ทหารเกณฑ์ เพศทางเลือก ผู้ถูกขโมยชีวิตในค่ายทหาร

ผมพบเขาในวันที่ 21 ของการเป็นทหารเกณฑ์ปลดประจำการ ผมของเขาเริ่มยาวออกมาจากกฎระเบียบ ร่างกายทะมัดทะแมง เป็นหลักฐานของวินัยที่ฝึกฝนและสร้างกล้ามเนื้อบนเรือนร่างของเขา ใบหน้าตอบ ดวงตากลมสวย ในดวงตาของเขาเป็นดวงตาของผู้หญิง เป็นข้อสังเกตส่วนตัวสำหรับชายที่เป็นเพศทางเลือก

เขาเรียนด้านสังคมสงเคราะห์ ทำงานด้านสิทธิผู้ลี้ภัย สิ่งนี้อาจทำให้เขารู้สึกว่าช่วงชีวิตหนึ่งปีในฐานะทหารเกณฑ์ เขาถูกบางอย่างขโมยชีวิตไป เขาเศร้ากับข่าวการเสียชีวิตของ เมย – นตท.ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ และอาจจะรู้สึกมากเป็นพิเศษ เพราะเขาเพิ่งเคยผ่านอะไรทำนองนั้นมา แม้ไม่อาจเทียบเคียงกันได้ แต่ประสบการณ์ที่เขากำลังจะเล่าให้ฟังนั้น ยอมรับว่ามันเป็นบาดแผล เป็นช่วงเวลาเลวร้าย แต่เขาผ่านมันมาได้แล้ว เขาสดใสเหมือนเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มองเห็นชีวิตเต้นรำในอนาคต ผมระบุตัวตนของเขาได้เพียงเท่านี้

ทหารเกณฑ์

ก่อนเข้าไปประจำการคุณมีทัศนคติอย่างไรกับการเกณฑ์ทหาร

ไม่อยากเป็นอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งก็เพราะข่าวที่ไม่ดีที่มีออกมาตลอดเวลา ในนั้นมีเรื่องการกลั่นแกล้งกันเยอะมาก เราเห็นภาพข่าวต่างๆ เช่น ต้องแก้ผ้าอาบน้ำ มีการจับจู๋กันเป็นเรื่องปกติ แล้วเราเป็นเพศทางเลือก เราไม่เหมือนคนอื่น เราไม่ได้เป็นผู้ชายแท้ๆ เรามีความรู้สึกว่าอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นไม่ได้ แล้วเราเรียนเรื่องสิทธิ และยังทำงานด้านสิทธิโดยตรง เราก็รู้สึกว่ากูจะไปอยู่ได้ยังไงวะ แต่ก็โอเค ตอนนั้นเราคิดว่า คนอื่นอยู่ได้ เราก็ต้องอยู่ได้ มันไม่น่าจะมีอะไรขนาดนั้นมั้ง ในตอนนั้นก็พยายามปลอบใจตัวเอง

เราบอกทุกคนว่าเราโอเค แต่พอเราพาตัวเองเข้าไปในนั้น เรารู้สึกว่ามันเริ่มแล้วว่ะ มันเริ่มแล้วว่ะหมายความว่า พอเข้าไปปุ๊บ เราต้องเอาทุกอย่างที่เป็นเราออกไปหมด เราต้องผ่านการตัดผม ต้องใส่เสื้อผ้าของเขา มีสิ่งของมาให้เราหนึ่งชุด เราก็เดินตามกันไป ใครใช้ให้ทำอะไรก็ทำ เหมือนเข้ามาในโรงงานอะไรสักอย่าง มันมีกระบวนการที่ชัดเจนมากว่าเขากำลังหลอมรวมเราให้เป็นอะไรก็ไม่รู้ ด้วยสภาพแวดล้อมตรงนั้นเรามีความรู้สึกโดยทันทีว่า เราไม่ใช่เราอีกต่อไปแล้ว เราเป็นของเขา ตอนนั้นเรารู้สึกว่าบรรยากาศแบบนี้มันมาแล้ว บรรยากาศที่แบบ ชีวิตไม่ใช่ของเรา ชีวิตเป็นของใครก็ไม่รู้

