เรื่อง / ภาพ: ณิชากร ศรีเพชรดี
‘ทัศนะ ทัศนา: มานุษยวิทยาแห่งการมองเห็น’ เทศกาลภาพยนตร์มานุษยวิทยา ครั้งที่ 1รอบวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม ได้หยิบยกประเด็นนี้กลับมาชวนคุยอีกครั้ง ผ่านการทัศนาภาพถ่ายมานุษยวิทยา Documentary Art Transgender ในสายตาของ สุวรรณา เรียงใหม่, ภาพยนตร์สั้น รักคงยังไม่พอ โดย อภิชน รัตนาภายน และภาพยนตร์เชิงสารคดีสัญชาติออสเตรเลีย Gayby baby โดย มายา เนเวลล์ และจะจบลงที่การทัศนะกันในประเด็นหนังผ่านมุมมองของ โตมร ศุขปรีชา และ นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ
ความสุขที่มาจากเทคโนโลยีของอำนาจ
เชื่อมโยงจากประเด็นภาพถ่ายชุด Transgender ที่เล่าเรื่องของคนอาชีพคาบาเรต์โชว์ และดังที่สุวรรณาได้อธิบายไว้ในช่วงต้นของวงเสวนาว่า ที่เธอตัดสินใจนำเสนอชีวิตของกลุ่มคนข้ามเพศผ่านอาชีพนี้ เป็นเพราะเธอไม่อาจจินตนาการได้ว่าคนกลุ่มนี้จะประกอบอาชีพใด
“ตอนที่ตัดสินใจทำโปรเจ็คต์นี้ เราคิดไม่ออกจริงๆ ว่าคนข้ามเพศจะอยู่ในอาชีพใดบ้าง เราอาจจะเป็นเหมือนคนทั่วไปที่รู้สึกว่าเขาจะต้องถูกจัดอยู่ในอาชีพนี้เท่านั้น แต่พอเราไปใช้ชีวิตอยู่กับพวกเขาหนึ่งปีเพื่อทำผลงานชิ้นนี้ออกมา ในเซ็ตหลังๆ ของภาพ จะมีภาพชีวิตคนกลุ่มนี้ในอาชีพอื่นๆ เป็นคุณครู เป็นภาพใส่บาตร เป็นภาพกิจวัตรประจำวัน และชีวิตในด้านอื่นๆ ที่ใช้และมีชีวิตปกติเหมือนเพศคนทั่วไป” สุวรรณาอธิบายต่อว่า สิ่งที่อาจเห็นได้ในภาพเซ็ตนี้คือ การมองชีวิตคนกลุ่มนี้ผ่านสายตาของเธอ ความคิดคำนึงและการเลือกถ่าย เลือกจำกัดนิยามความเป็นคนข้ามเพศในสายตาของเธอเอง
จากประเด็นกรอบความคิดของคนส่วนใหญ่ที่มักคิดว่า transgender หรือคนข้ามเพศมักเป็นกลุ่มที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการเป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ ถูกคาดหวังให้ผลิต ‘ความสนุก’ และ ‘ตลก’ ให้กับประชาชนทั่วไป สอดร้อยกับแนวอารมณ์ในภาพยนตร์สั้น รักคงยังไม่พอ ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับคู่รักเพศเดียวกันที่ถูกข้อจำกัดและอุปสรรคทางกฎหมายคัดคานเอาไว้นั้น
นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มีความเห็นว่า ทั้งหมดนั้นเป็นความซับซ้อนของอำนาจที่ถูกทับไว้ด้วยอำนาจอีกชั้นหนึ่ง ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสุขที่มาจากเทคโนโลยีของอำนาจ’
