‘Pride Month’ มีความหมายกับฉันอย่างไร กับก้าวต่อไปของความหลากหลายทางเพศที่ควรจะเป็น

เข้าสู่ปลายทางของเดือนสีรุ้งประจำปี 2021 ‘Pride Month’ ถูกให้ความหมายในเชิงเฉลิมฉลองราวกับเทศกาลประจำปี เป็นโอกาสดีทั้งต่อการสร้างสรรค์เนื้อหาในพื้นที่สื่อและการสร้างสรรค์สินค้าในพื้นที่การตลาด แม้การถูกเลือกปฏิบัติ การถูกกีดกัน ไปจนถึงการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยเรื่องเพศยังคงมีอยู่ Pride Month จึงอาจเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ของการเฉลิมฉลองกับความก้าวหน้า แต่ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่จะเบาใจได้

เมื่อสังคมเริ่มให้ความสำคัญกับ Pride Month ในลักษณะดังกล่าว แล้วผู้มีความหลากหลายทางเพศใน LGBTQ+ community ให้ความหมายกับเดือนแห่งการเฉลิมฉลองนี้อย่างไร มาฟังความคิดเห็นของพวกเขาเพื่อเรียนรู้เรื่องความหลากหลาย และตระหนักถึงแนวทางในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในสังคมต่อไป

รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์

นักกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชน

ในฐานะเควียร์ (Queer) และเฟมินิสต์ รวงทัพพ์ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า ‘เรา’ แต่ใครจะเรียกเธอว่าอะไรก็ได้ ถ้าได้อยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยและมีคนที่เข้าใจก็จะใช้คำว่า ‘they’ เธอมองว่าสังคมไทยมีพื้นที่ในการถกเถียงประเด็นเรื่องเพศมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มากพอ และ Pride Month ก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่ทำให้เธอรู้สึกภาคภูมิใจกับความหลากหลายทางเพศ

“ในฐานะที่เราก็เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เรารู้สึกว่าเราก็ Pride เหมือนกัน เราอยากมีพื้นที่ตรงนี้ ส่วนคนอื่นๆ อาจไม่เห็นว่าจำเป็น นั่นก็เป็นเรื่องของเขา แต่เราซึ่งเป็นคนที่เคยถูกโครงสร้างกดขี่ การมีพื้นที่ตรงนี้คือการเปิดให้คนที่ยังไม่ come out ได้พูดถึงปัญหาของเขาที่ไม่ได้รับการดูแลปกป้องมากขึ้น Pride จึงไม่ใช่นโยบายผ่านรัฐหรือองค์กรใหญ่ๆ แต่มีประเด็นเพื่อพูดถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ มันเป็นงานเฉลิมฉลอง เป็นวัฒนธรรม และมาพร้อมกับการทำให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

รวงทัพพ์ใช้พื้นที่ส่วนตัวในเฟซบุ๊คของเธอเพื่อการรณรงค์ประเด็นต่างๆ อย่างจริงจัง ก่อนการระบาดของโควิด-19 เธอทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายอยู่เสมอ ในฐานะที่เป็นนักกิจกรรมด้านการสนับสนุนเด็กและเยาวชน เธอมองว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และประเด็นเรื่องสุขภาพจิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศก็สำคัญเช่นกัน เพราะปัญหาที่พวกเขาต้องพบเจอในชีวิต เกี่ยวข้องกับการยอมรับตัวตนในแง่ของจิตวิทยาพัฒนาการอย่างมาก

