สิทธิในเมือง สิทธิในที่อยู่อาศัย

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

เนื้อหาของซีรีส์ ‘บ้านเรือนก็สิทธิของเรา’ ใน 4 ตอนหลัง ผมเขียนเกี่ยวกับสิทธิในที่อยู่อาศัยต่อเนื่องมาด้วยปัญหาชุมชนในที่ดินของการรถไฟฯ ที่จะต้องถูกรื้อย้าย จากโครงการก่อสร้างรถไฟเชื่อมสามสนามบิน และการพัฒนาที่ดินเพื่อสร้างศูนย์การค้าในย่านมักกะสันและบางซื่อ

ในตอนนี้ ผมจะสรุปประเด็นรวบยอดว่า เพื่อจะให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิในที่อยู่อาศัยได้ จำเป็นที่เราต้องผลักดันสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง (The Right to the City) ควบคู่ไปด้วย เพราะหัวใจของแนวคิดสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมืองจากสายนักวิชาการแนววิพากษ์ระบบทุนนิยมอย่าง เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey) คือการเสนอให้มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองที่ข้ามพ้นไปจากตรรกะของระบบทุนนิยมที่มี ‘กำไรสูงสุด’ เป็นเป้าหมายหลัก และใช้ ‘กลไกตลาด’ หรือ ‘กลไกราคา’ ในการตัดสินว่าใครที่จะสามารถเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะที่ดินของเมือง[1]

ก่อนอื่นผมเลือกที่จะถอดความหมายของแนวคิด The Right to the City ด้วยคำว่า สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง เพราะสื่อถึงการให้ผู้อยู่อาศัยในเมือง (urban inhabitants) ต้องมีสิทธิ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจการใช้พื้นที่ของเมือง เพราะผู้อยู่อาศัยในเมือง ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ไม่ว่าจะมีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ตรงนั้นหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เป็นเจ้าของที่ดินตรงนั้นหรือไม่ หากพวกเขาเหล่านี้ใช้ชีวิตอยู่ในเมือง พวกเขาล้วนมีส่วนในการสร้างสรรค์ชีวิตเมือง ดังนั้น หากมีการเปลี่ยนแปลงเมืองเกิดขึ้น ชีวิตของพวกเขาก็ย่อมได้รับผลกระทบ จึงควรให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจกำหนดการใช้พื้นที่และการเปลี่ยนแปลงเมือง นอกจากการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแล้ว คำว่า The Right to the City ยังมีความหมายอีกนัยว่า ให้คนแต่ละคนได้มีส่วนร่วมในการใช้ชีวิตในเมือง

นักวิชาการไทยบางท่านใช้คำว่า ‘สิทธิที่จะอยู่ในเมือง’ แทนคำว่า The Right to the City แต่ผมมีความเห็นว่า เป็นการเน้นการอยู่ในเมืองมิติเดียวเกินไป แต่ไม่ได้เน้น ‘สิทธิ’ ที่จะมีส่วนกำหนดการใช้พื้นที่ของเมือง เพราะหัวใจของแนวคิด The Right to the City คือเน้น ‘สิทธิที่จะมีอำนาจกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง’[2] ซึ่งเป็นคำของ อาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ นักรัฐศาสตร์ด้านเมือง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งตรงความหมายชัดเจน แต่อาจจะยาวไปสักนิด

บรรดานักทฤษฎีที่เสนอแนวคิด สิทธิที่จะมีต่อเมืองรุ่นแรกๆ นั้น เป็นนักทฤษฎีแนวเศรษฐศาสตร์การเมืองและเมืองเชิงวิพากษ์ หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ เป็นสายมาร์กซิสม์ที่วิพากษ์การจัดการเมืองตามแนวเสรีนิยม ความคิดของนักคิดสองคนที่ผมขอพูดถึงคือ อองรี เลอแฟบร์ (Henry Lefebvre) และ เดวิด ฮาร์วีย์ (David Harvey)

อองรี เลอแฟบร์[3] เป็นนักวิชาการคนแรกที่กล่าวถึง The Right to the City สำหรับคนที่สนใจเรื่อง space/place (พื้นที่/สถานที่) จะคุ้นเคยกับชื่อนี้ดี เขาวิพากษ์ว่า การออกแบบเมืองที่ผ่านมา มักจะทำในนามของกลุ่มคนที่สถาปนาตัวเองว่าเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ เป็นนักผังเมือง ทั้งๆ ที่ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองทุกกลุ่มทุกคน ต่างเป็นผู้มีส่วนในการกำหนดชีวิตเมือง การออกแบบเมืองควรจะต้องให้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมามีส่วนร่วมกำหนดด้วย

