ใครยืนตรงไหน ในเสียงปืนและระเบิดที่ฉนวนกาซา

เสียงปืนและระเบิดที่ฉนวนกาซา ดินแดนที่มีขนาดเล็กกว่าสมุทรสงคราม จังหวัดที่เล็กที่สุดของประเทศไทย กำลังแบ่งโลกทั้งใบเป็น 3 ฝ่าย 

ฝ่ายสนับสนุนกลุ่มฮามาส ฝ่ายสนับสนุนอิสราเอล และฝ่ายไม่เลือกข้างแต่ประกาศเรียกร้องสันติภาพ ราวกับว่าคำประกาศสงครามต่อกลุ่มฮามาสของ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอล จะเป็นการพาโลกเข้าสู่สงครามใหญ่อีกครั้งหนึ่ง 

ลองไปสำรวจโลกพร้อมกันว่า ใครยืนตรงไหนในสถานการณ์ที่โลกจับตามอง

กลุ่มสนับสนุนฮามาส

ประเทศที่ออกตัวแรงและชัดเจนว่าสนับสนุนฮามาสอย่างเป็นทางการมากที่สุดคือ อิหร่าน เมื่อ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดของประเทศ ออกแถลงการณ์ด้วยตนเองว่าสนับสนุนการโจมตีของกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอลที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ตุลาคม 2023 และจะสนับสนุนนักรบอิสลามต่อไป “จนกว่าปาเลสไตน์และเยรูซาเล็มจะได้รับอิสรภาพ” 

ขณะที่โฆษกของกลุ่มฮามาสก็ออกโทรทัศน์ขอบคุณอิหร่านที่สนับสนุนอาวุธ และเงินให้กับฮามาสในการเปิดฉากถล่มอิสาราเอลครั้งล่าสุดนี้ “พวกเขา (อิหร่าน) มอบขีปนาวุธให้เราเพื่อทำลายป้อมปราการของไซออนนิสต์ และช่วยเราในเรื่องขีปนาวุธต่อต้านรถถัง” โฆษกกลุ่มฮามาสกล่าว

ตุรกี เป็นอีกประเทศหนึ่งที่สนับสนุนกลุ่มฮามาสอย่างชัดเจน ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอรโดก์อาน (Recep Tayyip Erdoğan) ออกแถลงการณ์ปกป้องปาเลสไตน์เมื่อวันเสาร์ หลังจากอิสราเอลถูกขีปนาวุธของกลุ่มฮามาสยิงถล่มเพียงไม่นาน 

แอร์โดก์อานเตือนอเมริกาให้อยู่ห่างๆ การสู้รบระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลในครั้งนี้ “เราพร้อมจะปกป้องปาเลสไตน์ด้วยต้นทุนทุกอย่าง” 

ส่วนปากีสถาน แม้ จาลิล อับบาส จิลานี (Jalil Abbas Jilani) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จะพยายามวางตนเป็นกลาง ด้วยการแสดง ‘ความกังวลอย่างยิ่ง’ ต่อการสู้รบที่กำลังรุนแรงขึ้น และการสูญเสียชีวิตผู้บริสุทธิ์ แต่ก็มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนว่า ให้อิสราเอลยุติการกดขี่ในปาเลสไตน์ที่อิสราเอลยึดครองอยู่ในทันที และประกาศยืนหยัดเคียงข้างชาวปาเลสไตน์ เช่นเดียวกับอดีตนายกรัฐมนตรี ชาห์บาซ ชารีฟ (Shehbaz Sharif) ก็โพสต์ข้อความลงเอ็กซ์ (X) เช่นกันว่าสนับสนุนฮามาส นอกจากนี้ยังมีประชาชนชาวปากีสถานจำนวนมากเดินขบวนสนับสนุนกลุ่มฮามาสในเมืองต่างๆ ของปากีสถานอีกด้วย 

เสียงสนับสนุนกลุ่มฮามาสยังดังออกมาจากประชาชนของประเทศอื่นๆ เช่น ชาวมุสลิมในเบอร์มิงแฮมของอังกฤษ ออกมาเดินขบวนในเขตเมืองเพื่อแสดงพลังยืนเคียงข้างปาเลสไตน์ ขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ประกาศสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่

กลุ่มสนับสนุนอิสราเอล

กลุ่มประเทศที่สนับสนุนอิสราเอลมีจำนวนมากกว่ากลุ่มสนับสนุนฮามาสมาก ทั้งในเชิงจำนวนประเทศ และเชิงความเป็นมหาอำนาจ โดยพบว่าประเทศมหาอำนาจของโลก 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ต่างประกาศยืนข้างและให้การสนับสนุนอิสราเอลชัดเจน