“กลุ่มนักกิจกรรมเขาก็มีแคมเปญที่หลากหลายในเดือนนี้ หรือกลุ่มองค์กรที่ทำงานเรื่องเด็กก็พยายามออกแบบให้มีคู่มือหรือข้อมูลที่เข้าถึงเด็กกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น ไม่ได้มีแค่ Pride ที่เป็นการเดินถนน ช่วงหลังๆ มานี้กลุ่มเยาวชนไปกันไวมาก และน่าจะไปลึกกว่านี้ได้อีก เพราะว่าเขาเรียกร้องชัดเจนว่าเขาคือใคร คนที่ไม่ได้เป็นก็รู้สึกว่ามันจำเป็นสำหรับเพื่อนของเขาที่เป็น พวกเขาพูดถึงสังคมที่ปลอดภัยและเท่าเทียมมากกว่าคนรุ่นพี่นะ รุ่นพี่อาจจะไม่ได้รังเกียจ เป็นได้ แต่รุ่นนี้จะเน้นเรื่องการเรียกร้องที่ชัดขึ้น

“มันจำเป็นนะเรื่องการเปิดพื้นที่ปลอดภัยหรือมีสายด่วนสำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ในไทยยังไม่มีการเก็บสถิติเท่าไหร่ เราเห็นแค่ผลลัพธ์ของมัน คนที่มีความหลากหลายทางเพศส่วนหนึ่งอาจเป็นซึมเศร้า ซึ่งเป็นผลของสุขภาพจิตปลายทาง ยังไม่รวมเรื่องการถูกกลั่นแกล้งหรือการล่วงละเมิดทางเพศ เราก็เป็นคนหนึ่งที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศเพราะเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่เคยถูกพูดถึงเลยบนพื้นที่ที่เราเรียกร้อง เราเรียกร้องเรื่องการยอมรับ การมีอยู่ หรือกฎหมาย แต่เรายังไปไม่ถึงเรื่องที่ลึก สำคัญ และจำเป็นเลย”

ภารวี อากาศน่วม

เพจ AroAce-clusionist: Aromantic & Asexual Exist

ภารวีอธิบายนิยามของเธอว่า Aromantic หรือ Asexaul คือผู้ที่ไม่มีแรงดึงดูดทางใจและแรงดึงดูดทางเพศกับใคร คนทั่วไปแทบจะไม่เคยได้ยินสองคำนี้จึงมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอยู่ เช่น Asexual คือการเป็นคนเย็นชาที่รักใครไม่เป็น เป็นแค่อาการกลัวการมีเซ็กส์ หรือเคยถูกทำร้ายร่างกายจึงเป็น Asexual และในเดือน Pride Month ก็มีทั้งด้านดีและด้านไม่ดีสำหรับเขาในเวลาเดียวกัน

“เรารู้สึกว่าช่วง Pride Month มีคนบางกลุ่มมองว่า Aromantic หรือ Asexual ไม่ใช่อัตลักษณ์อย่างหนึ่ง และจะมีความคิดแย่ๆ เช่น การเป็น Aromantic หรือเป็น Asexual ก็ไม่ได้ถูดกดขี่อะไรเรื่องเพศนี่ ซึ่งเป็นความคิดที่ประหลาดดี แต่ก็จะมีคนที่ออกมาให้ความรู้เรื่อง Asexual และ Aromantic มากขึ้นด้วย มันก็เลยมีทั้งด้านดีและด้านแย่ในเวลาเดียวกัน และเป็นช่วงเวลาที่คนจะออกมาทำคอนเทนต์มากขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้มากขึ้น เพราะช่วงปกติหลายคนก็อาจจะเหนื่อย แล้วเขาก็จะสะสมคอนเทนต์ไว้เพื่อมาทำในเดือน Pride Month เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” 

ภารวีคิดว่าการมี Pride Month เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างความตระหนักรู้ในโลกที่ยังไม่มีที่ใดยอมรับ LGBTQ+ ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และในบรรยากาศของการเฉลิมฉลอง ก็เป็นโอกาสทางการตลาดของภาคธุรกิจด้วย ซึ่งเราก็ต้องช่วยกันตรวจสอบและตั้งคำถามกับการกระทำขององค์กรต่างๆ 

สิ่งที่สังคมควรขับเคลื่อนต่อไปคือ การสนับสนุนให้มีกฎหมายคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างเท่าเทียม และการสร้างความตระหนักรู้กันต่อไปในเดือนอื่นทุกๆ เดือน

