับอะไร สังคมกระทำกับเขาอย่างไร ฉะนั้นการได้มองเห็นผ่านการปฏิบัติการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายของขบวนการเคลื่อนไหวยุคใหม่”

อังคณาขยายความต่อว่า ในหลายองค์กรอาจจะไม่ได้มีพื้นที่ปฏิบัติการที่ทำงานกับกลุ่มคนเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เห็นว่าการทำงานภายใต้สถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ จะทำอย่างไรให้มีความต่อเนื่อง เพราะจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับปัจเจก ต่อเนื่องไปจนถึงการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองสิทธิบางอย่างได้

ในมุมมองความเชื่อของมูลนิธิหญิงชาวก้าวไกล จะเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าต้อง empower ให้กับผู้ที่ประสบปัญหา ให้เขามองเห็นว่าเขากำลังถูกกดทับและลุกขึ้นมาแก้ปัญหา ซึ่งทางองค์กรจะเข้าไปสนับสนุนหรือเสริมพลัง ทำให้เขาเห็นช่องทางในการแก้ปัญหานั้นในทุกมิติ และแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

ความท้าทายในการทำงานร่วมกับคนรุ่นใหม่

ธารารัตน์ เริ่มต้นจากการเล่าประสบการณ์ส่วนตัวในการทำงานเคลื่อนไหวเพื่อเรียกสิทธิความเท่าเทียม ในฐานะที่ตัวเองเป็นรุ่นอายุสุดท้ายของ Gen Y เริ่มเคลื่อนไหวตอนเข้ามหาวิทยาลัย หลังการรัฐประหารปี 2557 มีความรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวแบบรวมกลุ่มมีทิศทางเบาบางลง ในความหมายที่ว่า การสร้างเครือข่าย พาตัวเองไปคลุกคลีกับพื้นที่จริงของผู้ประสบปัญหา เช่น กลุ่มแรงงาน กลุ่มสิ่งแวดล้อม มันลดน้อยลง

เมื่อเปลี่ยนผ่านมาเป็นการเคลื่อนไหวร่วมกับคน Gen Z จะยิ่งเห็นว่าการสร้างเครือข่ายแทบไม่มีให้เห็นแล้ว แต่จะเป็นในลักษณะที่ถ้าเขาอยากเรียกร้องประเด็นอะไรเขาจะลุกขึ้นมาทำเลย ข้อดีคือจะรวดเร็วมาก เนื่องมาจากความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีด้วย และประเด็นค่อนข้างมีความเป็นสากลจึงดึงความสนใจในระดับสากลได้เป็นอย่างดี

“แต่ในแง่ของการเข้าไปเรียนรู้ประเด็นกับกลุ่มคนที่ประสบปัญหาจริงๆ ตรงนี้มันหายไป มันจึงขาดความสมานฉันท์ระหว่างกัน” ธารารัตน์ กล่าว

บริบทชุมชนและคนจนเมือง

“การที่เราจะทำงานเพื่อตัวเอง และไปช่วยเหลือพี่น้องคนอื่นๆ ได้ เราต้องรู้จักชุมชน รู้จักการประสานงานกับองค์กรอื่นๆ ว่าเราจะต้องทำอย่างไร” เนืองนิช ตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าว

การทำความรู้จักกับพี่น้องในชุมชน เป็นความใกล้ชิดที่สามารถนำมาทำงานต่อยอดได้จริง เพราะการลงไปคลุกคลีไม่ใช่เพียงการไปพูดคุยอย่างผิวเผิน แต่ทำให้เห็นปัญหาเพิ่มมากขึ้น

“จากการทำงานของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ไม่ได้มองเห็นเพียงปัญหาที่อยู่อาศัย แต่ทำให้เห็นชัดขึ้นไปอีกถึงปัญหาคุณภาพชีวิต และสวัสดิการต่างๆ ที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งการรับรู้ลักษณะนี้ทำให้นำมาวิเคราะห์ได้ว่า อะไรที่องค์กรเราทำได้ อะไรที่เกินมือและต้องขอความร่วมมือจากองค์กรอื่น เพราะเวลาเรียกร้อง เราเรียกร้องเพื่อคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่คนกลุ่มเดียว”

อย่างไรก็ตาม ชูวิทย์ ที่มีโอกาสได้ทำงานกับคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน ก็ให้ความเห็นว่า แม้การรวมกลุ่มจะไม่เข้มข้นเท่าแต่ก่อน แต่เรายังคงมีความหวังอยู่ เพราะคนรุ่นใหม่ยังพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพียงแต่ว่าการเปิดพื้นที่ หรือช่องทางต่างๆ ในการเชื่อมโยงคนรุ่นใหม่เข้ามาอาจยังมีปัญหาที่ทำให้เขาเข้ามาไม่ถึง

“งานตรงนี้มันยังคงอยู่ และสำคัญมาก ซึ่งพี่ๆ ทั้งหลายที่ผ่านประสบการณ์มาก่อน ควรสนับสนุน และเข้าไปมีส่วนร่วมกับน้องๆ ด้วยจังหวะจะโคนที่ดี ไม่ทำตัวเป็นคัมภีร์ เป็นไม้บรรทัดชี้ถูกชี้ผิด หรือตัดสินพิพากษา อย่าให้ความอาวุสโสมาบดบังความงดงามของพื้นที่ความคิดในการจัดการศึกษารวมกลุ่ม” ชูวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายก่อนปิดวงเสวนา

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า