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ออกมาประกาศสนับสนุนอิสราเอล โดยมีรายงานข่าวในวันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม ว่ากองทัพสหรัฐเตรียมเคลื่อนเรือรบและเครื่องบนรบเข้าใกล้อิสราเอล เพื่อสนับสนุนการต่อต้านกลุ่มฮามาส ขณะเดียวกัน แอนโทนี บลิงเกอร์ (Antony Blinker) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำอันโหดร้ายของกลุ่มฮามาสที่ “ลักพาตัวคนแก่และผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์การสังหารหมู่ (ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2) และการจับตัวประกันในฉนวนกาซา” 

ริชี ซูแน็ก (Risjhi Sunak) นายกรัฐมนตรีอังกฤษ อัดคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ประณาม ‘กลุ่มก่อการร้าย’ ฮามาส ที่โจมตีอิสราเอลและประกาศยืนข้างอิสราเอลอย่างเต็มที่

ส่วนฝรั่งเศส ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) โพสต์ข้อความใน X ประณามการโจมตีประเทศ ทหาร และประชาชนอิสราเอล ประกาศยืนข้างประเทศอิสราเอลและชาวอิสราเอลในการกระทำเพื่อปกป้องความปลอดภัยของประเทศและสิทธิของตนเอง 

เช่นเดียวกับประเทศเยอรมนี นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ (Olaf Scholz) ประกาศยืนเคียงข้างอิสราเอล และ อันนาเลนา แบร์บอค (Annalena Baerbock) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ประณาม ‘การโจมตีก่อการร้าย’ ที่เกิดกับอิสราเอล 

นอกจากนี้ยังมีประเทศที่แม้จะไม่ประกาศสนับสนุนอิสราเอล แต่ก็ออกมาประณามการกระทำของกลุ่มฮามาส เช่น สาธารณรัฐเช็ก โดยประธานาธิบดี ปีเตอร์ พาเวล (Petr Pavel) ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของฮามาสว่า เป็นการก่อการร้ายต่อชีวิตพลเรือนของอิสราเอลและเป็นการกระทำที่ขัดขวางกระบวนการสันติภาพในภูมิภาค 

เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน (Ursula von der Leyen) ประธานสหภาพยุโรป โพสต์ลง X ประณามการกระทำของฮามาส และเรียกการโจมตีกลับของอิสราเอล ว่าเป็นการป้องกันตนเองจากการโจมตีที่ชั่วร้าย (heinous attacks) 

เบลเยียม รัฐมนตรีว่ากระทรวงต่างประเทศ ฮัดจา ลาห์บิบ (Hadja Lahbib) เขียนบน X ในนามประเทศเบลเยียมว่า ขอประณามการใช้จรวดโจมตีอิสราเอล และเบลเยียมกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด 

ประเทศไทยเองก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน โพสต์ข้อความใน X ประณามการโจมตีอิสราเอล ว่าเป็นการโจมตีที่ไร้มนุษยธรรม ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ

กลุ่ม (ยัง) ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

กลุ่มสุดท้ายเป็นกลุ่มของประเทศที่ออกแถลงการณ์ต่อความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในดินแดนฉนวนกาซา แต่ไม่แสดงความเห็นเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กลุ่มนี้นำโดยประเทศจีน 

กระทรวงการต่างประเทศจีนออกแถลงการณ์แสดง ‘ความวิตกกังวลอย่างยิ่ง’ ต่อความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “อยู่ในความสงบ หยุดยิงทันที ปกป้องพลเรือน และป้องกันไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น”

ประเทศในกลุ่มนี้ยังรวมถึงบราซิล ที่ออกแถลงการณ์ประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาพรวม ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและอิยิปต์ที่เตือนให้ทั้ง 2 ฝ่าย เตรียมรับผลลัพธ์ที่ร้ายแรง (grave consequences) จากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นของสถานการณ์

เพ็ญนภา หงษ์ทอง
นักเขียน นักแปลอิสระ อดีตนักข่าวสิ่งแวดล้อม สนใจประเด็นทางสังคม การกดขี่ภายใต้การอ้างความชอบธรรมของกฎ ระเบียบ กฎหมาย และโครงสร้างอำนาจ มีผลงานแปลหลากหลาย อาทิ No Logo โดย นาโอมิ ไคลน์ รวมถึง พระนิพนธ์ขององค์ทะไล ลามะ

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า