เข้าไปนานไหมจึงรู้สึกแบบนี้

วันแรกเลย อาจเพราะเรามีต่อมรับรู้อะไรแบบนี้เร็วด้วยมั้ง แต่เพื่อนเขาก็น่าจะรู้สึกกันนะ เหมือนโรงงานอะไรสักอย่างที่คนเดินขวักไขว่ เขาสั่งอะไรเราต้องทำ ถ้าเราพูดคุยเสียงดังก็จะมีเสียงตะโกนกร้าว “เงียบ!” เราก็แบบเหวอ ตอนนั้นมีความรู้สึกหลายอย่างปะปน ตลกด้วยส่วนหนึ่ง เหมือนอยู่โรงละคร หรือโรงงาน หรือกูอยู่ไหนวะ

เรารู้สึกว่าการอยู่ในนั้นมันเสียเวลามากๆ เสียเวลาของเรา เพราะเรารู้สึกว่า อยู่ข้างนอกเราสามารถทำอะไรได้เยอะ เสียโอกาสคนอื่นด้วย เพราะเราเป็นนักสังคมสงเคราะห์ เรามีเคสที่ติดตามอยู่เยอะมาก ช่วงเวลาหนึ่งปีที่อยู่ในนั้นมันไม่ใช่แค่เราที่เสียโอกาส องค์กรที่เราทำงานก็ด้วย คนที่เราทำงานด้วยหรือเคสต่างๆ ที่เราดูแล ก่อนหน้านั้นเราทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เราจัดกิจกรรมให้เด็ก ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่อง ทำไมเราต้องโดนขังในนี้ ไม่ใช่โดนขังแค่ตัวนะ แต่รวมถึงศักยภาพที่เรามีด้วย

ช่วยเล่าถึงโลกในนั้นให้ฟังหน่อย

โลกในนั้นเป็นโลกที่มีระดับชั้นชัดเจนมาก คนที่ถูกต้องที่สุดก็คือผู้บังคับบัญชา เรารู้สึกว่าการฝึกในนั้นคือการฝึกให้เรารับคำสั่งอย่างเดียว มันมีกระบวนการที่ค่อนข้างชัดเจนมาก เช่น มีการให้ท่องโค้ด ท่องคำขวัญ “รับคำสั่ง ทำทันที ทำดีที่สุด” มันไม่มีข้อโต้แย้งน่ะ เราต้องท่องเลย “รับคำสั่ง ทำทันที ทำดีที่สุด” มันไม่มีช่องให้เราปลิ้นไปไหนได้เลย ไม่มีช่องให้ถามว่าทำไมเราต้องทำแบบนี้ ไม่มีเลย มากไปกว่านั้น “ไม่มีอะไรที่ทหารใหม่ ทำไม่ได้ ทำไม่ไหว ทำไม่ทัน รับคำสั่ง ทำทันที ทำดีที่สุด” เขาปิดช่องเราหมด เราไม่สามารถ “กูไม่ไหว” เพราะ “มึงต้องไหว” ดังนั้นเขาจะมองทุกคนเป็นภาพรวมและก้อนเดียวกันหมด เขาพยายามจะละลายความเป็นปัจเจกของทุกคนลงให้กลายเป็นกลุ่มเดียวกัน ตรงนี้แหละที่มันอันตรายมากๆ ถ้ามีคนหนึ่งป่วยขึ้นมา แทนที่เราจะมองในระดับปัจเจกว่า ทำไมถึงป่วย เกิดอะไรขึ้นรึเปล่า แต่สิ่งแรกที่เขาจะมองคือ “มึงอู้” เพื่อนคนอื่นทำได้ทำไมมึงทำไม่ได้ ความเป็นปัจเจกโดนลดคุณค่า