“พอไม่มีกฎหมายมาคุ้มครองมันก็ทำให้ทุกอย่างยากไปหมด ไม่ว่าจะเรื่องคำนำหน้า การแปลงเพศ หรือความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเราก็ไม่แน่ใจว่าถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นระหว่างคนเพศเดียวกัน กฎหมายจะคุ้มครองขนาดไหน movement เรื่องกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และเราต้องพยายาม educate สังคมต่อไปในทุกๆ เดือน อย่างเช่นการศึกษาที่ควรสอนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ถ้าเริ่มจากการสอนเด็กตั้งแต่เล็กๆ ว่าคนเราก็มีความแตกต่างหลากหลายได้ เขาก็จะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ไปทำตัว homophobic หรือ transphobic ใส่คนอื่น” 

สิ่งหนึ่งที่ภารวีพบอยู่บ่อยๆ คือ การที่คนมักจะพูดว่าทำไมนิยามของผู้มีความหลากหลายทางเพศจึงต้องมีตัวอักษรเยอะ เขาจึงเสนอว่าเราไม่จำเป็นต้องต้องจำให้ได้ทุกอย่างว่าอะไรคืออะไร เพียงแต่ให้มองว่าเป็นความหลากหลายที่มนุษย์ต้องเคารพกันและกัน

“เราคิดว่าความหลากหลายทางเพศก็เหมือนวงล้อสีต่างๆ ที่สีหนึ่งก็ไม่ได้มีเฉดเดียว คนเราไม่จำเป็นต้องมีนิยามตายตัวก็ได้ หรือนิยามหนึ่งอาจไม่จำเป็นต้องมีความหมายเหมือนกันสำหรับทุกคนก็ได้ มันเป็นความเลื่อนไหลอย่างหนึ่งที่คนเราก็มีเฉดสีแตกต่างกันไป ความหลากหลายทางเพศก็เป็นเฉดสีหนึ่งของมนุษย์เช่นกัน และเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องเคารพความหลากหลายของกันและกัน เพราะความหลากหลายเป็นสิ่งที่ทำให้คนเรามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น” 

พัชระพีร์

ผู้เขียนหนังสือ Born to be Me(n)

พัชระพีร์สะท้อนความรู้สึกว่า การอธิบายความเป็น Transmasculine หรือ Non-binary ของเขาต่อคนในสังคมไทยเป็นเรื่องยาก เขาจึงใช้คำว่า Transman ที่คนไทยคุ้นเคยมากกว่า และตั้งใจจะบอกเล่าเรื่องราวของเขาผ่านหนังสือของเขาเองเพื่อให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้น อีกทั้งสังคมไทยให้พื้นที่กับทุกๆ อัตลักษณ์ของ LGBTQ+ ค่อนข้างน้อย ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมาย การเงิน แต่อย่างน้อยในพื้นที่การศึกษาก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นบ้าง

“เรื่องการศึกษาช่วงหลังๆ ดีขึ้นนะ คุณครูเริ่มสอนเด็กๆ เรื่องนี้ได้ คุณครูพูดถึง Ginger Gender Bread หรือ Gender Unicorn กับเด็กเล็กได้ สิ่งที่ยังไม่เคลียร์คือผู้ใหญ่นี่แหละ เพราะเขามี fixed mindset ว่าเพศต้องเป็นไปตามกรอบ แต่เราคิดว่าเมื่อเวลาผ่านไป ถ้าเราให้การศึกษา ให้ความรู้ ให้ความสนใจสิ่งใหม่ๆ มากขึ้น รอให้คนรุ่นเก่าๆ ตายไป ก็จบแล้ว (หัวเราะ) กาลเวลาจะอยู่ข้างเรา การ educate ไปเรื่อยๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ”

