เกิดเป็นสาวอ้วนในฝรั่งเศส ชีวิตมันช่างเจ็บปวด…

ภาพประกอบ: Shhhh

 

กาเบรียล เดย์ดิเยร์ (Gabrielle Deydier) อายุ 38 ปี ผู้หญิงอ้วนชาวฝรั่งเศส ที่เคยถูกตอกหน้าตอนสมัครงานเป็นครูผู้ช่วยเลี้ยงเด็กออทิสติกและผู้ที่มีความบกพร่องทางการอ่านเขียน (Dyslexia) ว่า เด็กๆ จะไม่มีทางชอบเธอเพราะเธออ้วนและมีกลิ่นตัว พวกเขาบอกว่าเธออ้วนมากเสียจนไม่มีทางจะมีชีวิตอยู่ถึงสิ้นปีนี้ได้ และครั้งหนึ่งตอนสมัครงาน เธอเคยถูกกล่าวหาจากนายจ้างว่าความอ้วนมีผลต่อไอคิว เคยถูกตำรวจกล่าวว่าเธอโกหก เพราะเธอแจ้งความว่าชายคนหนึ่งเคยจะข่มขืนเธอ เพราะตำรวจนายนั้นเห็นว่าผู้ชายที่เธอแจ้งจับ มีภรรยาที่สวยและหุ่นดีกว่ามาก

นี่เป็นประสบการณ์เพียงเศษเสี้ยวของเดย์ดิเยร์หลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะเธออ้วน และเพราะเธอเป็นผู้หญิงอ้วนในประเทศฝรั่งเศส ประเทศที่มีประชากรที่เป็นโรคอ้วน* เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอังกฤษและสหรัฐ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ คือราว 15.3 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อังกฤษอยู่ที่ 26.9 เปอร์เซ็นต์ และสหรัฐอเมริกาที่ 38.2 เปอร์เซ็นต์ นี่คือตัวเลขในปี 2015 สำรวจโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)

“ฉันร้องไห้ ร้องๆๆ และก็ไม่มีใครสักคนยื่นผ้าเช็ดหน้ามาให้ฉัน ทั้งชีวิตของฉันมีครูเป็นไอดอล และคิดว่าการศึกษาจะเป็นประตูก้าวออกไปจากความยากจน แต่เวลาที่คุณเห็นคนที่คุณเคยบูชาทำแบบนั้นกับคุณ มันยากนะ มันยากมากๆ”

หลังจากถูกดูถูก และตักตวงความมั่นใจออกไปแทบหมด เธอลุกขึ้นมาเขียนหนังสือที่ชื่อ On Ne Naît Pas Grosse (You Are Not Born Fat) เพื่อทั้งบอกเล่าและนั่นคือการเยียวยาตัวเอง หนังสือของเธอได้รับการพูดถึงในวงกว้าง และจุดประเด็น fatphobia หรือผู้ที่เกลียดและกลัวคนที่มีลักษณะอ้วน มีผู้ติดตามส่งข้อความกลับมาหาเธอนับพัน และ On Ne Naît Pas Grosse กำลังจะถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และทำให้เป็นสารคดีด้วย

“ฉันคิดว่าปัญหาของคนส่วนน้อยในสังคมฝรั่งเศส คือเราเห็นว่าความคิดของเราพีซี (politically correct) แต่ในความเป็นจริงมันไม่ใช่อย่างนั้นเลย เราไม่คิดว่าพฤติกรรมของคนที่เกลียดและกลัวคนอ้วนจะใกล้เคียงกับการแบ่งแยกหรือกีดกัน เรา (คนฝรั่งเศส) คิดว่ามันเป็นความผิดของคนอ้วน และพวกเขาควรเปลี่ยนแปลงตัวเอง” คำสัมภาษณ์ของเธอกับ อดัม เซจ (Adam Sage) ใน The Times ประเทศอังกฤษ