เราเคยป่วยครั้งหนึ่ง สิ่งที่เราได้ยินจากข้างนอกห้องก็คือเพื่อนๆ ยืนท่องคำขวัญให้เรา “เจ็บควย ป่วยตา ข้าวปลาแดกได้ แดกมากซะด้วย ไม่รู้จะป่วยทำควยอะไร” กลายเป็นความป่วยของเราเป็นความผิดบาป เราไม่มีสิทธิป่วย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามันมีผลชะงัด มันทำให้เรารู้สึกว่า กูต้องหายแล้วว่ะ (หัวเราะ) ใครป่วยก็ตามเพื่อนๆ จะท่องคำขวัญนี้ โลกใบนั้นเป็นโลกของการรับคำสั่ง บางครั้งคำสั่งไม่มีเหตุผล หน้าที่ของเราคือการทำตาม

มีใครขัดขืนไหม?

มี เขาปวดฉี่กลางคืน แต่ไม่ลงมาฉี่ข้างล่าง แต่ฉี่ใส่ถัง ก็โดนซ่อม เป็นการซ่อมรวม ผิดหนึ่งคนจะโดนซ่อมรวม ก็เป็นแบบนี้ทุกครั้ง เขาจะบอกเราว่าต้องรักกัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ซ่อมแบบไหน

เป็นท่าออกกำลังกาย สำหรับเรา เรามองว่าการซ่อมโดยเครื่องมือของมัน มันไม่ใช่ความรุนแรง จะมีการซ่อมสองลักษณะ ลักษณะแรกก็จะเป็นท่าออกกำลังกาย เช่น วิดพื้น ดันพื้น แกงการู เราว่ามันไม่ใช่ความรุนแรง แต่อีกวิธีคือความรุนแรง เช่น ให้โหม่งโลก อย่างที่เป็นข่าวตอนนี้ หรือให้ทำอะไรแผลงๆ กระโดดบ่อขี้ แต่ช่วงที่เราไปอยู่ไม่ค่อยมีอะไรแผลงๆ เพราะนโยบายดีขึ้น ผู้บังคับบัญชาเข้มงวด แต่ถามว่าที่อื่นมีไหม…มี แม้ว่าวิธีการจะไม่ใช่ความรุนแรง แต่เขาก็เก่งมากที่ทำให้เป็นความรุนแรงได้ด้วยการสั่งด้วยจำนวนมากๆ ร้อยสองร้อยโดยไม่หยุดพัก แล้วต้องทำให้ได้จำนวนนั้นด้วย ระหว่างทางก็มีคนทำไม่ได้ เป็นลมบ้างก็มี

เราคิดว่าการไม่บอกเหตุผลในการทำโทษคือความรุนแรงแบบหนึ่ง ใช้น้ำเสียงข่มขู่ การด่าทอ มันคือความรุนแรง ซึ่งก็น่าเสียดายนะ เราว่าการซ่อมแบบนี้เป็นเครื่องมือที่ดีนะ การซ่อมที่เพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย ถ้าทำโดยใช้เหตุผลใช้การพูดคุยร่วมด้วย ให้เข้าใจว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร ก็จะดี แต่ตอนนี้มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