สิ่งหนึ่งที่พัชระพีร์เห็นว่าสำคัญมากคือพื้นที่สื่อ ไม่ว่าจะเป็นละคร ภาพยนตร์ สารคดี และอื่นๆ ซึ่งคนที่ปรากฏในสื่อมีตัวแทนของเขาน้อยมาก สำหรับเขา สื่อคือการสื่อสารอย่างหนึ่งที่สร้างความเข้าใจระยะยาวให้กับผู้คน และเขามองว่า Pride Month เป็นโอกาสและพื้นที่ในการสื่อสารเช่นกัน เขาจึงเลือกที่จะใช้การเขียนที่เขาถนัด เพื่อช่วยส่งเสียงให้คนในสังคมรับรู้มากขึ้น

“ในประเทศไทย เรียกว่าวัฒนธรรม Pride Month ก็แล้วกัน รู้สึกว่าปีนี้ดูคึกคักนะ มันส่งผลให้คนรับรู้มากขึ้น สื่อต่างๆ ที่เราเสพก็เห็นความหลากหลายมากขึ้น ส่วนคนที่ไม่เปิดรับ เขาก็ไม่ได้สนใจอยู่แล้ว จะทำอย่างไรให้ impact คนเหล่านั้น สุดท้ายก็แล้วแต่ความสามารถของเรา ใครถนัดทำอะไรก็ทำไป อย่างเราชอบเขียนหนังสือ เราก็เลยรู้สึกว่าปีนี้น่าจะเปิดตัวหนังสือเล่มแรกของเราเพื่อช่วยส่งเสียงมากขึ้น 

“Pride Month เป็นการสื่อสาร เป็นการเติมพลัง มีการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์และการเล่าเรื่องราวในเฟซบุ๊คส่วนตัวมากขึ้น ยิ่งถ้ามีการสื่อสาร จะยิ่งทำให้คนกล้าเปิดตัว หรือคนที่ไม่ได้นิยามตัวเองเป็น LGBTQ+ เขาก็จะเริ่มยอมรับเพื่อนๆ เป็นการสื่อสารที่ต้องทำไปเรื่อยๆ เพราะยังมีอีกหลายสิทธิที่เรายังไม่ได้รับเท่ากับ Cisgender (ผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศสอดคล้องกับสรีระ)”

สำหรับก้าวต่อไปของการขับเคลื่อนความหลากหลายทางเพศในสังคม พัชระพีร์มองเห็นเป็นภาพใหญ่ที่ทุกภาคส่วนต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ส่วนในระดับปัจเจกก็เป็นสิ่งที่แต่ละคนสามารถทำได้ตามความถนัดของตัวเอง

“ตอนเราเป็นเด็ก เราคิดว่าผู้ใหญ่น่าจะช่วยกันกำหนด แต่พอเราเริ่มเป็นผู้ใหญ่บ้าง เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องสร้างร่วมกัน ถ้าเรารู้ว่าเราต้องการอะไรแล้วเราสื่อสารสิ่งนั้นออกไป แล้วมีคนเห็นด้วยมาทำร่วมกันมากขึ้น เราบอกไม่ได้หรอกว่ามันควรเป็นแบบไหน เพราะแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน มันคือทุกภาคส่วนตั้งแต่การศึกษา เช่น ไม่มี Homophobia (การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน) ในบทเรียน ครูมีความเข้าใจ พ่อแม่เห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ถ้าพ่อแม่ไม่มีความสุข พ่อแม่ควรได้รับการบำบัด ไม่ใช่ลูก”

ปิยะธร สุวรรณวาสี

เพจ Cat the Trans-Lesbian แมว เลสเบี้ยนข้ามเพศ

ประมาณ 6 ปีที่แล้ว ชื่อของปิยะธรเริ่มปรากฏอยู่บนพื้นที่สื่อ ด้วยพาดหัวข่าวและการนำเสนอที่เต็มไปด้วยการทำให้เธอเป็นของแปลกของสังคม โดยเฉพาะเมื่อปิยะธรไปออกรายการทีวีรายการหนึ่ง ซึ่งยังมีบันทึกอยู่บน YouTube ความคิดเห็นกว่า 230 รายการ เต็มไปด้วยอคติและการพยายามแปะป้ายให้เธอเป็นตามกรอบที่พวกเขาเข้าใจ แต่เธอสื่อสารตัวตนของตัวเองอย่างชัดเจนว่า เธอเป็นหญิงข้ามเพศที่ไม่ได้ชอบผู้ชาย หรือกะเทย เลสเบี้ยน ซึ่งกลุ่มคนที่เข้าใจได้ยากที่สุดกลับไม่ใช่คนทั่วไป แต่เป็นคนในชุมชน LGBTQ+ ด้วยกันเอง