Transgender และ รักคงยังไม่พอ คือการบันทึกด้วยเทคโนโลยีของมนุษย์ ที่บันทึกว่าตัวละครเพศทางเลือกมักมีเรื่องราวความโศกเศร้า และมันก็ไม่ใช่เฉพาะเป็นเรื่องเล่าหลักๆ ในประเทศไทย แต่มันเป็น movement หลักของโลกสากล ทั้งหมดนี้คือการที่มนุษย์ต้องการเปลี่ยนความต้องการทางเพศ (sexual desire) ไปเป็นการต้องกำหนดอัตลักษณ์ หรือการนิยามความเป็นเพศ (sexual identity)
การเปลี่ยน sexual desire ไปเป็น sexual identity นั้น นฤพนธ์เห็นว่า สิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับการที่คนต้องการระบุตัวเองให้เข้าไปอยู่ในกรอบของการเป็นเพศใดเพศหนึ่ง ไม่เป็นผู้หญิง ก็ต้องเป็นผู้ชาย เช่น การประกวดมิสทิฟฟานี การเกิดขึ้นของสถาบันความงาม อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เหล่านี้คือการผลักให้คนเข้า (และรวมถึงการผลักตัวเอง) ไปอยู่ในกรอบของความเป็นหญิง-ชาย หรือคือ materialization of gender and sex กระบวนการที่ทำให้ความเป็นหญิงเป็นชายนั้น สัมผัสได้ด้วยการแสดงออก เช่น การเปลี่ยนแปลงร่างกายของคนข้ามเพศ (trans bodies)
“จูดิต บัตเลอร์ (นักวิชาการสตรีนิยม) บอกไว้ว่า gender หรือเพศสภาพไม่ใช่ ‘being’ แต่เป็น ‘doing’ ไม่ใช่เรื่องการเป็นเพศใดแต่กำเนิด แต่การระบุเพศได้ผ่านกระบวนการปฏิบัติ โดยใช้คำพูดว่าเราเป็นหญิงหรือชาย จนมันฝังลงไป (internalize) ว่าเราเป็นอย่างนั้นหรืออย่างนี้ แล้วเราก็สารภาพมันออกมาผ่านการบอกว่าเราเป็นเพศอะไร โดยกระบวนการที่มีอิทธิพลที่สุดนั้นซ่อนอยู่ในครอบครัว”
โดยเขาได้ทิ้งทายไว้ว่า ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นการทำงานของอำนาจ การที่สังคมให้สิทธิ์และพื้นที่ใดๆ กับบุคคล เป็นการให้สิทธิ์และพื้นที่จากมุมมองของเพศหญิงหรือชายเท่านั้น
“ธุรกิจความงาม ค่านิยมผิวขาว แฟชั่นพรมแดง เซเลบริตี้ เวลาที่เราดูอะไรพวกนี้แล้วเราไม่ได้รู้สึกอะไร และรู้สึกมีความสุขที่จะเสพมัน นั่นก็คือเราตกอยู่ใต้การทำงานของอำนาจแล้วทั้งสิ้น อำนาจเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของเราไปแล้ว ทุกวันนี้ที่เรามีคำถามว่าเราจะมีสิทธิเสรีภาพที่จะบ่งบอกตัวตนทางเพศกับคนอื่นอย่างไร คำถามแบบนี้ก็คือหลักฐานที่บอกว่าเราเป็นเครื่องมือของอำนาจ”
ต่อสู้กับ ‘ความเก่าแก่’ และ ‘ศักดิ์สิทธิ์’
โตมร ศุขปรีชา ตั้งคำถามในวงสนทนาว่า “เราไม่สามารถมีจินตนาการได้ถึงการอยู่ร่วมกันแบบอื่นๆ ได้เลยหรือ?