เลอแฟบร์ยังวิพากษ์ว่า ที่ผ่านมาสิทธิในการกำหนดเมืองมักจะตกอยู่ในมือของนายทุน ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าในเชิงแลกเปลี่ยน (exchange value) ว่า แต่ละพื้นที่จะนำไปลงทุน แลกเปลี่ยน ซื้อขาย ให้เกิดผลกำไรสูงสุดได้อย่างไร เป็นการให้คุณค่ากับการใช้พื้นที่ของเมืองในฐานะสินค้าเพื่อการแลกเปลี่ยน เหนือประโยชน์ในด้านการใช้สอย (used value) ในความหมายที่ว่า พิจารณาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของเมืองกว้างกว่าในฐานะสินค้า แต่มองเป็นพื้นที่เพื่อการพักผ่อน เพื่อที่อยู่อาศัย และตระหนักว่า การใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ มีประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า คิดแบบหากำไรจากที่ดิน

เลอแฟบร์ได้พูดถึงปัญหาของการออกแบบเมืองที่เน้นการสร้างมูลค่าจากที่ดินว่า ส่งผลให้คนจนถูกกีดกันออกจากพื้นที่ของเมือง ต้องไปอาศัยในย่านชานเมือง ใช้เวลาเดินทางเป็นชั่วโมงๆ อยู่บนรถขนส่งสาธารณะอย่างแออัด ตกค่ำก็เดินทางเหนื่อยๆ กลับไปที่นอกเมือง ได้พักผ่อนไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องตื่นเช้ามาผจญชีวิตกับการเดินทางแบบนี้ไม่รู้จบ เขาบอกว่า คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่เหล่านี้ไม่ควรถูกกลบด้วยภาพสวยหรูเพราะมีคนไม่กี่คนที่ได้ประโยชน์จากเมืองตามแนวทางทุนนิยมที่เป็นอยู่

แม้เลอแฟบร์ จะอธิบายถึงสภาพชีวิตอันเหน็ดเหนื่อยของคนจนในปารีส แต่ภาพเหล่านี้ก็เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ เช่น คนจนที่อาศัยอยู่ตามแฟลต หรือบ้านราคาถูกตามชานเมือง ที่ต้องนั่งรถโดยสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถร้อนและรถร่วมบริการเข้ามาทำงานในเมืองอย่างทุลักทุเล ส่วนการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าไม่ต้องพูดถึงเพราะค่าตั๋วเกินกว่าคนจนจะจ่ายไหว บางคนก็ต้องพึ่งบริการรถมอเตอร์ไซค์

นักทฤษฎีอีกคนคือ เดวิด ฮาร์วีย์[4] หากใครได้อ่านหนังสือของฮาร์วีย์ที่มีแปลเป็นภาษาไทยอยู่หลายเล่ม จะคุ้นชื่อว่า เขาเป็นนักคิดร่วมสมัยคนสำคัญที่วิพากษ์สังคมทุนนิยมยุคเสรีนิยมใหม่ ฮาร์วีย์มองการขยายตัวของเมืองว่า เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ระบบทุนนิยมขยายตัว จากการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ตึกอาคาร และการบริโภค สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากการดูดซับทรัพยากรส่วนเกินให้เมืองได้ขยายตัว เมื่อเมืองเป็นพื้นที่สำคัญของการขยายตัวของทุนนิยม ฮาร์วีย์จึงบอกว่า เมืองจึงเป็นสนามสำคัญของการคัดง้างกับทุนนิยม

มีคำสองคำของฮาร์วีย์ที่ผมขอเน้นในที่นี้ คำแรกคือคำว่า การทำลายเชิงสร้างสรรค์ (creative destruction) ฮาร์วีย์บอกว่า โครงการพัฒนาเมืองทั้งหลายมักอ้างว่า เป็นการทำลายเพื่อสร้างสรรค์ แต่เอาเข้าจริงแล้ว มีนัยยะเชิงชนชั้น คือ พื้นที่ที่ถูกเลือกทำลายรื้อล้าง มักจะเป็นย่านที่อยู่ของคนจน จากนั้นก็สร้างโครงการสวยหรูขึ้นมาทับแทน ผลที่ตามมาก็คือ คนจนถูกกีดกันออกจากการใช้พื้นที่ของเมืองที่ถูกยกระดับขึ้น