credit: The Observer by Joanna Van Mulder

นอกจากเดย์ดิเยร์จะตีแผ่การเป็นคนอ้วนในสังคมฝรั่งเศสแล้ว เธอยังชี้ปัจจัยความเกี่ยวข้องหนึ่งที่น่าสนใจไว้ว่า ‘ความอ้วนเกี่ยวกับความจน’ อย่างไม่ต้องสงสัย ตัวเลขรัฐบาลฝรั่งเศสชี้ว่า ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ภายใต้ระบบสวัสดิการสังคม มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนมากกว่าผู้ที่มีรายได้มากกว่า 48,000 ยูโรต่อปี ราวสี่เท่า

เดย์ดิเยร์เติบโตในครอบครัวยากจนทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ยากจนขนาดว่าครอบครัวเธอได้รับอาหารจากธนาคารอาหาร (Food Bank) พ่อแม่เธอแยกทางกัน แม่เธอป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและตกงาน พ่อของเธอต้องนอนในรถ

On Ne Naît Pas Grosse เล่าว่า ตลอดชีวิตของเธอต้องเจอกับอะไรบ้าง ตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กที่เป็นสาวเจ้าเนื้อมาโดยตลอด จนเริ่มหมกมุ่นกับความผอมตอนอายุ 16 ปี และแม่ของเธอย้ำกับเธอเสมอว่าเอวเธอใหญ่เกินไปแล้ว

เดย์ดิเยร์ในวัย 16 ปี สูง 152 เซนติเมตร หนัก 63 กิโลกรัม ได้รับยาเร่งฮอร์โมนจากคุณหมอ ผู้บอกว่าเธอจะลดน้ำหนักได้ประมาณ 19 กิโลกรัม และทำให้เธอมีอคติกับการกิน แต่ฮอร์โมนทำให้ผิวหนังของเธอแห้งเสีย ขนขึ้นตามแขนขา และน้ำหนักเพิ่มขึ้นราว 25 กิโลกรัม

กระทั่ง – และเริ่มหนักมากขึ้นเรื่อยๆ – เธอถูกปฏิเสธจากนายจ้างหลายที่เพราะเธออ้วนเกินไป เดย์ดิเยร์เล่าว่า ช่วงเวลาที่เธอรู้สึกปลอดภัยและไม่เห็นว่าความอ้วนเป็นปัญหา คือตอนไปเรียนมหาวิทยาลัยที่อันดาลูเซีย (Andalusia) ประเทศสเปน

“มันเป็นช่วงเวลาแค่หนึ่งปีในชีวิตฉัน ที่ผู้คนไม่ถามเรื่องน้ำหนักของฉันเลย” เดย์ดิเยร์ว่าเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม เดย์ดิเยร์กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ถูกเล่าออกมาจากปากของคนคนเดียว และในเคสเฉพาะตัว แต่แน่นอนว่านี่อาจอธิบายถึงการเป็นคนอ้วน ในสายตาและสังคมฝรั่งเศสที่เดย์ดิเยร์อุปมาว่า ‘แมกาซีนฝรั่งเศสทำราวกับว่าผู้หญิงไซส์ 10 คือมาตรฐานของสังคม (norm)’ ได้ แต่เธอขอบคุณที่หนังสือเล่มนี้เยียวยาเธอจากทุกสิ่ง เดย์ดิเยร์เล่ามันออกมาเพราะไม่อยากจะรู้สึกผิดที่อ้วนอีกต่อไปแล้ว

*โรคอ้วน ในทางการแพทย์จะใช้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เป็นตัววัด เส้นแบ่งคือ บุคคลที่มีดัชนีมวลกายเกิน 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ในช่วง 25-30 กิโลกรัมต่อตารางเมตรนิยามเป็นน้ำหนักเกิน

อ้างอิงข้อมูลจาก:
thetimes.co.uk
theguardian.com

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า