“ทั้งที่จริงๆ แล้วโลกก็เปลี่ยนไปแล้วเราสามารถมีความสัมพันธ์แบบสามคนผัวเมียได้ไหม อยู่กันแบบเพื่อนที่สนิทสนมกันเหมือนผัวเมียแต่ไม่มีเซ็กส์กันได้ไหม มันมีความสัมพันธ์ของการที่คนจะอยู่ร่วมกันได้หลายแบบโดยไม่จำเป็นต้องไป conform อยู่ภายใต้สถาบันแบบเดียวก็ได้ แต่เมื่อเรายืนยันที่จะสมาทานความคิดแบบนั้น แน่นอนว่ามันก็จะมีราคาที่เราต้องจ่าย”
หรือหากวางเรื่องกรอบความคิดสถาบันครอบครัวที่ประกอบไปด้วยหญิงชายไว้ก่อน แล้วมองไปที่ตัวกฎหมายอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ โตมรกล่าวว่า มันต้องแลกกับการไปสู้กับอำนาจเดิมที่เป็นมาตลอด นั่นคือ ‘ความศักดิ์สิทธิ์’ และ ‘เก่าแก่’
“มันไม่ใช่แค่เราจะลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ขอเปลี่ยนกฎหมายจากที่ชายแต่งงานกับหญิงไปเป็นคนแต่งกับคนได้ไหม ก็ต้องย้อนกลับไปดูในรายละเอียดของกฎหมาย เช่น เมื่อแต่งงานแล้วหย่าร้าง ก็จะมีข้อกำหนดเรื่องการแบ่งทรัพย์สิน เรื่องลูก เรื่องมรดก สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่พวกนักกฎหมายไม่อยากแตะต้อง เพราะมันอยู่ในหมวดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เขามองว่ามันมีความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์
“เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ต่อสู้กันแค่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่เราต่อสู้กันเรื่องความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ของการมองกฎที่เอามาใช้บังคับมนุษย์ในสังคมนี้ด้วย” โตมรกล่าว
นอกจากนี้เขายังเชื่อมโยงการสยบยอมต่อกฎหมายในสังคมของไทย กับหนังเรื่อง Gayby Baby ไว้ว่า ในหนังเรื่องนี้มีความน่าสนใจอยู่ประการหนึ่ง คือการที่ครอบครัว LGBT ทั้งสี่ครอบครัวไม่ได้เล่าเรื่องแค่การต่อสู้ให้ได้การยอมรับจากสังคมอย่างเดียว แต่หนังยังฉายให้เห็นการต่อสู้และต่อรองระหว่างเด็กกับพ่อแม่ ต่อรองเรื่องการได้ออกไปเล่นฟุตบอล ได้ดูมวยปล้ำ ได้ออกกฎเกณฑ์ภายในบ้านที่ทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าไรมีสิทธิ์ต่อรองได้ว่า ควรจะมีและไม่มีกฏอะไร
“เราเห็นการต่อสู้ต่อรองเพื่อผลประโยชน์ที่ลูกๆ หรือแม่จะได้ทำอะไรไม่ทำอะไรเต็มไปหมด แต่ในสังคมไทยเราบอกไม่ได้ว่าควรจะมีกฎหรือไม่มีกฎอะไร เพราะว่าเราต้องสยบยอมต่อความเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ ของอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งมีตัวตนอยู่ที่ไหนก็มองไม่เห็น”
สีลมมีกลางวันกับกลางคืน
เราชอบพูดกันว่ากลุ่ม homosexual ในไทยได้รับการยอมรับแล้ว พวกเขามีสีสันและตัวตนอยู่ในทีวี มีผับบาร์และมีย่านที่พวกเขาไปรวมตัวอยู่กันได้โดยเสรี ไม่มีการไล่ล่าฆ่าฟันเหมือนอย่างบางประเทศ ที่สถานการณ์รุนแรงแบบนี้เกิดขึ้นจริง
แท้จริงแล้วเราเป็นเช่นนั้นหรือไม่?
