Gentrification: เมื่อทุนนิยมเปลี่ยนเมืองให้กลายเป็นย่านผู้ดี เบียดขับผู้คนออกจากพื้นที่

วันสุดท้ายของการจัดฉายภาพยนตร์เรื่องท้ายสุด ในเทศกาลภาพยนตร์สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ‘VIPA Film Festival’ ที่จัดโดย Thai PBS และ Documentary Club ในช่วงบ่ายแก่ๆ แต่ฟ้าครึ้ม ในวันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม ณ ชั้น 2 ของตึกทรงสี่เหลี่ยมสีทึบ ผู้คนมานั่งจับจองพื้นที่คาเฟ่หน้าโรงหนังกันหนาตา รอเวลาที่นาฬิกาเข็มสั้นชี้ไปที่เลข 3 และเข็มยาวชี้ไปที่เลข 6 ไม่ขาดไม่เกิน เมื่อถึงเลขนี้ประตูโรงหนังขนาดกระจ้อย (เมื่อเทียบกับความโอ่อ่าของโรงหนังในที่อื่นๆ) จึงเปิดต้อนรับให้ผู้คนหลั่งไหลกันเข้าไป 

นอกจากจะมีการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Push (2019) ที่ว่าด้วยปัญหาสิทธิที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่ ยังมีเสวนาในประเด็น ‘ความหวังอยากมีบ้าน’ โดยวิทยากร นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการอย่างเป็นกันเองโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล 

Gentrification’ กระบวนการทำให้เมืองกลายเป็นย่านผู้ดี 

ท่ามกลางอากาศเย็นเฉียบของเครื่องปรับอากาศที่ทำงานกันอย่างแข็งขัน กรรณิการ์เปิดประเด็นด้วยเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุด แต่ก็ไกลห่างจากความเท่าทันของเราอีกเช่นกัน อย่างข้อสังเกตเรื่อง ‘Gentrification’ โดยกรรณิการ์ส่งไม้ต่อให้กับประภาสช่วยอธิบายอย่างไม่ต้องวิชาการมาก แต่ทำให้เข้าใจว่าคำนี้คืออะไร พร้อมกับแอบกระซิบว่าในภาพยนตร์ Push ใช้คำว่า ‘การแปลงพื้นที่เพื่อเปลี่ยนชนชั้น’ ซึ่งอาจฟังดูยากและห่างไกลไปสักหน่อย

“คำคำนี้มีฐานคิดเบื้องหลังของการให้ความหมายอยู่ การแปลจึงมีหลายคำ แต่ผมชอบคำของอาจารย์บุญเลิศ (บุญเลิศ วิเศษปรีชา) ที่บอกว่า การทำให้เมืองกลายเป็นย่านผู้ดี ซึ่งขณะนี้นักวิชาการเริ่มศึกษาเมืองในอังกฤษ เนื่องจากทุนนิยมมันสะสมทุนไม่ได้ จึงต้องเกิดกระบวนการสะสมทุนใหม่

“พูดได้ว่า gentrification ก็คือการทำให้เมืองเป็นสินค้ามากขึ้น จากเดิมที่เมืองถูกพัฒนาโดยกลุ่มคนที่อาศัยอยู่แต่เดิมโดยที่ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ถ้าเทียบกับประเทศไทยก็อย่างเช่นพี่น้องที่อยู่ในสลัม ตามซอกตามซอยตลาดน้อย ซึ่งไม่ได้มีมูลค่าอะไรมาก กระบวนการที่จะเกิดขึ้นก็คือการเปลี่ยนให้พื้นที่พวกนี้ให้เป็นอสังหาริมทรัพย์”

ประภาสกล่าวเสริมว่า หากมองแง่หนึ่งก็มีความหมายในด้านดี คือเป็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้เมืองเป็นย่านชิค กลายเป็น creative district (ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์) ทำให้ร้านรวงต่างๆ ดูมีระดับมากขึ้น สะอาด ถนนหนทางดี ทำให้อาชญากรรมในพื้นที่ลดลง แต่ในอีกด้านหนึ่งที่หากมองลึกไปถึงเรื่องมนุษย์ ก็คือการขับถีบกลุ่มคนที่เคยอยู่อาศัยมายาวนานให้ออกจากพื้นที่ไป

คนที่เข้ามาใหม่จึงเป็นคนชนชั้นใหม่ คนที่มีเม็ดเงินมากพอที่จะมีไลฟ์สไตล์สัมพันธ์กับเมืองและพื้นที่ที่ถูกทำให้แพงขึ้น วิถีชีวิต วัฒนธรรม ถูกเปลี่ยนเป็นของคนชนชั้นกลาง 

สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง Gentrification’ คือการปลดเปลื้องผู้ที่เคยอยู่เดิม

สิ่งที่เกิดขึ้นด้านลบ คือ การผลักไสคนตัวเล็กตัวน้อยออกไป ประภาสยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดที่สุดคือ จากที่ได้มีโอกาสไปรู้จักกับ ‘จ่อย’ ที่ประกอบอาชีพขายส้มตำรถเข็น บริเวณตลาดน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ แต่ด้วยศักยภาพและฐานะของเขาไม่มีทางที่จะอยู่ในพื้นที่นี้ได้ ทุกๆ วันจึงต้องเข็นรถไปมาจากพื้นที่สลัมที่เช่าห้องอยู่รวมกัน 6 ครอบครัว ราคาราว 2,000 บาท แต่ปัจจุบันที่ตรงนั้นก็ยังถูกไล่รื้อ เหตุเพราะเจ้าของขายไปเพื่อที่จะสร้างตึกเชิงการค้า 

“สิ่งที่อยู่เบื้องหลัง gentrification หรือการทำให้เมืองกลายเป็นย่านผู้ดี ก็คือกระบวนการปลดเปลื้องผู้ที่เคยอยู่อาศัยเดิม หรือถีบออกจากพื้นที่ ตัวอย่างเช่นย่านเยาวราช หรือบริเวณรอบเส้นทางรถไฟฟ้าที่กลายสภาพเป็นพื้นที่ให้เช่า โดยเจ้าของเปลี่ยนหน้าเป็นผู้ลงทุน ทำให้ลักษณะของพื้นที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป”

ในภาพยนตร์ Push มีตัวอย่างของหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นซานฟรานซิสโก เมืองโตรอนโต แคนาดา ที่อยู่อาศัย ห้องเช่าต่างๆ ราคาสูงขึ้นจนผู้เช่าอยู่ไม่ไหวด้วยรายได้ที่เท่าเดิม และเมื่อสำรวจดูงานวิจัยจะพบว่าตามเมืองใหญ่ๆ ของต่างประเทศจะมีการต่อต้านกระบวนการที่ทำให้เมืองกลายเป็นย่านผู้ดี จนเกิดเป็นสงครามชนชั้น 

ประภาสจบประโยคนี้ด้วยท่าทางอัดอั้น และยังทิ้งท้ายว่าจะกลับมาพูดต่ออีกย่านหนึ่ง อย่าง ‘เวิ้งนาครเขษม’ ของประเทศไทยที่ใกล้เคียงกับในภาพยนตร์เป็นอย่างมาก

จากนั้น กรรณิการ์จึงดำเนินรายการโดยส่งไม้ต่อไปที่นิติรัตน์ ผู้ซึ่งทำงานกับพี่น้องคนจนมายาวนาน เพื่อจะอธิบายสภาพการณ์ gentrification หรือการถีบส่งคนจนออกจากพื้นที่ จากมุมคิดเรื่องสิทธิและสวัสดิการ

“การขับไล่คน เกิดจากการเก็งกำไร ทุนใหญ่เปรียบเสมือนฝูงแร้งที่บินอยู่เหนือเมืองของเรา เพื่อกอบโกยประโยชน์สูงสุดจากความต้องการพื้นฐานของเรา”

นิติรัตน์กล่าวว่า ประโยคข้างต้นเป็นคีย์หลักที่อธิบายความเป็น gentrification ได้อย่างดีเยี่ยม

เเละเมื่อเรามองผ่านภาพยนตร์เรื่อง Push เขาสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นการขยายตัวของเมือง ราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงขึ้นแปรผกผันกับรายได้ ห้องว่างของคอนโดหรูในเรื่องก็แปรผกผันกับผู้ที่ถูกผลักออกจากย่าน คำถามคือ แล้วเมืองถูกสร้างขึ้นให้ใคร 

หากเราพยายามมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่สิทธิมนุษยชนก็ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ทัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางการเงินที่มูลค่าอสังหาริมทรัพย์มากกว่า GDP (Gross Domestic Product แปลเป็นไทยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือรายได้ที่เกิดขึ้นจากในประเทศเท่านั้น) ของประเทศทั่วโลกด้วยซ้ำไป 

ในจังหวะนี้กรรณิการ์เองก็ได้เสริมถึงเรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัย จริงๆ แล้วได้รับการรับรองในสหประชาชาติด้วยซ้ำ รวมถึงการเข้าถึงการรักษา การเข้าถึงอากาศที่ดี แต่ว่าการที่สิทธิมนุษยชนตามไม่ทันกับสถานการณ์ เป็นเพราะบริษัทบางบริษัทถือครองที่ดินมากเสียยิ่งกว่า GDP ของประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ก็ปรากฏในภาพยนตร์ด้วย