“เราต้องยอมรับความหลากหลายที่อยู่ใน community ให้ได้ก่อน ณ ตอนนี้เราแบ่งแยกกีดกันกันอยู่ คือต้องเป็นประเภทนั้นประเภทนี้ ถ้าไม่ใช่ประเภทนี้เข้ากลุ่มไม่ได้ ซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้น และยอมรับความหลากหลายในตัวเราเองด้วย ถ้าเราไม่กล้ายอมรับความหลากหลาย มันก็ come out ไม่สุด เราไม่ได้ Pride กันอย่างเต็มที่

“ทุกวันนี้เรายังแยกกันด้วยคำว่ารุก-รับ แปลง-ไม่แปลง ทำนม-ไม่ทำนม ถ้าเรายังถือว่าเรื่อง gender recognition สำคัญกว่า equality ก็ไม่ใช่ มันสำคัญพอๆ กัน และมันมาพร้อมๆ กัน เพราะมันไม่ได้ทำให้ใครเสียผลประโยชน์ มันอาจจะระคายเคือง patriarchy หรือลัทธิชายเป็นใหญ่ไปบ้าง แต่จริงๆ แล้วในทางกฎหมายไม่มีใครเสียผลประโยชน์ เขาแค่ยอมรับกันไม่ได้ด้วยความคิดฝังหัวกันมานาน เราต้องทำให้ความหลากหลายนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่พูดได้ ไม่ใช่เรื่องที่เราต้องมานั่งดูถูก ดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยาม หรือเอามาล้อเลียน”

สำหรับปิยะธร Pride Month ควรเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ทุกคนรู้สึกว่า ไม่ได้ถูกทอดทิ้งอยู่ตัวคนเดียวบนโลก เพราะปกติผู้มีความหลากหลายทางเพศก็มีช่องว่างกับสังคมที่ไม่ยืดหยุ่นนี้อยู่แล้วไม่มากก็น้อย จึงควรเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ทุกคนได้รู้สึกภาคภูมิใจว่าไม่มีใครผิดที่จะเป็นอะไรก็ตาม และภาคส่วนต่างๆ ก็ไม่ควรทำให้ Pride Month กลายเป็นเรื่องฉาบฉวยไป 

“พวกคุณอย่าทำตัวฉาบฉวย ทำ Pride Month เอาหน้าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ถึงเวลาก็ออกมาเฮดีใจใหญ่เลย แต่พอหมด Pride Month ก็เอาธงออกแล้วบอกว่า ขอโทษนะคะ คุณมีคำนำหน้าเป็นนาย แต่คุณเป็นผู้หญิง แบบนี้มันจะดูไม่ดีต่อภาพลักษณ์องค์กร ถ้ายังมีแบบนี้อยู่ Pride Month ก็ถือว่าแทบไม่มีความหมาย เพราะยังมีการแบ่งแยกอยู่”

ณัฐินีฐิติ ภิญญาปิญชาน์

ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์และการสื่อสาร บริษัท Asia Life Media (Thailand)