กระบวนการข้างต้นจึงสัมพันธ์กับคำที่สองที่ฮาร์วีย์เน้นก็คือ การสั่งสมความมั่งคั่งด้วยการปลดเปลื้องการถือครองของผู้อื่น (accumulation by dispossession) กล่าวคือ ชนชั้นนายทุนสามารถสั่งสมความร่ำรวยด้วยการพรากเอาทรัพยากรที่คนจนเคยถือครอง ไม่ว่าจะทำในนามกลไกราคา ด้วยการทำให้พื้นที่ของเมืองแพงกระทั่งคนจนเข้าถึงไม่ได้ ด้วยการเวนคืน อ้างการตัดถนนเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่นที่เกิดขึ้นในจีน ไปจนกระทั่งการไล่รื้อด้วยกฎหมายและความรุนแรง เพราะผู้มีรายได้น้อยในเมืองอาศัยอยู่ในชุมชนบนที่ดินที่ตนเองไม่มีสิทธิในที่ดินตามกฎหมาย เช่นที่เกิดในประเทศโลกที่สามหลายแห่ง อย่างอินเดียและไทย

คำสองคำของ เดวิด ฮาร์วีย์ สะท้อนสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับคนจนที่อยู่อาศัยในชุมชนริมทางรถไฟ ซึ่งกำลังถูกรื้อย้าย จากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการพัฒนาที่ดินเพื่อประโยชน์เชิงธุรกิจย่านมักกะสันและบางซื่อได้เป็นอย่างดี คนจนได้ ‘บุกเบิก’ อยู่ในที่ดินการรถไฟฯ ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างมาอย่างน้อย 20 ปี บางแห่งร่วม 50 ปี แต่เมื่อความเจริญมาถึง ทำเลที่อยู่ของคนจนถูกมองว่าเป็นทำเลทองทางธุรกิจ ชุมชนแออัดจึงถูกมองว่า เป็นย่านคนจนอันน่ารังเกียจ ที่นายทุนอยากจะทำลายและเปลี่ยนเป็นศูนย์การค้า อ้างความสวยงาม ความเจริญ แท้ที่จริงคือการปลดเปลื้องที่อยู่อาศัยของคนจน เพื่อแปลงเป็นพื้นที่แสวงหากำไรของนายทุน ส่วนคนจนถูกรื้อย้ายแลกกับการได้ค่าชดเชยราคาถูก

ดังนั้นฮาร์วีย์จึงเน้นว่า หัวใจของข้อเสนอสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง คือการท้าทายวิธีคิดหรือตรรกะของทุนนิยมที่มุ่งกำไรสูงสุด หรือใช้กลไกตลาดในการตัดสินการใช้พื้นที่ของเมือง และให้หันมาคำนึงถึงการใช้พื้นที่ของเมืองเพื่อประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยในเมืองทั้งปวง ไม่ใช่เฉพาะประโยชน์ของภาคธุรกิจนายทุน

จะเห็นได้ว่า แนวคิด The Right to the City ไม่ใช่แค่คำกลวงๆ แบบ ชวนคนมานั่งออกแบบ ตกแต่งเมืองให้สวยงาม น่าอยู่ หากแต่เป็นแนวคิดท้าทายความคุ้นชินและจินตนาการของเมืองที่ครอบงำด้วยศูนย์การค้า และเรียกร้องให้เปิดโอกาสให้คนชายขอบในเมืองได้มีส่วนร่วมในการกำหนดเมืองด้วย

การเรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัยจะไม่มีทางเป็นจริงได้เลย หากเราไม่ผลักดันความคิดเรื่องสิทธิที่จะมีส่วนในเมืองควบคู่กันไปด้วย หากเราไม่ท้าทายการพัฒนาเมืองตามตรรกะของทุนนิยม อย่างใครมีเงินมากก็ซื้อหาที่ดินได้ตามเสรี เพราะที่ดินจะราคาแพงจนคนจนและชนชั้นกลางเข้าไม่ถึง