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ ทำให้การถีบคนจนออกจากพื้นที่เข้มข้นขึ้น

นิติรัตน์กล่าวต่อถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในที่อยู่อาศัยและการเบียดขับคนออกจากพื้นที่ในประเทศไทยนั้นมาจากทุนและรัฐ ในภาพยนตร์อาจจะเน้นไปที่เรื่องบทบาทของทุน แต่พอหันกลับมามองที่ประเทศไทย จะพบว่าปัญหามาจากทั้งทุนและรัฐ 

“สถานการณ์ที่เกิดขึ้นคือ กลุ่มคนรายได้ปานกลางถึงน้อย และกลุ่มที่อยู่ในชุมชนแออัด ไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ นี่คือเรื่องสำคัญที่เป็นใจกลางปัญหา หากเรามองไปถึงสวัสดิการที่สร้างมาเพื่อคนจนเพียงอย่างเดียว เพดานของการทำสวัสดิการก็ถูกกดทับ หรือก็คือคุณภาพของบ้าน สาธารณูปโภค มันไม่ได้ดีเท่าที่ควร”

หากวิเคราะห์ดูสถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยในสังคมเรา มียอดค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ต่อครัวเรือน ขณะเดียวกันหนี้สินของครัวเรือนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่อยู่อาศัยเองก็มีประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ของหนี้ที่มี และเมื่อเรานึกอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง เราที่เป็นชนชั้นกลางก็ต้องใช้วิธีการผ่อน ดังนั้นภาระหนี้รวมดอกเบี้ยที่เราต้องรับผิดชอบในแต่ละเดือนก็เกือบจะเป็น 2 ใน 3 ของรายได้ที่เราได้รับมา 

นิติรัตน์พูดต่อไปถึงสถานการณ์ที่ดิน เขากล่าวว่าในประเทศเรามีบางตระกูลที่มีที่ดินมากถึงกว่า 600,000 ไร่ หรือประมาณ 6 ใน 9 ของกรุงเทพฯ เขาคือเจ้าสัวรายใหญ่ในประเทศไทย เพราะฉะนั้นนี่คือสภาพจริงที่เราอาจจะต้องมีข้อเสนอที่ทะลุทะลวงเพดาน

ด้านประภาสกล่าวเสริมขึ้นถึงตัวอย่าง gentrification ในประเทศไทยอย่าง ‘เวิ้งนาครเขษม’ ที่เมื่อเจ้าของเดิมหมดสัญญาเช่า ก็จะต้องขายให้กับเจ้าสัวที่เข้ามาทำโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้ค้าที่เช่าอยู่เดิมได้รวมตัวกันพยายามที่จะเจรจาเพื่อซื้อที่ดินนั้น แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สำเร็จ และยังเกิดเหตุน่าเศร้าอย่างการเสียชีวิตของคนสำคัญคือ ‘นายห้างย่งเส็ง’ (เจ้าของห้างดนตรีย่งเส็ง) ที่ไม่อยากสูญเสียพื้นที่นี้ไป

“นี่เป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่ากระบวนการ gentrification ไม่ได้ถีบเพียงคนจน คนด้อยโอกาส แต่ยังถีบคนชั้นกลางที่เคยอยู่เดิม ที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องรายได้ด้วยซ้ำ ออกจากพื้นที่นี้ไป”

และหากเราเคยเห็นละเเวกริมทางรถไฟที่มีคนไปอาศัยอยู่ตามซอกมุมต่างๆ ก็มีสถานการณ์ของการไล่รื้อต่างๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว เมืองก็เปลี่ยนไปอย่างฉับพลัน กระบวนการ gentrification ก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น

เหตุใดคนชนชั้นกลางจึงต้องมาสนใจประเด็น Gentrification’

กับคำถามที่ว่า เหตุใดคนชนชั้นกลางจึงต้องมาสนใจประเด็นเรื่องการแปลงพื้นที่และสิทธิในที่อยู่อาศัย ประภาสตอบว่า เพราะคนชั้นกลางเองก็ได้รับผลกระทบ เห็นได้จากตัวอย่างที่ดินเวิ้งนาครเขษม หากเราไม่สู้เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐาน เราเองก็จะถูกถีบออกไปเช่นเดียวกัน 