เรื่องเพศสภาพที่กังวลก่อนเข้ามา เกิดขึ้นไหม

มี พอทุกคนรู้ว่าเราเป็น สิ่งที่เราได้รับก็คือ เราโดนคุกคามทางเพศตลอดเวลาที่อยู่ในนั้นเลย และเป็นเหตุผลที่ทำให้เราอยู่กองร้อยไม่ได้ เราเหมือนวัตถุทางเพศของทุกคนที่ใครสามารถทำอะไรกับเราก็ได้ ครูฝึกสามารถเดินมาเล่นหัวนมเราเมื่อไรก็ได้ สามารถเดินมาจับก้นเราเมื่อไรก็ได้ แล้วเราไม่สามารถทำอะไรได้เลย ก่อนหน้านี้เราเป็นคนทำงานด้านนี้ เราส่งเสียงเรียกร้องด้านนี้ด้วย แต่พออยู่ในนั้นเราไม่มีเสียง เรารู้ว่าถ้าพูดจะเกิดอะไร เพราะสภาพแวดล้อมเขาทำให้เรากลัว พูดไปก็เท่านั้น เราอึดอัดมาก สิ่งที่เขาคุยกับเราจะเป็นแค่เรื่องเพศ “มึงอยากอมควยใครล่ะ” “ไหนมึงได้มากี่คนแล้ว” “ไหนๆ มึงชอบคนไหนในนี้” เราจะแบบ “มึงเป็นอะไรมากไหม” อยู่ในใจตลอด

มีคืนหนึ่งที่เราทนไม่ได้มากๆ ครูฝึกมาที่เตียงเราเต็มเลย มีคนหนึ่งเข้ามาในมุ้ง แล้วบังคับให้เรานอนบนแผงอกเขา เขาคิดว่าเราชอบ เราเข้าใจว่าทุกคนเข้ามาในนามการหยอกเล่น แต่การเล่นสำหรับเราทั้งสองฝ่ายต้องสนุก แต่นี่ฝ่ายหนึ่งสนุก อีกฝ่ายไม่สนุก มันคือการละเมิด แล้วมีคนนึงถอดกางเกงตัวเอง แล้วเอาอวัยวะเพศแกว่งมาที่ปากของเรา เราต้องทำเหมือนเราสนุกไปกับมัน บังคับให้เราทำท่าโก้งโค้ง แล้วให้รุ่นน้องของเขามาเรียงคิวเด้าเรา กูคืออะไร? แล้วทุกการแสดงอะไรที่มันตลกๆ เราต้องออกไป เพราะเขาคิดว่าเพศสภาพของเราต้องตลก เราก็ต้องออกไป เราต้องไปเต้นกับคนนู้นคนนี้ มีเพื่อนคนนึงเขาเพิ่งห่างจากการใช้ยามาใหม่ๆ เขายังไม่หาย ก็ให้มารูดแข้งรูดขาเรา ชีวิตกูมาถึงจุดนี้แล้วเนาะ จุดที่ใครจะมาทำอะไรกับเราก็ได้ ตอนนั้นเราไม่ไหวมากๆ เราจึงโทรหาที่บ้าน

ที่บ้านร้องเรียน?

เรามีคนรู้จักที่เป็นระดับผู้บังคับบัญชา ก็เป็นเรื่องเป็นราวพักหนึ่ง เราอยู่ไม่ได้แล้ว เรื่องเพศมันเกิดขึ้นระหว่างการฝึก ผู้บังคับบัญชาพอเขารู้เขาลงมาด้วยตัวเองเลย มาถามมาดูว่าเป็นยังไงบ้าง ตอนนั้นเราโอเคมาก เรารู้สึกว่ามันมีแสงสว่างภายในค่ายนี้ เราโชคดีที่ผู้ฝึกคนที่ดูแลหน่วยฝึกเป็นคนดีมาก เขาเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดภายในหน่วยฝึก เขาดีมาก เราชอบเขามาก อะไรที่เราไม่ได้เห็นจากคนอื่นเราได้เห็นจากเขา เช่น การใช้น้ำเสียงเป็นมิตร การพูดคุยด้วยเหตุผล เราจะคุยกับเพื่อนเสมอว่านี่คือตัวอย่างของการฝึกทหารที่ใช้ความเกรงใจไม่ใช่ความกลัว เราจะทำทุกอย่างตามที่ผู้ฝึกพูดเพราะเราเกรงใจผู้ฝึกเพราะเขาดีกับเรา แค่พูดว่า “ฟังหน่อย” เราก็เงียบโดยไม่ต้องตวาด