ณัฐินีฐิติไม่เคยจำกัดนิยามของตัวเอง ถึงแม้สังคมจะเข้าใจคำว่าคนข้ามเพศมากกว่า แต่เธอยังไม่ได้สนิทใจกับคำคำนี้ เพราะคิดว่าทำไมเธอต้องเป็นคนข้ามเพศ ในเมื่อเธอไม่ต้องข้ามไปอยู่ตรงไหน เธอก็เป็นตัวของเธอเองอยู่ตรงนี้ และภายใต้ภาพลักษณ์ของ working woman เธอก็เคยเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลเรื่องเพศสภาพในที่ทำงานเช่นกัน เธอจึงอยากให้สังคมไทยมุ่งที่การให้ความสำคัญเรื่องสิทธิพื้นฐานมากกว่า ถึงแม้จะไม่ได้ทำงานด้านการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศโดยตรง แต่เธอก็เห็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนสิ่งนี้ทำงานกันอย่างหนัก แต่เสียงยังไม่ดังมากพอ และในช่วง Pride Month เองก็ควรมีการพูดถึงประเด็นนี้มากขึ้น

“เราเคยมองว่ากฎหมายไม่สำคัญ ตราบใดที่คนในสังคมยังยอมรับเรา เรายืนอยู่ได้ แต่สุดท้ายแล้วมันมีผล เพราะว่ากฎหมายมันระบุสิทธิของเราหลายอย่างมาก กลุ่มที่เขาขับเคลื่อนเรื่องนี้ก็ทำงานกันหนักมากเลยนะ เราเห็นความพยายามเสนอกฎหมายเหล่านี้แล้วโดนปัดตก นอกจากโดนปัดตกแล้วยังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงของกลุ่มการเมืองด้วย พ.ร.บ.คู่ชีวิต อีก ซึ่งเรามองว่ามันฉาบฉวย มันไม่ได้ให้ความเท่าเทียมของความเป็นคนจริงๆ 

“เรามองว่า movement ในเมืองไทยมันหนักนะ มันเข้มข้น แต่มันกระจุกในกลุ่มที่ทำงานหนัก คนทั่วไปยังไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร โดยเฉพาะคนที่ควบคุมนโยบายหรือกฎหมายของประเทศนี้ ซึ่งเป็นคนกลุ่มที่มีความปิตาธิปไตยเป็นหลัก แล้วเป็นคนที่หลงอำนาจ อันนี้พูดตรงๆ เลยนะ ต้องพูด เพราะมันเกี่ยวกับการเมืองจริงๆ ซึ่ง Pride Month น่าจะพูดเรื่องนี้เยอะๆ”

สำหรับณัฐินีฐิติ มุมมองที่เธอมีต่อ Pride Month คือสิ่งที่เกิดจากการต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อ ชีวิต และจิตวิญญาณ จึงมีความหมายมากกว่าการเฉลิมฉลอง และสำหรับเธอ เธอไม่รู้สึกภูมิใจกับ Pride Month เลย ในเมื่อทุกวันนี้ยังคงมีการปฏิบัติต่อคนด้วยกันอย่างไม่เท่าเทียม

“สำหรับเรา เราไม่รู้สึกภูมิใจเลย เราไม่มีเหตุผลที่จะภูมิใจกับ Pride Month ณ วันนี้เรายังเห็นการปฏิบัติกับคนไม่เหมือนคน ยังเห็นการมองคนไม่เป็นคนเท่ากัน เราพูดไว้ในทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของเรา เพราะนี่เป็นสิ่งที่เรากำลังต่อสู้อยู่ มันไม่ใช่เรื่องการแต่งตัวสวย มีสีสัน แล้วออกมาเฮโล ถ้าเรามอง Pride Month เป็นเรื่องของเครื่องมือทางการตลาด แสดงว่าคุณไม่เข้าใจ Pride Month จริงๆ message ของการต่อสู้จริงๆ ในยุค 70 ที่ LGBTQ+ ทั้งล้มตาย ทั้งถูกทำร้าย มันมี message มากกว่านั้น เราพูดเลยว่า ถ้ายังเห็นการถูกเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นอยู่ ก็ไม่สามารถภูมิใจกับ Pride Month ได้อย่างเต็มที่ ถ้าตราบใดที่คนยังปฏิบัติต่อคนไม่เหมือนคน” 

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า