ตัวอย่างเช่น หากเราจะทำให้คนทุกคนเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้แหล่งอาชีพ แต่ยังอยู่ในกรอบคิดแบบทุนนิยม นั่นคือที่ดินเป็นสินค้า การเข้าถึงที่ดินของเมืองทำได้โดยการประมูล นั่นคือใครมีเงินมากก็สามารถซื้อและประมูลที่ดินไปใช้ประโยชน์ได้ตามอำเภอใจ เมื่อนั้นคนอีกจำนวนมากที่ไม่มีกำลังทรัพย์ย่อมไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ของเมืองได้ เขาก็ย่อมไม่มีทางมีที่อยู่อาศัยในเมืองได้

หรือพูดให้เป็นรูปธรรม การเรียกร้องของคนจนที่อยู่อาศัยในชุมชนริมทางรถไฟ ทั้งย่านมักกะสันนั้น และสถานีบางซื่อ หากใช้ตรรกะของทุนนิยมที่ว่า ใครมีเงินมากก็ประมูลแข่งขันนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ตามใจชอบ คนจนก็ย่อมแพ้ราบคาบไม่มีทางประมูลที่ดินแข่งกับเจ้าสัวได้ เพราะนั่นเป็นการให้คนจนต้องไปแข่งขันในกติกาที่คนจนไม่มีทางชนะ

การเรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัยและการเรียกร้องสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง คือการเรียกร้องเชิงมโนสำนึก ให้รัฐตระหนักถึงหน้าที่ที่จะทำให้พลเมืองเข้าถึงที่อยู่อาศัยและมองถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินให้กว้างกว่าประโยชน์เชิงกำไร ที่ประโยชน์สุดท้ายตกอยู่กับบริษัทเจ้าสัวที่ประมูลที่ดินได้ หาใช่ประโยชน์สาธารณะและส่วนรวมไม่

รูปธรรมของการเรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัยและสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง ก็คือ การเรียกร้องให้รัฐต้องตัดสินใจนำที่ดินของรัฐมาใช้ประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัย ให้คนเมืองได้มีที่อยู่อาศัย ผมเองได้เคยยกตัวอย่างกรณีที่สิงคโปร์มาแล้วว่า โครงการที่อยู่อาศัยในสิงคโปร์ประสบความสำเร็จ เพราะรัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการใช้ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยก่อนการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ แถมในขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน ยังเวนคืนที่ดินเอกชนต่ำกว่าราคาตลาดด้วยซ้ำ

สำหรับประสบการณ์ในสังคมไทย การนำที่ดินของรัฐมาใช้ประโยชน์ โดยคำนึงถึงประโยชน์เชิงสังคม ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มติคณะกรรมการการรถไฟฯ วันที่ 13 กันยายน 2543 ที่ให้ผู้อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟฯ สามารถปรับปรุงชุมชนที่ตนเองอยู่และเช่าที่ดินระยะยาวในราคาถูก เป็นตัวอย่างของการคำนึงถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีกรณีชุมชนที่ได้เช่าที่ดินในเมืองจากการรถไฟฯ มาแล้ว เช่น ชุมชนทับแก้ว ย่านสถานีรถไฟคลองตัน และชุมชนหลังวัดช่องลม ย่านสถานีแม่น้ำ ถนนพระราม 3

แต่มาในช่วง 5 ปีหลัง ดูเหมือนฝ่ายรัฐและทุนจะกระชับความสัมพันธ์แน่นแฟ้น นายทุนยักษ์ใหญ่จึงมักได้ประโยชน์จากการประมูลที่ดินเพื่อประโยชน์เชิงธุรกิจ โดยไม่คำนึงถึงคนเล็กคนน้อยที่อาศัยอยู่ในเมือง

ก่อนจะจบบทความนี้ ผมขออนุญาตยกคำพูดของชาวบ้านคนหนึ่ง คือ คุณทวีศักดิ์ แสงอาทิตย์ จากชุมชนคลองไผ่สิงโต ตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อปี 2534 มีความพยายามที่จะรื้อย้ายชุมชนแห่งนี้ด้วยเหตุที่ว่าทำให้เสียทัศนียภาพของศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คุณทวีศักดิ์ซึ่งเป็นผู้นำการต่อต้านการไล่รื้อที่นี่ ให้ข้อคิดถึงคนเมืองไว้ว่า “เมืองจะเจริญไม่ได้ ถ้าปราศจากคนจน” เพราะแรงงานของคนจนมีส่วนในการสร้างสรรค์เมือง หากไม่มีคนจนเสียแล้ว เมืองย่อมเป็นอัมพาตแน่ๆ