ตอนนั้นพอผู้บังคับบัญชาลงมา สถานการณ์มันก็ดีขึ้น ตอนนั้นวิธีการของเราก็คือ… มันก็คือการใช้เส้นสายนั่นแหละ เราบอกเขาว่าเราอยู่กองร้อยไม่ได้ เรื่องเพศเรื่องหนึ่ง และเราอยู่กับ ผบ.ร้อย ไม่ได้ เราจบปริญญตรี เขาเลยพาเราไปทำงานเอกสารที่กองร้อย ตอนนั้นเราดาวน์มาก เราเลยบอกให้เขาช่วยพาไปอยู่ที่อื่นหน่อย เราโชคดีที่ได้ไปอยู่กับผู้บังคับบัญชาท่านหนึ่ง

ทนอยู่นานไหม

ในช่วงระหว่างฝึก เราฝึกสามเดือน ช่วงฝึกช่วงท้ายเราได้ทำงานเอกสารแล้ว หลังจากฝึกเสร็จเขาให้ลาพักผ่อน เราได้ลา 15 วัน พอกลับมาได้หนึ่งวัน เราก็ไปอยู่บ้านนายเลย

ทำอะไรในบ้านนาย

เราดูแลทุกอย่าง ความสะอาดของบ้าน ความสะดวกสบายของนาย ซักผ้ารีดผ้า บ้านที่เราอยู่มีพลทหารสี่นาย ปลดไปคนหนึ่งก็เหลือสามนาย ก็ช่วยกันทำงาน ทำกับข้าว รดน้ำต้นไม้ เขาใช้ให้ทำอะไรก็ทำ

ในนั้นคุณมีเพื่อนที่เป็นเพศทางเลือกบ้างหรือเปล่า

มีครับ สนิทกันที่สุดแล้ว แล้วบังเอิญไปเจอกันที่บ้านนายด้วย

คุณแชร์ประสบการณ์ความอึดอัดกันไหม

เขาไม่โดนเหมือนเราเพราะเขาแอ๊บ แม้เพื่อนๆ จะสงสัยก็ตาม ตอนนั้นก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราควรจะแอ๊บไหม แต่ก็ไม่ คิดว่าเราควรเป็นตัวของตัวเอง เราจะได้รู้ว่าการเป็นตัวของตัวเองจะส่งผลกระทบอะไรกับเราบ้าง ขนาดในบ้านนายยังมีโมเมนต์คุณนายไม่เข้าใจเพศสภาพของเราเลย มีนายสิบเป็นพลขับ เขาก็เรียกชื่อเรา เราก็ขานรับ “จ๋า” ซึ่งเป็นปกติของเรา แล้วคุณนายหงุดหงิดมาจากไหนไม่รู้ เดินมา “ขานว่าอะไร” “เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย” “ทำไมขานแบบนั้น” “เดี๋ยวเอามีดขว้างเลย” ทำไมเราต้องมาอยู่ในสถานการณ์ที่คนอื่นจะเอามีดขว้างเราด้วยการที่เราพูดว่า “จ๋า”

พอออกมารู้สึกยังไง

เป็นวันที่เรารอมานาน ไม่เคยรออะไรเท่านี้มาก่อน ปกติเราเป็นคนร่าเริง มองโลกในแง่ดี เราไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย จนกระทั่งไปอยู่ในนั้น แล้วด้วยความที่เราเรียนด้านนี้ เราก็รู้แล้วว่า สัญญาณบางอย่างในตัวเราไม่ดีแล้ว ว่างๆ เรานั่งคิดว่าเราจะตายยังไงดี เราก็มองว่ามันไม่ใช่แล้ว กูเริ่มแล้ว ถ้าปล่อยไปแบบนี้ไม่ไหวแน่ๆ ตอนนั้นเราหาทางรอดให้ตัวเองเยอะมาก เราอยากตายทุกวันเลย แต่ดีที่คนรอบข้างเราทำงานด้านนี้เยอะ เราโทรหาเพื่อนหาพี่ เราโทรหาบ่อยมากเพื่อให้เราได้ร้องไห้ให้เขาฟัง ตัวเราที่เราเคยรู้จักมันหายไป เราเป็นใครก็ไม่รู้ที่เราก็เกลียดตัวเองมาก

