อีกกี่คนที่ต้องบอบช้ำ เพียงเพราะเพศสภาพจึงถูกเลือกปฏิบัติในตลาดแรงงาน

เมื่อพูดถึง ‘ทหาร’ ภาพแรกที่ทุกคนนึกถึงคือชายสวมชุดทหารสีเขียวเข้ม ยืนตรง ถือกระบอกปืนไว้ในมือ หรือเมื่อพูดถึง ‘คุณครู’ ภาพแรกที่ปรากฏคือหญิงวัยกลางคน แต่งกายเรียบร้อย ยืนถือหนังสืออยู่หน้ากระดานดำ คำถามคือ ตั้งแต่เมื่อใดกันที่กล่องเก็บความจำในหมวดหมู่ ‘อาชีพ’ ของพวกเราถูกตั้งค่าพื้นฐานไว้ว่าเพศไหนควรประกอบอาชีพใด

หากไม่รวมชุดความคิดที่เชิดชูองค์ความรู้ทางสรีรศาสตร์ ว่าร่างกายของเพศชายแข็งแกร่งกว่าเพศหญิง ก็ต้องเป็นมายาคติฝังหัวที่ว่า ‘ผู้ชาย’ เป็นเพศที่แข็งแรง ควรเป็นผู้นำรับผิดชอบครอบครัว หรือทำอะไรที่มัน ‘แมนๆ’ ขณะที่ ‘ผู้หญิง’ เป็นเพศที่อ่อนโยน ต้องเย็บปักถักร้อย หรือเป็นแม่ศรีเรือน ใครก็ตามที่มีลักษณะต่างจากนิยามนี้จะถูกตราหน้าทันทีว่า ไม่สมกับเป็นชาย ไม่สมกับเป็นหญิง

ภาระทางความคิดที่ต้องแบกรับมายาคติทางสังคมลุกลามมาถึงการประกอบอาชีพ ความคิดที่ว่าเพศไหนเหมาะกับอะไร ไม่มีมาตรวัดเชิงประจักษ์ที่สามารถจับต้องได้ แต่ถูกสลักไว้แล้วบนความเข้าใจไปเองของสังคม ถึงแม้เพศ อายุ และการศึกษา จะเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่บริษัทหรือองค์กรมองหา เพื่อกำหนดลักษณะในการทำงาน แต่การตั้งข้อกำหนดเรื่องเพศมีความจำเป็นต่อสิ่งใด ทั้งที่ศักยภาพของมนุษย์ไม่ว่าเพศไหนก็ไม่แตกต่างกัน

สิ่งนี้เรียกว่า การเลือกปฏิบัติทางเพศ (gender discrimination) คือ การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม หรือเสียโอกาสเพียงเพราะเพศสภาพหรือเพศสภาวะของตน ซึ่งเกิดจากความคิดและภาพจำของสังคมหรือบุคคล ว่าเพศไหนควรทำอะไร หรือเพศไหนไม่ควรทำอะไร ซึ่งหากมองหรือตัดสินผู้คนด้วยมาตรวัดแบบนี้อาจสร้างปัญหาทางสังคมได้ โดยเฉพาะเมื่อบริษัทหรือองค์กรใช้เลนส์แห่งความไม่เท่าเทียมนี้คัดสรรบุคลากรเข้ามาทำงาน

ลองจินตนาการว่าคุณตกงาน หรือเพิ่งสำเร็จการศึกษา และกำลังหางานใหม่ที่ตนเองสนใจ ทว่างานที่คุณอยากทำกลับกำหนดเพศที่ไม่ตรงกับเพศสภาพหรือเพศสภาวะของคุณ นอกจากลดทอนความเป็นมนุษย์แล้ว ยังเพิ่มอัตราการว่างงานขึ้นอีกด้วย

รายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) หัวข้อ New data shine light on gender gaps in the labour market (2022) หรือข้อมูลที่บ่งชี้ช่องว่างระหว่างเพศในตลาดแรงงาน ระบุว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงวัยทำงานทั่วโลกต้องการทำงาน แต่ไม่มีงานทำ ขณะที่ผู้ชายมีอัตรา 10.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งช่องว่างระหว่างเพศนี้แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ (2005-2022) ในขณะที่ประเทศรายได้ต่ำมีสัดส่วนของผู้หญิงที่ไม่สามารถหางานทำได้ถึง 24.9 เปอร์เซ็นต์ และอัตราส่วนของผู้ชายอยู่ที่ 16.6 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าเพศยังคงมีผลต่ออัตราการว่างงาน ยังไม่รวมถึง ‘เพศทางเลือก’ หรือ ‘คนข้ามเพศ’ ที่อาจตกหล่นจากการเก็บรวบรวมข้อมูล

นอกจากอัตราการว่างงาน การถูกเลือกปฏิบัติในองค์กรก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าจับตามอง งานวิจัย Field experiments of discrimination in the market place (2002) เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติในตลาดแรงงาน ระบุว่า ผู้หญิงมักถูกเลือกปฏิบัติ เมื่อสมัครงานในอาชีพที่สังคมมองว่าเหมาะกับผู้ชาย ในขณะเดียวกัน ผู้ชายก็ถูกเลือกปฏิบัติเมื่อสมัครงานในอาชีพที่สังคมเชื่อว่าเหมาะกับผู้หญิง อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าการถูกเลือกปฏิบัติในผู้ชายจะสูงกว่าการถูกเลือกปฏิบัติในผู้หญิง เมื่อสมัครงานในอาชีพที่ดูไม่เหมาะกับเพศของตัวเอง

ในสายธารความคิดของโลกปัจจุบัน มนุษย์คนหนึ่งไม่ควรถูกตัดสินความสามารถจากเพศสภาพหรือเพศวิถีของตัวเอง เพราะมีอีกหลายวิธีในการพิสูจน์ว่าใครเก่งหรือไม่ ใครทำสิ่งนั้นได้ หรือใครไม่เหมาะกับงานนั้น โดยไม่ต้องใช้เพศเป็นตัวกำหนด

ที่มา:

Author

กนกวรรณ เชียงตันติ์
ผู้ถูกเลือกให้ปวดหลัง

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า