ใครเล่าจะเป็นคนเก็บขยะ ใครเล่าจะเป็นคนขายอาหารรถเข็น เพิงค้าขาย ให้พนักงานออฟฟิศได้ออกมากินอาหารราคาถูก หากไม่มีแผงอาหารเหล่านี้ ก็ต้องไปหากินอาหารตามฟู้ดคอร์ตราคาแพง ไหนจะคนขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่รับส่งผู้โดยสารจากในซอยไปป้ายรถประจำทาง สถานีรถไฟฟ้า ไปสำนักงาน แม้แต่ในห้างสรรพสินค้าหรูหราก็ตาม ทั้งแม่บ้านและ รปภ. เป็นกลุ่มพนักงานบริการที่มีรายได้ตามค่าแรงขั้นต่ำ ตามจำนวนวันที่ทำงานด้วย รายได้ตกเดือนละ 8,000 บาท เท่านั้น แต่เงื่อนไขที่ทำให้ผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้ ยังชีพได้ทั้งที่มีรายได้ต่ำก็เพราะที่อยู่อาศัยเขาอยู่ใกล้ที่ทำงาน ดังนั้นหากเงื่อนไขนี้เปลี่ยนไป พวกเขาต้องออกไปอยู่นอกเมือง ค่าเดินทางที่สูงขึ้น ระยะเวลาเดินทางที่นานขึ้นจะทำให้พวกเขาไม่สามารถอยู่ได้

นี่คือตัวอย่างของผลกระทบจากการพัฒนาเมืองที่ไม่คำนึงถึงคนทุกกลุ่มในเมือง นั่นคือเหตุผลที่เราต้องเรียกร้องสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง ควบคู่กับสิทธิในที่อยู่อาศัย จำเป็นต้องใคร่ครวญประโยชน์ที่มากกว่าเรื่องกำไรเป็นเม็ดเงิน แต่คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และคนเล็กคนน้อยในเมืองให้มากขึ้น

เชิงอรรถ

[1] ผมเขียนบทความวิชาการเรื่อง ‘สิทธิที่จะมีอยู่อาศัยในเมือง’ ตีพิพม์ใน วารสารนิติสังคมศาสตร์ ของคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2562) ไว้แล้ว ผู้สนใจเชิงวิชาการสามารถอ่านได้จากบทความชิ้นนั้น แต่ในที่นี้จะขอเขียนให้เข้าใจง่ายและเชื่อมโยงกับประเด็นที่อยู่อาศัย

[2] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ‘สิทธิที่จะมีอำนาจกำหนดชีวิตและความเปลี่ยนแปลงของเมือง’, มติชนรายวัน, 5 พฤศจิกายน 2562.

[3] Lefebvre, Henry. Writings on cities. ed. and trans. Eleomore Kofman and Elizabeth Lebas. (Oxford: Blackwell, 1996).

[4] Harvey, David. ‘the right to the city’. International Journal of Urban and Regional Research 27, no. 4 (2003): 939-941., Harvey, David. ‘The Right to the City’. New Left Review 53 (2008): 23-40.

Author

บุญเลิศ วิเศษปรีชา
บุญเลิศ วิเศษปรีชา เป็นนักวิชาการ รักงานเขียน และมีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหวทางสังคม งานเขียนชุด ‘สายสตรีท: เรื่องเล่าข้างถนนจากมะนิลา' ที่ทยอยเผยแพร่ตลอดปีที่ผ่านมาใน waymagazine.org สะท้อนให้เห็นระเบียบวิธีทำงานภาคสนามของนักมานุษยวิทยา ขณะเดียวกันก็แสดงธาตุของนักเขียนนักเล่าเรื่อง นอกจากเรื่องเล่าของคนชายขอบแล้ว บุญเลิศยังสนใจภาพใหญ่ของสังคมการเมือง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อชีวิตที่มีลมหายใจ ไม่ว่าชีวิตนั้นจะอยู่ในหรือนอกบ้าน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า