หลังจากมีข่าวเมย คุณรู้สึกยังไง

เราเสียใจมาก ต่อให้เมยเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร แต่หลายๆ อย่างที่เราเห็น ก็พอเข้าใจว่าเขาเจออะไร มันทำให้เราเศร้า เพราะก่อนหน้านี้เราเคยโดนประเด็นนี้นะ พอเสร็จจากทหาร เราโพสต์สเตตัส ซึ่งสเตตัสเราไม่มีอะไรเลย เราบอกว่าเราถูกลดทอนคุณค่า เรารู้สึกเสียเวลา พอเราโพสต์ไป ประเด็นมันไปไกลมาก สิ่งที่เราได้รับกลับมาก็คือเพื่อนทหารที่อยู่ในผลัดเดียวกับเราออกมาบอกเราว่า ทำไมทำแบบนี้ ซึ่งกรณีข่าวที่ออกมาช่วงนี้ แทนที่เขาจะพูดแสดงความเสียใจกับญาติกลับกลายเป็นการแสดงออกมาในรูปแบบนั้น “ถ้าไม่พร้อมก็ไม่ต้องมาเรียน” “ผมโดนมาก่อน” ซึ่งเป็นแพทเทิร์นที่เราได้ยินบ่อยมาก เช่น “ที่กูทำพวกมึง กูเคยโดนมาทั้งนั้นแหละ” “กูรอดมาได้ พวกมึงก็ต้องรอดได้”

เราพยายามทำให้เห็นว่า สิ่งเลวร้ายที่สุดในระบบนี้คือการไม่ยอมให้คนที่ถูกกระทำมีร่องรอยบาดแผล เขาพยายามจะลบมัน ก็กลายเป็นว่าคนถูกกระทำต้องเอาตัวรอดด้วยการยินยอมไปกับบาดแผลเหล่านั้นด้วยการไม่เป็นไร มันเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญเหมือนกัน ระบบนี้มันทำให้คนกลายเป็นแบบนั้นได้

ด้วยความที่เราเป็นนักสังคมสงเคราะห์ เราจะคุยกับเพื่อนในค่ายตลอด คิดยังไงกับสิ่งที่เกิดขึ้น ร้อยเปอร์เซ็นต์คือมันไม่โอเค ทุกคนไม่โอเคกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่พอผันตัวไปเป็นครูฝึก เอ้า เขากลับทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบมาก่อน ระบบนี้มันคงจะหมุนเวียนไป และมีอิทธิพลอยู่ถ้าไม่มีใครไปแทรกแซงมัน

คุณโพสต์สเตตัสหลังข่าวเมยด้วยใช่ไหม แล้วกระแสไปไกลมาก เกิดอะไรขึ้น

เราโพสต์อะไรแบบนี้อยู่บ่อยๆ เราไม่ค่อยกลัวชาวเน็ตด่า เราจะเฉยๆ เพราะเรามีมุมมองที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ถ้าเราโพสต์อะไรที่เป็นสาธารณะเราก็เตรียมรับมือกับทุกคอมเมนต์อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เราตั้งค่าเฉพาะฉัน เพราะเราคิดว่าสเตตัสของเรากำลังจะทำคนอื่นเดือดร้อน แล้วก็มีคนที่ดีกับเราเหมือนกันในค่าย แล้วก็มีผู้ใหญ่โทรมาให้เราลบ ถ้าไม่ลบเขาจะฟ้องร้องเรา แต่ก็ได้พูดคุยด้วยเหตุผล ก็จบลงด้วยดี