“ถ้าเรามองไปถึงคนชั้นล่าง ก็ให้ลองนึกถึงฟองน้ำที่มันมีรูพรุนเล็กๆ พี่น้องเหล่านี้ก็อยู่ในรูเล็กๆ เหล่านั้น ตามตึกเก่าๆ ราคาถูก ที่ผมเคยไปเจอคือในห้องขนาดเล็ก มีคนอาศัยอยู่ 16 คน ถามเขาว่าเขานอนอย่างไร เขาบอกว่าผลัดกันนอน เพราะเวลาไม่ตรงกัน ฉะนั้นถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาชี้ให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้กระทบชีวิตผู้คนยังไง และพวกเราคนชั้นกลางที่ต้องไปซื้อบ้านไกลๆ ถ้าที่ดินหรือที่อยู่อาศัยไม่ได้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐจะต้องดูเเล เราเองก็จะมีชะตากรรมเดียวกับพี่น้องซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาส ถ้าตึกถูกทุบไป รูเล็กๆ ในฟองน้ำอุดตันไป เขาก็จะไม่มีที่อยู่อาศัย นี่เป็นสถานการณ์ที่ทำให้เราต้องกลับมาสนใจเรื่องพวกนี้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับเราในฐานะคนชั้นกลาง และชีวิตของผู้คน”

ส่วนนิติรัตน์มองว่า คนชั้นกลางกับคนชั้นล่างล้วนตกอยู่ในสถานการณ์ gentrification เราต้องออกไปอยู่นอกเมือง การเข้าถึงขนส่งสาธารณะก็จะมีราคาที่สูงตามไปด้วย และเมื่อเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำ มันมีวัฒนธรรมอำนาจปนอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งชนชั้นกลางของไทยไม่ได้มีอำนาจในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ เท่ากับคนชนชั้นสูง 

เทียบบริบทจากภาพยนตร์กับความเป็นจริงในสังคมไทย 

ในประเด็นนี้ประภาสเปรียบสั้นๆ ว่า ในภาพยนตร์ Push นั้น มีตัวดำเนินเรื่องเป็นเจ้าหน้าที่ของ UN แต่พอหันกลับมามองที่ประเทศไทย เราเป็นการเมืองแบบ ‘ล็อบบี้’ (lobby) คือต้องใช้วิธีการโน้มน้าวผู้มีอิทธิพลให้สนับสนุนความเชื่อของตนเอง และสุดท้ายอาจต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้ ‘เท้า’ เดินขบวน 

“คีย์เวิร์ดสำคัญของหนังเรื่องนี้คือ เมืองกำลังกลายเป็นสนามเด็กเล่นของคนรวย ขณะที่ครัวเรือนรายได้ปานกลาง รายได้ต่ำและยากจน ถูกผลักให้ออกจากเมือง เราต้องการการเคลื่อนไหวทั่วโลกเพื่อเรียกคืน และเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีที่อยู่อาศัย

“ทางออกคือเราต้องผลักให้ประเทศไทยไปลงสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ให้มารับเรื่องสิทธิการอยู่อาศัยต่างๆ และใช้สนธิสัญญานี้กดดันให้รัฐบาลบรรจุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือนโยบายสาธารณะ”

ด้านนิติรัตน์กล่าวว่า เมื่อเราพูดถึงเรื่องที่อยู่อาศัย ประเทศไทยไม่มีเจ้าภาพในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และไม่มีกลุ่มที่มีเรี่ยวเเรงพอในการขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ และหากมองไปถึงนโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองส่วนใหญ่มักจะมีแต่เรื่องที่ดิน ส่วนเรื่องที่อยู่อาศัยแทบจะไม่มีการพูดถึงเลย 

“ทางออกคือ หนึ่ง อยากเห็นรัฐบาลเข้ามาควบคุมอัตราดอกเบี้ย และสอง หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการสร้างที่อยู่อาศัย ควรสร้างที่พักที่มีคุณภาพให้ประชาชนเช่า ส่วนข้อที่สาม ข้อนี้อาจเป็นข้อที่ค่อนข้างยาก คือควรจะมีเกณฑ์ควบคุมโครงสร้างราคาและที่อยู่อาศัยให้ไม่สูงจนเกินไป และควรสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยรายได้ของคนในพื้นที่ และข้อสุดท้ายคือ รัฐบาลควรจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้คนที่อยากจะมีบ้าน กับคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ช่วงวัย 18-28 ปี และเรื่องระบบภาษีที่ดิน ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน”

Author

นฤภรกมล แมงกะพรุน
คุยกับหมารู้เรื่องกว่าคุยกับปลา มีเพื่อนเป็นหมาทั่วจังหวัดเชียงใหม่ หลงใหลในเรื่องนามธรรม แต่บ้าคลั่งการซื้อโคมไฟมือสอง โดยปกติทำงานวิชวล แต่ก็แอบๆ อยากเขียนด้วยบ้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า