“ครั้งหนึ่งกลุ่ม LGBT บ้านเราเคยอยากจัดงาน gay parade ที่คล้ายกับงาน ซิดนีย์มาร์ดิกราส์ (Sydney Gay and Lesbian Mardi Gras) โดยตั้งใจจะปิดถนนที่สีลม ซึ่งทางการก็ให้ปิดจริง แต่อนุญาตให้ปิดแค่ครึ่งเดียว”
โตมรอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า มันเป็นการเล่าเรื่องการยอมรับความเป็นเกย์ หรือ homosexual ซึ่งในไทยเป็นการยอมรับเพียงครึ่งถนนเท่านั้น
“เรื่องพื้นที่กับอำนาจก็เป็นเรื่องน่าสนใจ อย่างในซานฟรานซิสโก ย่านแคสโตร ลอสแองเจลิส ในย่านเวสต์ฮอลลีวูด ที่ซิดนีย์ ในย่านออกซ์ฟอร์ด ย่านเหล่านี้ก็จะเป็นพื้นที่ของกลุ่มเกย์ที่ไปรวมตัวกัน สามารถใช้ชีวิตอยู่ในที่นั้นๆ ได้เลยโดยไม่ต้องออกมา คำถามคือ มันเป็นความคิดที่ดีไหมที่จะมีชีวิตอยู่ในย่านๆ นั้น แล้วก็ไม่ต้องออกมาเลย”
นอกจากนี้ ความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนเกย์เหล่านั้นกับย่านสีลม โตมรชวนตั้งคำถามต่อว่า เราอาจจะบอกว่าย่านสีลมเป็นพื้นที่ของชาวเกย์ แต่ในพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ที่มีอยู่จริงทั้งในกลางวันกลางคืนหรือไม่
“ตอนกลางวันมันก็เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ แต่พอกลางคืนก็จะกลายเป็นพื้นที่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งกิจกรรมที่ทำในช่วงกลางคืนคืออะไร? เป็นเรื่องเฉพาะการร่วมเพศอย่างเดียวหรือเปล่า คำถามต่อมาคือ มันดีจริงๆ เหรอที่จะจำกัดพื้นที่ใดไว้เพื่อให้กลุ่มคนใดอยู่โดยเฉพาะ? มันจะกลับไปเหมือนสมัยที่มีชุมชนของคนดำโดยเฉพาะไหม”
จากเรื่องเล็กไปสู่เรื่องใหญ่ที่อาจใช้หลักคิดไม่ต่างกัน บางเรื่องถูกกำหนด ถูกอำนาจครอบงำ และผลักดันสังคมให้หันเหไปทางทิศใดทิศหนึ่ง ซึ่งโตมรยกตัวอย่างถึงการออกแบบเมือง ที่ถูกคิดมาจากการใช้รถยนต์เป็นหลัก
ในเรื่องการออกแบบเมืองมันก็มีแนวคิดหนึ่งที่ว่ากันว่า การออกแบบเมืองหรือสร้างถนนมากๆ เพื่อรองรับการใช้รถนั้น คิดมาเพื่อสอดรับกับความเป็นชาย ที่ผู้ชายมักเดินทางมุ่งหน้าจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง แต่การเดินทางของผู้หญิงจะเหมือนกับการช็อปปิ้ง ที่จะแวะพักเป็นจุดๆ ซึ่งการอธิบายแบบนี้ก็เป็น stereotype ประเภทหนึ่งเหมือนกัน แต่มันทำให้เห็นภาพว่า มันมีเรื่องและอำนาจแบบนี้ที่ครอบงำอะไรหลายๆ อย่างที่ไม่เอื้อให้กับ minority หรือชนกลุ่มน้อยในสังคม แล้วทำให้เราเชื่อง หรือ domesticate กับอำนาจนั้น และไปพันข้องเกี่ยวว่าใคร เพศไหน เหมาะที่จะสนใจเรื่องและประเด็นใด มันบังคับได้ว่าจะให้สังคมหันไปทางใดทางหนึ่ง
โดยก่อนจบวงสนทนา โตมรได้ทิ้งท้ายไว้ว่า ในปัจจุบัน พื้นที่ชุมชนเกย์ในต่างประเทศนั้น ได้แตกกิ่งและคลี่คลายออกไปกว่าประเด็นการต่อสู้เรื่องสิทธิ์ ไม่ได้ต่อสู้ทางการเมืองโดยยึดอยู่เพียงแค่ ‘พื้นที่’ ในเชิงกายภาพเท่านั้น เพราะการต่อสู้ของพวกเขามีเป้าที่ใหญ่กว่า คือ ต้องทลายกำแพงความคิดเรื่องเพศในทุกพื้นที่ด้วย