สิ่งที่คุณพูดคืออะไร

ความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเอง และระบบนี้ หนึ่ง – เราถูกลดทอนคุณค่าที่สุดและเสียเวลาที่สุด สอง – มันจะมีวาทกรรมที่ใช้โจมตีคนที่ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร คือการไปอยู่ในนั้นจะทำให้คุณมีระเบียบวินัยมากขึ้นนะ ซึ่งเราไปอยู่แล้วก็รู้สึกว่าระเบียบวินัยพวกนั้นไม่ต้องเป็นทหารก็สามารถมีได้ ระเบียบวินัยของทหารเป็นระเบียบวินัยที่เกิดจากความกลัว ไม่ได้เกิดจากการ self control เราทำแบบนั้นเพราะเรากลัวโดนซ่อม โอเค ถ้าพูดเรื่องวินัยมันตกไปนะประเด็นนี้ ประเด็นต่อมาก็คือวาทกรรมการรับใช้ชาติ เรามองว่าไม่จริงน่ะ เราคิดว่าการถูกขโมยชีวิต ขโมยศักยภาพของเขา แล้วเอาเขามาเป็นทหารที่มีความเหมือนกันไปหมด มันไม่ใช่การรับใช้ชาติ เราสามารถรับใช้ชาติในสิ่งที่เราถนัดได้ เราว่ามันเป็นผลดีกับประเทศชาติมากกว่าเอาคนไปกองในนั้นแล้วทำอะไรเหมือนๆ กันทั้งหมด

เราเองก็อยากบอกกับคนอื่นว่า สองวาทกรรมที่เราได้ยินมามันไม่ใช่ และเราอยากใช้ตรงนี้ในการขอบคุณคนที่ทำให้เราผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ ทั้งเพื่อนและครอบครัว ทั้งผู้บังคับบัญชาที่ดีกับเรา เป็นประเด็นของโพสต์นั้น ซึ่งหลายๆ คนก็ตีความกันไปใหญ่มาก เกินเลยสิ่งที่เราพูด

ตอนทำงาน ทำด้านไหน

งานหลักเราทำกับผู้ลี้ภัย เรียกว่า psychosocial support ก็คือการให้การสนับสนุนทางจิตสังคม ตอนนั้นเราทำโรฮิงญา ซึ่งมีเด็กที่ถูกแยกจาก ไม่มีแพลนชีวิต เราทำประเมินและทำแคร์แพลนให้เด็กและครอบครัว เรารับงานวิทยากรอบรมทักษะชีวิตให้เด็ก

แคร์แพลนคืออะไร

แคร์แพลนคือแผนของผู้ใช้บริการกับเราแต่ละคน โดยเฉพาะเด็ก เขาควรมีแผนยังไงบ้าง ทั้งกาย จิต สังคม เช่น เราประเมินทางด้านกายมาผ่านหมอ เด็กคนนี้ควรได้รับการดูแลยังไง ด้านจิตและสังคม เช่น เด็กคนนี้โดนแยกจากพ่อแม่มานะ สถานการณ์เขาเป็นยังไง เด็กเข้าหาคนอื่นง่ายหรือยาก มันมีความเสี่ยงยังไง เราจะหา key person ให้เด็กยังไง ใครสามารถเป็นได้ อะไรประมาณนี้

ตอนที่คุณเกิดวิกฤติได้ใช้แคร์แพลนกับตัวเองไหม

ใช้ เรารู้เลยว่าเรามีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย เราหาทรัพยากรทางสังคมที่สามารถช่วยเราได้ เราโทรหาเขาตลอด ตอนที่เราไม่ไหวจริงๆ จริงๆ เราเป็นคนที่ไม่ใช้เส้นสาย ก่อนที่จะเข้ามาเป็น เราบอกที่บ้านว่า ไม่เอา ทุกคนเป็นได้เราก็เป็นได้ แต่พอไปอยู่ในสถานการณ์นั้น กูตายไม่ได้ เราจึงเลือกใช้ทางนั้น เรารู้สึกผิดกับคนอื่นมากๆ แต่ถ้าเราอยู่กองร้อย เรากลัวว่าเราจะไม่ไหว แล้วแผนที่เราคิดว่าจะทำ เราทำแน่ๆ

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2017

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า